• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เด็กหกเดือนถึงเจ็ดเดือน(ต่อจากฉบับที่แล้ว)

เด็กหกเดือนถึงเจ็ดเดือน(ต่อจากฉบับที่แล้ว)


                               

 


สภาพผิดปกติ


 

167.มีไข้สูง
เด็กซึ่งไม่เคยเป็นไข้มาก่อนเลย พออายุเกิน 6 เดือน เกิดมีไข้สูงเกิน 38 องศาเซลเซียส ให้สงสัยว่าเป็นโรคส่าไข้ เด็กมากกว่าครึ่งหนึ่ง จะเป็นโรคนี้ในช่วงอายุ 6 เดือนถึงขวบครึ่ง และจะเป็นกันมากในช่วงอายุ 6-8 เดือน
พ่อแม่ของลูกคนแรก มักจะตกใจ 3 หนกับโรคนี้
หนแรก
ตกใจเมื่อลูกมีไข้สูง
หนสอง ตกใจที่ 2 วันก็แล้ว 3 วันก็แล้ว ไข้ยังไม่ยอมลด
หนสาม เมื่อคิดว่าหมอคนแรกไม่ได้เรื่อง เพราะไข้ไม่ยอมลด จึงเปลี่ยนหมอ แล้วก็ต้องตกใจในฝีมือคนใหม่เพราะทำให้ไข้ลดลงได้ทันทีในวันที่ 4

โรคส่าไข้นี้เป็นโรคที่พ่อแม่ของลูกคนแรกควรจะรู้จักเอาไว้ให้ดี แต่ปรากฏว่ากลับมีคนรู้จักโรคหัดและอีสุกอีใสมากกว่า ที่เป็นเช่นนี้เพราะโรคนี้เมื่อเป็นแล้วหายง่ายอย่างไม่น่าเชื่อ คนจึงลืมหมด เด็กสมัยก่อนโน้นก็ไม่ค่อยเป็นกัน คุณย่าคุณยายจึงไม่ค่อยรู้จัก อย่าว่าแต่คุณยายเลยแม้แต่คุณหมอเองบางคนยังไม่รู้จักชื่อจริง ๆ ของโรคนี้เลย
ความพิสดารของโรคส่าไข้นี้ก็คือ เด็กจะมีไข้สูงติดต่อกันอยู่ 3 วัน พอวันที่ 4 จึงจะลดลงแล้วผื่นก็โผล่ขึ้นมา เพราะฉะนั้นในช่วง 3 วันแรก จึงมักสงสัยว่าเป็นหวัดบ้าง ทอนซิลอักเสบบ้าง ต่อเมื่อไข้ลด ผื่นโผล่จึงจะรู้แน่ชัดว่าเป็นโรคส่าไข้

อย่างไรก็ตามสำหรับเด็กอายุเกิน 6 เดือนขึ้นไป โรคที่ทำให้เด็กเป็นไข้สูงติดต่อกัน 3 วันนั้นไม่ค่อยมีโรคอื่น เพราะฉะนั้นถ้าหากเด็กเป็นไข้ติดต่อกัน 2 วัน ก็เริ่มสงสัยว่าเป็นโรคส่าไข้ได้แล้ว
ถ้าหากตั้งข้อสงสัยว่าเป็นส่าไข้เอาไว้ในใจ แล้วคอยสังเกตอาการให้ดี ๆ ก็พอจะรู้ได้ว่าเป็นโรคนี้ก่อนที่ผื่นจะโผล่ขึ้นมา พ่อใหม่แม่ใหม่ควรจำชื่อของโรคนี้เอาไว้ เพราะคงจะเป็นครั้งแรกที่คุณจะต้องใช้ปรอทวัดไข้ และเวลาวัดควรใช้ผ้าแห้งเช็ดเหงื่อใต้รักแร้ของลูกให้แห้งเสียก่อนจึงสอดปรอทเข้าไป การวัดปรอททางลิ้นไม่ค่อยจะปลอดภัย





 

168. โรคส่าไข้ (Roseola Infantum)
มีโรคน้อยชนิดที่จะมีลักษณะตรงตามตำราเปี๊ยบเหมือนโรคส่าไข้ โรคส่วนใหญ่มักจะแสดงลักษณะต่างกันตามอาการหนักเบาหรือมีโรคแทรกซ้อน แต่โรคส่าไข้นี้แม้ว่าอายุ ฤดู ท้องถิ่นที่เป็นจะต่างกัน แต่ลักษณะอาการของโรคจะเหมือนกันไม่มีผิด

กล่าวคือ โรคนี้จะเริ่มต้นด้วยอาการไข้สูงแต่เพียงอย่างเดียว เด็กมีอาการผิดปกติ ไม่ร่าเริง เมื่อแตะหน้าผากดูก็รู้สึกร้อน พอวัดอุณหภูมิดูจะมีไข้ 38-38 องศาเซลเซียส ไม่มีอาการไข้ ไม่มีน้ำมูก ท้องก็ไม่เสีย ส่วนมากมักจะเป็นอาการตัวร้อนครั้งแรกของเด็ก
คุณพ่อคุณแม่จึงตกใจรีบพาไปหาหมอ คุณหมอก็จะบอกว่า “เป็นหวัด” บ้าง “ทอนซิลอักเสบ” บ้าง “ คอค่อนข้างแดงนะ” ฯลฯ อาการของเด็กไม่รุนแรง คุณหมอจึงไม่คอยกังวลนัก ให้ยามาบางขนานรวมทั้งยาลดไข้

ตกกลางคืนเด็กจะกวนมาก ตื่นหลายครั้งร้องกวนจนแตกตื่นกันไปทั่วบ้าน คุณแม่มีหวังต้องเฝ้าไข้จนสว่างเด็กจะกินนมได้น้อยลง บางครั้งอาจจะอาเจียน ไม่สนใจอยากเล่นของเล่น
วันรุ่งขึ้นไข้ยังสูงขนาด 38 องศาเซลเซียสตามเดิม ต้องพาไปหาหมออีกครั้ง คุณหมอคงจะปลอบใจว่า “ไม่เป็นไร อีกไม่นานไข้ลด” คราวนี้คงให้ยาปฏิชีวนะมาด้วย แต่ทว่าคืนนั้นไข้ก็ยังไม่ลด เด็กร้องกวนนอนไม่ค่อยหลับ คุณพ่อชักจะเดือนร้อน กำชับให้พาไปให้หมอตรวจดูให้แน่ ๆ อีกทีซิ แล้วก็เดินสลึม
สลือออกไปทำงาน

วันที่สามคุณแม่พาไปหาหมอคนเดิมอีกครั้ง บ่นกับหมอว่า “คุณหมอคะ ยาของคุณหมอไม่ได้ผลเลย”
หมอบางคนเลยชักจะยัวะ บอกว่า “คราวนี้ผมจะให้ยาอย่างดี (อย่างแรง) ไข้ลดแน่ ๆ
หมอบางคนอาจจะเกาหัวสงสัยว่า “ เอ ไข้มันน่าจะลดแล้วนา”
แน่นอน คุณหมอคนหลังเป็นหมอที่ดีกว่าหมอคนแรก
วันนั้นหมอฉีดยาให้ แต่กลับมาบ้านไข้ยังไม่ยอดลด คุณแม่เริ่มใจไม่ดี คุณยายรีบมาเยี่ยม แต่คุณยายนั้นไม่เคยรู้จักโรคส่าไข้ โรคที่มีไข้สูงที่คุณยายรู้จักคือ “ปอดบวม” เมื่อคุณแม่บอกว่า “คุณหมอว่าเป็นหวัด หรือทอนซิลอักเสบ ” คุณยายก็จะแย้งว่า “หวัดอะไรกันยะ ไข้สูงติดต่อกัน 3 วันยังงี้”

คราวนี้คุณแม่ชักสงสัยว่า คุณหมออาจวินิจฉัยโรคผิด เด็กอ่อนขนาดนี้ขืนปล่อยให้ไข้สูงตั้ง 3 วันอย่างนี้เดี๋ยวสมองเป็นอะไรไปจะทำยังไง คิดดังนั้นแล้วก็ตกลงเปลี่ยนหมอพาไปหาหมอชื่อดัง ซึ่งอาจจะอยู่ไกลบ้านหน่อย แต่เป็นกุมารแพทย์ชำนาญโรคเด็ก รู้จักโรคนี้ดี คุณหมอคนใหม่จะให้ความมั่นใจกับคุณแม่ว่า “ไม่เป็นไร พรุ่งนี้หายแน่ ๆ ” และให้ยามา
วันรุ่งขึ้น ไข้ของเด็กลดตามที่คุณหมอคนใหม่พยากรณ์ไว้ไม่ผิด ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับยาขนานใหม่ แต่เป็นเพราะโรคนี้ไข้จะลดในวันที่ 4 แต่ทั้งนี้คุณแม่และคุณยายจะพากันสรรเสริญหมอคนใหม่ว่าฝีมือแน่ ให้ยาดี ไข้ลดได้ทันใจ

เมื่อไข้ลด จะปรากฏผื่นขึ้นตามหน้าอก หลังเป็นเม็ดแดงเล็กๆ เหมือนรอยยุงกัด ผื่นจะมีมากขึ้น ลามไปที่หน้า คอ แขน และขา คุณยายเลยสงสัยว่าเด็กคงจะออกหัดแต่ที่จริง โรคหัดนั้น ผื่นจะออกตอนมีไข้สูง ส่วนโรคส่าไข้ ผื่นจะออกตนไข้ลดแล้ว ถึงแม้ไข้จะลดแล้วเด็กก็ยังไม่แจ่มใส ร้องกวนบ่อย ๆ นอกจากนั้น อุจจาระของเด็กตอนเย็นวันที่ 3 หรือตอนเช้าวันที่ 4 มักจะเหลวคล้ายท้องเสีย เด็กจะหายสนิทในวันที่ 5 กลับร่าเริงเป็นปกติ ผื่นก็จางหายไป

หมอที่สงสัยอยู่แล้วว่าเด็กอาจเป็นโรคส่าไข้ เมื่อเห็นผื่นออกก็จะโล่งอก แต่หมอที่ไม่ได้นึกถึงโรคนี้เลย อาจจะไม่สนใจกับผื่น นึกว่าเป็นผดร้อนก็ได้ หมอบางคนอาจบอกว่าเป็น “หัดเยอรมัน” ที่คุณหมอไม่นึกถึงเป็นโรคส่าไข้นั้นยังพอทำเนา แต่ที่บอกส่งเดชว่าเป็น “หัดเยอรมัน” ด้วยนี้แย่ เพราะประวัติการเป็นหัดเยอรมันนี้สำคัญมาก โดยเฉพาะสำหรับเด็กผู้หญิง (ดูหมอชาวบ้านปีที่ 1 เล่มที่ 3 เรื่อง “เหือดหรือหัดเยอรมัน”)

กล่าวโดยทั่วไปแล้ว มีเด็กอายุ 6 เดือนน้อยคนที่จะเป็นหัดเยอรมัน มักจะเป็นในวัยเด็กเล็ก (ไม่ใช่เด็กอ่อน) หัดเยอรมัน (หรือเหือด ) มักระบาดติดต่อจากเด็กอื่น ไม่เหมือนโรคส่าไข้ ซึ่งอยู่ ๆ เด็กก็จะเป็นขึ้นมา โรคส่าไข้นี้เมื่อเป็นครั้งหนึ่งแล้วมักจะไม่เป็นอีก และอาการของโรคจะเหมือนกับที่กล่าวมาข้างต้นประมาณร้อยละ 90 มีน้อยมากที่เด็กบางคนมีไข้ติดต่อกันถึง 4 วัน และไข้ลดผื่นขึ้นในวันที่ 5 นอกจากนั้นเด็กบางคนไม่ได้มีไข้สูง 38-39 องศาเซลเซียส ติดต่อกันตลอดวัน แต่ไข้ลดเหลือประมาณ 37 องศาเซลเซียสในตอนเช้า แล้วจะขึ้นสูงเกือบ 39 องศาเซลเซียส ในตอนกลางคืน
ถ้าเด็กเป็นโรคส่าไข้หลังจากอายุ 8 เดือนขึ้นไป เด็กบางคนจะมีอาการชักตอนไข้สูง ซึ่งมักจะเป็นการชักครั้งแรกของลูก เล่นเอาคุณพ่อคุณแม่หายใจคว่ำ แต่ไม่ต้องตกใจ อาการชักจากไข้สูงนี้แก้ไขได้ไม่ยาก (ดู หมอชาวบ้าน ปีที่ 1 ฉบับที่ 11 “อาการชักในเด็ก”)

โรคส่าไข้นี้เกิดจากเชื้อไวรัส แต่ยังไม่รู้แน่นอนว่าเป็นไวรัสชนิดไหน และไม่ค่อยได้ยินว่ามีการระบาดของโรคนี้ในสถานเลี้ยงเด็กหรือเนอสเซอรี ระยะฟักตัวของโรคนี้คาดว่าประมาณ 10-14 วัน

(อ่านต่อฉบับหน้า)
 

ข้อมูลสื่อ

41-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 41
กันยายน 2525