• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การใช้ยาในบ้าน

การใช้ยาในบ้าน

 
“ยา”เป็นสารที่มีคุณสมบัติในการรักษาโรค และป้องกันโรค ใช้ได้ทั้งในคน สัตว์ และพืช ดังนั้นปัจจุบันจึงมีการใช้ยาอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในคน จึงจำเป็นที่คนควรมีความรู้ในการใช้ยาอย่างถูกต้อง เพื่อให้ผลของยาสามารถรักษา หรือป้องกันโรคได้อย่างเต็มที่ และตัวผู้รับเองมีความปลอดภัยจากการใช้ยานั้น

วิธีการให้ยามีหลายวิธี แต่ที่ใช้มากในบ้าน จะเป็นวิธีรับประทานและใช้ภายนอกเฉพาะที่ เช่น ใช้ทา ถู นวด เช็ดแผล ป้ายตา เป็นต้น

ยาชนิดรับประทาน มีหลายรูปแบบ ได้แก่ ยาเม็ด ยาแคปซูล ยาผง และยาน้ำ

ยาใช้ภายนอกเฉพาะที่ นิยมใช้ในรูปขี้ผึ้ง ครีม โลชั่น ยาน้ำ และยาผง

เมื่อต้องมีการใช้ยาในบ้าน ถ้ายานั้นได้รับมาจากสถานพยาบาลแพทย์พยาบาล หรือผู้จ่ายยาจะแนะนำวิธีรับประทาน หรือวิธีใช้ภายนอกให้ทราบ เมื่อไม่เข้าใจ ควรซักถาม เพื่อให้ได้รับคำตอบที่สามารถใช้ยาได้อย่างถูกต้อง ก่อนออกจากสถานพยาบาลนั้น

และเวลาใช้ที่บ้านจะต้องอ่านสลากที่หน้าซอง หรือขวด อีกครั้งหนึ่ง ยาใดที่แพทย์สั่งว่าต้องรับประทานให้หมด แม้ว่าอาการจะหายไปแล้วก็ต้องรับประทานให้หมด เพื่อให้ฤทธิ์ของยาฆ่าเชื้อโรคได้อย่างเต็มที่ ยาใดเก็บไว้ได้ เช่น ยาแก้ปวด ยาใส่แผล เมื่อหายแล้ว เก็บไว้ใช้ครั้งต่อไป โดยเก็บไว้ในที่ร่ม แดดไม่ส่อง ไม่เปียกชื้น ปิดซองหรือจุกขวดให้แน่น เก็บให้พ้นจากมือเด็ก แต่ถ้าเก็บไว้นานจนเม็ดยาแตกหรือเปลี่ยนสี หรือเขย่าแล้วตะกอนไม่กระจาย ให้ทิ้งยานั้นไป เพราะเสื่อมคุณภาพแล้ว

กรณีที่มีความจำเป็นต้องซื้อยาใช้เอง ถ้าเป็นไปได้ ควรซื้อร้านที่มีเภสัชกรขาย เพื่อผู้ขายจะได้แนะนำวิธีการใช้ยาอย่างถูกต้อง อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเรายังมีโอกาสสูงที่จะต้องซื้อยาจากร้านขายยาที่ขายโดยหมอตี๋ ท่านจึงควรทราบถึงสิ่งเหล่านี้ คือ

1. ขนาดของยา ถ้าใช้น้อยไปจะไม่ได้ผลในการรักษา แต่ถ้าได้มากเกินไปจะทำให้เกิดพิษจากยา เวลาซื้อควรบอกขนาด รูปร่าง เพศ ความอ้วน ความผอม และอายุของผู้รับประทาน

2. วิธีการให้ยารับประทาน ยาเม็ดและแคปซูล ส่วนมากมักเป็นชนิดที่ต้องกลืนลงไปทั้งเม็ด แต่ถ้าผู้ขายให้เคี้ยว เช่น ยาลดกรด ยาขับลม ต้องเคี้ยวก่อนรับประทานอาหาร ยาบางอย่างใช้อมจึงจะออกฤทธิ์ได้ดี เช่น ยาแก้เจ็บคอ ยาผง มีชนิดตวงเป็นช้อนหรือบรรจุซอง รับประทานแล้วต้องดื่มน้ำตามมากๆ เช่น ยาแก้ปวดต่างๆ บางชนิดต้องผสมน้ำต้มสุก (ไม่ร้อน) ตามปริมาณที่กำหนดไว้ เขย่าจนเข้ากันดี ส่วนมากเป็นยารักษาโรคติดเชื้อของเด็ก ผสมแล้วต้องใช้ให้หมดขวดภายใน 1 สัปดาห์ ยาน้ำ เขย่าขวดก่อนรับประทานทุกครั้ง

ยาทาภายนอก ชนิดผง มักใช้กับผิวหนังเพื่อลดอาการคัน ทำให้รู้สึกสบาย ป้องกันอาการอับชื้น ไม่ควรโรยแผลที่มีน้ำเหลืองเพราะระคายแผล และเกาะกันเป็นก้อนแข็ง เชื้อโรคเติบโตได้เร็วภายใต้ก้อนแข็งนั้น

3. เวลาที่ให้ยา

ก่อนอาหาร คือ รับประทานก่อนอาหารมื้อเช้า กลางวัน หรือเย็น ครึ่ง-หนึ่งชั่วโมงตามสั่ง

พร้อมอาหาร คือ ขณะรับประทานอาหาร ให้รับประทานยาไปด้วย เช่น ยาแก้ปวดต่างๆ

หลังอาหาร คือ รับประทานหลังอิ่มอาหารมื้อเช้า มื้อกลางวัน หรือมื้อเย็น แล้วภายหลังครึ่งชั่วโมง

ก่อนนอน คือ รับประทานก่อนเข้านอน เฉพาะเวลากลางคืน อาจเป็น 20.00 น., 21.00 น. เป็นต้น ได้แก่ ยานอนหลับ ยาถ่าย เป็นต้น

4. ฤทธิ์ข้างเคียงของยา ที่พบมากคือ ยาแก้ปวด ซึ่งระคายเคืองต่อเยื่อบุในกระเพาะอาหาร ทำให้ปวดท้อง ต้องรับประทานหลังอาหารทันที หรือรับประทานพร้อมอาหารแล้วดื่มน้ำตามมากๆ

5. การแพ้ยา ถ้ารับประทานแล้วมีเม็ด ผื่น หรือ คัน ควรงดทันทีและจำชื่อยาไว้ เพื่อไม่รับประทานยานั้นอีกครั้งต่อไป

ข้อมูลสื่อ

74-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 74
มิถุนายน 2528
พยาบาลในบ้าน
ดร.จริยาวัตร คมพยัคฆ์