• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

พระจันทร์ครึ่งซีก

พระจันทร์ครึ่งซีก

 

                  

 

⇒ ชื่ออื่น
บัวครึ่งซีก(ชัยนาท), บัวปีไน้(แต้จิ๋ว), ป้านเปียนเหลียน(จีนกลาง)

 

⇒ ชื่อวิทยาศาสตร์
Lobelia chinensis Lour. วงศ์ Lobeilaceae (L.radicans Thunb)

 

⇒ ลักษณะต้น
เป็นไม้เล็กคล้ายหญ้า แผ่ไปตามดิน ลำต้นเล็กยาวประมาณ 20 ซม. เมื่อหักลำต้นมียางสีขาวขุ่นเหมือนน้ำนมไหลซึมออกมา ลำต้นสีเขียวมีข้อน้อยแต่ละข้อจะมีใบหรือกิ่งออกสลับกัน มีรากฝอยแตกออกตามข้อ ใบเรียวเล็กยาวคล้ายใบหอก ไม่มีก้านใบยาว 1-2 ซม. ขอบใบมีรอยหยักแบบฟันเลื่อยห่าง ๆ
ดอกสีม่วงอ่อน เมื่อบานกลีบดอกแยกไปข้างเดียวทำให้เห็นคล้ายเป็นดอกบัวครึ่งซีก มีเกสรตัวผู้ 5 อัน เกสรตัวเมีย 1 อัน ดอกบานใหญ่ในฤดูร้อน เป็นไม้ที่ชอบขึ้นในที่ชื้นแฉะ แพร่พันธุ์โดยการแยกต้นปักชำ

 

⇒ส่วนที่ใช้
ทั้งต้น (เก็บในฤดูร้อน ขณะที่ดอกกำลังบาน)

 

⇒ สรรพคุณ
ลดไข้ แก้หอบหืด บำรุงปอด แก้อาเจียนเป็นเลือด วัณโรค ปอดอักเสบ ทอนซิลอักเสบ บิด ขับปัสสาวะ(เพื่อลดอาการบวมจากไตอักเสบ) ท้องมาน(เนื่องจากพยาธิใบไม้ในเลือดและดีซ่าน) เข้ายาแก้มะเร็งกระเพาะอาหารหรือที่ทวารหนัก แก้ข้ออักเสบ เคล็ดขัดยอกบวมเจ็บ ฝี แผลเปื่อย บาดแผล กลากเกลื้อน ผื่นคันและแก้คัดจมูกเนื่องจากกินยาเข้า รากระย่อม(Rauvolfia Serpentina Benth)

 

⇒ ข้อห้ามใช้
ห้ามใช้ในคนที่มีอาการท้องอืด อาหารไม่ย่อย อุจจาระหยาบเหลว(จีนเรียกม้ามพร่อง)

 

⇒ ตำรับยาและวิธีใช้
1.ทอนซิลอักเสบ ใช้ต้นสดตำให้ละเอียด ปั้นเป็นก้อนขนาดไข่ไก่ ใส่ในถ้วย เติมเหล้าลงไป 90 มล. ผสมให้เข้ากัน คั้นเอาน้ำ แบ่งอม 3 ครั้ง ๆ ละ 10-20 นาที แล้วบ้วนทิ้ง

2.บิด
ใช้ต้นสด 60 กรัม ต้มน้ำเติมน้ำตาลแดง(น้ำตาลอ้อย) กินล

3.ท้องเสีย ใช้ต้นสด 30 กรัม ต้มน้ำกิน

4.บวมน้ำ(เพราะไตอักเสบ) ท้องมาน(เนื่องจากพยาธิใบไม้ในเลือด) ใช้ต้นสด 30-60 กรัม ต้มน้ำกิน

5.ดีซ่าน ขัดเบา บวมน้ำ ใช้ต้นสด 30 กรัม ผสมกับรากหญ้าคา (Imperata cylindrica Beauv.) 30 กรัม ต้มน้ำใส่น้ำตาลทราย แบ่งกิน 2 ครั้ง เช้าและเย็น

6.อาเจียนเป็นเลือด ใช้ต้นสดตำผสมเหล้าเล็กน้อยกิน

7.เคล็ดขัดยอกบวมเจ็บ ใช้ต้นสด 60 กรัม น้ำ 180 มล. ต้มให้เหลือ 90 มล. กรองเอาน้ำเก็บไว้นำกากที่เหลือไปต้มอีกครั้งตามอัตราส่วนเดิม นำน้ำกรองครั้งที่สองรวมกับครั้งแรก แล้วเคี่ยวให้เหลือ 60 มล. เทใส่ขวดเก็บไว้ เวลาใช้เอาสำลีชุบน้ำยาปิดตรงบริเวณที่ปวดบวม

8.ฝี แผลเปื่อย ผิวหนังอักเสบ ใช้ต้นสดพอประมาณ ใส่เกลือเล็กน้อย ตำให้แหลก พอกบริเวณที่เป็น

9.เต้านมอักเสบ
ใช้ต้นสดตำให้ละเอียด พอกบริเวณที่เป็น

10.ตาแดง ใช้ต้นสดจำนวนพอสมควรล้างให้สะอาด ตำให้ละเอียด น้ำมาพอกบนหนังตา เอาผ้าก๊อซที่สะอาดปิด เปลี่ยนยาวันละ 2 ครั้ง
 

⇒ รายงานทางคลินิก
การรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคติดเชื้อพวกยาพยาธิใบไม้ระยะท้าย ที่มีอาการตับแข็งและท้องมาน (โดยใช้ร่วมกับยาที่มีพลวง พวก antimony potassium tartrate ซึ่งมีฤทธิ์ฆ่าพยาธิใบไม้) พบว่ามีฤทธิ์แตกต่างกันไป แต่ฤทธิ์ที่ตรงกันคือ มีการขับปัสสาวะเพิ่มขึ้น บางรายอาจทำให้ถ่ายท้อง ในผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาแบบนี้ มีจำนวนมากที่ขับปัสสาวะเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่มีเพียงเล็กน้อยเท่านั้นที่ปัสสาวะเป็นปกติ ระยะเวลาออกฤทธิ์ขับปัสสาวะไม่แน่นอน แต่ส่วนใหญ่จะเริ่มเห็นผลใน 1-5 วัน ในช่วงที่รักษาด้วยยานี้พบว่า อาการท้องมานลดลง กินอาหารได้มากขึ้น การไหลเวียนของโลหิตที่ดีขึ้น การทำงานของตับดีขึ้น โดยใช้ต้นแห้ง 15-20 กรัม เติมน้ำลงไป 300 มล. ใช้ไฟอ่อนๆ ต้มให้เหลือ 30 มล. เติมน้ำตาลแบ่งกิน 3-4 ครั้งต่อวัน ทำการรักษาช่วงละ 15-20 วัน ผู้ป่วยทีมีอาการดีขึ้น ให้กินต่อไปเรื่อย ๆ จนอาการท้องมานหายไป รวมทั้งควรกินอาหารเสริมโปรตีนที่มีไขมันน้อยและเกลือเล็กน้อยหรือไม่มีเกลือ จากการใช้กับผู้ป่วย 100 ราย ได้ผล 69 ราย

ข้อสังเกต ยาต้มควรใช้ยาสดและใหม่ ไม่ควรทิ้งยาต้มไว้เกิน 4 ชั่วโมง โดยเฉพาะในฤดูร้อน เพราะยาจะเสื่อมคุณภาพได้ง่าย อาจเตรียมเป็นขี้ผึ้งหรือยาเม็ด แต่ผลการรักษาจะด้อยกว่ายาต้ม.
 

ข้อมูลสื่อ

37-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน 37
พฤษภาคม 2525
อื่น ๆ
ผศ.สุนทรี วิทยานารถไพศาล