• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ศูนย์คำสั่งการเคลื่อนไหว

ศูนย์คำสั่งการเคลื่อนไหว

 

                            


เมื่อพูดถึงอะไรก็ตามว่า เป็นระบบคอมพิวเตอร์ เราท่านทั้งหลายคงรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ทันสมัยหรือก้าวหน้าล้ำยุค จนกระทั่งมีคนพูดว่า วันข้างหน้ามนุษย์อาจสามารถสร้างหุ่นยนต์คอมพิวเตอร์ที่ทำงานได้เหมือนมนุษย์ และบางคนถึงกับพูดว่า มนุษย์อาจหมดความหมายไปในอนาคต
ท่านเชื่อไหมว่า...สิ่งที่มนุษย์กำลังภูมิใจและหลงใหลที่ได้ประสบความสำเร็จในการสร้างคือ คอมพิวเตอร์นั้น ธรรมชาติได้รู้จักหรือสร้างสิ่งที่มหัศจรรย์ยิ่งกว่าคอมพิวเตอร์ตั้งแต่มีมนุษย์คนแรกเกิดขึ้นบนโลกแล้ว

เรามาดูเฉพาะเรื่องการเคลื่อนไหวของมนุษย์ว่าน่าอัศจรรย์เพียงไร ?
ในขณะที่ท่านเคลื่อนไหวส่วนใด ๆ ของร่างกายก็ตาม ไม่ว่าจะยักคิ้ว ยักไหล่ หยิบนี่ จับโน่น เดิน วิ่ง หรือเคลื่อนไหวร่างกายส่วนต่างๆก็ตามจะต้องมีศูนย์คำสั่ง

ท่านทราบไหมว่า...การที่จะมีการเคลื่อนไหวอวัยวะต่างๆของร่างกายเรานั้น จะต้องมีการสั่งงานจากสมอง แต่ที่เราไม่รู้สึกตัว เป็นเพราะเราทำทุกอย่างจนเคยชิน จึงไม่รู้สึกว่ามีอะไรมาสั่งงาน
การเคลื่อนไหวทุกชนิดเกิดจากการหดตัวของกล้ามเนื้อ
กล้ามเนื้อทุกมัดจะมีเส้นประสาทมาเลี้ยง

เส้นประสาทนี่จะเริ่มต้นที่สมองรวมกันลงมาที่ไขสันหลังอยู่ในกระดูกสันหลัง แล้วแยกเป็นเส้นประสาทออกไปสู่กล้ามเนื้อต่าง ๆ ทั่วร่างกายอยู่ดี ๆกล้ามเนื้อจะไม่หดตัวเอง แต่ต้องมีคำสั่งจากสมองในรูปของกระแสไฟไปตามเส้นประสาทจนถึงกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อมัดนั้นจึงจะหดตัว

ทีนี้เราจะพาท่านมาดูว่า สมองส่วนที่ควบคุมกล้ามเนื้อนี้อยู่ตรงไหน
สมองส่วนนี้ เราเรียกว่า ส่วนศูนย์คำสั่งการเคลื่อนไหว (Motor area) สมองส่วนนี้อยู่บริเวณสมองส่วนหน้า อยู่ค่อนไปทางหลังของร่องกลาง (Central Fissure) ทำหน้าที่เกี่ยวกับการสั่งคำสั่งทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของร่างกาย

                                  
เรามาดูว่า ธรรมชาติได้แบ่งระบบการทำงานไว้อย่างไร จากภาพที่ 1 จะแสดงให้เห็นเซลล์ภายในสมอง ซึ่งแบ่งหน้าที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ

โปรดสังเกตว่า คำสั่งที่ส่วนศีรษะจะปรากฏอยู่ที่ฐาน และส่วนที่เป็นเท้าจะอยู่ทางด้านบน เป็นการเรียงตัวกลับกันกับส่วนที่เป็นจริง จากส่วนล่าง การกลืน (Swallowing) ลิ้น (Tongue) ขากรรไกร(Jaw) ริมผีปาก(Lips) ใบหน้า (Face) หนังตาและลูกตา (Eyelid and eyeball) โหนกคิ้ว (Brow) คอ (Neck) นิ้วหัวแม่มือ (Thumb) นิ้วชี้ (Index) นิ้วกลาง ( Middle) นิ้วนาง( Ring) นิ้วก้อย (Little) มือ (Hand) ข้อมือ (Wrist) ข้อศอก (Elbow) หัวไหล่ (Shoulder) ลำตัว (Trunk) สะโพก (Hip) หัวเข่า(Knee) ข้อเท้า(Ankle) และนิ้วเท้า(Toes) ตามลำดับ


ภาพที่ 2
แสดงให้เห็นการเดินทางของเส้นประสาทลงมายังไขสันหลัง และแยกออกไปสู่กล้ามเนื้อ
เมื่อคำสั่งเริ่มต้นที่ศูนย์คำสั่งการเคลื่อนไหว (Motor area) แล้ว จะทอดลงมาทางด้านในของสมอง (ที่ internal capsule) แล้วผ่านลงมาที่ไขสันหลัง (Spinal cord ) ที่ไขสันหลังจะมีการสัมผัสกับเส้นประสาทเส้นใหม่ เพื่อจะต่อไปยังส่วนที่ต้องการจะให้เกิดการเคลื่อนไหว
เซลล์ประสาทที่เริ่มคำสั่งลงมาเรียกว่า เซลล์ประสาทส่วนต้น (upper motor neuron) และเซลล์ประสาทที่รับช่วงต่อมาเรียกว่า เซลล์ประสาทส่วนปลาย (lower motor neuron)

โปรดสังเกตการไขว้ของเส้นประสาท ถ้าเริ่มต้นที่สมองทางด้านซ้าย เมื่อส่งคำสั่งมาที่ส่วนปลาย เส้นประสาทจะไขว้มาทางด้านขวาเสมอ
ดังนั้น ถ้าเส้นประสาทที่สมองถูกทำลายที่ส่วนใดส่วนหนึ่งทางด้านซ้าย ร่างกายของเราจะเป็นอัมพาตทางด้านตรงข้ามคือ ทางด้านขวาเสมอ
สำหรับอาการที่เมื่อเส้นประสาทถูกทำลายนั้น ถ้าเส้นประสาทส่วนต้นถูกทำลาย จะทำให้มีอาการเกร็งและงอหงิก แต่ถ้าเส้นประสาทส่วนปลายถูกทำลาย จะทำให้กล้ามเนื้อมีการอ่อนตัว

การที่รู้ถึงประสาทต่าง ๆ จึงมีประโยชน์ในการตรวจวินิจฉัยโรคของหมอ.
 

 

 

 

 

 

 

ข้อมูลสื่อ

44-001
นิตยสารหมอชาวบ้าน 44
ธันวาคม 2525
ดร.นที คัคนานตดิลก