กดจุดแก้สะอึก
“กับข้าวมื้อนี้อร่อยจังครับ”
“ค่อย ๆ กินนะลูก เดี๋ยวติดคอความอร่อยมันฆ่าคนมาเยอะต่อเยอะแล้ว” อึก อึก อึก... อึก...
“พูดยังไม่ขาดคำเลย สะอึกแล้วใช่ไหมล่ะ รับดื่มน้ำเข้าไป เดี๋ยวคงจะหาย”
...อึก....อึก....
“เอาละซิ ดื่มน้ำก็ไม่หาย ทำไงดีล่ะพ่อ”
“ไม่ต้องรีบร้อน ให้สะอึกให้เข็ดหลาบเสียบ้าง”
“โธ่....คุณ เดี๋ยวลูกเป็นอะไรไปก็แย่เลย”
“แค่สะอึกไม่เป็นไรหรอกน่า....เดี๋ยวจะลองกดจุดให้”
“อะไรกันนะ ! กดจุด ลูกกำลังสะอึก แล้วทำไมคุณมาพูดเรื่องกดจงกดจุด มันไปยุ่งอะไรกับเรื่องสะอึกของลูกเราละนี่”
“ใจเย็น ๆ ซี่ ผมเคยอ่านพบในวารสาร “Chinese acupuncture and moxibustion” ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 ประจำเดือนสิงหาคม 1981 มีรายงานของโรงพยาบาลก่างวาน ที่กว่างโจว ประเทศจีน เขาได้ใช้วิธีกดจุดบริเวณหัวคิ้วชื่อจุดจ่านจู๋ แก้อาการสะอึก กับผู้ป่วย 30 ราย ปรากฏว่าได้ผลทั้งหมด”
“เออ ! แปลกจัง”
“เขามีรายงานอีกว่า ผู้ป่วยชายอายุ 32 ปี หลังกินอาหารแล้วมีอาการสะอึกนานถึง 24 ชั่วโมง สะอึกนาทีละ 20 ครั้ง อีกรายหนึ่งมีอาการสะอึกนาทีละ 15-20 ครั้ง เคยใช้ยาอะโทรปีน(Atropine) และยากล่อมประสาท หลังจากใช้ยาไปแล้ว 24 ชั่วโมง ก็ยังไม่ดีขึ้น จึงใช้วิธีกดจุดทั้ง 2 ราย กดอยู่นาน 3 นาที อาการสะอึกก็หายไป ”
“ ดีจังเลยคุณ รีบกดให้ลูกเถอะค่ะ”
“เอ้ามา ๆ เจ้าตัวดี ทำเอาแม่เค้ากระวนกระวายไปหมด”
“เบา ๆ นะครับพ่อ”
กดจุดแก้สะอึก
จุดที่กด :
จุดจ่านจู๋
ตำแหน่ง :
จุดจ่านจู๋อยู่ตรงหัวคิ้วทั้งสองข้าง
วิธีกด
ให้ผู้ป่วยนั่งตรงหรือนอนหงายแล้วใช้หัวแม่มือทั้งสองข้างกดลงบนจุดจ่านจู๋ ที่เหลืออีกสี่นิ้วจับหัวไว้ ให้กดเบา ๆ ก่อนแล้วค่อย ๆ แรงขึ้น ประมาณ 3-6 นาที พอหายสะอึกจึงหยุดกด
- อ่าน 31,809 ครั้ง
พิมพ์หน้านี้