• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เลี่ยนและพลู

เลี่ยนและพลู

 

                    

 

เลี่ยน


⇒ชื่ออื่น
เกรียน, เคี่ยน , เฮี่ยน (ภาคเหนือ), โขวหนาย (แต้จิ๋ว) , ขู่เลี่ยน (จีนกลาง) Bead tree, Bastard Cedar,China Tree, Chinaball Tree, Persian Lilac


⇒ชื่อวิทยาศาสตร์
Melia azedarach L. วงศ์ Meliaceae


⇒ลักษณะต้น
เป็นไม้ใหญ่ผลัดใบ เจริญเต็มที่สูง 20 เมตร มีกิ่งก้านสาขามาก ใบออกเป็นช่อ ในหนึ่งช่อประกอบด้วยใบย่อยเรียงตัวแบบขนนกยาวเต็มที่ 20 ซม. ใบย่อยเป็นรูปไข่ยาว 3-7 ซม. กว้าง 2.-3 ซม. ขอบใบหยักแบบฟันเลื่อย ท้องใบสีเขียวแก่ หลังใบสีเขียวอ่อน มีขนอ่อนเฉพาะบริเวณเส้นใบ ช่อดอกเป็นชนิดดอกล่างบานก่อน เกิดที่ซอกใบ ดอกสีม่วงอ่อนยาวประมาณ 1 ซม. มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ กลีบดอก 2 กลีบ ท่อเกสรตัวผู้มีมีม่วงแก่ ยาวประมาณ 7 มม. ผลกลม มีขนาดประมาณ 1.5 ซม. สีเหลืองอ่อน มี 4-5 ห้อง แต่ละห้องมีเมล็ดเดียว เพาะพันธุ์โดยเมล็ด หรือใช้กิ่งปักชำ ขึ้นตามริมทาง และปลูกเป็นไม้ประดับ


⇒ส่วนที่ใช้
เปลือกต้น (เก็บในฤดูหนาวเอาเฉพาะเปลือกชั้นในสีเทา โดยขูดผิวชั้นนอกออกก่อน ) ใบ ดอก ผล


⇒สรรรพคุณ
เปลือกต้น  :  เปลือกราก ขับพยาธิตัวกลม ทำให้อาเจียน และไล่แมลง
ใบ  :  ขับปัสสาวะ ขับพยาธิตัวกลม ขับระดู ฝาดสมาน บำรุงธาตุ และไล่แมลง
ดอก  :  แก้โรคผิวหนัง ฆ่าเหา
ผล  :  ใช้ทาแผลพุพองจากไฟไหม้หรือน้ำร้อนลวก แก้โรคผิวหนังแผลพุพองที่หัว เป็นยาฆ่าแมลงและฆ่าเหา


⇒ข้อห้ามใช้

ไม่ควรใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการกลัวหนาว แขนขาเย็น ไม่กระหายน้ำ ชอบดื่มของร้อน ปวดท้อง ท้องร่วง ปัสสาวะใสและมาก ชั้นฝ้าบนลิ้นขาว (จีนเรียกว่าอาการพร่อง)


⇒ตำรับยาและวิธีใช้
1.พยาธิตัวกลม ในเด็กเล็ก ใช้เปลือกต้นหรือเปลือกราก 3 กรัม ต้มน้ำกิน
2.พยาธิปากขอ ใช้เปลือกต้น 600 กรัม ใส่น้ำ 3,000 มล. ต้มให้เหลือ 600 มล. และใช้เปลือกผลทับทิม 25 กรัม เติมน้ำ 300 มล. ต้มให้เหลือ 120 มล. นำสารละลายทั้งสองมาผสมกัน ผู้ใหญ่กินครั้งละ 30 มล.
3.ผื่นคัน ปวดฟัน ใช้เปลือกต้น ต้มน้ำชะล้างหรือใช้บ้วนปาก
4.แก้หิด ใช้เปลือกต้นและกิ่ง เผาเป็นเถ้าผสมน้ำมันหมูทา

 

                        

พลู

⇒ชื่ออื่น

พลูจีน, เปล้าอ้วน, ซีเกะ (นราธิวาส), กื่อเจี่ย(แต้จิ๋ว), จวี้เจียง (จีนกลาง), Betle


⇒ชื่อวิทยาศาสตร์

Piper bettle L. วงศ์ Piperaceae


⇒ลักษณะต้น
เป็นไม้เถาเขียวตลอดปี รากงอกตรงข้อใช้ยึดเกาะใบออกสลับกัน มีกลิ่นหอมเฉพาะ ใบคล้ายรูปหัวใจ ฐานใบมักเฉียง ใบยาว 10-15 ซม. กว้าง 4-10 ซม. ดอกเล็กสีขาว ไม่มีก้าน ออกเป็นกลุ่มเรียงบนก้าน ช่อดอกยาว 5-15 ซม.


⇒ส่วนที่ใช้
ใบ
: น้ำมันจากใบ


⇒สรรรพคุณ
ใบ :  เป็นยากระตุ้นน้ำลาย ขับเสมหะ ขับเหงื่อ แก้ปวดท้อง (ที่มีอาการเย็นบริเวณท้อง) ปวดท้อง เพราะพยาธิ เป็นยาฆ่าเชื้อและแก้ลมพิษ
น้ำมันจากใบ : ทำให้ผิวหนังร้อนแดง แก้คัดจมูกและใช้ทำเป็นยาอมกลั้วคอแก้เจ็บคอ


⇒ตำรับยาและวิธีใช้
1.ใช้ใบสด 3-5 กรัม ต้มน้ำกินสำหรับอาการปวดท้อง
2.แก้ลมพิษ ใช้ใบสดตำผสมเหล้าทา

 

 

 


 

ข้อมูลสื่อ

40-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 40
สิงหาคม 2525
อื่น ๆ
ผศ.สุนทรี วิทยานารถไพศาล