• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การควบคุมการเคลื่อนไหว

การควบคุมการเคลื่อนไหว

นักกีฬาที่เกิดอุบัติเหตุในการเล่นกีฬา จนกระดูกหักและต้องได้รับการผ่าตัดหรือเข้าเฝือก มักพบว่า หลังจากผ่าตัดใหม่ๆ หรือเข้าเฝือกแล้ว อาจเคลื่อนไหวส่วนนั้นไม่ได้ หรือเคลื่อนไหวด้วยความลำบาก ทั้งๆ ที่กระดูกก็ต่อกันดีแล้ว กล้ามเนื้อไม่ได้สูญเสียไป และข้อต่อก็ไม่ได้ติดขัดเลย

บางครั้งอาจพบว่า ความรู้สึกบนผิวหนังก็เสียไปด้วย สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ เนื่องจากอาจมีเส้นประสาทเล็กๆ ถูกตัดขาดไประหว่างผ่าตัดหรือเฝือกที่เข้าไว้ไปกดทับถูกเส้นประสาทที่ทอดผ่านส่วนผิวหนังของกระดูก อาการเหล่านี้ไม่น่าวิตก เพราะจะหายไปได้เมื่อได้รับการกระตุ้นด้วยไฟฟ้า หรือฝึกกล้ามเนื้ออื่นๆ และเมื่อเส้นประสาทงอกจากส่วนที่ขาดไปมายังกล้ามเนื้อแล้ว หรือฟื้นจากภาวะถูกกดทับแล้ว เราจะใช้ส่วนนั้นได้อีก

แต่ในบางกรณี เช่น กระดูกสันหลังหัก ทำให้ขาเป็นอัมพาตทั้ง 2 ข้าง หรือเส้นเลือดในสมองตีบตันหรือแตก ทำให้เนื้อสมองถูกกดทับ หรือขาดเลือดจนตายไป จะเกิดเป็นอัมพาตครึ่งซีกที่ขาและแขนข้างเดียวกัน ซึ่งอาจเป็นข้างซ้ายหรือขวา ขึ้นอยู่กับสมองซีกที่อยู่ตรงข้ามแขนขาข้างนั้นเสียไป ใน 2 กรณีนี้ ถึงแม้กล้ามเนื้อกระดูก และข้อต่อยังมีอยู่เหมือนเดิม ก็ไม่สามารถเคลื่อนไหวส่วนนั้นได้ และต้องทำการรักษาเป็นเวลานานทีเดียวกว่าจะให้เคลื่อนไหวได้เหมือนเดิม ในรายที่เป็นมากอาจไม่สามารถเคลื่อนไหวได้อีกเลย

จะเห็นได้ว่า การที่มีแต่กล้ามเนื้อ กระดูก และข้อต่อ เราก็ยังไม่สามารถเคลื่อนไหว เล่นกีฬา หรือออกกำลังกายได้ ระบบประสาทต่างหากที่เป็นตัวสั่งให้เกิดการเคลื่อนไหวได้

หมอชาวบ้านครั้งที่แล้ว ได้กล่าวถึงเส้นประสาทซึ่งประกอบด้วยเส้นใยแอกซอนของเซลล์ประสาททอดมาเลี้ยงกล้ามเนื้อเพื่อสั่งให้เกิดการหดตัว หรือไปยังอวัยวะต่างๆ เพื่อรับความรู้สึกการเคลื่อนไหวทุกชนิดจะเกิดขึ้นจะเกิดขึ้นได้จึงต้องอาศัยการประสานงานของเส้นประสาททั้ง 2 ระบบนี้ คือ ระบบรับความรู้สึกและระบบยนต์ที่ออกคำสั่งให้กล้ามเนื้อหดตัว

เมื่อเหยียบถูกของแหลมขณะเดินด้วยเท้าเปล่า สิ่งแรกที่เกิดขึ้น คือ เราจะงอขาขึ้นแล้วก้มหน้ามองดูว่าเหยียบถูกอะไร ก่อนที่จะก้าวต่อไปหรือทำการดึงของแหลมนั้นออก ทั้งนี้เมื่อเหยียบถูกของแหลม จะเกิดกระแสประสาทที่ปลายประสาทรับความรู้สึกที่อยู่ตามฝ่าเท้าวิ่งไปตามเส้นประสาทรับความรู้สึก เข้าสู่ไขสันหลัง กระแสประสาทวิ่งไปกระตุ้นเซลล์ประสาทยนต์ทางหนึ่ง เพื่อกระตุ้นให้เกิดกระแสประสาทวิ่งไปตามเส้นประสาทยนต์ ไปยังกล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่งอข้อสะโพกและข้อเข่าและข้อเท้า เพื่อให้กระดกเท้ายกขาขึ้นด้วยความรวดเร็ว

ขณะเดียวกันกระแสประสาทจากประสาทรับความรู้สึก จะวิ่งขึ้นตามเส้นทางของไขสันหลังอีกทางหนึ่งไปยังสมองใหญ่ที่ตำแหน่งรับความรู้สึก เพื่อรายงานว่าส่วนใดของร่างกายถูกของแหลมตำ เพื่อให้สมองสั่งการลงมาตามเส้นประสาทยนต์ที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อคอให้ก้มลง กล้ามเนื้อตาให้จ้องหาสิ่งที่เหยียบถูก และกล้ามเนื้อของแขนขาเพื่อให้กระทำสิ่งอื่นๆ ที่เหมาะสม

การกระทำดังกล่าวจะเกิดขึ้นช้ากว่าการยกขาในตอนแรกซึ่งกระทำไปโดยยังไม่ทันได้รู้ตัวเสียอีก เราจึงเรียกว่ารีแฟลกซ์ หรือการตอบสนองแบบฉับพลัน ส่วนการเคลื่อนไหวในระยะหลังเราเรียกว่า ถูกควบคุมภายใต้จิตใจ (สมอง) นั่นเอง

แน่นอนถ้าความรู้สึกชนิดต่างๆ เสียไป เราจะเกิดการเคลื่อนไม่ได้

ตัวอย่างเช่น ในผู้ที่สูญเสียความรู้สึกตามผิวหนังของนิ้ว แล้วจับบุหรี่อยู่จะไม่ทิ้งบุหรี่ออกถึงแม้ไฟบุหรี่ได้ไหม้ตามมาถึงนิ้วแล้ว ทำให้นิ้วมือพองถูกไหม้หลุดไปด้วย ซึ่งพบได้ในผู้ที่เป็นโรคเบาหวานหรือโรคเรื้อน

ผู้ที่ตาบอด จะเคลื่อนไหวไม่ได้เลย ถ้าไม่รู้ว่าข้างหน้ามีหลุมมีบ่อหรือไม่? และผู้ที่หูหนวกแต่กำเนิดจะเป็นใบ้ไปด้วยทั้งๆ ที่กล่องเสียงยังดีอยู่

นักกีฬาที่ดีจึงจำเป็นต้องมีความรู้สึกที่ไว เมื่อได้ยินเสียงเป็นสัญญาณ จะพุ่งตัวออกทันทีไม่ว่าในการวิ่งแข่งหรือว่ายน้ำ ตาที่ดีจะทำให้เล่นกีฬาประเภทลูกบอลได้ดีมีความแม่นยำพิเศษในการยิงปืน ยิงธนู ความรู้สึกในต่อและกล้ามเนื้อดีจะเก่งในการเล่นสเกต สกี เต้นรำ ยิมนาสติก

อย่างไรก็ตาม การออกกำลังกายหรือการเล่นกีฬาทุกชนิด ย่อมต้องอาศัยความรู้สึกเกือบทุกชนิดประสานงานกันเพื่อคอยรายงานให้สมองใหญ่และสมองน้อยทราบถึงสภาพการงอของข้อต่อ การหดตัวของกล้ามเนื้อ สภาพแวดล้อมของสนามกีฬา และการเคลื่อนไหวของคู่ต่อสู้ เพื่อสมองจะได้ทำการตัดสินใจ ส่งคำสั่งลงมาตามเส้นประสาทยนต์ให้กล้ามเนื้อหดตัวมากหรือน้อย ช้าหรือเร็ว และกล้ามเนื้อมัดควรจะหด มัดไหนควรจะผ่อน เพื่อเกิดการเคลื่อนไหวที่ราบรื่นรวมถึงและมั่นคงได้

กระแสประสาทที่ลงมาที่เส้นประสาทยนต์จึงมีความสลับซับซ้อนมาก แม้แต่มนุษย์ในปัจจุบันไม่สามารถคิดค้นประดิษฐ์หุ่นยนต์ที่เคลื่อนไหวได้เหมือนมนุษย์ทีเดียว

หุ่นยนต์เวลาเดินจะทื่อและเก้งก้างไม่สง่าเหมือนมนุษย์เดิน เวลายกแขนไปจับสิ่งของจะเชื่องช้าและกระตุก เวลาหันศีรษะไปมาจะไม่ว่องไวและกระฉับกระเฉง อาจมีคนแย้งว่า ในอนาคต หุ่นยนต์อาจจะมีความสามารถดีกว่าหรือเท่าเทียมมนุษย์ได้ แต่อย่าลืมว่าธรรมชาติได้สร้างมนุษย์ขึ้นมาจากการวิวัฒนาการนับหลายหมื่นปี เพื่อให้ปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ และตราบใดที่เราสร้างหุ่นยนต์ได้เหมือนมนุษย์ในขณะนี้ได้ ตราบนั้นมนุษย์ก็คงได้เปลี่ยนวิธีการเคลื่อนไหวที่แตกต่างออกไปอีกแล้ว

ในการฝึกนักกีฬาหรือออกกำลังกาย สิ่งที่สำคัญมากที่สุดจึงเป็นทักษะในการเล่นกีฬาชนิดนั้นๆ การที่จะเกิดทักษะขึ้นนั้นย่อมเกี่ยวข้องกับการควบคุมของระบบประสาท การเกิดทักษะการเคลื่อนไหวต่างๆ ต้องเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งหมายถึงการเคลื่อนไหนนั้นนั้นจะต้องเหมาะกับกาลเวลาและสถานที่ ตัวอย่างเช่น การตีลูกเทนนิสที่วิ่งมาหาเราจากคู่ต่อสู้ เราต้องรู้ว่าลูกเทนนิสมาจากทิศทางไหนด้วยความเร็วเท่าไร โดยการรับรู้ของสมองจากลูกตาและจากประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้จากการฝึกซ้อมในอดีต

ผู้ที่เล่นเทนนิสไม่เป็นอาจจะมองไม่เห็นว่าลูกถูกตีมาจากทิศทางไหนด้วยช้ำ จากนั้นผู้เล่นต้องยกแขนชูไม้ตีเทนนิสเพื่อรับลูกและตีกลับไป ถ้าเคลื่อนไหวเร็วไปหรือช้าไปอาจทำให้รับลูกเทนนิสไม่ได้ และถ้าออกแรงมากไปหรือน้อยไป อาจทำให้ตีลูกออกนอกสนามหรือหล่นใกล้ไป และยังต้องคาดคะเนจากแรงที่กระทบว่าลูกที่มานั้นเป็นลูกตรงหรือลูกหมุน เพื่อจะได้เอียงมุมของไม้ตีเทนนิสได้ถูกต้อง

ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในเสี้ยวของวินาที ซึ่งสมองต้องทำงานรวดเร็วมากจนเกือบจะไม่ต้อง “คิด” การฝึกเล่นกีฬาบ่อยๆ ภายใต้การแนะนำของผู้ฝึก จึงเป็นการกระตุ้นระบบประสาทให้เกิดการเรียนรู้และเก็บข้อมูลต่างๆ ไว้ เมื่อถึงเวลาแข่งขันทำให้ตอบสนองได้ทันที ถ้าเคยพบสภาพนั้นเช่นเดียวกับที่เคยฝึกมาสมองของเราจึงไม่เพียงแต่ทำการควบคุมและสั่งงานเท่านั้น แต่ยังต้องมีความสามารถในการเรียนรู้ที่สูงด้วย แต่ถ้าคำสั่งที่ถูกส่งลงมาจากสมองนั้นดีแล้ว แต่เส้นประสาทนำคำสั่งช้าไป กล้ามเนื้อหดตัวช้าไป ไขข้อติดขัดไม่เคลื่อนไหวเต็มที่เมื่อกล้ามเนื้อหดตัวแล้ว เหล่านี้เป็นอุปสรรคต่อการออกกำลังกายอย่างยิ่ง

การนำของเส้นประสาทที่รวดเร็วต้องมีฉนวนหุ้ม ที่เรียกว่า ไขไมอิลิน ในบางโรคไขไมอิลินจะถูกทำลายไป การนำประสาทจะช้าลง ปลายเส้นประสาทจะมีสารสื่อซึ่งหลั่งออกมาแล้ว ทำให้กล้ามเนื้อหดตัว สารสื่ออาจมีไม่เพียงพอเนื่องจากสร้างไม่ทันจากภาวะผิดปกติของร่างกาย ย่อมทำให้กล้ามเนื้อไม่หดตัวหรือหดตัวน้อย การหดตัวของกล้ามเนื้อจำเป็นต้องอาศัยธาตุแคลเชียมและอาหารจำพวกแป้งและไขมัน ถ้าเกิดภาวะทุพโภชนา ขาดอาหารและธาตุแคลเซียม การหดตัวย่อมทำได้ไม่ดี

ในผู้ที่เป็นโรคไขข้ออักเสบ ไขข้อเสื่อม ข้อต่อติดขัด ทำให้งอแขนขาไม่ได้เต็มที่เนื่องจากปวดข้อ และติดขัดในช่วงสุดท้ายหรือช่วงเริ่มต้น ผู้ที่ออกกำลังกายที่มีอาการปวดคอ ปวดหลังก็เกิดปัญหาเมื่อจำเป็นต้องเล่นกีฬาทำให้เล่นไม่ได้ หรือหยุดเล่นกลางคัน

จะเห็นได้ว่า การที่จะเคลื่อนไหวให้รวดเร็วปานกามนิดนั้น หรือให้ว่องไวเหมือนหนุมานนั้น ย่อมต้องใช้เวลาผึกฝนเพื่อให้เกิดทักษะที่ดี ซึ่งต้องอาศัยระบบประสาท กล้ามเนื้อ กระดูกข้อต่อที่แข็งแรง และมีประสิทธิภาพ 

ข้อมูลสื่อ

76-013
นิตยสารหมอชาวบ้าน 76
สิงหาคม 2528
รศ.ประโยชน์ บุญสินสุข