• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เด็กหกเดือนถึงเจ็ดเดือน(ต่อจากฉบับที่แล้ว)

เด็กหกเดือนถึงเจ็ดเดือน(ต่อจากฉบับที่แล้ว)

 

                              


 


ลักษณะของเด็ก


155. ลักษณะของเด็กระยะ 6-7 เดือน
ความสุขสนุกสนานของครอบครัวโดยมีเด็กเป็นศูนย์กลางจะเพิ่มมากขึ้นทุกที
เด็กจะพัฒนาจากทารกแบเบาะไม่นอนมากเหมือนเมื่อก่อน เวลาที่ตื่นอยู่และอารมณ์ดีจะมากขึ้น เวลาคุณแม่ยิ้มให้เด็กจะทำท่าดีใจ แต่ถ้าคุณแม่เดินห่างออกไปจะร้องไห้ ความสัมพันธ์ระหว่างแม่กับเด็กจะกระชับขึ้นทุกวัน
เมื่อเด็กมีเวลาตื่นนานขึ้นและเริ่มจะรู้จักความสุขสนุกสนาน เราต้องสอนให้เด็กรู้จักความสุขของชีวิต ความสุขที่ได้เคลื่อนไหวร่างกายอย่างอิสระ ความสุขที่ได้กินของ ความสุขที่ได้เล่นกับพ่อแม่ ความสุขที่ได้ออกไปเที่ยวเล่นนอกบ้าน ความสุขเหล่านี้ควรให้กับเด็กทุกวัน

แต่น่าเสียดายที่มีคุณแม่จำนวนมาก แทนที่จะทำให้เด็กมีชีวิตที่เป็นสุข กลับทำให้มีชีวิตที่ถูกบังคับ บังคับให้ลูกกินอาหารตามตาราง ทุ่มเวลาให้กับการทำอาหารเสริม ชั่งน้ำหนักลูกทุกวัน คิดแต่เพียงว่า วันนี้จะให้ลูกกินอะไร ปริมาณเท่าไร ถ้าลูกไม่ยอมกินตามนั้น ก็จะเสียใจ คุณแม่ประเภทนี้อาจจะคำนวณทุกวันว่าลูกได้อาหารวันละกี่แคลอรี่ แต่ไม่เคยคิดเลยว่าแต่ละวันลูกได้รับความสุขขนาดไหน
การให้อาหารเสริมแก่เด็กควรโอนอ่อนผ่อนปรนตามความต้องการของเด็ก เด็กอยากกินอะไรก็ให้กินสิ่งนั้น นี่คือการสอนให้เด็กรู้จักความสุขในการกิน ไม่ใช่ตำราบอกว่าควรให้เด็กกินตับเพราะมีประโยชน์มาก คุณแม่ก็พยายามหัดให้ลูกชอบกิบตับให้ได้ไม่ว่าเด็กจะขัดขืนสักแค่ไหน การทำเช่นนี้ไม่ถูกต้อง

เด็กอายุ 6-7 เดือน อาหารส่วนใหญ่จะได้จากนม ไม่ควรรีบหย่านมให้กินแต่ข้าวต้ม เพราะนม 1 ขวด มีคุณค่าทางอาหารมากกว่าข้าวต้ม 1 ถ้วยมากนัก ส่วนคุณแม่จะให้ลูกกินข้าววันละมื้อหรือ 2 มื้อดีนั้นขึ้นอยู่กับ ”ความสุข” ของลูก ถ้าเวลาให้ลูกกินข้าวแต่ละมื้อ กว่าจะป้อนเสร็จเป็นชั่วโมงละก็ ขืนให้กินข้าววันละ 2 มื้อลูกคุณเลยไม่มีเวลาได้เที่ยวเล่น ในกรณีนี้ควรให้กินมื้อเดียวไปก่อน เพราะการที่ใช้เวลาเป็นชั่วโมงกว่าจะกินข้าวหมดถ้วยนั้น แสดงว่าเด็กไม่ได้รู้สึกอร่อยเท่าไรนัก เพราะฉะนั้น แทนที่จะให้ลูกถูกบังคับ 1 ชั่วโมง เปลี่ยนไปให้เด็กได้เล่นอิสระ 1 ชั่วโมงจะดีกว่า ทั้งยังฝึกให้เด็กแข็งแรงด้วย ถึงแม้เด็กจะยังไม่ชอบข้าวต้มในเดือนนี้ แต่พอถึงเดือนหน้าเด็กอาจชอบแล้วกินหมอใน 20 นาทีแรกก็ได้

เวลาให้อาหารและจำนวนมื้ออาหารของเด็กแต่ละคนแตกต่างกัน สาเหตุหนึ่งเนื่องจากเวลานอนของเด็กแตกต่างกัน เด็กอายุ 6-7 เดือน มักจะนอนตอนเช้าครั้งหนึ่งและตอนบ่ายอีกครั้งหนึ่ง นอนครั้งละประมาณ 1-2 ชั่วโมง เด็กบางคนอาจจะนอนอีกครั้งในตอนเย็นอีก 1-2 ชั่วโมงก็มี เวลานอนกลางคืนของเด็กเริ่มดึกขึ้น ถ้าให้นมมื้อกลางคืนตอน 4 ทุ่มครึ่งหรือ 5 ทุ่ม เด็กส่วนใหญ่มักนอนรวดเดียวจนถึง 6 โมงเช้าหรือถึง 8 โมงเช้า เวลาปัสสาวะเปียกตอนกลางคืน เด็กบางคนก็ไม่ตื่น บางคนก็ตื่น บางคนตื่นแล้วร้องไห้นิดหน่อยจึงหลับต่อ บางคนต้องได้ดูดนมอีกครั้งจึงจะยอมนอนต่อก็มี

เด็กบางคนถ้าไม่ปลุกขึ้นมากินนม จะกินนมเพียงวันละ 3 มื้อ อาหารเสริม 1 มื้อ ถ้าจะเพิ่มอาหารเป็น 2 มื้อ ก็ต้องลดนมเหลือแค่ 2 มื้อ ซึ่งเด็กจะไม่ยอม จึงให้อาหารเสริมได้เพียงมื้อเดียว ซึ่งก็ไม่เป็นไร
ระยะนี้ หมอมักแนะนำให้เปลี่ยนประเภทนมผงที่ใช้เลี้ยงเด็กมาเป็นนมผงแบบโปรตีนครบถ้วนสำหรับใช้เลี้ยงเด็กโต ในต่างประเทศแม่ส่วนใหญ่จะเปลี่ยนไปใช้นมสด เพราะมีเด็กจำนวนมากที่ชอบรสนมสดมากกว่านมผง ทั้งยังให้เด็กดื่มได้เลยโดยไม่ต้องชง สะดวกดี แต่ในบ้านเราหมอมักไม่แนะนำ เพราะไม่แน่ในเรื่องการควบคุมคุณภาพของนมสดและเจอนมเสียกันบ่อย ๆ รอให้เด็กอายุครบหนึ่งขวบจึงค่อยเปลี่ยนเป็นนมสดจะดีกว่า

นอกจากน้ำผลไม้แล้ว เราควรให้น้ำต้มสุกแก่เด็กตามความต้องการ เด็กบางคนกระหายน้ำมากและบ่อย คุณแม่ควรตามใจ อย่าจำกัดปริมาณน้ำที่ให้เพราะกลัวแกจะปัสสาวะบ่อย
การขับถ่ายของเด็กในวัยนี้เริ่มคงที่ เด็กบางคนถ่ายอุจจาระวันละ 1-2 ครั้ง บางคน 2-3 ครั้ง บางคน 2 วันจึงจะถ่ายครั้งหนึ่ง มีบางคนถ่าย 3 วันครั้งจนคุณแม่คอยไม่ไหว จึงต้องสวนทวารให้ทุกวันเว้นวันก็มี ซึ่ง การสวนนี้ไม่จำเป็น ถ้าลักษณะของอุจจาระที่ออกมาไม่แข็ง

เด็กส่วนใหญ่ปัสสาวะวันละประมาณ 10 ครั้ง เด็กที่ถ่ายปัสสาวะไม่บ่อย ถ้าคุณแม่คอยกะเวลาจับให้นั่งกระโถน มักจะถ่ายลงกระโถนสมใจคุณแม่ เด็กที่ถ่ายบ่อย ๆ ไม่เป็นเวลา คุณแม่อย่าเสียเวลาจับนั่งกระโถนเลย คอยเปลี่ยนกางเกงให้เวลาเปียกก็พอ อย่างไรก็ตามเด็กในอายุนี้ยังไม่น่าจะจับนั่งกระโถนนัก เมื่อเด็กอายุเกินหกเดือน แขนขาเคลื่อนไหวได้อิสระขึ้นเวลาปล่อยให้นอนบนพื้นคนเดียว ต้องคอยระวังอย่าให้มีก้นบุหรี่หรือเศษสตางค์อยู่ใกล้ ๆ

เด็กบางคนสามารถใช้มือถือขวดนมที่ดูดไปแล้วกว่าครึ่งได้เองแล้ว เด็กจะพลิกตัวได้เอง และเริ่มนั่งได้แล้ว ถ้าคุณแม่จับให้นั่งเก้าอี้สำหรับเด็กที่เป็นโต๊ะอาหารไปในตัวด้วยจะป้อนอาหารด้วยช้อนได้สะดวกขึ้น กำลังขาของเด็กแข็งแรงมากขึ้น แต่ส่วนใหญ่ยังเกาะยืนไม่ได้
เวลาพาเด็กออกนอกบ้าน เด็กจะดีใจมาก เพราะร่างกายของเด็กต้องการสัมผัสกับอากาศภายนอก วันไหนฝนไม่ตกฟ้าไม่ร้อง น่าจะให้เด็กได้อยู่นอกบ้านสักวันละ 2-3 ชั่วโมง ถึงแม้ลูกของคุณจะเป็นเด็กไม่ค่อยซน ไม่ค่อยกวน ก็อย่าให้อยู่แต่บนเตียงหรือในคอกกั้น ปล่อยให้เขาได้เล่นอิสระบนพื้นบ้าง
ระยะเวลาที่ฟันขึ้นของเด็กแต่ละคนต่างกัน แต่เด็กส่วนใหญ่เมื่ออายุเกิน 6 เดือน มักจะเริ่มมีฟันล่างด้านหน้าโผล่ขึ้นมา 2 ซี่



การเลี้ยงดู


156. การให้อาหารเสริม
เด็กที่เริ่มให้อาหารเสริมมาตั้งแต่เดือนที่แล้ว เดือนนี้จะกินได้มากขึ้น เพราะเด็กเริ่มรู้รสชาติอาหารอื่น อยากกินมากขึ้น คุณแม่เองก็อยากให้มากขึ้นเพราะความรักลูกตามธรรมชาติ ถ้าหากเด็กยังไม่ค่อยอยากกิน คุณแม่อย่าฝืนให้กินเพราะคิดว่าเดือนนี้จำเป็นต้องให้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดนมแม่ลง เพื่อให้เด็กกินอาหารเสริมมากขึ้น ยิ่งไม่ควรทำเพราะว่า อาหารเสริมสำหรับเด็กที่กินนมแม่อาจจะไม่จำเป็นจนอายุ 9 เดือน - 1ปี แต่สำหรับเด็กที่กินนมผสมนั้น จำเป็นที่จะเริ่มตอนอายุประมาณ 3-4 เดือน โดยเฉพาะพวกไข่แดง มิฉะนั้น ตอนปลายของขวบปีแรกเด็กจะซีด เพราะว่าขาดธาตุเหล็ก และจะเจ็บป่วยบ่อย

ถ้าเด็กชอบกินอาหารเสริมพวกข้าวต้มหรือขนมปังต้มนมมาก คุณแม่อาจสงสัยว่าควรจะเพิ่มให้จนถึงแค่ไหนดีตามตารางอาหารเสริม (หมอชาวบ้านเล่มที่ 34 หน้า 44) จะเห็นว่าอายุ 6-7 เดือนให้ข้าว 2 มื้อ มื้อละครึ่งถ้วย แต่เมื่อสอบถามคุณแม่ที่เลี้ยงลูกหลายคนดูแล้ว มีน้อยคนที่ป้อนข้าวให้ 2 มื้อ บางคนบอกว่าลูกกินไม่ไหวขนาดนั้น บางคนบอกว่าไม่มีเวลาทำอาหารให้ถึง 2 มื้อหรอก ปริมาณที่แต่ละคนให้ก็ไม่เหมือนกัน ทั้งนี้แล้วแต่ปริมาณไข่หรือปลาหรือมันบดที่ให้กินด้วย ถ้าลูกของคุณสามารถกินข้าวต้มได้ถึง 1 ถ้วย แต่คุณแม่ดีใจนั้น ไม่ถูกเลย เพราะข้าวต้มให้คุณค่าทางอาหารน้อยกว่านมมาก และยังขาดโปรตีนจากสัตว์ซึ่งจำเป็นสำหรับการเจริญเติบโตของร่างกาย กินข้าวต้มมาก ๆ ก็ได้แต่อ้วน มีไขมัน แต่ไม่เติบโต

ถ้าอยากให้ลูกเติบโต อาหารเสริมควรเป็นพวกที่มีโปรตีนมาก เช่น ตับไก่บด ไข่ หรือปลา หรืออาหารประเภทถั่วที่มีโปรตีน
เมื่อเด็กเริ่มกินไข่ได้สักครึ่งเดือน ก็ให้ปลาได้เลย เด็กที่คุณแม่ให้อาหารเสริมตามสะดวกโดยแบ่งจากของผู้ใหญ่ให้อาจเริ่มกินปลามาตั้งแต่ตอนอายุ 5-6 เดือนก็ได้ อย่างไรก็ตาม ขอให้เด็กได้อาหารอื่นนอกเหนือจากนมและเป็นอาหารที่เด็กชอบเพียงวันละมื้อก็พอแล้ว คุณแม่คอยชั่งน้ำหนักเดือนละครั้ง (ประมาณเดือนละครั้งก็น่าจะพอ ถ้าชั่งทุก ๆ 10 วันแปลว่าแม่เป็นโรคประสาท) ถ้าน้ำหนักเพิ่มเฉลี่ย 100-120 กรัม แสดงว่าเด็กเติบโตปกติดี

ปลาที่ก้างมาก คุณแม่ต้องระวังเลือกออกให้หมดสำหรับตับนั้น ใคร ๆ ก็สนับสนุนให้เด็กกินเพราะมีประโยชน์มาก แต่เด็กส่วนใหญ่ไม่ชอบ ของที่เด็กไม่ชอบ ไม่ว่าจะมีประโยชน์สักแต่ไหน ไม่ต้องบังคับให้กิน ตับไก่เด็กอาจชอบมากกว่า ตับวัวนั้นแข็ง ทำให้เด็กกินลำบาก คุณแม่ไม่จำเป็นต้องให้เด็กกินตับทุกวัน และถ้าเด็กยอมกินตับบดสำเร็จรูป คุณแม่จะสะดวกมาก
เนื้อไก่ เนื้อหมู เนื้อวัว ถ้าเป็นอาหารเด็กอ่อนสำเร็จรูปจะบดเรียบร้อยให้เด็กกินได้ง่าย แต่ถ้าบดเองที่บ้านคุณแม่ต้องเลือกเนื้อตรงนิ่ม ๆ และบดอย่างละเอียด เนื้อบดที่ร้านบดไว้ขายนั้น มีส่วนแข็ง ๆ เหนียว ๆ ปนด้วยใช้ไม่ได้

สำหรับไข่ ในเด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือน ควรให้เพียงไข่แดง ส่วนไข่ขาวมักจะเริ่มหลังอายุ 6 เดือน เพราะโอกาสแพ้ไข่ขาวจะน้อยลงถ้าเริ่มตอนอายุโตหน่อย
ผักพวกมัน ฟักทอง มะเขือยาว หัวผักกาด (หัวไช้เท้า) แครอท ฯลฯ เป็นผักที่ทำให้นิ่มได้ง่าย ทำไม่ค่อยลำบาก ใบตำลึง กะหล่ำปลี ถ้าต้มจนนิ่มเด็กก็กินได้ มะเขือเทศ ก็ให้เด็กกินดี
เด็กที่ชอบกินขนมปัง คุณแม่จะทาเนยให้ก็ได้ รสของเนยนั้นเด็ก ๆ ชอบมาก แต่อย่าให้มากเกินไป เพราะเด็กบางคนกินเนยมากแล้วจะอุจจาระเหลว ทั้งจะทำให้อ้วนเกินไปด้วย เนยแข็งเด็กก็กินได้ แยมสตรอเบอรี่อาจมีเมล็ดเล็ก ๆ ปนอยู่ แต่ให้กินได้ ไม่เป็นไร แต่อย่าซื้อขนมปังไส้ครีม ไส้แยม สังขยาสำเร็จรูปให้เด็กอายุขนาดนี้กิน เพราะบูดเสียง่าย ไม่ปลอดภัย

ผลไม้นั้น เด็กอายุเกิน 6 เดือนกินได้แทบทุกชนิดไม่ว่ากล้วย ส้ม องุ่น แตงโม มะละกอ แอปเปิ้ล สตรอเบอรี่ ฯลฯ ผลไม้นิ่ม ๆ บดให้ ผลไม้แข็ง ๆ ครูดให้ ผลไม้ทุกอย่างก่อนจะทำให้เด็กต้องล้างให้สะอาดและปอกเปลือกเสียก่อน ผลไม้บางอย่างเด็กบางคนกินแล้วจะอุจจาระเหลว เพราะฉะนั้นเวลาเริ่มให้ ควรเริ่มตั้งแต่หนึ่งคำสองคำก่อน แล้วค่อยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ข้อควรระวังคือ ต้องเลือกเมล็ดทิ้งให้หมดก่อน มิฉะนั้นจะติดคอและเป็นอันตราย
เมื่อเด็กกินอาหารเสริมมากขึ้น ปริมาณนมที่กินจะลดลง ส่วนที่ว่าควรจะลดนมลงเท่าไรนั้น ปล่อยให้เป็นเรื่อง ของเด็ก ถ้าหากเด็กกินแม่ไม่เท่าเมื่อก่อน ก็อย่าฝืนให้กินอีก เด็กที่กินนมวัว คุณแม่เริ่มใส่ถ้วยกาแฟให้กินแทนดูดจากขวดได้แต่มื้อก่อนนอนควรให้ดูดจากขวด เพราะถ้าเลิกขวดนมเร็วเกินไป เด็กจะดูดนิ้วมือ หรือดูดผ้าห่มแทนจึงจะหลับ

ในขณะที่คุณแม่หัดให้ลูกกินอาหารเสริม ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณขึ้นทุกวัน บางวันเด็กอาจไม่ค่อยอยากกิน บางวันอารมณ์ดี อาหารก็อร่อย อาจกินมากกว่าทุกวัน คุณแม่ควรปล่อยให้เด็กกำหนดปริมาณเอาเอง เพียงแต่คอยระวังอย่าให้เด็กกินมากเกินไปก็พอ อีกอย่างคุณแม่ไม่จำเป็นต้องให้อาหารเสริมทุกวัน วันไหนลูกเป็นหวัดไม่สบาย หรือวันรุ่งขึ้นหลังฉีดวัคซีน พักอาหารเสริมบ้างก็ได้ คุณแม่ไม่จำเป็นต้องลำบากให้เด็กกินผักทุกวัน วันไหนคุณแม่งานยุ่งไม่มีเวลา เปลี่ยนเป็นให้ผลไม้แทนก็ได้ เพราะให้คุณค่าทางอาหารเท่ากัน

เวลาป้อนอาหารเสริมด้วยช้อน ถ้าเด็กนั่งกิน คุณแม่จะป้อนสะดวกกว่า แต่เด็กอายุ 6 เดือน ยังนั่งเองไม่ได้ถ้าไม่มีอะไรช่วยยันเอาไว้ เพราะฉะนั้นคุณแม่ควรให้เด็กนั่งเก้าอี้สำหรับเด็กที่มีโต๊ะอาหารอยู่ด้านหน้า หรือนั่งเก้าอี้หัดเดิน

(อ่านต่อฉบับหน้า)
 

ข้อมูลสื่อ

38-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 38
มิถุนายน 2525