• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ทรรศนะการแพทย์ตะวันออก-ตะวันตก

ทรรศนะการแพทย์ตะวันออก-ตะวันตก

 

คุณรู้ไหมคะ ฉันไม่เข้าใจจริงๆทำไมการกดจุดรักษาอาการบางอย่างได้ ดูแล้วไม่น่ามีเหตุผลเลย “

“เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่พูดกันยาก ในโลกยังมีอีกหลายสิ่งหลายอย่างอีกมากมายที่มนุษย์ยังหาคำตอบที่แน่ขัดไม่ได้ “

แต่ในเมื่อผลออกมาบอกว่ากดจุดรักษาอาการได้ ก็จะต้องมีเหตุผลว่า การกดจุดจุดมีผลต่อร่างกาย
อย่างไรทำไมจึงสามารถรักษาอาการนั้นๆได้

“ ครับ .......แต่บางสิ่งคงต้องใช้เวลา คุณคงยอมรับใช่ไหมว่าวิทยาการต่างๆที่เราถือว่าก้าวหน้ามากในขณะนี้ ความจริงแล้ว มนุษย์ยังรู้เพียงน้อยนิดเท่านั้นเมื่อเทียบกับความรู้ที่มีอยู่ในจักรวาลนี้ วิทยาศาสตร์ การแพทย์ก็เช่นเดียวกัน แม้เราจะก้าวหน้าไปจนถึงกับใช้คอมพิวเตอร์จริงๆแล้วก็ยังคงรู้อะไรเกี่ยวกับตัวเราไม่มากนัก

คุณดูได้ง่ายๆ จากการรักษาโรคในทุกวันนี้ มีโรคจำนวนมากที่แพทย์ระบุว่าเป็นโรคที่ไม่ทราบสาเหตุทั้งๆที่ทุกอย่างจะต้องมีเหตุก่อนจึงจะเกิดผลตามมา แต่ที่บอกว่าไม่ทราบสาเหตุเพราะทางการแพทย์ยังหาข้อสรุปที่ถูกต้องไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้เราก็ต้องยอมรับว่า การแพทย์ที่ก้าวหน้านั้นก็ยังมีสิ่งที่ไม่รู้อีกมากมายที่เราจะต้องศึกษาเรียนรู้อีกต่อไป”

พอคุณพูดถึงการแพทย์แผนปัจจุบันทำให้นึกถึงแพทย์แผนโบราณ คุณคิดบ้างไหมว่า ทำไมแพทย์แผนโบราณของเราไม่พัฒนาเท่าที่ควร “

“ อันนี้คงเป็นเพราะว่า ประการแรก บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์แผนโบราณไทยเรานั้นไม่ได้รับการส่งเสริมให้มีคุณภาพ ด้านทฤษฏีไม่มีการรวบรวมจัดให้เป็นระบบที่เป็นวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่จะใช้วิธีจำตำหรับยาแล้วนำไปใช้ทั้งดุ้น จึงทำให้ดูเหมือนไม่มีเหตุผลหรือเป็นเรื่องของความบังเอิญไป ซึ่งแตกต่างกับแพทย์จีนแผนโบราณเขาได้รับการส่งเสริมจัดให้มีระบบทฤษฏีและการรักษาที่มีกฎเกณฑ์ที่แน่นอน

ประการที่สอง รูปแบบในการอธิบายของแพทย์แผนโบราณนั้นล้าหลังและถูกจำกัดขอบเขตของการอธิบาย เพราะนำเอาธาตุทั้ง 4 ( ในแพทย์แผนโบราณไทย คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ) หรือธาตุทั้ง 5 ( ในแพทย์แผนโบราณจีน คือ ดิน น้ำ ไม้ ไฟ และทอง ) มาอธิบายโดยเนื้อหาการอธิบายวิธีนี้เป็นการอธิบายถึง ความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องการส่งผลต่อกัน และการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย เป็นการมองปัญหาที่เป็นระบบที่เคลื่อนไหว แต่ก็เป็นเงื่อนไขทางประวัติสาสตร์อย่างหนึ่ง ซึ่งผิดกับการแพทย์แผนปัจจุบันที่เป็นผลผลิตจากการเจริญของสังคมในปัจจุบัน และได้นำเอาความรู้ทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ ( เคมี ชีวะ ฟิสิกซ์ ไฟฟ้า..ฯลฯ ) เข้าไปอธิบายทำให้เห็นเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน

ประการที่สาม ทุกวันนี้เราได้รับเอาความคิดทางประเทศตะวันตกไว้มาก เมื่อศึกษาแพทย์แผนโบราณจึง มักจะนำเอาทรรศนะการมองปัญหา ( ไม่ใช่วิธีการทางวิทยาศาสตร์ ) ของแพทย์ปัจจุบันไปศึกษา และเป็นบรรทัดฐานไปวัดการแพทย์แผนโบราณ ซึ่งมีการมองปัญหาอีกแบบหนึ่ง ทำให้แพทย์แผนโบราณซึ่งควรจะพัฒนาไปตามครรลองของตัวเอง กับหยุดชะงักและถูกจำกัดโดยความคิดและทรรศนะการมองของแพทย์แผนปัจจุบัน การแพทย์แผนโบราณจึงไม่สามารถพัฒนาต่อไปได้ “

“ แล้วในความคิดของคุณ คุณคิดว่าอย่างไรคะ

“ ผมก็ว่าควรปล่อยให้ทั้งสองฝ่ายพัฒนาไปพร้อมๆ กัน สิ่งที่จะพิสูจน์ความถูกต้องได้นั้นอยู่ที่การปฏิบัติ แพทย์แผนโบราณนั้นสามารถ รักษาโรคบางอย่างให้หายได้ โดยเฉพาะโรคเรื้อรังซึ่งเกิดจาการเสื่อมถอยของร่างกายเนื่องจากแพทย์แผนโบราณเจริญและพัฒนาในยุคของสังคมที่วิทยาศาสตร์ธรรมชาติยังไม่เจริญ แพทย์แผนโบราณจึงไม่สามารถอธิบายเหตุผลได้ในแง่ของวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ แต่อธิบายในแง่ของปรัชญาและตรรกวิทยาง่ายๆ
เราจะรีบสรุปว่า แพทย์แผนโบราณไมเป็นวิทยาศาสตร์จึงไม่เหมาะสม เพราะสิ่งใดที่เราสามารถพิสูจน์ให้เห็นได้ด้วยการปฏิบัติซ้ำแล้วซ้ำอีก โดยตัวมันเอง ก็เป็นวิทยาศาสตร์อยู่แล้วเพียงแต่เรายังไม่ได้ศึกษาค้นคว้า หรือการรับรู้ของเราที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้ยังรู้น้อยไปจึงอธิบายไม่ได้ “

“ อย่างนี้คุณคิดว่าน่าจะประสานกันไหมคะ “

“ ครับ..........ผมเห็นด้วยว่าเราควรจะประสานการแพทย์ทั้ง2 แบบในจุดที่สอดคล้องเข้าด้วยกัน แต่ถ้ามีความแตกต่างที่ต่างฝ่ายต่างสามารถพิสูจน์ได้ถูกต้องในการปฏิบัติ เราก็ควรคงเอาลักษณะพิเศษของทั้ง 2 ไว้ แล้วค่อยๆศึกษานำเอาจุดเด่นของทั้งสองมาประสานกัน

การแพทย์แผนโบราณเป็นเรื่องของการสะสมประสบการณ์ของการต่อสู้โรคภัยของคนโดยผ่านการปฏิบัติกับคนมาเป็นเวลาหลายพันปีสิ่งเหล่านี้มีคุณค่ามหาศาลต่อมนุษยชาติอย่าง เช่น การนวดของแพทย์แผนไทยที่ใช้รักษาโรค หากได้รับการส่งเสริมก็จะต้องพัฒนาไม่แพ้ต่างประเทศ อย่างแพทย์แผนโบราณจีน ทั่วโลกเพิ่งจะมาสนใจของเขาเมื่อไม่กี่ปีมานี่เอง เช่น การปักเข็มและการกดจุดที่ใช้รักษาโรคและทำให้ชา การใช้กำลังภายในช่วยในการแพทย์ (อ่าน”หมอชาวบ้าน” ฉบับที่ 28 หน้า 56 ) การรำมวยจีน ( ไท้เก๊กหรือไท้จีเฉวียน) ทำให้ร่างกายแข็งแรงและยังช่วยรักษาโรคได้โดยไม่ต้องกินยา ได้มีการศึกษาเบื้องต้นพบว่า การรำมวยจีนทำให้การทำงานของระบบต่อมไร้ท่อ ระบบการหายใจ และการไหลเวียนของเลือดดีขึ้น ของเขาสามารถพัฒนาไปได้ไกล เพราะได้รับการส่งเสริมอย่างเต็มที่ ถ้าของเรามีการส่งเสริมก็คงพัฒนาไปได้ไกลเช่นกัน “

“ อือ ! รู้สึกน่าสนใจดีแฮะแต่เห็นสภาพที่เป็นอยู่ทุกวันนี้มันน่าปวดหัวจัง “


“ ปวดหัวเหรอ เดี๋ยวเอา “ ภาพชุดการรักษาตนเอง เรื่องปวดหัว “ ที่แจกฟรีใน “ หมอชาวบ้าน “ ฉบับที่ 45 ไปรักษาตัวเองเลยเอ้า “.

 

 

 

 

 


 

ข้อมูลสื่อ

46-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 46
กุมภาพันธ์ 2526
อื่น ๆ
วิทิต วัณนาวิบูล