• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ยากับโรคไต

ยากับโรคไต 


เป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่ายานั้นมีคุณค่ามหาศาล ถ้าเราใช้ให้ถูกวิธี จะใช้บำบัดโรคได้หลายชนิด โดยไม่มีโทษภัยหรือมีน้อย แต่บ้านเราการที่ประชาชนมีเสรีในการซื้อยาใช้เองได้สารพัดชนิด โดยที่ไม่มีความรู้ความเข้าใจเท่าใดนัก อาจก่อให้เกิดอันตรายจากยาได้ง่าย มีคนจำนวนมากมายที่ต้องตายไปเนื่องจากใช้ยาอย่างไม่ถูกต้อง อันตรายที่น่ากลัวอย่างหนึ่งที่เกิดจากยา ก็คือ พิษของยาที่มีต่อไต

ไต เป็นอวัยวะที่มีหน้าที่ขับถ่ายของเสียและสารต่าง ๆ ที่ร่างกายไม่ต้องการออกไป โดยขับถ่ายออกมาเป็นปัสสาวะ โดยปกติไตเป็นอวัยวะที่ถูกทำลายด้วยสารเคมีได้ง่ายดายมาก ถ้าไตถูกทำลายให้เสียไป ความสามารถในการขับถ่ายจะเสียไปด้วย เราจะมีของเสียสะสมในร่างกายเพิ่มขึ้นมากมาย ซึ่งจะทำให้ร่างกายทรุดโทรมอวัยวะต่าง ๆ ทำงานไม่เต็มที่ และอาจต้องตายไปในที่สุด
ถ้าเราไม่อยากเป็นโรคไตพึงจำไว้อย่ากินยาพร่ำเพรื่อถ้าเป็นโรคไตอยู่แล้วจะกินยาก็ต้องใช้ความระมัดระวังยิ่งขึ้นอีก

 

ยาเป็นพิษต่อไตได้อย่างไร
ยาที่เข้าสู่ร่างกายไม่ว่าจะเป็นทางไหนก็ตามเช่น กิน ฉีด สูดดม หรือวิธีอื่น ๆ เมื่อเข้าสู่กระแสเลือดแล้ว ร่างกายจะถือเป็นของแปลกปลอมที่ต้องมีการกำจัดออก บางทียาอาจถูกขับออกจากร่างกายในรูปเดิมโดยไม่ถูกเปลี่ยนแปลงเลย หรืออาจถูกเปลี่ยนแปลงที่ตับ แล้วจึงขับออกจากร่างกาย ซึ่งส่วนใหญ่จะถูกขับออกทางไต
ด้วยเหตุนี้เอง ไตจึงเป็นอวัยวะที่มีโอกาสที่จะได้รับพิษจากยาได้มากมียาหลายตัวที่เป็นพิษต่อไตโดยตรง พิษของยาต่อไตก็มีในแบบต่าง ๆ กัน บางชนิดทำให้ไตทำงานลดลง บางชนิดตกเป็นผลึกในไต และบางชนิดทำให้เนื้อไตเสียไป พิษที่เกิดนี้อาจเป็นอย่างถาวร คือ ถึงแม้จะเลิกกินยาแล้วก็ไม่หาย เป็นจนตายไปเลย หรือบางครั้งอาจเป็นชั่วคราว เมื่อเลิกกินยาอาการก็หายไปได้ ทั้งนี้ขึ้นกับ ชนิดของยา วิธีการกินยา ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยา

นอกจากนี้ในคนไข้ที่ไตเสื่อมหรือไตพิการ คือ ไตที่ทำงานได้ไม่เต็มที่ เวลากินยายิ่งต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะอาจทำให้ไตที่พิการนั้นมีอาการกำเริบมากขึ้น และยาจะถูกสะสมในร่างกายมากเกินไปจนเกิดอาการพิษของยานั้นอีก ดังนั้นคนที่เป็นโรคไต ถ้าจำเป็นต้องใช้ยาจะต้องลดขนาดและช่วงเวลาในการกินยาให้เหมาะสม ทางที่ดีควรปรึกษาแพทย์ด้วย 

 

ยาที่ควรระวัง
ยากลุ่มที่จะกล่าวต่อไปนี้ ควรใช้ด้วยความระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะทำให้เกิดพิษต่อไตได้

1.กลุ่มยาแก้ปวดลดไข้แก้ปวดเมื่อย
ยากลุ่มนี้ได้แก่ยาสูตรผสม “เอ.พี.ซี.” หรือยาเม็ดสีชมพู หรือยาซองแก้ปวดที่มีชื่อการค้าต่าง ๆ มากมาย เช่น ทันใจ ประสระบอแรด บวดหาย เอเอ็นที ฯลฯ เป็นต้น ซึ่งชาวนา ชาวไร่ กรรมกรและผู้ใช้แรงงานทั้งหลาย นิยมกินแก้ปวดหัว ตัวร้อน แก้ปวดเมื่อยและเพิ่มกำลังวังชา ถ้าไม่ได้กินจะรู้สึกอ่อนเพลีย ไม่มีเรี่ยวแรง ทำงานไม่ไหว โดยหารู้ไม่ว่ายาตัวนี้ ถ้ากินเป็นเวลานาน ๆ ถึงแม้จะใช้ในขนาดปกติ ก็มีโอกาสจะเกิดพิษต่อไตได้

มีผู้พบแล้วว่าถ้ากิน เอ.พี.ซี. ขนาด 6-8 เม็ดทุกวันติดต่อกัน จำทำให้เกิดพิษได้ภายใน 3-20 ปี ยิ่งถ้ากินขนาดมากกว่านี้ ก็จะยิ่งเป็นง่ายขึ้นและเร็วขึ้น โดยยาจะทำให้เนื้อของไตเป็นแผลอักเสบ เนื้อไตฝ่อ ทำให้ไตทำงานได้ไม่เต็มที่ ไม่สามารถควบคุมความเข้มข้นของปัสสาวะได้ ทำให้มีของเสียคั่งค้างในเลือดมาก จะทำให้ตายได้ ส่วนใหญ่จะรู้ตัวเมื่อเป็นมากแล้ว โดยอาจเป็นร่วมกับเนื้องอกของท่อรวมปัสสาวะและในกระเพาะปัสสาวะได้ ถ้าเลิกยานี้จะทำให้อาการดีขึ้น

คำแนะนำ ควรงดกินยาแก้ปวดสูตรผสมพวก เอ.พี.ซี.นี้เสีย และถ้าเวลาปวดหัวเป็นไข้ให้กินแอสไพริน หรือพาราเซตามอลแทน สำหรับแอสไพริน เวลาใช้ก็ต้องระวัง เพราะจะระคายเคืองกระเพาะอาหาร จึงควรกินแอสไพรินหลังอาหารทันทีหรือดื่มน้ำตามมากๆ และยาตัวนี้ถ้ากินมากๆ จะระคายเคืองไตได้ แต่ไม่ร้ายแรงเท่า เอ.พี.ซี คือไตยังไม่ถูกทำลาย เมื่อหยุดยาอาการพิษจะหายไปได้

ยาชื่อ เฟนิลบิวตาโซน (ชื่อการค้า บูตาโซลิดีน) ที่เรานิยมกินแก้ปวดเมื่อย ปวดข้อนั้น ถ้ากินขนาดสูง ๆ และนาน ๆ จะทำให้ถ่ายปัสสาวะเป็นเลือด เกิดผิดปกติในไต การทำงานของไตลดลง จึงไม่ควรกินนานเกิน 1 อาทิตย์ และห้ามใช้ในคนไข้โรคไต
ยาชื่อ อินโดเมทาซีน (มีชื่อการค้าเช่น อินโดซิน, อินโดซิด) ที่ใช้เป็นยาแก้อักเสบ ปวดข้อ ยานี้ก็ห้ามใช้ในคนไข้โรคไต คนท้องและเด็ก

 

2.กลุ่มซัลฟา
ยากลุ่มนี้ใช้เป็นยาฆ่าเชื้อโรคในทางเดินปัสสาวะ บางชนิดใช้รักษามาเลเรีย ตัวอย่าง เช่น ซัลฟาไดอาซีน, ไตรซัลฟา, ซัลฟาเมอราซีน, ซัลฟาไดมิดีน, โคไตรม๊อกซาโซล (ที่มีชื่อการค้าว่าแบคตริม, เซพตริน เป็นต้น) ยาเหล่านี้จะถูกดูดซึมเข้าหลอดเลือดและถูกขับออกทางปัสสาวะเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นคนไข้ที่ไตพิการ การขับถ่ายยาจะลดลง จึงต้องควบคุมขนาดของยาให้ดี

ในคนปกติ ยาซัลฟาแทบทุกตัวจะตกตะกอนในปัสสาวะและเป็นผลึกในไตและท่อปัสสาวะ ทำให้เกิดระคายเคืองมาก และกีดขวางทางเดินปัสสาวะ จะเริ่มด้วยมีอาการปวดท้องบริเวณไต เวลาถ่ายจะมีเกล็ดของยาปนออกมากับปัสสาวะ เวลาถ่ายจะแสบ ต่อมา ถ่ายปัสสาวะเป็นเลือดถ่ายลำบาก และในที่สุด ถ่ายปัสสาวะไม่ออกเลย เพราะเกิดการอุดตัน ทำให้มีของเสียสะสมในเลือด การเกิดผลึกในไตนี้จะตรวจพบได้ยากมาก ถ้าคนไข้ไม่แสดงอาการให้เห็น (แพทย์รู้ว่าเกิดผลึกในไตโดยการผ่าศพคนไข้ที่ตายแล้ว) นอกจากการตกผลึกในไตแล้ว ยาซัลฟาโดยตรงยาจะทำลายเนื้อไต ทำให้เซลล์ตาย เกิดอักเสบในไตได้ (กรณีที่แพ้ยา)

เท่าที่อ่านมา อย่าเพิ่งตกใจ ถ้าจำเป็นต้องกินยาซัลฟา เราก็พอมีทางป้องกันได้ โดยการดื่มน้ำมาก ๆ จะช่วยป้องกันการตกตะกอนในไตได้ดี ดังนั้นจงจำไว้ว่า ถ้าต้องกินซัลฟาจะต้องดื่มน้ำตามมาก ๆ และถ้าจะให้ดียิ่งขึ้น ให้ละลายโซดาทำขนมปัง (ไม่ใช่โซดาไฟ คนละอย่างกัน) ดื่ม เพื่อทำให้ปัสสาวะเป็นด่าง จะทำให้ยาไม่ตกตะกอนเพราะปกติยาซัลฟาจะตกตะกอนในปัสสาวะที่เป็นกรดหรือเป็นกลาง

 

3.ยาปฏิชีวนะกลุ่มเตตร้าซัยคลิน
ยากลุ่มนี้เป็นยาที่เราใช้กินฆ่าเชื้อเวลาเจ็บคอ หรือเวลาเป็นแผล ฝี หนองนั่นเอง ยากลุ่มนี้มีหลายชนิดมาก ส่วนใหญ่จะทำเป็นรูปแคปซูล ยากลุ่มนี้มักกินพร่ำเพรื่อเป็นยาครอบจักรวาล
เตตร้าซัยคลินถ้ายายังดีอยู่ เวลาแกะปลอกแคปซูลออกมาจะเห็นผงยาสีเหลืองนวล กินได้ไม่เป็นพิษต่อไตแต่จะทำให้การทำงานของไตลดลง และควรระวังในคนไข้โรคไต การขับถ่ายยาน้อย เกิดยาสะสมในเลือดมากเกินไปจนเกิดพิษได้

ทีนี้ปัญหามันมีอยู่ว่า ถ้าเตตร้าซัยคลินเสียหรือหมดอายุ (ยาปฏิชีวนะทุกตัวมีวันหมดอายุ) ผงยาภายในมีสีคล้ำขึ้นจนกลายเป็นสีน้ำตาลเข้ม ซึ่งเรามักจะไม่รู้ ถ้าไม่ถอดแคปซูลออกมาดูก็จะไม่เห็นฯยาที่เสียนี้ ถ้ากินเข้าไปนอกจากจะไม่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อคือโรคไม่หายแล้ว
ยังจะทำให้เกิดโรคใหม่ที่ร้ายแรง คือโรคไตขึ้นอีกด้วย เพราะเตตร้าซัยคลินที่หมดอายุจะมีพิษต่อไตมาก ยาจะไปทำให้เกิดผลในไตถึงขั้นไตพิการอย่างถาวร ถ้าไม่รีบรักษาจะต้องตายในที่สุด แม้จะรักษาทันก็ต้องเสียเงินทองมากมาย และโรคไตจะติดตัวไปตลอด ดังนั้นเวลาซื้อยาเตตร้าซัยคลิน ควรแกะดูยาภายในเสียก่อน เพื่อความปลอดภัยของตัวเราเอง

 

4.ยาปฏิชีวนะกลุ่มสเตร๊ปโตมัยซิน
ยาในกลุ่มนี้ได้แก่ สเตร๊ปโตมัยซิน, กาน่ามัยซิน, นีโอมัยซิน, และเจนต้ามัยซิน ยากลุ่มนี้ต้องหลีกเลี่ยง ไม่ควรใช้ในผู้ป่วยโรคไต
สเตร๊ปโตมัยซิน ในขนาดปกติไม่ค่อยทำให้เกิดพิษต่อไต และเมื่อหยุดยาอาการพิษก็หายไป แต่ต้องระวังในขนาดสูง ๆ อาจเกิดพิษได้
ส่วนกาน่ามัยซิน และเจนต้ามัยซิน จะเกิดพิษได้รุนแรงกว่า ทำให้เกิดเนื้อไตวาย ถ่ายปัสสาวะไม่ออกเกิดของเสียคั่งในเลือดมาก

ที่ยกตัวอย่างมาให้ดูแค่ 4 กลุ่มนี้ เป็นตัวยาที่ใช้กันบ่อยและทำให้เกิดพิษต่อไตง่าย แต่มิใช่ว่ายาเหล่านี้จะมีเฉพาะพิษต่อไตเท่านั้น  ยังมีพิษต่ออวัยวะอื่น ๆ อีกด้วยที่มิได้นำมากล่าวไว้ และยังมียาอีกมายมายที่พบว่ามีพิษต่อไต และควรระมัดระวังในการใช้ในคนไข้โรคไต ขอกล่าวชื่อไว้เพื่อเตือนสติในการกินยาบ้าง

 

ยาที่พบว่าเป็นพิษต่อไต (ชื่อต่อไปนี้เป็นชื่อตัวยา)
ยาแก้ปวด
ฟีนาเซติน
ซาลิไซเลท
อะมิโนไพริน
เฟนิลบิวตาโซน

ยาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้อ
ซัลฟา
สเตร๊ปโตมัยซิน
กาน่ามัยซิน
เจนต้ามัยซิน
นีโอมัยซิน
เตตร้าซัยคลิน
เพนนิซิลลิน
แอมพิซิลลิน

อื่น ๆ
ควินิน
แอมโฟเทอริซิน – บี.
พีเอเอส.
ยาขับปัสสาวะพวก ไทอาไซด์
ฟูโรเซไมด์ เป็นต้น

โรคไตนั้นเป็นโรคแห่งความทุกข์ทรมาน และเป็นโรคเรื้อรังถ้าเราไม่อยากเป็นโรคไต พึงจำไว้อย่ากินยาพร่ำเพรื่อ ถ้าเป็นโรคไตอยู่แล้วจะกินยาก็ต้องใช้ความระมัดระวังยิ่งขึ้นอีก.
 

ข้อมูลสื่อ

37-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 37
พฤษภาคม 2525
ยาน่าใช้
ภก.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี