• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การอาบน้ำผู้ป่วยบนเตียง

การอาบน้ำผู้ป่วยบนเตียง

“การอาบน้ำ” มีความจำเป็นต่อชีวิตประจำวันทั้งคนปกติและคนป่วย โดยเฉพาะเวลาอากาศร้อน เหงื่อออกมาก การอาบน้ำเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยให้ร่างกายสะอาด ขจัดสิ่งสกปรกบนผิวหนัง และยังช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของโลหิตบนผิวหนังได้ดีขึ้น เพื่อให้ผิวหนังแข็งแรงและทำหน้าที่ได้อย่างปกติ การอาบน้ำช่วยให้เกิดความสบายทั้งร่างกายและจิตใจ

ผู้ป่วยที่ช่วยตัวเองไม่ได้ หรือต้องนอนอยู่บนที่นอนตลอดเวลา ต้องการอาบน้ำเช่นเดียวกับคนปกติ โดยจะต้องมีคนช่วยเหลือหรืออาบให้ การอาบน้ำผู้ป่วยบนเตียง หรือบนที่นอนเปรียบได้กับ “ซักแห้ง”

เครื่องใช้ในการอาบน้ำก็เหมือนกับคนปกติ คือ ต้องมีน้ำ มีสบู่ มีผ้าเช็ดตัว และแป้ง ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องยกมาให้พร้อมๆ ข้างๆ ที่นอนเพื่อมิต้องวิ่งไปวิ่งมาหยิบ โดยเฉพาะถ้าต้องทำคนเดียว นอกจากนี้ในมื้อที่ต้องทำความสะอาดปาก ฟัน จะต้องเตรียมเครื่องใช้มาพร้อมกัน และทำความสะอาดปาก ฟัน ก่อน

เสื้อผ้าที่จะเปลี่ยนควรมีเนื้อผ้าเหมาะสมกับอากาศ ใส่ง่ายถอดง่าย ไม่ควรติดกระดุม เพราะอาจกดทับกับร่างกายทำให้บาดเจ็บ

ขั้นตอนการอาบน้ำ ปฏิบัติดังนี้ คือ

1. จัดบริเวณไม่ให้มีลมโกรก เช่น ปิดหน้าต่าง

2. ช่วยให้ผู้ป่วยได้ถ่ายปัสสาวะหรืออุจาระเสียก่อน แล้วทำความสะอาดอวัยวะสืบพันธุ์และทวารหนักให้สะอาด

3. ถอดเสื้อผ้าของผู้ป่วยออกคลุมด้วยผ้าเช็ดตัว

4. ทำความสะอาดปาก ฟัน เช่น แปรงฟัน บ้วนปาก และกลั้วคอ ซึ่งขณะทำนี้ควรยกหรือหนุนศีรษะให้สูง

5. ใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำบิดให้พอหมาด (น้ำควรมีอุณหภูมิเหมาะสมกับอากาศ) เช็ดหน้า ใบหู ลำคอ แล้วนำผ้าถูกับสบู่จนเป็นฟอง ลูบหน้าใบหู และลำคอ (ถ้าผู้ป่วยไม่ชอบฟอกหน้าก็ไม่ต้องฟอก เช็ดด้วยน้ำธรรมดา)

6. ใช้ผ้าขนหนูอีกผืนหนึ่ง ชุบน้ำพอหมาดเช็ดสบู่ออกให้หมดโดยเช็ดหลายๆ ครั้ง

7. ปฏิบัติเช่นเดียวกันจนทั่วตัวการเช็ดส่วนหลังให้ใช้วิธีตะแคง

8. ทุกอวัยวะเมื่อเสร็จแล้วต้องซับให้แห้ง และระวังอย่าให้น้ำและสบู่เปียกที่นอน จะทำให้ชื้น อาจใช้ผ้าขนหนูวางทับบนผ้าปูที่นอนขณะฟอกสบู่และเช็ดตัวก็ได้

10. เทแป้งลงบนฝ่ามือผู้ปฏิบัติเพื่อมิให้ฝุ่นแป้งฟุ้ง แล้วจึงนำไปทาบริเวณที่ผู้ป่วยต้องการ

11. ใส่เสื้อผ้า และถ้าอากาศหยาวควรห่มผ้าให้ด้วย

ข้อพึงระลึกถึง ขณะอาบน้ำให้ผู้ป่วย บริเวณที่ยังไม่ได้อาบหรืออาบแล้ว ควรได้รับการปกปิด จะเปิดเฉพาะบริเวณที่กำลังอาบเท่านั้นเอง และขณะอาบควรพูดคุยเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับความเพลิดเพลินด้วย

นอกจากนี้แล้วควรให้ผู้ป่วย แช่มือและแช่เท้าลงในอ่างน้ำ แล้วฟอกสบู่ล้างให้สะอาด เช็ดให้แห้ง ผู้ป่วยจะมีความรู้สึกเหมือนกับว่า “กำลังอาบน้ำซู่ๆ” อยู่ในห้องน้ำด้วยตนเอง

ข้อมูลสื่อ

78-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน 78
ตุลาคม 2528
พยาบาลในบ้าน
ดร.จริยาวัตร คมพยัคฆ์