• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

หวัด

หวัด

 

ย่างเข้าเดือนหกฝนก็ตกพรำ ๆ ....” (แต่เดี๋ยวนี้ชักจะไม่แน่เสียแล้ว)
เสียงเพลงลูกทุ่งที่เราได้ฟังถี่ขึ้นในระยะนี้ ทำให้นึกถึงชาวไร่ชาวนา คงจะดีใจที่จะได้เริ่มไถเริ่มหว่านทำมาหากินเสียที แต่สำหรับคนในเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนกรุงเทพฯ อาจจะกลุ้มใจเพราะไปไหนมาไหนไม่สะดวก เพราะถนนมีน้ำเจิ่งนอง ในระยะต้นฤดูฝนเป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงของอากาศ มักจะทำให้คนเป็นหวัดกันมาก โดยเฉพาะผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอจะติดโรคหวัดได้ง่ายมาก
บางคนอาจจะเห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่ถ้าหากจะพิจารณาตามความเป็นจริงแล้ว โรคนี้เป็นโรคที่มีความสำคัญโรคหนึ่ง เพราะนอกจากจะเป็นโรคติดเชื้อที่มีการติดต่อได้ง่ายที่สุดแล้วยังสามารถเป็นแล้วเป็นอีกได้ในระยะเวลาใกล้เคียงกัน

ถ้าเกิดกับครอบครัวใดก็จะผลัดกันเป็นผลัดกันหายวนเวียนอยู่ภายในบ้าน ทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย สมรรถภาพในการทำงานน้อยลงหรืออย่างน้อยที่สุดก็ต้องรำคาญกับน้ำมูกไหลหรือไอจาม
ถ้าเป็นหวัดเรื้อรังจะทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนกลายเป็นเรื่องใหญ่ได้ เช่น โรคไซนัสอักเสบ โรคหลอดลมอักเสบ โรคปอดบวม โรคหูน้ำหนวก ซึ่งจะต้องสิ้นเปลืองเงินทองในการรักษา เสียเวลาไปทำงาน เรียนหนังสือ ฯลฯ แต่อย่างไรก็ตามโรคนี้เป็นโรคที่ป้องกันได้ เพียงแต่รู้จักการปฏิบัติตัวอย่างง่าย ๆ ดังต่อไปนี้

1. บำรุงร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ โดยการกินอาหารที่มีประโยชน์และให้ครบทุกหมู่คือ
- ประเภทเนื้อสัตว์และถั่วต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง เช่น ถั่วงอกหัวโต เต้าหู อาหารประเภทนี้ถือว่าสำคัญมาก
- ประเภทไขมัน
- ประเภทผักและผลไม้
- ประเภทเกลือแร่ต่าง ๆ
2. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
3. ใส่เสื้อผ้าให้เหมาะสมกับดินฟ้าอากาศ ถ้าเสื้อผ้าเปียกฝนควรเปลี่ยนทุกครั้ง พยายามรักษาร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ
4. ออกกำลังกายให้เหมาะสมกับวัยอย่างสม่ำเสมอ เพราะจะทำให้ร่างกายแข็งแรง กระปรี้กระเปร่า
5. หลีกเลี่ยงจากการเข้าไปอยู่ในที่แออัด อากาศถ่ายเทไม่สะดวก หรืออยู่ในชุมชนที่มีคนไปรวมกันอยู่มาก ๆ เช่น โรงภาพยนตร์ โรงมหรสพต่าง ๆ ฯลฯ

แต่ถ้าบังเอิญท่านหรือคนในบ้านเกิดเป็นหวัดขึ้นมา ไม่ควรไปซื้อ “ยาชุด” ที่ทางร้านขายยาจัดให้ เพราะยาชุดประกอบด้วยยาหลายประเภทที่มีผลเสียมากกว่า หากใช้ไม่ถูกต้อง เป็นต้นว่า ยาประเภทสเตียรอยด์หรือยาเพร็ดนิโซโลน สามารถทำให้กระเพาะและลำไส้เป็นแผลทะลุ ความต้านทานต่ำติดโรคได้ง่าน กระดูผุ ฯลฯ หรืออาจมียาพวกปฏิชีวนะร่วมด้วย ซึ่งยานี้จะต้องกินให้ครบตามจำนวนและขนาดของยาจึงจะได้ผล โดยเชื้อไม่ดื้อต่อยา

หวัดเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสซึ่งปัจจุบันยังไม่มียาฆ่าเชื้อโดยเฉพาะ ฉะนั้นการรักษาก็ต้องอาศัยหลักพักผ่อนให้มาก กินอาหารให้เพียงพอ ดื่มน้ำมาก ๆ หากมีอาการเจ็บคอ ก็ให้กลั้วคอด้วยน้ำเกลืออุ่น ๆ จะช่วยได้บ้าง หากมีอาการปวดศีรษะมีไข้หนาว ๆ ร้อน ๆ ปวดเมื่อยตามตัว ให้กินยาลดไข้ เช่น แอสไพริน ครั้งละ 1-2 เม็ดเวลามีอาการ และซ้ำได้ทุก 4-6 ชั่วโมง โดยกินหลังอาหารทันทีและดื่มน้ำตามให้มาก ๆ ห้ามใช้กับเด็กหรือผู้ที่เป็นโรคกระเพาะ หรืออาจจะกินยาพาราเซตามอลครั้งละ 1-2 เม็ด เช่นกัน แต่ห้ามใช้กับผู้ที่เป็นโรคตับ

และถ้ามีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล ไอจาม ให้กินยาคลอร์เฟนิรามีน ครั้งละครึ่งถึงหนึ่งเม็ดเวลามีอาการหลังกินยานี้ห้ามขับรถ หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร หากมีอาการไออาจใช้ยาแก้ไอน้ำเชื่อม หรือยาขับเสมหะกินครั้งละ 1-2 ช้อนชา วันละ 3-4 ครั้ง
ถ้าท่านเป็นหวัดธรรมดา อาการต่าง ๆ ควรจะหายไปภายใน 5-7 วัน หากอาการไม่ดีขึ้นแสดงว่าอาจมีโรคแทรกซ้อนเกิดขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาต่อไป

ป้องกันโรคหวัด จะประหยัดเศรษฐกิจของตนและของชาติได้ทางหนึ่ง”

ข้อมูลสื่อ

38-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 38
มิถุนายน 2525
อื่น ๆ
ประไพ บุรินทรามาตย์