• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เป็นไข้

เป็นไข้

คนเราเจ็บป่วยไม่ใช่เพราะ “ถูกของ” แท้จริงร่างกายคนเราเป็นองค์เอกภาพของสมดุลต่างๆ การกิน ดื่ม และขับถ่าย การเสริมสร้างและทำลาย ฯลฯ ดุลยภาพเหล่านี้มีอยู่ตั้งแต่ระดับเซลล์ที่เป็นหน่วยที่เล็กที่สุด จนถึงร่างกายทั้งหมดที่เป็นองค์รวม เมื่อดุลยภาพเหล่านี้เสียไป คนเราก็เจ็บป่วย

“กลไกการเกิดโรค”จะเล่าสู่กันฟังถึงกระบวนการที่ร่างกายสูญเสียดุลยภาพเหล่านี้และเกิดโรคขึ้น เรียกกันด้วยภาษาที่ยุ่งยากว่า “พยาธิกำเนิด”ผู้ที่จะเป็นหมอชาวบ้านแบบวิทยาศาสตร์พึงมีความรู้เรื่องนี้

คนเราเป็นสัตว์เลือดอุ่น มีอุณหภูมิของร่างกายคงที่ ไม่เปลี่ยนแปลงตามอุณหภูมิของสภาพแวดล้อมดังเช่นสัตว์ชั้นต่ำประเภทสัตว์เลื้อยคลาน

การที่อุณหภูมิในร่างกายของคนเราคงที่นั้นต้องการกลไกในร่างกายที่จะปรับอุณหภูมิให้เป็นปกติอยู่เสมอ หากกลไกนี้ถูกกระทบกระเทือนไป ร่างกายมีอุณหภูมิเพิ่มมากขึ้นกว่าปกตินั่นแหละที่เราเรียกกันเป็นภาษาชาวบ้านว่า เป็นไข้ หรือ ไข้ขึ้น

ในร่างกายของเรามีแหล่งผลิตความร้อนเพื่อสร้างความอบอุ่นให้กับร่างกายของเรา แหล่งผลิตความร้อนที่สำคัญได้แก่ กล้ามเนื้อ การทำงานของกล้ามเนื้อเมื่อยามที่เราเคลื่อนไหวหรือออกแรง จะทำให้ร่างกายของเราได้ความร้อนจำนวนหนึ่งออกมา หากความร้อนที่เกิดขึ้นมีมากเกินไป ร่างกายของเราก็จะมีวิธีกำจัดความร้อนส่วนเกินออกไป โดยการกระจายความร้อนออกไปทางผิวหนังและทางเหงื่อที่ออก การควบคุมอุณหภูมิของร่างกายได้คงดังที่กล่าวมา ต้องอาศัยการทำงานของสมองส่วนที่เรียกว่า ฮัยโปธาลามัส

ได้มีทดลองพบว่า หากเราทำลายฮัยโปธาลามัสของหนูแล้วจะปรากฏว่า อุณหภูมิของร่างกายหนูจะเปลี่ยนแปลงไปตามอุณหภูมิรอบตัวของมัน

ไข้ เป็นอาการที่เราทุกคนรู้จักกันดี ไข้เป็นเพียงอาการหนึ่งของโรคไม่ใช่โรคใดโรคหนึ่งโดยเฉพาะ อาจจะมีบางคนเข้าใจผิด คิดว่าไข้ก็คือไข้จับสั่นหรือมาลาเรีย ซึ่งเป็นการเข้าใจผิด ไข้ก็เป็นอาการหนึ่งของมาลาเรียเท่านั้นเอง

อย่างไรที่เรียกว่าเป็นไข้

เราจะรู้ว่าเป็นไข้หรือไม่ก็ต้องอาศัยปรอทวัดดู การใช้มือคลำหรือใช้ความรู้สึกนั้นอาจจะทำให้คลาดเคลื่อนได้ อุณหภูมิปกติของร่างกายคนเราก็คือ 37 องศาเซลเซียส หรือ 38.6 องศาฟาเรนไฮด์ โดยการวัดปรอททางปาก หากอุณหภูมิของร่างกายสูงกว่า 37.2 องศาเซลเซียส หรือ 99 องศาฟาเรนไฮด์ ก็ถือว่ามีไข้ แต่ก็มีได้เหมือนกันที่บางคนมีอุณหภูมิของร่างกายสูงกว่าหรือต่ำกว่า 0.5 องศาเซลเซียส หรือ 1 องศาฟาเรนไฮด์ ซึ่งพบได้น้อย

ไข้ เป็นอาการไม่สบายที่เกิดขึ้นได้บ่อยที่สุดในกระบวนอาการไม่สบายทั้งหลายของคนเรา ไข้ เกิดขึ้นจากหลายสาเหตุด้วยกัน

ทำไมต้องเป็นไข้

ปัญหานี้เป็นปัญหาที่น่าสนใจทำไมร่างกายของเราต้องมีอุณหภูมิสูงขึ้น ไข้ จะมีประโยชน์ต่อการทำงานของร่างกายของเราหรือไม่

ว่ากันว่า การเป็นไข้น่าจะมีประโยชน์ต่อร่างกายของเรา อย่างน้อยก็เป็นการเตือนให้เจ้าตัวรู้ว่ามีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นภายในร่างกาย จะได้พักผ่อนหรือหาทางแก้ไขเสีย แต่ก็มีโรคบางโรคเหมือนกัน เช่น โรคข้อรูมาตอยด์ ที่ปรากฏว่าหากทำให้ร่างกายมีความร้อนสูงขึ้นแล้วอาการของโรคนี้กลับดีขึ้น

ส่วนในคนแก่หรือในเด็กเล็กๆ บางคน เราพบว่าแม้ว่าจะมีอาการอักเสบเกิดขึ้นในร่างกาย เช่น เป็นโรคไส้ติ่งอักเสบ แต่คนที่แก่มากๆ หรือเป็นเด็กเล็กมากๆ กลับไม่มีไข้เช่นคนอื่นๆ อาการไม่มีไข้ดังกล่าว ถือกันว่าเป็นอาการร้ายแรงอย่างหนึ่งที่แสดงว่าร่างกายของคนนั้นแย่แล้ว แต่อย่างไรก็ตาม อาการไข้ก็ไม่ได้ทำให้กระบวนการทำลายเชื้อโรค หรือทำให้ภูมิต้านทานของร่างกายเราดีขึ้นแต่ประการใด

ไข้เกิดขึ้นได้อย่างไร

ไข้ เกิดจากสารก่อไข้ที่เข้าสู่ร่างกายของเราหลายชนิดด้วยกัน เช่น ตัวแบคทีเรียและพิษของมัน เชื้อไวรัส ยีสต์ และยังเกิดจากปฏิกิริยาที่ภูมิคุ้มกันในร่างกายของเรามีต่อสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย

เมื่อเร็วๆ นี้ เรายังพบว่าในร่างกายของเราเองกลับมีสารก่อไข้อยู่แล้วตามเซลล์เม็ดเลือดขาว ในม้าม ตามเยื่อบุช่องท้องเป็นต้น เรียกว่าสารก่อไข้ภายใน (Endogenous pyrogen) สารก่อไข้ภายในนี้จะไปทำปฏิกิริยาอย่างไรกับสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกายของเราก็ยังไม่มีใครรู้แจ้ง แต่เราพบว่าสารก่อไข้นี้เองได้ไปกระตุ้นเซลล์ประสาทส่วนสมองที่เราเรียกว่า ฮัยโปธาลามัส ให้สร้างฮอร์โมนโพรสตาอกลนดินขึ้นมา อันเป็นสาเหตุให้อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นกว่าปกติ

ปัจจุบันนี้เราเชื่อกันว่ายาลดไข้ เช่น แอสไพริน ได้ไปยับยั้งการสร้างโพรสตาแกลนดินในฮัยโปธาลามัสจึงทำให้ไข้ไม่ขึ้นอีกต่อไป ทำให้อุณหภูมิของร่างกายลดลงได้

โรคที่ทำให้เกิดไข้นั้นพอจะรวบรวมเป็นหมวดหมู่ใหญ่ๆ ได้ เช่น

1. โรติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส และริกเกตเซียเช่น ไทฟอยด์ ไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น

2. การบาดเจ็บที่ส่วนของร่างกายได้รับความกระทบกระแทกของรุนแรง จะทำให้เป็นไข้ 1-2 วันได้ รวมทั้งการผ่าตัดใหญ่หรือการคลอด ที่อาจจะทำให้มีไข้เกิดขึ้นตามมาได้ด้วย

3. โรคมะเร็งมักจะมีไข้เกิดขึ้นร่วมด้วยเสมอ

4. โรคเกี่ยวกับเลือดและเม็ดเลือด เช่น การแตกเม็ดเลือดจะทำให้มีไข้

5. โรคเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันของร่างกายที่ผิดปกติไป เช่น โรคของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (Connevtive tissue disease) เป็นต้น

อาการที่เกิดร่วมกับไข้ ได้แก่ อาการปวดศีรษะ รู้สึกหนาวสะท้าน หนาวจนสั่น หรืออาจจะชักได้หากมีไข้สูง โดยเฉพาะในเด็กที่มีอายุระหว่าง 6 เดือนถึง 6 ปี เวียนศีรษะ ปวดตามข้อ ครั่นเนื้อครั่นตัว เป็นต้น

เมื่อเป็นไข้ควรจะปฏิบัติตัวอย่างไร

1. อยู่ในห้องที่อบอุ่น อย่าให้ลมโกรก (แต่ไม่ใช่ห้องที่อบอ้าว)

2. ดื่มน้ำให้มาก

3. ใช้ยาลดไข้ เช่น แอสไพริน หรือพาราเซตามอล

4. เช็ดตัวลดไข้ หากไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียสหรือ 102 องศาฟาเรนไฮด์

เมื่อใดที่ควรจะไปหาหมอ

1. เด็กมีไข้สูง 40 องศาเซลเซียส หรือ 104 องศาฟาเรนไฮด์

2. เป็นไข้มาแล้ว 3 วันยังไม่หาย

3. มีอาการหนาวสั่นจนฟันกระทบกันเนื่องจากอาจจะเป็นโรคมาลาเรีย กรวยไตอักเสบ หรือปอดบวมได้

ข้อมูลสื่อ

81-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 81
มกราคม 2529
พญ.ลลิตา ธีระศิริ