• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การทำความสะอาดที่นอนที่มีผู้ป่วย

การทำความสะอาดที่นอนที่มีผู้ป่วย

ผู้ป่วยที่ต้องนอนอยู่บนที่นอนตลอดเวลา ควรได้รับการเปลี่ยนผ้าปูที่นอนทุกวัน ทั้งนี้เพื่อความสุขสบายและความปลอดภัยของผู้ป่วย ตลอดจนเพื่อให้สะอาดและดูสวยงาม

สำหรับผู้ป่วยบางรายอาจกลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระไม่ได้ ทำให้ที่นอนเปื้อน ควรใช้ผ้ายางปูทับผ้าปูที่นอนไว้ และใช้ผ้าปูทับผ้ายางอีกครั้ง เพื่อความสะดวกในการเปลี่ยนผ้าในแต่ละครั้ง ซึ่งจะเปลี่ยนเฉพาะผ้าที่ปูทับผ้ายางเท่านั้น หรืออาจใช้กระดาษฟางปูไว้ข้างบนอีกชั้นหนึ่งด้วย

ในกรณีที่ไม่สามารถเปลี่ยนผ้าปูที่นอนได้ทุกวันและไม่เปรอะเปื้อนควรใช้ผ้าหรือแปรงปัดกวาดฝุ่นละอองออกทุกวันเช่นกัน

การทำความสะอาดที่นอน ให้ทำหลังจากผู้ป่วยอาบน้ำหรือเช็ดตัวแต่งตัวเรียบร้อยแล้ว และถ้าในการทำมีผู้ช่วยด้วยจะสะดวกและปฏิบัติได้เร็วยิ่งขึ้น วิธีปฏิบัติขั้นตอนดังนี้ คือ

1. เตรียมเครื่องใช้ที่จะเปลี่ยน เช่น ผ้าปูที่นอน ปลอก ไว้ให้พร้อมใกล้ตัว

2. ขยับหรือยกหรือุ้ม (แล้วแต่ว่าผู้ป่วยเป็นโรคอะไร น้ำหนักเท่าไร มีคนช่วยหรือไม่) ให้ผู้ป่วยนอนไปด้านใดด้านหนึ่งของที่นอน ถ้ามีผู้ช่วยให้ผู้ป่วยตะแคงไปทางด้านที่มีผู้ช่วยอยู่ ซึ่งถ้านอนบนเตียง ระวังการตกเตียง

3. รื้อผ้าปูที่นอนด้านที่ไม่มีผู้ป่วย ออกตั้งแต่หัวนอนจนถึงปลายเท้า ตลบขึ้นไปให้มากที่สุดทางด้านที่ผู้ป่วยนอนอยู่

4. ปูผ้าปูที่นอนผืนใหม่ โดยคลี่ออกทีละครึ่งที่ผ้าปูที่นอนผืนเก่า ซึ่งถ้ามีผ้ายางและผ้าปูทับผ้ายางให้วางลงไปพร้อมกัน เหน็บชายผ้าด้านใกล้ตัวให้เรียบร้อย อีกด้านหนึ่งที่เหลือคลี่ไปทางด้านผู้ป่วย

5. ขยับ หรือยก หรืออุ้ม หรือตะแคงผู้ป่วยมาข้างที่เปลี่ยนผ้าเรียบ

6.รื้อผ้าผืนเก่าอีกข้างหนึ่งที่เหลือออกให้หมด ดึงผ้าปูผืนใหม่ ผ้ายาง ผ้าปูทับผ้ายาง ซึ่งคลี่เหลือไว้ออกไป เหน็บที่นอนเหมือนข้างที่ทำเสร็จแล้ว

7. พลิกให้ผู้ป่วยนอนในท่าที่สบาย และปลอดภัย

8. เปลี่ยนปลอกหมอน

9. ในวันที่ไม่เปลี่ยนผ้าปูที่นอนแต่จะทำความสะอาดโดยการปัดหรือกวาด ให้ทำทีละข้างๆ ด้วยวิธีการขยับผู้ป่วยไปข้างใดข้างหนึ่งก่อนเช่นเดียวกัน ดึงชายผ้าทุกด้านให้ตึง

ข้อควรคำนึง “ความสะอาด” จะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกสบาย จิตใจคลายความวิตกกังวล และช่วยให้หลับสบาย

นอกจากความไม่สมดุลระหว่างบุคลากรทางการแพทย์กับจำนวนประชาชนแล้ว ภาวะสังคมและเศรษฐกิจในปัจจุบันยังทำให้ประชาชนจำนวนมากไม่สามารถใช้บริการของสถานพยาบาลได้ทุกครั้ง การดูแลตนเองหรือดูแลซึ่งกันและกันเมื่อมีความผิดปกติบางอย่างจึงมีความสำคัญที่จะช่วยแก้ปัญหาเฉพาะหน้า หรือบรรเทาภาวะวิกฤติก่อนที่จะไปสถานพยาบาลได้ และปัญหาบางอย่างต้องการเพียง พยาบาลในบ้าน

ข้อมูลสื่อ

77-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 77
กันยายน 2528
พยาบาลในบ้าน
ดร.จริยาวัตร คมพยัคฆ์