• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ลืมบอกเจ้าที่

ลืมบอกเจ้าที่


“ผมปวดท้องครับหมอ”  
โอ้ก ๆ ! เขาพูดไปพร้อมกับอาเจียน กลิ่นเหล้าปนกลิ่นเศษอาหารคละคลุ้งไปหมด ทั้งห้องตรวจซึ่งแคบแสนจะแคบเนื่องจากเตียงหนึ่งมีผู้ป่วยกำลังนอนให้ผู้ช่วยพยาบาลล้างแผลอีกเตียงหนึ่งเจ้าหนูแสนซนตกลงมาจากชานเรือน เสียงผู้เป็นมารดากำลังช่วยจับแขนเพื่อไมให้เจ้าหนูดิ้น ปลอบบ้างขู่บ้างขณะที่พนักงานอนามัยกำลังเย็บแผลบริเวณหัวเข่า

“คุณ คุณ ชื่ออะไรน่ะ”

“นายยอดครับ โอ๊ย ๆ ! ปวดท้อง ๆ ช่วยผมด้วยครับหมอ”
เราบอกให้นายยอดนอนนิ่ง ๆ มิฉะนั้นแกอาจจะได้โรคหัวแตกหรือแขนหักกลับไปบ้านอีกด้วยถ้านายยอกเกิดตกเตียงลงไป ความจริงคนไข้รายนี้เมื่อแรกที่เราเห็นสภาพก็เหมือนคนเมาเหล้าทั่ว ๆ ไป กลิ่นมันบอกอยู่แล้ว แต่รายนายยอดมีอาการปวดท้องร่วมด้วย และถ้าเราเกิดคิดเอาเองว่า เขาปวดท้องเพราะกินเหล้าแล้วไม่ได้กินข้าวเราอาจต้องเสียใจก็ได้

“ใครมากับนายยอดจ๊ะ ช่วยเข้ามาเล่าอาการให้ฟังหน่อย ” เราเรียกญาติ (คิดเอาเองน่ะ) มีหลายคนผลักบังตาเข้ามาเราเลยขอร้องว่าให้คนที่ทราบเรื่องราวมากที่สุดเข้ามาคนเดียว เพราะเวลานี้ในห้องปฐมพยาบาลชุมมุนวุ่นวายพออยู่แล้ว

“ไอ้ยอดมันเมาเห็ดครับ”

“อ้าว ! (เราร้องเสียงเหมือนค่างไปเลย) นายยอดไม่ได้เมาเหล้าหรอกหรือก็ได้กลิ่นเหล้านี่นา”

ครับ มันกินต้มยำเห็ดแล้วกินเหล้าด้วย มันต้องเมาเห็ดแน่ ๆ เลยดูซิ ทั้งปวดท้องทั้งลงทั้งราก

“นายยอดกินคนเดียวหรือ” เราสงสัยเพราะถ้าเมาเห็ดเพราะกินเห็ดมีพิษก็น่าจะเป็นกันหลายคน

ก็ไอ้ยอดมันเป็นคนไปเก็บแล้วมันก็ไม่บอกเจ้าที่เสียก่อนมันก็เลยต้องเป็นอย่างนี้ ผมเพิ่งจะชิมน้ำแกงไปหน่อยเหมือนกัน”

จากประวัติและอาการของนายยอด เราต้องช่วยนายยอดด้วยการล้างท้อง เมื่อล้างท้องเสร็จนายยอดคุยจ้อได้เลย เขาบอกเราย้ำแล้วย้ำอีกว่า ไอ้เจ้าเห็ดที่เขาเก็บมาต้มยำนั้น ลักษณะมันก็เหมือนคราวก่อน ๆ ที่เขาเคยเก็บเพียงแต่ว่าคราวนี้เขาลืมบอกเจ้าที่เสียก่อน เพราะเขาเก็บเห็ดชนิดนี้มาจากใต้ต้นไม้ใหญ่ไกลจากหมู่บ้านออกไป

เราได้ความรู้จากนายยอดว่า ปกติชาวบ้านแถบนั้นจะรู้ว่าเห็ดชนิดไหนมีพิษ ชนิดไหนไม่มีพิษ กล่าวคือ ถ้าเห็ดมีพิษ เขาจะลองหักก้านเห็ดส่วนที่ใกล้กับเปลือกหุ้มตรงโคน ถ้ามียางเหนียวยืดได้เป็นเส้นแสดงว่าเห็ดมีพิษ หรือบางทีบนส่วนดอกของเห็ด มีเกล็ดขาว ๆ อยู่ข้างบนก็แสดงว่าเห็ดมีพิษ แต่เห็ดที่เขาเก็บมาไม่มีลักษณะดังกล่าว ก็เป็นเห็ดกินได้

จริงไหมครับหมอ” เขาจ้องตาเราคล้ายกับจะขอให้เราสนับสนุนข้อมูลของเขา

เราจึงรีบยิ้ม(อย่างเอาใจ) แล้วถามว่า “เห็ดที่นายยอดไปเก็บมาเขาเรียกว่าเห็ดอะไรล่ะ”.

“เห็ดขึ้วัวครับ”

“เห็ดขี้วัว” เข้าเค้าแล้วละนายยอด เห็ดชนิดนี้ความจริงแล้วมันมีพิษแล้วมันก็อาจมีลักษณะเหมือนกับเห็ดที่ไม่มีพิษก็ได้ นี่ดีนะ ที่กินกันเฉพาะวงเหล้า ถ้าเด็ก ๆ กินด้วยคงแย่ “

“ผมยังไม่มีเมียครับ ” เขารีบบอกคงให้เราโล่งใจมั้ง

เรื่องเห็ด ถ้าเราจะห้ามไม่ให้ชาวบ้านกินก็กระไรอยู่ เพราะตัวผู้เล่าเองก็ชอบกินเห็ด แล้วเจ้าเห็ดที่ไม่มีพิษก็มีมากมาย รสชาติชวมชิมทั้งนั้น ทางที่ดีควรให้ชาวบ้านเขามีความรู้เกี่ยวกับการเลือกเห็ดบริโภคจะดีกว่า เพราะนอกจากจะได้กินอาหารอร่อยแล้ว ยังประหยัดอีกด้วย

เห็ด ภาษาอังกฤษ เขาเรียกว่า Mushroom แบ่งออกเป็น 2 พวกคือ
1.ชนิดกินได้ มีหลายชนิดที่พบในบ้านเรา เช่น เห็ดฟาง เห็ดโคน เห็ดเหลือง เห็ดหูหนู เห็ดนางฟ้า เห็ดไข่นอก ฯลฯ คนที่รู้จักเห็ดเหล่านี้ดีที่สุดก็เห็นจะเป็นผู้ปลูกและชาวบ้านที่เก็บเห็ดกินอยู่เสมอ

2.ชนิดกินไม่ได้ เห็ดพิษมีหลายชนิดเช่นกัน ส่วนมากเห็ดพิษจะมีลักษณะพิเศษ แต่ก็ยังมีเห็ดพิษบางชนิดที่มีลักษณะคล้ายกับเห็ดที่กินได้ จึงทำให้เกิดความเข้าใจผิด นำเอาเห็ดพิษมากิน

                   

การพิจารณาอย่างง่าย ๆ ว่า เห็ดที่เราจะเก็บไปกินนั้นมีพิษหรือไม่
1.ดูที่ส่วนโคนของเห็ด เห็ดที่มี่พิษจะแตกต่างไปจากเห็ดที่กินได้ อาจพบว่า เปลือกนอกมีสีผิดปกติไป มีหนามหรือขนขึ้นเต็ม

2.ส่วนหมวก เห็ดพิษ หมวกมักจะมีสี และมักมีสปอร์สีขาวซึ่งพบในรูปของผงหยาบ ๆ หรือเป็นเกล็ดคล้ายแป้ง เห็ดบางชนิดดอกใหญ่มาก (เห็ดไข่ห่าน เห็ดตีนตัน เห็ดปวด และเห็ดเหงือกควาย) เห็ดบางอย่างมีสปอร์สีดำให้ถือเป็นเห็ดพิษ (เห็ดข้ามคืน เห็ดหิ่งห้อย และเห็ดจันทร์)

3.ส่วนก้าน เห็ดพิษจะมีก้านใหญ่ผิดปกติ หักดูจะพบยางเหนียว ๆ บางชนิดมีก้านยาวมาก ตรงโคนของก้านขนาดใหญ่พองออมมาทำให้ส่วนโคนที่แท้จริงไม่ชัด นอกจากนี้ บริเวณวงแหวนอาจมีสีที่ผิดปกติออกไปอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ลักษณะเหล่านี้ ชาวบ้านบางคนอาจไม่ทันสังเกต หรืออาจเห็นว่ามันคล้ายกันหรือเหมือนกันรับชนิดที่เคยกินแล้วไม่เห็นเป็นอะไร (อย่างรายนายยอด) ในกรณีอยางนี้อยากจะอธิบายว่า เห็ดพิษบางอย่าง เช่นเห็ดปอดม้า บางคนกินแล้วมีอาการรุนแรงอาจเป็นเพราะบางคนมีความต้านทาน (ภูมิคุ้มกัน) นอกจากนี้ยังพบอีกว่า เห็ดที่สามารถกินได้นั้น ถ้าเก็บไว้หลาย ๆ วันอาจมีพิษเกิดขึ้นได้ หรือเห็ดที่ไม่มีพิษ แต่ถ้างอกขึ้นในบริเวณที่มีสารพิษอยู่ในดิน อาจจะทำให้เกิดเป็นพิษขึ้นได้เช่น เห็ดเผาะ เราก็พบบ่อยว่าปกติกินได้ แต่บางครั้งกินแล้ว ท้องเดิน ปวดท้อง อาเจียน ตาเหลือง ตัวเหลือง
 

อาการของผู้กินเห็ดพิษ แตกต่างกันออกไปแล้วแต่ชนิดของเห็ดและความต้านทานของผู้กินคนนั้น จะขอกล่าวโดยทั่ว ๆ ไปว่า ถ้ากินแล้วมีอาการต่อไปนี้ ขอให้คิดไว้ก่อนว่า อาจจะมีอาการแพ้เห็ดหรือกินเห็ดเป็นพิษเข้าแล้วคือ
-ท้องเดิน ปวดท้อง อาเจียนหรือคลื่นไส้
-หูอื้อ เวียนศีรษะ คลื่นไส้
-ตื่นเต้น เอะอะโวยวาย ผิวหนังแดง ม่านตาขยาย
-หน้าตาแดง หายในไม่สะดวก ชีพจรเต้นเร็ว ปวดศรีษะ
-บางชนิดกว่าจะมีอาการนาน 1-2 อาทิตย์ คือมีท้องเดิน อาเจียนเล็กน้อยแล้วหายไปต่อมาอ่อนเพลีย ตาเหลือง ตัวเหลือง ตับเสียการทำงาน

 

ความรู้เล็ก ๆ น้อย ๆ เกี่ยวกับการกินเห็ด
-อย่ากินเห็ดชนิดที่ไม่เคยกิน
-การกินเห็ดที่ทำให้สุกปลอดภัยกว่ากินเห็ดดิบ
-ถ้ากินเห็ดแล้วท้องเดิน อย่ากินยาที่ทำให้หยุดถ่าย เพราะการถ่ายอุจจาระเป็นหนทางหนึ่งที่ช่วยให้ 
  พิษของเห็ดถูกขับออกไป
-กินเห็ดแล้วดื่มเหล้า ถ้าเป็นเห็ดพิษอาการจะรุนแรงขึ้น
-การทำให้อาเจียนโดยเร็ว ช่วยให้พิษของเห็ดถูกขับออก
-ถ้าสงสัยว่ากินเห็ดเป็นพิษ ควรรีบไปหาสถานบริการอนามัยโดยเร็ว
-ท้ายนี้ขออวยพรให้ผู้ชอบกินเห็ดทั้งหลาย (รวมทั้งผู้เล่าด้วย) จงแคล้วคลาดจากเห็ดพิษ .
 

ข้อมูลสื่อ

38-011
นิตยสารหมอชาวบ้าน 38
มิถุนายน 2525
อื่น ๆ
ดร.จริยาวัตร คมพยัคฆ์