• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การดูแลผู้ป่วยในเตียง

การดูแลผู้ป่วยในเตียง

“ผู้ป่วยในเตียง” หมายถึง บุคคลที่มีความเจ็บป่วยและต้องนอนอยู่ในเตียงหรือบนที่นอนตลอดเวลา อาจเป็นระยะหนึ่งหรือตลอดไป เช่น ผู้ป่วยอัมพาตที่เคลื่อนไหวไม่ได้ ผู้ป่วยชราที่มีความอ่อนเพลียมาก ผู้ป่วยเข้าเฝือกตัว เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันมีผู้ป่วยประเภทนี้จำนวนไม่น้อยที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลอยู่ในบ้าน เนื่องจากสถานบริการมีไม่เพียงพอนั่นเอง

การจัดห้องนอนหรือที่นอนภายในบ้านสำหรับผู้ป่วย (ทุกประเภท) ควรโปร่งมีอากาศถ่ายเทดี ไม่รกรุงรัง และถ้าเป็นไปได้ควรเป็นห้องหรือมุมใดมุมหนึ่งของบ้าน ห่างไกลจากสิ่งรบกวน เช่น แสง เสียง กลิ่น ที่สำคัญที่สุด ถึงแม้ว่าห้องหรือบริเวณจะคับแคบ ควรต้องมีความสะอาด ปราศจากสิ่งรบกวน และสัตว์ที่ก่อความรำคาญ เช่น มด แมลงสาบ แมลงวัน ฯลฯ

สำหรับที่นอนนั้นจะนอนบนเตียงหรือบนพื้น ก็แล้วแต่ความเป็นไปได้ของแต่ละครอบครัว แต่ถ้าสามารถจัดหาเตียงได้ จะมีผลดีต่อผู้ป่วย คือ ไม่ถูกรบกวนจากเสียงฝีเท้าคนเดินหรือสัตว์ และยังสามารถมองผ่านหน้าต่างออกไปภายนอก นอกจากนี้ผู้ดูแลยังได้รับความสะดวกในการพยาบาล ไม่เมื่อยล้า

ผู้ป่วยที่ต้องอยู่บนเตียงหรือนอนตลอดเวลา การดูแลที่สำคัญ ได้แก่ การอาบน้ำ การสระผมการทำความสะอาดที่นอน และการป้องกันแผลกดทับ (จะขอกล่าวเป็นตอนๆ ไป) รวมทั้งผู้ป่วยบางรายอาจต้องมีการสวนอุจจาระในบางครั้ง ซึ่งการดูแลทั้งหมดนี้ต้องกระทำบนเตียงหรือบนที่นอนทั้งนั้น

เกี่ยวกับอาหาร ผู้ป่วยที่ต้องนอนอยู่บนเตียงตลอดเวลา มักจะไม่ค่อยอยากอาหาร เนื่องจากต้องนอนอยู่เฉยๆ ทำให้ลำไส้มีการเคลื่อนไหวน้อย อาหารย่อยช้า และยังมีความวิตกกังวลคิดมากในเรื่องความเจ็บป่วย ฯลฯ สำหรับอาหารที่จัดให้ผู้ป่วยอาจเป็น อาหารธรรมดา อาหารอ่อน อาหารเหลว และอาหารเฉพาะโรค ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะการเจ็บป่วยของแต่ละบุคคล

การป้อนอาหาร ผู้ดูแลควรป้อนอย่างนุ่นนวล พูดคุย บางครั้งอาจต้องปลอบโยนให้กำลังใจ และมีการจัดอาหารให้น่ารับประทาน ให้มีลักษณะเหมือนหรือใกล้เคียงกับภาวะธรรมดา

หลักในการป้อนอาหารผู้ป่วยที่อยู่ในเตียงตลอดเวลา คือ

1. ควรทำความสะอาดร่างกายของผู้ป่วยก่อน เช่น การอาบน้ำหรือเช็ดตัว โดยเฉพาะควรล้างหรือบ้วนปากก่อนทุกครั้ง

2. ยกศีรษะให้สูง (ในรายที่นอนเตียงมีที่ไขเตียง ให้ไขหัวเตียงให้สูง) เพื่อให้ผู้ป่วยกลืนอาหารได้สะดวก และป้องกันไม่ให้สำลักอาหาร

3. วางผ้ากันเปื้อนหรือกระดาษเช็ดหน้าบนหน้าอก เพราะบางครั้งอาจมีอาหารหกเปื้อน

4. ป้อนอาหารให้ครั้งละน้อยๆ พอดีคำ ไม่คลุกอาหารหลายๆ อย่าง เข้าด้วยกัน จะทำให้ไม่น่ารับประทาน

5. เว้นระยะการป้อน ให้ผู้ป่วยได้เคี้ยวอย่างสบาย ระหว่างคำอาจมีการพูดคุยบ้างในเรื่องที่เพลิดเพลิน หรือกระตุ้นให้มีความอยากอาหาร

6. เมื่ออิ่มแล้วให้รับประทานน้ำทุกครั้ง

7. ทำความสะอาดปากฟัน ตามวิธีที่เหมาะสม เช่น การบ้วนปาก การเช็ดปาก การแปรงฟัน เป็นต้น

8. ให้ผู้ป่วยนอนศีรษะสูงอยู่ประมาณครึ่งถึง 1 ชั่วโมง หลังอาหาร

นอกจากความไม่สมดุลระหว่างบุคลากรทางการแพทย์กับจำนวนประชาชนแล้ว ภาวะสังคมและเศรษฐกิจในปัจจุบันยังทำให้ประชาชนจำนวนมากไม่สามารถใช้บริการของสถานพยาบาลได้ทุกครั้ง การดูแลตนเองหรือดูแลซึ่งกันและกันเมื่อมีความผิดปกติบางอย่างจึงมีความสำคัญที่จะช่วยแก้ปัญหาเฉพาะหน้า หรือบรรเทาภาวะวิกฤติก่อนที่จะไปสถานพยาบาลได้ และปัญหาบางอย่างต้องการเพียง พยาบาลในบ้าน

ข้อมูลสื่อ

76-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 76
สิงหาคม 2528
พยาบาลในบ้าน
ดร.จริยาวัตร คมพยัคฆ์