• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การนวดกับการออกกำลังกาย

การนวด กับการออกกำลังกาย

ผู้ที่ชอบดูกีฬาต่างๆ โดยเฉพาะกีฬามวย มักจะสังเกตได้ว่าในแต่ละยก พี่เลี้ยงมักลงมือบีบนวดกล้ามเนื้อของนักมวย โดยเฉพาะตามแขนขาก่อนการชกในยกต่อไป กีฬาอื่นๆ เช่น ฟุตบอล มักจะมีผู้ที่เก่งการนวดประจำอยู่ในทีม ทำหน้าที่บีบนวดนักกีฬาก่อนการแข่งขัน และหลังจากมีการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อในสนามแข่ง บ่อยครั้งที่ตัวเราเองหลังจากเล่นกีฬา หรือออกกำลังกายใหม่ๆ เมื่อรู้สึกปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เราจะบีบนวดกล้ามเนื้อแขน หรือขาของเรา หรือไหว้วานให้คนอื่นทำให้ และหลังจากการนวดจะ รู้สึกว่าอาการปวดเมื่อยนั้นค่อยทุเลาลง

หลายท่านจึงเกิดข้อสงสัยขึ้นมาว่า การนวดนั้นมีความจำเป็นต่อการออกกำลังกายหรือไม่? และถ้าจำเป็นควรทำก่อนการออกกำลังกาย หรือหลังการออกกำลังกาย?

ผู้ที่เห็นว่าการนวดไม่จำเป็นนั้นให้เหตุผลว่า ถ้าเราออกกำลังกายหัวใจจะเต้นเร็วขึ้น เลือดจะไหลเวียนดีขึ้น ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องนวด เพราะการนวดไม่สามารถเพิ่มการไหลเวียนเลือดได้มากเท่ากับการออกกำลังกาย และบ่อยครั้งยังทำให้ผู้นวดเหนื่อยมากขึ้นอีก ผู้ที่เห็นด้วยก็มักจะกล่าวว่า การออกกำลังกายนั้นทำให้มีการเผาผลาญพลังงานในร่างกาย ทำให้มีข้อเสียคั่งอยู่ในกล้ามเนื้อมาก การนวดจะทำให้ของเสียในกล้ามเนื้อถูกกำจัดออกไปได้อย่างรวดเร็ว อาการปวดเมื่อยจึงหายไปได้อย่างรวดเร็ว และถ้าอีกฝ่ายหนึ่งที่เดินสายกลางจะกล่าวว่า ถ้ามีการนวดที่ดี ไม่นวดก็ไม่เป็นไร

ดูเหมือนว่าข้อถกเถียงนี้คงไม่ยุติลงง่ายๆ และแม้แต่ฝ่ายที่สนับสนุนการนวด เมื่อถามว่าควรนวดก่อนหรือหลังการออกกำลังกาย ก็เกิดเป็นอีก 3 ฝ่าย คือ

ฝ่ายหนึ่งบอกว่าควรนวดก่อนการออกกำลังกาย เพราะจะทำให้การออกกำลังกายมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น แต่อีกฝ่ายหนึ่งบอกว่า ควรนวดหลังการออกกำลังกายเท่านั้น เพราะช่วยการกำจัดของเสียได้เร็วขึ้น และคงมีฝ่ายที่สามเช่นเดียวกันที่กล่าวว่า จะนวดก่อนหรือหลังการออกกำลังกายก็ได้ เลยทำให้ยิ่งเกิดความสับสนมากขึ้นอีก

การนวดเป็นการทำให้ส่วนของร่างกายเกิดการเคลื่อนไหว เช่นเดียวกับการออกกำลังกาย แต่การเคลื่อนไหวนั้นทำได้โดยผู้อื่น หรือถูกกระทำมิได้เกิดจากคำสั่งของระบบประสาทไปทำให้กล้ามเนื้อหดตัว นอกจากนี้ข้อแตกต่างระหว่างการนวดกับการออกกำลังกาย คือ การนวดที่ดีย่อมไม่ทำให้กล้ามเนื้อหดตัว แต่กลับทำให้กล้ามเนื้อที่ถูกนวดนั้นถูกยืดออก โดยไม่เกิดการฉีดขาดขึ้น

ถ้าเราค่อยๆ ออกแรงกดที่ผิวหนังให้ลึกลงไป จะรู้สึกภายใต้ผิวหนังนั้นมีไขมัน ลึกลงไปอีกมีพังผืดซึ่งหุ้มกล้ามเนื้ออยู่ ถัดไปเป็นกล้ามเนื้อ และถ้าออกแรงกดเต็มที่ก็จะพบกระดูก แสดงว่าร่างกายของเราประกอบด้วยเนื้อเยื่อหลายๆ ชั้น และแต่ละชั้นย่อมไม่ติดกันเป็นเนื้อเดียวกัน ทำให้กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นเคลื่อนที่ไปมาได้เมื่อเกิดการหดตัว และเมื่อมีการเคลื่อนไหวที่ข้อต่างๆ ทำให้เราออกกำลังหรือเล่นกีฬาได้ นอกจากนี้ในกล้ามเนื้อของเรายังมีหลอดเลือดมากมาย และมีเส้นประสาทที่ทอดมาออกคำสั่งให้กล้ามเนื้อหดตัวได้ตามความต้องการของสมอง ดังนั้น การนวดจึงทำให้เกิดผลต่อทั้งผิวหนัง ไขมัน พังผืด กล้ามเนื้อเยื่อหุ้มกระดูก หลอดเลือด และเส้นประสาท

การนวดทำให้ผิวหนังเต่งตึงมีความยืดหยุ่นดีขึ้น ช่วยให้การเคลื่อนไหวสะดวกขึ้น ความร้อนถูกระบายออกมากับเหงื่อตามรูเหงื่อได้ดีขึ้น

การนวดทำให้ไขมันใต้ผิวหนังไม่เกาะกันเป็นก้อนแข็ง สะดวกแก่การทำลายหรือถูกนำไปใช้ในส่วนอื่นได้ง่ายขึ้น เป็นการลดความอ้วนในทางอ้อม

การนวดทำให้พังผืดยืดออกไม่รัดตึงอยู่กับกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อหดตัวได้สะดวกว่องไวขึ้น และหดตัวได้มาก ทำให้เกิดกำลังมากขึ้น

การนวดทำให้เยื่อหุ้มกระดูกมีความยืดหยุ่นพอสมควร ไม่ฉีกขาดได้ง่ายขณะออกกำลังกาย เช่น ตีเทนนิส หรือตีกอล์ฟ

การนวดทำให้หลอดเลือดถูกดและปล่อยเป็นจังหวะ ทำให้เลือดถูกฉีดพุ่งไปยังส่วนต่างๆ ของกล้ามเนื้อได้มากขึ้น และหลอดเลือดเส้นเล็กขยายตัวออกมากขึ้น ทำให้การขนส่งก๊าซออกซิเจนมาที่กล้ามเนื้อ และนำเอาของเสียจากผลการเผาผลาญออกไปจากกล้ามเนื้อได้รวดเร็ว ทำให้เป็นหนี้ออกซิเจนน้อยลง (ปริมาณก๊าซออกซิเจนที่ต้องชดเชยให้กับกล้ามเนื้อภายหลังการออกกำลังลดลง)

การนวดทำให้การรับความรู้สึกเจ็บปวดของเส้นประสาทลดลง โดยกลไกที่คล้ายคลึงกับการฝังเข็ม

สรุปคือ การนวดมีประโยชน์ต่อการออกกำลังกาย หรือเล่นกีฬาช่วยบำรุงสุขภาพของนักกีฬา ป้องกันการฉีดขาดของกล้ามเนื้อหรือพังผืดและลดการเกิดอุบัติเหตุ เนื่องจากการเคลื่อนไหวคล่องตัวขึ้น รักษาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อได้ และลดความเจ็บปวดได้พอสมควร ทั้งยังช่วยให้กล้ามเนื้อข้อต่อที่บาดเจ็บฟื้นฟูสมรรถภาพ และกลับไปออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาได้เร็วขึ้น สิ่งเหล่านี้ได้พิสูจน์มาแล้วเป็นเวลาหลายพันปี หรือตั้งแต่เริ่มมีมนุษย์อุบัติขึ้นบนโลกนี้

คำตอบสำหรับคำถามที่ว่า ควรนวดก่อนหรือหลังการออกกำลังกาย จึงขึ้นกับจุดประสงค์ของการนวด ถ้าต้องการบำรุงร่างกายเพื่อสุขภาพ พลานามัย หรือป้องกันการเกิดอุบัติเหตุในกีฬาที่ต้องการความพร้อมเพรียงมาก เช่น กีฬามวย หรือฟุตบอล ส่วนการนวดก่อนออกกำลังกาย ก็เพื่อต้องการรักษาหรือฟื้นฟูสมรรถภาพของผู้ออกกำลังกาย เมื่อมีจุดมุ่งหมายที่แน่นอนแล้ว วิธีการนวดย่อมแตกต่างกัน การนวดเพื่อบำรุงสุขภาพอาจทำโดยนิ่มนวล เพื่อให้เกิดการผ่อนคลาย หรือค่อนข้างรุนแรงเพื่อเป็นการกระตุ้นผิวหนัง และกล้ามเนื้อและมักจะนวดทั่วทั้งร่างกาย

การนวดเพื่อป้องกัน จะทำเฉพาะที่ที่ติดขัด เช่น การตึงของกล้ามเนื้อ การติดขัดของข้อต่อข้อใดข้อหนึ่ง หรือมีแผลเป็นยึดกล้ามเนื้อที่จุดใดจุดหนึ่ง การนวดมักจะลึกและหนักเพื่อยืดส่วนที่ติดขัดให้ออกจากกันและทำช้าๆ

การนวดเพื่อการรักษา ต้องรู้ว่ามีการบาดเจ็บที่ใด เช่น มีการแพลงของกล้ามเนื้อเส้นเอ็น หรือพังผืด หรือเกิดการเกร็งของกล้ามเนื้อ การรักษาจึงควรทำโดยผู้ที่ศึกษา หรือมีประสบการณ์ทางด้านนี้โดยเฉพาะ ได้แก่ นักกายภาพบำบัด แพทย์แผนโบราณที่เรียนทางหัตถเวช หรือแพทย์ทางเวชศาสตร์การกีฬา และทางกระดูก

การนวดเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพหลังเกิดการบาดเจ็บ ย่อมต้องทำเพื่อช่วยให้ส่วนที่บาดเจ็บกลับเข้าสู่สภาพเดิมให้มากที่สุด โดยจะนวดเฉพาะที่ เพื่อเพิ่มการไหลเวียนไปส่วนนั้นให้มากขึ้น และทำร่วมกับการบริหารเพื่อเป็นการนำเข้าสู่การออกกำลังกายได้อีกครั้งหนึ่ง จึงต้องทำโดยบุคลากรที่มีความชำนาญโดยเฉพาะ ดังเช่นในการนวดเพื่อการรักษา

การนวดที่ไม่มีจุดประสงค์และทำด้วยความประมาท ย่อมเกิดผลเสียมากกว่าผลดี ดังนั้น ก่อนจะนวดควรศึกษาคู่มือการนวด และเรียนรู้จากบุคลากรทางการแพทย์ทั้งแผนปัจจุบนและแผนโบราณก่อน มิฉะนั้นความหวังดีของท่าน อาจสร้างความบอบช้ำให้กับผู้ที่ท่านรักและนับถือ จนกลายเป็นหวังร้ายก็ได้

ข้อมูลสื่อ

79-011
นิตยสารหมอชาวบ้าน 79
พฤศจิกายน 2528
รศ.ประโยชน์ บุญสินสุข