• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ผักกาดหัว

ผักกาดหัว
 

                              


⇒ ชื่ออื่น

ไช่เท้า,หัวผักกาดขาว (ทั่วไป) ; ผักกาดจีน(ภาคกลาง) ; ผักขี้หูด, ผักเปิ๊กหัว(ภาคเหนือ) ; ไหล่ฮก, จี๋ซ้ง (จีน) ; Labanos ,Radish.


⇒ ชื่อวิทยาศาสตร์
Raphanus sativus L. วงศ์ Cruciferae


⇒ลักษณะ
เป็นพืชจำพวกผัก มีรากสะสมอาหารลักษณะทรงกระบอกใหญ่ยาว สีขาวหรือสีอื่น ต้นสูงประมาณ 1 เมตร แตกกิ่งก้านสาขามาก ใบแตกออกจากโคนต้นเป็นกอ ยาว 12-12 ซม. ตัวใบใหญ่ปลายใบมน ขอบใบมีรอยเว้าลึก 4-6 คู่ทั้ง 2 ข้าง ขอบใบมีรอยหยักคล้ายฟัน ก้านใบลักษณะสามเหลี่ยม ขอบมนใบที่ออกจากต้นที่ชูสูงขึ้นจะมีขนาดเล็กลง ใบรูปไข่กว้าง 1-1.5 ซม. ยาว 3-5 ซม. ปลายใบแหลม ขอบใบมีรอยหยักตื้น ๆ หรือแทบไม่มีเลย โคนใบมีก้านสั้น ๆ หรือแทบไม่มี ดอกออกเป็นช่อจากปลายก้านดอกย่อยมีกลีบเลี้ยง 4 กลีบ สีเขียวเป็นแผ่นยาวปลายมนกลม กลีบดอกมี 4 กลีบ เป็นแผ่นยาวปลายมนกลมสีม่วงอ่อนหรือสีชมพู ส่วนโคนกลีบดอกสีขาว มีเกสรตัวผู้ 4 อัน และเกสรตัวเมีย 1 อัน รังไข่ลักษณะเป็นฝักยาวกลม ผลเป็นฝักยาวมีเมล็ดเป็นจำนวนมาก เมล็ดกลม แบนเล็กน้อยมีสีน้ำตาล เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3 มม.


⇒ส่วนที่ใช้
รากสะสมอาหาร เมล็ด และใบใช้เป็นยา
ราก ขุดเก็บรากในฤดูหนาว ตัดใบทิ้ง ล้างให้สะอาด ใช้สด
เมล็ด  : เก็บเมล็ดแก่ในฤดูร้อน ตัดทั้งต้นตากแห้ง แกะฝักเอาแต่เมล็ด เก็บเอาสิ่งเจือปนออก ตากแห้งเก็บไว้ใช้ เมล็ดแห้งลักษณะกลมมนแบนเล็กน้อยยาว 3 มม. กว้าง 2.5 มม. ผิวนอกสีน้ำตาลแดงด้านหนึ่งมีร่อง มีด้านหนึ่งมีรอยขั้วเป็นจุดสีเทานูนขึ้นมา ส่องดูด้วยกล้องจะเห็นเปลือกเมล็ดมีรอยย่นเล็ก ๆ อยู่ทั่วไป เปลือกเมล็ดแข็ง เมื่อกระเทาะออกจะเห็นเนื้อในสีขาวออกเหลืองหรือสีเหลือง มีน้ำมันอยู่ รสชุ่ม เผ็ดเล็กน้อย เมล็ดที่ดี ควรมีขนาดใหญ่อวบแน่นมีน้ำมันมาก ก่อนใช้ให้นำเมล็ดมาร่อนเอาสิ่งเจือปนออก บดให้แตกก่อนใช้ หรือนำเมล็ดที่ล้างสะอาดใส่หม้อคั่ว จนเมล็ดแตกเด้ง มีเสียงแลกะมีกลิ่นหอม ยกขึ้นตั้งให้เย็นก่อนนำไปใช้
ใบหรือทั้งต้น : เก็บในฤดูหนาวใช้สด หรือผึ่งลมตากแห้งใบไว้ใช้ ใบแห้งที่ดีควรแห้งสนิท น้ำหนักเบา สีเขียวออกเหลือง มีกลิ่นหอม ไม่ขึ้นราหรือรอยหนอนเจาะกิน


⇒สรรพคุณ

ราก : รสชุ่ม เย็น ละลายเสมหะ แก้พิษ ท้องอืดแน่นเนื่องจากกินมากเกิน เสมหะมากไม่มีเสียง อาเจียนเป็นเลือด กระอักเลือด กระหายน้ำ บิด และปวดหัวข้างเดียว รากทำให้สุก ใช้เป็นยาระบาย สมานลำไส้ บำรุงม้าม ขับเสมหะ เรียกน้ำลาย แก้คันและบำรุงเลือด
เมล็ด  : รสเผ็ด ชุ่ม เย็น เมล็ดคั่วแล้วมีรสเผ็ด ชุ่ม สุขุม ใช้เป็นยาระบาย ระงับอาการหอบ ช่วยย่อยอาหาร ขับเสมหะ แก้ไอหอบมีเสมหะมาก ท้องอืดแน่น บิด และแก้บวม
ใบหรือทั้งต้น : รสเผ็ด ขม สุขุม ทำให้เจริญอาหาร แก้ท้องเฟ้อเรอเปรี้ยว ท้องอืดแน่น อาหารไม่ย่อย บิด ท้องร่วง เจ็บคอ ต่อมน้ำนมบวม และน้ำนมคั่ง
ใบสด  : คั้นเอาน้ำทา แก้ผิวหนังเป็นผื่นคันมีน้ำเหลือง


⇒ วิธีและปริมาณที่ใช้
ราก สด 30-100 กรัม คั้นเอาน้ำหรือต้มน้ำกินใช้ภายนอกตำพอกหรือคั้นเอาน้ำหยอดจมูก
เมล็ด แห้ง 5-10 กรัม ต้มน้ำกิน บดเป็นผงหรือผสมเป็นยาเม็ดกิน ใช้ภายนอก บดเป็นผงผสมทา
ใบหรือทั้งต้น แห้ง 10-15 กรัม ต้มน้ำกินหรือบดเป็นผงกิน ใบสดคั้นเอาน้ำกินหรือทา


⇒ข้อห้ามใช้
1.รากผักกาดหัว กินร่วมกับโกฏขี้แมว (Rehmanniaglutinosa (Gaertn.)Libosch.) ฮ่อซิวโอว (Polygonum multiflorum Thumb.) จะทำให้ผมและหนวดขาว
2.ผู้ที่เป็นโรคเกี่ยวกับม้าม อาหารไม่ย่อย ห้ามกินรากนี้
3.ผู้ที่ร่างกายอ่อนแอ อ่อนเพลียและหอบหืด เมื่อกินเมล็ดผักกาดหัว จะทำให้อาการหอบรุนแรงขึ้น
4. ผู้ที่ร่างกายอ่อนแอ เลือดน้อย ห้ามกินเมล็ดและใบของผักกาดหัว


⇒ตำรับยา
1.อาหารไม่ย่อย ท้องเฟ้อเรอเปรี้ยว ใช้รากหรือใบสดเคี้ยวกินเล็กน้อย สำหรับรากและใบสุกแห้งหรือดองเกลือกินจะไม่ได้ผล

2.คลื่นไส้อาเจียนเรอเปรี้ยว ใช้รากสดตำให้ละเอียด ต้มกับน้ำผึ้งเคี้ยวกิน

3.เสียงแหบแห้ง ใช้รากสดคั้นอำน้ำผสมน้ำขิงกิน

4.เลือดกำเดาออกไม่หยุด ใช้รากสดคั้นเอาน้ำผสมเหล้าเล็กน้อยกิน และเอาน้ำคั้นสวนจมูกข้างที่มีเลือดออก หรือเอาน้ำคั้นผสมเหล้าต้มให้เดือดสูดดมไอและต้มน้ำคั้นผสมเหล้ากิน

5.ท้องผูกเนื่องจากการบีบตัวของลำไส้ผิดปกติ ใช้รากสด 500 กรัม หั่นเป็นแผ่นใส่น้ำ 1 ลิตร ต้มให้เหลือน้ำ 100 มล. กินครั้งเดียวหมด วันละ 1 ครั้ง

6.คอแห้ง กระหายน้ำ ใช้รากสดคั้นเอาน้ำกิน 1 ถ้วย (ประมาณ 25 มล.)

7.ปวดหัวข้างเดียว ใช้รากสดคั้นเอาน้ำขนาด 1 เปลือกหอยแคลง ให้ผู้ป่วยนอนหงายเอาน้ำคั้นหยอดจมูกทั้ง 2 ข้างทีละข้าง

8.แผลไฟลวก กล้ามเนื้ออักเสบ ใช้รากสดหรือเมล็ดตำให้ละเอียดพอก

9.ฟกช้ำ ห้อเลือดจากกระทบกระแทก ใช้รากสดหรือใบสดตำให้ละเอียดพอก หรือใช้เมล็ดตำให้ละเอียดผสมเหล้าพอก

10.ปากเป็นแผลเปื่อยเจ็บ ใช้รากสดต้มเอาน้ำชะล้างและใช้รากแห้งบดเป็นผงทา

11.เท้าเป็นแผลเจ็บ ใช้รากสดต้มเอาน้ำชะล้างละใช้รากแห้งบดเป็นผงทา

12.ไอเรื้อรังมีเสมหะมากทำให้หอบ เสมหะมีเลือดปน ใช้เมล็ด 1 ถ้วย (ประมาณ 10 กรัม) บดต้นน้ำกิน

13. มีเสมหะเหนียว หอบหืดหายใจลำบากหรือหายใจขัด ใช้เมล็ดล้างให้สะอาด นึ่งให้สุก บดให้ละเอียด ผสมน้ำขิงทำเป็นยาเม็ดขนาดเมล็ดถั่วเขียว กินครั้งละ 30 เม็ด วันละ 3 ครั้ง

14. ท้องอืดแน่น อึดอัดใช้เมล็ดคั่วให้แห้งบดเป็นผงกินครั้งละ 3 กรัม
 


 

ข้อมูลสื่อ

41-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 41
กันยายน 2525
อื่น ๆ
ภก.ชัยโย ชัยชาญทิพยุทธ