• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

พลาสติคและถุงกระดาษสิ่งพิมพ์

พลาสติคและถุงกระดาษสิ่งพิมพ์


เมื่อประมาณ 10 ปีที่ผ่านมานี้แม่บ้านหรือพ่อบ้านที่ไปตลาดส่วนใหญ่มักจะหิ้วตะกร้าคนละใบสองใบ เพื่อจะนำไปใส่กับข้าว อาหารที่ซื้อส่วนใหญ่ก็จะเป็นอาหารสดนำกลับมาปรุงกันที่บ้าน วัสดุที่ห่ออาหารไม่ว่าจะเป็นเนื้อสัตว์ ปู ปลา หรือพืชผักผลไม้ ก็จะเป็นใบตองหรือไม่ก็ถุงกระดาษสีน้ำตาล สำหรับผู้ที่ซื้ออาหารสำเร็จรูป ก็มักจะนำปิ่นโตหรือชามไปใส่

ในปัจจุบัน เราไม่ค่อยจะเห็นภาพแม่บ้านหรือพ่อบ้านถือตะกร้าไปตลาดกันแล้ว ส่วนใหญ่จะเดินตัวปลิวไปตลาด และกลับมาด้วยถุงพลาสติคสารพัดสี ที่ใส่อาหาร ใส่ผลไม้ ในมือเต็มไปด้วย ถุงใส่อาหารร้อน ถุงใส่อาหารเย็น ถุงกระดาษสิ่งพิมพ์ใส่อาหารหรือขนมในบางครั้งมีการใช้แผ่นกระดาษหนังสือพิมพ์ห่อเนื้อสัตว์ ห่อผักต่างๆ มาด้วย
ครับ...ชีวิตช่างเปลี่ยนไปมากเหลือเกิน ดูแล้วช่างสะดวกสบายขึ้นพอแกะถุงเสร็จหรือกินเสร็จ เราก็โยนถุงพลาสติคสารพัดแบบสารพัดชนิดลงไปในถัง เป็นอันเรียบร้อย
คงมีน้อยคนนักที่หันมามองถุงและกระดาษต่าง ๆ ที่ใส่หรือห่ออาหารมาว่า มันมีภัยมีพิษที่คิดไม่ถึง อยู่ในนั้นหรือไม่

ปัจจุบันทางแพทย์ทราบดีว่า มีโรคหลายโรคที่ยังไม่สามารถค้นหาสาเหตุได้ แต่ก็คงไม่มีใครปฏิเสธว่า อาหารและสิ่งแวดล้อมมีส่วนทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บได้
สิ่งแวดล้อมมาเกี่ยวข้องกับโรคภัยไข้เจ็บได้อย่างไร? เพื่อคลายความสงสัย...อาจารย์ทวีชัย พืชผล นักวิทยาศาสตร์ กองวิทยาศาสตร์ชีวภาพ กรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการพลังงาน ได้กรุณาให้ “หมอชาวบ้าน” ซักถามเกี่ยวกับเรื่อง มีภัยพิษที่คิดไม่ถึงในถุงพลาสติคและถุงกระดาษสิ่งพิมพ์หรือไม่ ลองติดตามอ่านดูซิครับ....

“ปัจจุบันพลาสติคเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของคนไทยเรามากมาย ที่เห็นได้ง่าย ๆ ก็คือถุงพลาสติคที่ใช้ใส่เครื่องดื่ม,อาหารทั้งร้อนและเย็น และแผ่นพลาสติครองอาหารบางชนิด
คนทั่วไป เมื่อพูดถึงพลาสติคก็มักจะหมายถึง ถุง 2 อย่างคือ ถุงเย็น และถุงร้อน
ถุงเย็นนั้นเป็นถุงใส ทำจากแผ่นโพลีเอธีลิน ชนิดมีความหนาแน่นต่ำ มีคุณสมบัติป้องกันความชื้นผ่านเข้าออกได้ แต่ทนความร้อนจัดไม่ได้
ถุงร้อนนั้นมี 2 อย่างคือ แบบใส และแบบขุ่น แบบใสทำมาจากแผ่นโพลีโปรปีลีน มีคุณสมบัติป้องกันความชื้นผ่านเข้าออกได้ ทนความร้อนได้ถึง 110 องศาเซลเซียส แบบขุ่นทำจากโพลีเอธีลีนชนิดความหนาแน่นสูง สำหรับพลาสติคครองอาหารก็มักเป็นชนิดเดียวกับถุงร้อนเพียงแต่ทำเป็นแผ่น



ยังมีพลาสติคที่ใช้บรรจุอาหารชนิดอื่น ๆ อีกหรือครับ?
“ยังมีพลาสติคชนิดอื่น ๆ อีก แต่ชาวบ้านทั่ว ๆ ไปไม่ค่อยสนใจ เช่น พลาสติคที่ทำจากแผ่น เซลลูโลส อะซีเตท (Cellulose Acetate) เป็นแผ่นพลาสติคชนิดที่อากาศและไอน้ำผ่านเข้าออกได้ จึงเหมาะที่จะใช้ใส่ผักและผลไม้สดที่ต้องการการถ่ายเทอากาศทำให้ไม่เน่าหรือเหี่ยวแห้งเร็ว
พลาสติคอีกอย่าง เช่น ชนิดที่ป้องกันไม่ให้อากาศผ่าน ใช้สำหรับอาหารประเภทที่มีไขมัน ได้แก่ เนยแข็ง เนื้อสัตว์ และอื่นๆ พลาสติคชนิดนี้คือ โพลีเอสเธอร์ (Polyester) ที่เมืองไทยเราไม่ค่อยพบเห็นใช้ถุงพลาสติคอื่น ๆ มาก อาจเป็นเพราะเราไม่นิยม และสามารถหาผลไม้และอาหารสดได้ง่าย”



ถุงพลาสติคมีหลายแบบมีชนิดไหนที่ไม่ควรใช้ครับ?
“ถุงพลาสติคหรือแผ่นพลาสติครองอาหารที่ไม่ควรใช้ได้แก่ พลาสติคที่มีสี เพราะสีอาจจะละลายปนกับอาหารได้ ซึ่งถ้ามีอยู่ในอาหารเป็นจำนวนมาก ก็จะเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคได้ หรือเข้าไปสะสมในร่างกายจนทำให้เกิดโรค สีบางชนิดเมื่อกินเข้าไปอาจจะทำให้เกิดโรคมะเร็ง แต่ถ้านำไปใส่วัสดุต่าง ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับอาหารก็ไม่มีปัญหามากนัก”



พลาสติคที่นำมารองอาหารบางชนิด แล้วห่อด้วยกระดาษอีกที เช่น ที่นำมาห่อบะหมี่แห้ง ราดหน้าหรืออาหารอื่น ๆ ที่ค่อนข้างแห้ง ที่มีสีเขียวอ่อน ๆ ปลอดภัยไหมครับ?
“อันนี้ ไม่ปลอดภัย เราพบว่ามีสีละลายได้ในน้ำมันร้อน ๆ จึงไม่ควรใช้ และมีอีกพวกที่ใช้เป็นฟิล์มบาง ๆใส ๆ ติดกับกระดาษมาห่ออาหาร ก็ไม่สมควรใช้เช่นกัน”



ถ้าอย่างนั้น ถุงพลาสติคมีหูหิ้วที่มีสีต่าง ๆซึ่งใช้กันอยู่ในท้องตลาด ถ้านำมาบรรจุอาหารก็คงจะไม่ปลอดภัยซิครับ?
“ครับ...ไม่ปลอดภัย ถ้านำมาใส่อาหารโดยตรง ถุงดังกล่าวควรนำมาใส่สิ่งของเครื่องใช้มากกว่า
เคยมีการเก็บตัวอย่าง ถุงพลาสติคสีต่างๆ มาทำการตรวจวิเคราะห์ปรากฏว่าส่วนมากไม่เหมาะสำหรับใช้ห่อหุ้มอาหาร เพราะถุงพลาสติคดังกล่าวมีปริมาณโลหะหนัก และปริมาณสารที่ใช้ผสมอื่น ๆ โดยเฉพาะสีมากเกินขอบเขต
ถ้าถุงหรือแผ่นพลาสติคสัมผัสอาหารโดยตรง โลหะหนัก สี และสารที่ผสมจากพลาสติคอาจจะออกมาปนกับอาหารได้ แต่สารจะออกมากหรือน้อยนั้น ขึ้นอยู่กับชนิดของอาหารและภาวะอื่น ๆเช่น อุณหภูมิ ถุงชนิดนี้ ใช้บรรจุอาหารหรือผลไม้ที่ไม่ได้สัมผัสถุงโดยตรงได้ เช่น ผลไม้ต่าง ๆ ที่เราปอกเปลือกออกก่อนกิน”

 

แล้วถ้าคิดประหยัด นำถุงพลาสติคใช้แล้ว มาล้างเพื่อนำมาใส่อาหารอีกล่ะครับ ?
“อันนี้ขอแนะนำว่า อย่าเลย ถุงพลาสติคที่ใช้แล้ว แม้จะนำมาล้างก็ทำให้สะอาดเท่าเดิมไม่ได้ ต่างกับภาชนะอื่น เช่น ถ้วยแก้ว ขวดแก้ว ชามกระเบื้อง เพราะฉะนั้นไม่ควรนำมาใส่อาหารอีก จะทำให้อาหารนั้นไม่สะอาด เสื่อมคุณภาพ และเสียง่าย”

 

ที่เขาว่ากันว่า ถุงพลาสติคที่ใช้แล้วนำมาทำเป็นถุงพลาสติคใหม่ได้นั้น เป็นอย่างไร?
“เขาจะเก็บรวบรวมถุงพลาสติคที่ใช้แล้ว จากกองขยะหรือที่ทิ้งไว้ตามที่ต่าง ๆ นำมาคัดเลือกเป็น
พวก ๆ ต่อจากนั้นก็นำมาล้าง ทำให้แห้ง ตัดเป็นชิ้นเล็ก ๆ เติมสีต่างๆ นำมาหลอม อัดรีดเป็นเส้น
ตัดเป็นเม็ด แล้วทำเป็นถุงพลาสติคอีกทีหนึ่ง โดยทำเป็นถุงพลาสติคสีต่าง ๆ

เนื่องจากถุงพลาสติคเหล่านี้ ได้เคยใช้บรรจุสิ่งต่าง ๆ ซึ่ง เราไม่อาจรู้ได้ว่าเป็นสารมีพิษชนิดที่การล้างและความร้อนไม่สามารถกำจัดให้หมดไปได้ด้วยหรือไม่ จึงไม่เหมาะสำหรับบรรจุอาหาร ควรจะใช้ประโยชน์อย่างอื่นมากกว่า
ในต่างประเทศ มีการผลิตผลิตภัณฑ์จากพลาสติคที่ใช้แล้วเช่นกัน แต่เขานำมาใช้เป็นภาชนะบรรจุสินค้าอื่น เช่น ปุ๋ย สารเคมี เป็นต้น”

 

เราจะรู้ได้อย่างไรว่า เป็นถุงพลาสติคใช้แล้วนำมาทำเป็นถุงพลาสติคใหม่ใช้อีก?
“เราสังเกตได้งาย ๆ โดยดูที่เนื้อพลาสติค จะไม่เรียบเท่ากับถุงใหม่ที่ผลิตจากสารตั้งต้น จะเห็นเป็นเส้นฝ้า ๆ มัว ๆ ฉีกขาดได้ง่าย ผู้ผลิตมักเติมสีลงไป จนมีสีเข้ม”

 

บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปบรรจุถุงที่โฆษณากันอยู่มากมาย ที่ถุงพิมพ์สีสันสวยงามจะมีผลอย่างไรต่อผู้บริโภคไหมครับ ?
“อันนี้ ถ้าผู้ผลิตใช้วัสดุที่ถูกต้องก็ค่อนข้างปลอดภัย พลาสติคควรจะเป็นแบบชนิดมีหลายชั้น ชั้นนอกเป็นชั้นที่พิมพ์สีสันเอาไว้ดึงความสนใจผู้ซื้อ แต่ชั้นในที่สัมผัสกับอาหาร ควรเป็นพลาสติคชนิดไม่มีสี พลาสติคควรมีคุณสมบัติกันความชื้นเพื่อเก็บถนอมอาหารไว้ได้ในระยะนาน พลาสติคชั้นในและนอกจึงควรเป็นพลาสติคต่างชนิดประกบกัน
นอกจากชนิดของถุงพลาสติคแล้ว กรรมวิธีบรรจุก็มีความสำคัญในการรักษาคุณภาพอาหารเป็นอย่างมาก อย่างอาหารที่ต้องบรรจุแบบสูญญากาศนั้น เราไม่ต้องการให้ออกซิเจนเหลืออยู่ เพราะจำทำให้เกิดปฏิกิริยาทางเคมีทำให้อาหารเสื่อมคุณภาพ เช่น มีการเปลี่ยนสี กลิ่น และรส โดยเฉพาะอาหารที่มีไขมัน จะเห็นได้ชัดมาก”

 

พลาสติคนั้นกว่าจะผลิตขึ้นมาต้องผ่านกรรมวิธีหลายอย่าง แล้วจะมีความปลอดภัยมากน้อยเพียงใด เมื่อใช้บรรจุอาหาร ?
“อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับผู้ใช้ ควรทำความเข้าใจ และเลือกใช้ให้เหมาะสมกับชนิดของอาหารที่จะบรรจุ
เพราะ วัตถุดิบต่าง ๆ ที่นำมาใช้ผลิตพลาสติคนั้นประกอบด้วยสารเคมีหลายชนิด เช่น สีและสารที่ทำให้พลาสติคมีคุณสมบัติต่าง ๆ เช่น ความอ่อน ความแข็ง ความทนทานต่อความร้อน ต่อการขัดสี ต่อการสึกหรอ และอื่น ๆ สารเหล่านี้อาจเป็นสารเคมีที่เป็นพิษต่อร่างกาย เมื่อนำมาใส่อาหาร สารเหล่านี้อาจจะละลายปนกับอาหารได้
การที่จะวิเคราะห์และทราบว่าสารเหล่านี้อาจออกมาปนในอาหารมากหรือน้อยและมีพิษเพียงใด เราสามารถทำได้โดยใช้สารสกัดที่เป็นตัวแทนอาหาร หรือใช้อาหารที่บรรจุเลยก็ได้ ปริมาณสารที่อยู่ในพลาสติคจะถูกสกัดออกมามากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับชนิดของอาหาร ระยะเวลา และพื้นที่ผิวที่อาหารสัมผัสพลาสติคด้วย”

เราคงจะเห็นแล้วว่า ของที่มีคุณอนันต์ ก็ย่อมมีโทษมหันต์เช่นกัน
พลาสติคเป็นผลิตผลของเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่มนุษย์ค้นพบ และผลิตขึ้นมาใช้ นำความสะดวกสบายมาสู่มนุษย์ แต่ถ้าเราไม่ทำความเข้าใจ หรือควบคุมมันไม่ได้ มันก็จะนำพิษภัยมาสู่มนุษย์อย่างน่าเป็นห่วง
ทีนี้หันมาเรื่อง ถุงกระดาษสิ่งพิมพ์ ดูซิว่า อาจารย์ ทวีชัย พืชผล ท่านได้ให้รายละเอียดอย่างไรบ้าง

“ถ้าพูดถึงกระดาษสิ่งพิมพ์ที่ไม่ใช้แล้วและนำมาเป็นประโยชน์อีกนั้น ก็คงมีบทบาทกับคนไทยเรามายาวนาน โดยเฉพาะกระดาษหนังสือพิมพ์ เราจะเห็นว่า ถุงกระดาษสิ่งพิมพ์หรือถุงกระดาษหนังสือพิมพ์มีการใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วไปอันนี้ถ้าเราใช้ให้เหมาะสมกับสิ่งของที่จะใส่ในถุงก็คงจะปลอดภัย”

 

⇒ทำไมถึงว่า ต้องใช้ถุงกระดาษสิ่งพิมพ์ให้เหมาะสมกับสิ่งของที่จะใส่ครับ ?
“อันนี้เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า หมึกพิมพ์ทีนำมาพิมพ์ตัวหนังสือหรือสิ่งพิมพ์ส่วนใหญ่นั้น เป็นสีที่กินไม่ได้ เป็นอันตราย ส่วนประกอบมีตะกั่ว โครเมี่ยม คัดเมี่ยม ปรอท สารหนู ฯลฯ สารเหล่านี้เป็นโลหะหนัก เป็นพิษ ถ้าหมึกพิมพ์สัมผัสกับอาหาร หมึกอาจติดไปกับอาหาร เมื่อเรากินเข้าไปก็ไปสะสมในร่างกาย ทำให้เกิดโรคต่าง ๆได้
ถุงที่มีหมึกพิมพ์จึงไม่เหมาะที่จะนำมาใช้บรรจุอาหารที่สัมผัสกับถุงโดยตรง ไม่ปลอดภัย”

ไม่ควรใส่อาหารทีสัมผัสกับถุงโดยตรงทุกชนิดเลยซิครับ ?
“อันนี้ไม่ใส่เลยก็ดี โดยเฉพาะอาหารบางชนิดที่มี ความชื้น เป็นของเหลว มีน้ำมัน หรือร้อน ๆ อาหารหรือขนมเหล่านี้ ถ้าใส่อยู่ในถุง สัมผัสกับหมึกพิมพ์โดยตรง หมึกพิมพ์ก็จะซึมเข้าไปสู่อาหารหรือขนมนั้นได้ ”

 

ถ้าอย่างนั้น อาหารหรือขนมพวก กล้วยทอด มันทอด กล้วยปิ้ง ปาท่องโก๋ และอื่นๆอีกที่มักใส่ในถุงโดยตรง ก็ไม่ปลอดภัยครับ ?
“ครับ อันนี้เมื่ออาหารหรือขนมนั้นสัมผัสกับหมึกพิมพ์ หมึกพิมพ์ก็จะติดอาหารหรือขนมนั้นโดยเฉพาะอาหารที่ชื้นและมัน”

 

อย่างอาหารที่มีความชื้น เช่นพวกผลไม้ มะม่วงดอง สับปะรด หรืออื่นๆถ้าใส่ในถุงโดยตรงก็มีโอกาสติดหมึกเหมือนกันซิครับ?
“ครับ ไม่ปลอดภัย”

 

⇒แล้วถุงกระดาษที่พิมพ์ด้วยหมึกพิมพ์ หรือรูปภาพตัวหนังสืออยู่ข้างนอกล่ะครับ?
“ถ้าภายในไม่มีหมึกพิมพ์และกระดาษหนาพอก็ค่อนข้างปลอดภัย แต่ถ้ากระดาษที่ทำถุงบางเกินไป หมึกพิมพ์อาจจะซึมผ่านจากกระดาษเข้าสู่อาหารนั้นได้เช่นกัน โดยเฉพาะอาหารที่ชื้นหรือมีน้ำมัน
อย่างไอศกรีมแท่งที่มีซองกระดาษหุ้มอยู่ โดยมากภายนอกมักพิมพ์สีสันต่างๆ ให้ชวนซื้อ หมึกพิมพ์ส่วนใหญ่เป็นสีที่กินไม่ได้ และถ้ากระดาษบางด้วยแล้ว สีก็จะซึมจากกระดาษสู่ไอศกรีมได้ เพราะมีความชื้นอยู่แล้ว”

 

⇒ อย่างนี้ควรจะหาทางแก้ไขอย่างไรดีครับ ?
“อันนี้คงต้องช่วยกันทั้งผู้ขายและผู้ซื้อ ทำความเข้าใจในเรื่องนี้ ผู้ขายควรเลือกถุงใส่ให้เหมาะสมกับอาหาร เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค”

ท่านผู้อ่านคงจะได้เข้าใจหลายสิ่งหลายอย่างจากเรื่อง ถุงพลาสติคและถุงกระดาษสิ่งพิมพ์ แล้ว
นี่แหละครับ ! ก่อนที่จะกินของ ไม่ว่าจะเป็น ของอร่อย ของชอบ ของโปรด ของฟรี ของแถม ของหลวง ของราษฎร์ ขอให้เรา “คิดก่อนกินสักนิด ชีวิตจะปลอดภัย” ช่วยกันเถอะ!
เราคงไม่ต้องการที่จะให้เพื่อนมนุษย์ ต้องทนทุกข์ทรมานจากโรคภัยไข้เจ็บอันไม่สมควรจะเกิดใช่ไหมครับ.

 

ข้อมูลสื่อ

38-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 38
มิถุนายน 2525
อื่น ๆ
อจ.ทวีชัย พืชผล