• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เดินเพื่อสุขภาพ 2

เดินเพื่อสุขภาพ 2

 ได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ในตอนที่แล้วว่า การเดินเพื่อสุขภาพนั้นแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด คือ การเดินเพื่อสุขภาพโดยทั่วๆ ไป และการเดินเพื่อสุขภาพแบบแอโรบิค ซึ่งการเดินทั้ง 2 ชนิดนี้ แม้จะเป็นการก้าวขาออกเดินคล้ายๆ กันแต่ก็มีหลักการที่แตกต่างกัน คือ

1. การเดินเพื่อสุขภาพโดยทั่วไป

การเดินชนิดนี้ไม่มีข้อจำกัดอะไรมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการก้าวขา การแกว่งแขน ความเร็วของการเดิน ตลอดจนระยะเวลาที่ใช้เดิน

จุดประสงค์ของการเดินชนิดนี้ ก็คือ ขอให้ลุกขึ้นมาเดินเสียบ้างก็พอใจแล้ว คือ ดีกว่าการนั่งจุมปุ๊ก หรือเอาแต่ใช้เครื่องทุ่นแรงสารพัดชนิด โดยไม่ยอมลุกขึ้นมาเดินเสียเลย ซึ่งนอกจากจะให้กล้ามเนื้ออ่อนแอและอ่อนเหลวแล้ว ยังทำให้ร่างกายทั่วๆ ไปไม่แข็งแรงเท่าที่ควร

นอกจากนี้การไม่เดินหรือการเคลื่อนไหวแต่น้อย ยังเป็นสาเหตุสำคัญยิ่งที่ทำให้อ้วน ซึ่งเรื่องนี้พบได้เสมอในคนพิการ เช่น ผู้ที่ถูกตัดขาแล้ว มักจะเคลื่อนไหวหรือเดินเหิน (ด้วยไม้ค้ำยันหรือขาเทียม) น้อยลง ผลก็คือ มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทั้งที่ก็กินเท่าเดิม หรือบางคนกินน้อยลงด้วยซ้ำไป แต่ก็ยังอ้วนขึ้น เรื่องของการกินและความอ้วนนั้น เปรียบได้คล้ายกับการทำงานหาเงินและความร่ำรวย

ผู้ที่ทำงานมีรายได้ไม่มากนัก แต่ถ้าเป็นคนไม่ยอมใช้เงินที่หามาได้ หรือใช้น้อยกว่าที่หามาได้ ย่อมจะมีเงินเหลือเก็บและร่ำรวยได้ เช่นเดียวกับผู้ที่แม้จะกินอาหารไม่มากมายอะไร แต่วันๆ เอาแต่นั่งๆ นอนๆ ใช้พลังงานน้อยกว่าที่กินเข้าไป ก็ย่อมมีสิทธิ์ที่จะอ้วนได้อยู่นั่นเอง

ในทางตรงข้าม ผู้ที่แม้จะกินอาหารมาก แต่มีการเคลื่อนไหวมาก ออกกำลังกายเสมอ มีการใช้พลังงานมาก ย่อมจะไม่มีพลังงานเหลือมาสะสมเป็นไขมันหรือทำให้อ้วนได้ เหมือนคนที่ทำงานเก่งมีรายได้มาก แต่ถ้าใช้เงินมากด้วยก็ยากที่จะร่ำรวยหรือมีเงินเหลือเก็บ

ดังนั้นการออกกำลังกายทุกชนิด รวมทั้งการเดิน จึงถือว่าเป็นการลดน้ำหนักตัวหรือควบคุมน้ำหนักตัวได้อย่างดีที่สุด โดยไม่ต้องทรมานอาหาร ทนหิว และยังทำให้กล้ามเนื้อแน่นและมีร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์ด้วย

คนที่หนัก 70 กิโลกรัม ถ้าเดินให้ได้ความเร็ว 5.6 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จะใช้พลังงานไปถึงชั่วโมงละ 300 แคลอรี่ และถ้าเป็นการเดินขึ้นทางลาดชันเพียง 10% ก็จะใช้พลังงานถึงชั่วโมงละ 580 แคลอรี่ ซึ่งนับว่าไม่น้อยเลย

สรุปว่าการเดินเพื่อสุขภาพทั่วๆ ไปนั้นจะเดินมากน้อยเพียงใดก็ได้ หนักเบาเพียงใดก็ได้ หรือแม้แต่จะใช้การเดินร่วมกับกิจวัตรประจำวันที่จะต้องทำอยู่แล้วก็ได้ โดยหลีกเลี่ยงการใช้เครื่องทุ่นแรงต่างๆ รวมทั้งยานพาหนะให้น้อยลง เช่น ถ้าวันไหนอากาศดี ฝนไม่ตก ก็อาจจะลงจากรถประจำทางก่อนถึงที่หมายสัก 2-3 ป้าย และเดินต่อไปจนถึงที่ทำงาน หรือช่วงใดโอกาสใดที่จะเดินการแทนนั่งรถได้ก็ให้เดินไป หรือช่วงใดที่จะใช้บันไดได้ก็ใช้บันได โดยไม่สนใจกับลิฟท์หรือบันไดเลื่อน ซึ่งแรกๆ อาจรู้สึกเมื่อยหรือเหนื่อยบ้าง แต่ไม่นานก็จะชินและรู้สึกว่าขาแข็งแรงมากขึ้น ตัวเบาขึ้น และการกระฉับกระเฉงขึ้นอย่างชัดเจน

ภายหลังอาหารเย็น หากเดินอย่างเบาๆ สัก 10-20 นาทีได้ ก็จะถือเป็นการเดินเพื่อสุขภาพที่ดี ช่วยให้อาการย่อมดีขึ้นและหลับสบายขึ้นด้วย แต่น่าเสียดายที่ผู้คนทุกวันนี้พอกินอาหารเย็นเสร็จก็ลุกจากโต๊ะอาหารมานั่งดูโทรทัศน์ต่อ แล้วก็เข้านอนไปเลย อาหารมื้อเย็นจึงเป็นมื้อที่ร่างกายใช้ไม่หมด และเหลือไปเป็นไขมันสะสมไว้ได้มาก

2. การเดินเพื่อสุขภาพแบบแอโรบิค

เป็นการเดินออกกำลังกายที่ต้องการให้เกิดผลดีต่อปอดและหัวใจอย่างแท้จริง ผลดีที่เกิดจากการออกกำลังกายแบบแอโรบิคนี้ เรียกว่าผลจากการฝึก (หรือเทรนนิ่ง เอฟเฟค trainning effect) ซึ่งการออกกำลังกายที่จะเกิดผลจากการฝึกได้นี้จะต้องประกอบด้วยหลักสำคัญ 3 ประการ คือ

ก. ต้องเป็นการออกกำลังกายที่หนักมากพอ คือ ต้องหนักหรือเหนื่อยจนหัวใจเต้นเร็วถึงอัตราที่เป็นเป้าหมาย ซึ่งแตกต่างกันมากน้อยตามอายุ โดยมากใช้ประมาณร้อยละ 70-85 ของอัตราเต้นสูงสุดของหัวใจ (220-อายุ)

ข. ต้องเป็นการออกกำลังกายที่หนักติดต่อกันนานพอ คือ ต้องนานติดต่อกันไม่น้อยกว่า 20 นาที ถ้าได้ 30 นาทียิ่งดี โดยที่หัวใจเต้นอยู่ในอัตราที่เป็นเป้าหมายตลอดเวลาที่ว่านี้

ค. ต้องทำบ่อยๆ คือ อย่างน้อยต้องทำสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ที่นิยมทำกัน คือ สัปดาห์ละ 3-5 ครั้ง

การออกกำลังกายใดๆ ที่ทำไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่ว่านี้แม้เพียงข้อใดข้อหนึ่ง ก็จะไม่เกิดผลจากการฝึก (เทรนนิ่งเอฟเฟค) และไม่นับว่าเป็นการออกกำลังกายแบบแอโรบิคที่แท้จริง เช่น ทำการออกกำลังกายที่หนักพอและนานพอ แต่ไม่ได้ทำบ่อย เช่น ทำเพียงสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง หรือทำบ่อยและหนักแต่ไม่นานพอ เช่น ออกกำลังกายเพียงครั้งละ 5-6 นาที ก็จะไม่เกิดผลจากการฝึกเช่นกัน อย่างไรก็ตาม การออกกำลังกายที่ไม่ครบตามหลักการและไม่ได้ผลตามแบบแอโรบิคนั้น ก็จะยังได้ประโยชน์ต่อสุขภาพโดยทั่วๆ ไปอยู่ และยังดีกว่าการไม่ออกกำลังกายเสียเลยเป็นอย่างมาก

สรุปว่าการจะเดินออกกำลังกายให้ได้ผลทางแอโรบิคนั้น จะต้องเป็นการเดินที่หนักพอเดินติดต่อกันนานเพียงพอ และจะต้องเดินให้บ่อยพอด้วย

สำหรับเรื่องของเวลาและความบ่อยนั้นไม่สู้จะมีปัญหามากนัก แต่เรื่องที่จะต้องเดินให้หนักหรือเหนื่อยพอที่จะทำให้หัวใจเต้นเร็วจนถึงอัตราเป้าหมายนั้นอาจเป็นปัญหาได้ โดยเฉพาะถ้าเป็นคนในวัยหนุ่มสาวซึ่งมีอัตราเต้นของหัวใจที่เป็นเป้าหมายค่อนข้างสูง เช่น ผู้ที่อายุ 20 ปี จะมีอัตราเต้นของหัวใจที่เป็นเป้าหมายอยู่ระหว่าง 140-170 ครั้ง/นาที ซึ่งบางคนอาจเดินให้หัวใจเต้นเร็วข้นถึงระดับนี้ไม่ได้ ซึ่งเรื่องนี้ถือว่าเป็นข้อเสียเปรียบที่สำคัญของการเดินที่สู้การวิ่งไม่ได้ เพราะการจะวิ่งให้เหนื่อยมากขนาดนี้ทำได้ง่ายกว่ามาก อย่างไรก็ตาม ก็มีวิธีแก้ได้ง่ายๆ ด้วยการเดินข้นทางลาดชันหรือเดินขึ้นบันได หรือใช้น้ำหนักถ่วง เช่น สะพายเป้หลัง เป็นต้น ก็จะช่วยให้หัวใจเต้นเร็วถึงอัตราเป้าหมายได้ง่ายขึ้น

สำหรับผู้ที่มีอายุมากขึ้นหรือตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไป ส่วนมากไม่มีปัญหา เพราะอัตราเต้นของหัวใจที่เป็นเป้าหมายไม่สูงมากนัก เช่น ผู้ที่มีอายุ 50 ปี จะมีอัตราเต้นของหัวใจที่เป็นเป้าหมายเริ่มที่ประมาณ 120 ครั้ง/นาที ซึ่งถ้าให้คนอายุขนาดนี้เดินจ้ำเร็วๆ ก็สามารถจะบรรลุเป้าได้โดยไม่ยาก ยิ่งถ้าได้จ้ำด้วยก้าวที่ยาวๆ และแกว่งแขนให้แรงๆ ด้วยแล้ว ก็สามารถทำหัวใจเต้นถึง 130 หรือ 140 ครั้ง/นาทีได้ ดังนั้นการเดินจึงถือว่าเป็นการออกกำลังกายแบบแอโรบิคที่ดี และเหมาะสมที่สุดสำหรับผู้สูงอายุ เพราะจะเกิดอันตรายหรือบาดเจ็บน้อยกว่าการวิ่ง หรือการเต้นแอโรบิคมากทีเดียว

หลักการเดินเพื่อสุขภาพ

เนื่องด้วยการเดินเพื่อสุขภาพ โดยเฉพาะการเดินเพื่อสุขภาพแบบแอโรบิคนั้น จะต้องเดินให้จริงจังและหนักพอสมควรดังกล่าวมาแล้ว ดังนั้นจึงต้องเริ่มอย่างมีหลักการและมีขั้นตอน แม้การเดินจะเป็นการออกกำลังกายที่ไม่หนักหรือรุนแรงเท่าการวิ่ง แต่หากทำไม่ถูกวิธีหรือข้ามขั้นตอนก็อาจทำให้เกิดบาดเจ็บได้ และเป็นสาเหตุสำคัญที่จะเลิกหรือหยุดเดินในเวลาไม่นาน

มีนักออกกำลังกาย (ไม่ว่าชนิดใดก็ตาม) ไม่น้อยที่พอเริ่มจะออกกำลัง ก็มักจะเริ่มอย่างหักโหมเท่ากับที่คนเก่าๆ ได้เคยทำมาก่อน ผลก็คือความปวดเมื่อยที่มากเกินควร หรือได้รับบาดเจ็บ แล้วก็เกิดความเบื่อหน่ายหรือเลิกไปในเวลาอันสั้น สู้พวกที่เริ่มต้นอย่างช้าๆ และมีขั้นมีตอนไม่ได้ ครูที่สอนเกี่ยวกับการออกกำลังกายทั้งหลายจึงเน้นมากในเรื่องนี้ คือจะต้องใจเย็นๆ และค่อยทำค่อยไป

หลักสำคัญของการเดินเพื่อสุขภาพก็คือ พยายามเดินให้เป็นไปตามธรรมชาติให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการก้าวขาหรือแกว่งแขน อย่าได้ฝืนธรรมชาติ แต่ก็ควรต้องเดินให้สง่างามด้วย ยึดหลักการเดินที่อกผายไหล่ผึ่ง คอตั้งหลังตึงไว้เสมอ การเดินอย่างธรรมชาตินั้นเราจะเอาส้นเท้าลงสัมผัสพื้นก่อนเสมอ แขนจะเหยียดและแกว่งสลับข้างกับขา คือ แขนซ้ายแกว่งออกไปข้างหน้าพร้อมกับขาข้างขวา และขาซ้ายออกไปพร้อมกับแขนขวา แต่ถ้าเราเร่งจังหวะของการเดินให้เร็วมากขึ้นข้อศอกที่เคยเหยียดก็จะงอเข้ามาโดยอัตโนมัติ เพื่อให้แกว่งแขนได้เร็วมากขึ้น

เรื่องของการเดินเพื่อสุขภาพนี้ มีท่านผู้รู้(ฝรั่ง)เขียนแนะนำไว้หลายรูปแบบ บ้างก็แบ่งเป็นระดับโดยเริ่มตั้งแต่ระดับที่ 1 ซึ่งเดินเพียง 10 นาที ไปจนถึงระดับที่ 21 ที่เดินรวดเดียว 2 ชั่วโมง บ้างก็เดินเป็นระดับที่เริ่มด้วยเดินนาน 20 นาที แล้วเพิ่มเวลาขึ้นสัปดาห์ละ 5 นาที ทุกสัปดาห์ และบ้างก็นับกันด้วยระยะทาง 200 เมตร แล้วเพิ่มไปเรื่อยๆ จนถึง 2,500 เมตร เป็นต้น

เรื่องของการจัดตารางการเดินนี้ ผมเองสนใจมานาน และได้ทดลองกับตัวเองมามากพอสมควร ใคร่ขอเสนอตารางของการเดินเพื่อสุขภาพเป็นเพียง 3 ขั้นตอน คือ

ขั้นที่ 1

เป็นขั้นเริ่มต้นสำหรับผู้ที่มีร่างกายไม่แข็งแรงนัก หรือเป็นผู้ที่ไม่เคยออกกำลังกายมาก่อน หรือเคยบ้างแต่หยุดไปนานแล้ว หรือเป็นคนอ้วน หรือมีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์เฉลี่ย หรือเป็นผู้สูงอายุ

บุคคลเหล่านี้การเดินเร็วๆ เพียงครู่เดียวก็อาจเหนื่อยและหัวใจเต้นเร็วถึง 100 ครั้ง/นาที ขั้นที่ 1 จะเริ่มดังนี้

- เดินอย่างสบายๆ เพียง 10 นาที สัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง

- เมื่อรู้สึกว่าไปได้ดีแล้ว ก็ให้เร่งความเร็วให้มากขึ้น

- พยายามเดินให้ได้ประมาณ 80-90 ก้าว/นาที

- จนสามารถเดินรวดเดียว 10 นาที ด้วยความเร็วขนาดประมาณ 80-90 ก้าว/นาที

- เพิ่มเวลาเดินให้มากขึ้นเป็นครั้งละ 15 นาที 20 นาที และ25ตามลำดับ

- เมื่อสามารถเดินได้ค่อนข้างรวดเดียว 25 นาทีต่อครั้ง สัปดาห์ละ 4 ครั้ง ก็ถือว่าจบขั้นที่ 1 นี้

สำหรับการเดินในขั้นที่ 1 นี้ จะยังไม่สนใจหรือคำนึงถึงเรื่องของชีพจร คือ ยังไม่ต้องให้หัวใจเต้นเร็วถึงอัตราเป้าหมาย เพราะยังไม่ต้องการให้เป็นการเดินแบบแอโรบิค แต่เป็นการเตรียมตัวขั้นต้นสำหรับขั้นต่อๆ ไปเท่านั้น

ขั้นที่ 2

เป็นการเดินรวดเดียว 30-60 นาที ขั้นนี้ใช้สำหรับผู้ที่ผ่านขั้นที่ 1 มาแล้ว หรือเป็นผู้ที่มีร่างกายแข็งแรงพอสมควร

ขั้นที่ 2 จะเริ่มต้นดังนี้

- เพิ่มเวลาจากการเดินขั้นที่ 1 ให้สามารถเดินได้รวดเดียว 30 นาที

- พายามให้เดินได้เร็วประมาณ 100 ก้าว/นาที

- เมื่อเดินได้ดีพอสมควรคือ ไม่เหนื่อยมากเกินไปแล้ว ให้เพิ่มข้นอีกสัปดาห์ละ 5 นาที ทุกสัปดาห์ไปเรื่อยๆ จนเดินเร็วได้รวดเดียว 60 นาที สัปดาห์ละ 4 วัน ก็ถือว่าบรรลุเป้าหมายของขั้นที่ 2 นี้

ขั้นที่ 2 นี้ใช้ได้ดีทั้งการเดินพื่อสุขภาพทั่วๆ ไป และเดินเพื่อสุขภาพแบบแอโรบิค คือ ถ้าต้องการให้เป็นการเดินเพื่อสุขภาพทั่วๆ ไปก็เดินโดยไม่ต้องเอาเรื่องของชีพจรมาคิดแต่ถ้าต้องการเดินให้ได้ผลทางแอโรบิคหรือเกิดผลจากการฝึก (เทรนนิ่ง เอฟเฟค) ก็จะต้องเดินจ้ำและก้าวขาแกว่งแขนแรงๆ จนหัวใจเต้นเร็วถึงอัตราเป้าหมาย (อาจต้องจ้ำให้เร็วขนาด 110-120 ก้าว/นาที)

สำหรับผู้ที่ต้องการลดน้ำหนักหรือควบคุมน้ำหนักตัวนั้น ขั้นที่ 2 นี้ใช้ได้ดีมากทีเดียว เพราะการเดินจำเร็วๆ นั้น ร่างกายต้องใช้แคลอรี่ไม่น้อยเลย ดังได้กล่าวมาแล้วในตอนต้น

ขั้นที่ 3

เป็นการเดินรวดเดียวติดต่อกันตั้งแต่ 60-120 นาที ผู้ที่เดินในข้นนี้จัดเป็น “นักเดิน” ได้แล้ว คือ เป็นพวกที่เดินเร็วๆ ติดต่อกันรวดเดียว 1 ชั่วโมงได้อย่างสบายแล้ว

ขั้นที่ 3 จะเริ่มดังนี้

- เพิ่มเวลาในการเดินจากขั้นที่ 2 จนให้เดินได้สัปดาห์ละ 10 นาที

- พยายามเดินเพิ่มเวลาขึ้นไปเรื่อยๆ จนเดินได้รวดเดียว 120 นาที

ผู้ที่เคยเดินเร็วๆ รวดเดียวติดต่อกันนาน 2 ชั่วโมง จะทราบดีว่าการเดินขนาดนี้แท้จริงแล้วทำให้เมื่อยและเหนื่อยไม่น้อยเลย ยิ่งถ้าต้องเดินจ้ำก้าวยาวๆ ให้ได้อย่างน้อย 100 เมตร/นาที หรือชั่วโมงละ 6 กิโลเมตรขึ้นไปแล้ว จะได้เหงื่ออย่างมากทีเดียว

สำหรับผู้ที่ต้องการลดน้ำหนักตัวอย่างทันใจและปลอดภัยแล้ว ขั้นนี้จะไม่ทำให้ผิดหวังแน่นอน และจากการศึกษาที่ได้ทำกันมาแล้วในต่างประเทศพบว่า การเดินเร็วรวดเดียวติดต่อกันตั้งแต่ 90 นาทีขึ้นไป สัปดาห์ละ 4 ครั้ง จะสามารถทำให้เอช.ดี.แอล. (HDL = High density lipoprotein) ในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งการเพิ่มขึ้นของ เอช.ดี.แอล.นี้ จะช่วยป้องกันโรคหลอดเลือดของหัวใจตีบตันได้เป็นอย่างดี

สำหรับนักเดินที่สามารถเดินติดต่อกันนานกว่า 2 ชั่วโมงขึ้นไป เช่น พวกนักเดินทางไกล หรือนักเดินทางท่องเที่ยวนั้น มักจะเดินด้วยความเร็วปานกลาง เป็นการเดินอีกแบบหนึ่งที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตเป็นอย่างดี เป็นการเปลี่ยนจากบรรยากาศที่จำเจไปสู่ภูมิประเทศที่สวยงาม แปลกตานับเป็นการเดินที่ดีมาก และเราควรหาโอกาสเดินอย่างนี้เป็นครั้งคราว

อุปกรณ์ที่ใช้ในการเดิน

แท้ที่จริงแล้วการเดินเพื่อสุขภาพนั้นไม่จำเป็นต้องมีอุปกรณ์พิเศษแต่อย่างใด เสื้อผ้าที่จะสวมใส่นั้นขอให้เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศ และอย่าให้คับหรือรัดมากก็ใช้ใส่เดินได้ทั้งสิ้น จะมีที่ต้องระวังเป็นพิเศษสักหน่อยก็คือ เรื่องของรองเท้า แม้การเดินนั้นเท้าจะไม่ต้องรับแรงกระแทกมากเท่ากับการวิ่ง แต่ก็อย่ามองข้ามความสำคัญของรองเท้า รองเท้าที่ใส่เดินนั้นจะต้องมีความพอดี ไม่หลวมหรือคับมากเกินไป รองเท้าที่ใส่เดินนี้ไม่จำเป็นต้องมีราคาแพง รองเท้าผ้าใบอย่างที่ลูกเสือใส่กันนั้นก็ใช้ใส่เดินได้ รองเท้าที่ใส่เล่นเทนนิสหรือแบดมินตันก็ใช้ได้ ยิ่งรองเท้าวิ่งด้วยแล้วใช้เป็นรองเท้าเดินได้ทุกคู่

ผมชอบใจคำกล่าวของนายแพทย์ Harry Hlaac ผู้เขียนหนังสือเรื่อง The Foot Book ซึ่งกล่าวสรุปเกี่ยวกับเรื่องของรองเท้าที่ใช้ใส่เดินไว้ว่า

“รองเท้าคู่ไหนก็ตามที่ใส่แล้วเดินได้สบาย ไม่เจ็บเท้า ไม่ทำให้หนังเท้าพอง และไม่ทำให้ปวดเมื่อยเกินปกติแล้ว ก็จงใช้รองเท้าคู่นั้นต่อไป และไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องเปลี่ยนใหม่”

อย่างไรก็ตาม พวกรองเท้าตามแฟชั่น เช่น พวกที่มีหัวแหลมๆ หรือส้นสูงๆ หรือที่เสริมพื้นเสียหนาเตอะ อย่างที่เรียกกันว่ารองเท้าเตารีดนั้น ห้ามนำมาใช้ใส่เดินเพื่อสุขภาพเป็นอันขาด เพราะนอกจากจะไม่เกิดผลดีต่อสุขภาพแล้ว ยังจะทำให้เสียสุขภาพได้ อาจจะทำให้เกิดบาดเจ็บ ตั้งแต่เล็กน้อย เช่น หนังเท้าพองเกิดห้อเลือดหรือเลือดออกใต้เล็บเท้าไปจนถึงข้อเท้าแพลง เนื่องจากพลัดตกลงมาจากรองเท้าที่ตนเองสวมอยู่ หรืออาจถึงหกล้มแขนขาหักได้

เรื่องของรองเท้านี้ผมเองเคยมีประสบการณ์ที่ยังไม่ลืม นั่นคือ ครั้งหนึ่งได้ถุงเท้าคู่ใหม่ สวยถูกใจ แต่มีความหนากกว่าถุงเท้าทุกคู่ที่เคยใช้มา เมื่อใส่กับรองเท้าเดินคู่เก่าก็รู้สึกว่าตึงๆ เล็กน้อย แต่ก็คิดว่าคงไม่เป็นไร เพราะตั้งใจว่าจะใส่เดินสักชั่วโมงครั้งเท่านั้น แต่เมื่อเดินไปได้ราวๆ 1 ชั่วโมง ก็เริ่มรู้สึกเจ็บๆ ที่นิ้วหัวแม่เท้าข้างขวา ระยะทางกว่าจะกลับถึงรถก็อีกราวครึ่งชั่วโมง จึงเดินต่อไปเพราะรู้สึกว่ายังพอทนได้ และเมื่อถึงรถก็รีบถอดรองเท้าออกทันที แม้กระนั้นก็เกิดห้อเลือดที่ใต้เล็บเท้าข้างขวาอยู่นาน เป็นเดือน จะเห็นว่าเพียงแต่เปลี่ยนถุงเท้าคู่ใหม่ที่หนาขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ก็ยังทำให้บาดเจ็บมีเลือดออกใต้เล็บได้อย่างนี้ ดังนั้นนักเดินทางทั้งหลายอย่าได้ประมาทและมองข้ามความสำคัญของรองเท้าไปเป็นอันขาด

ก่อนจบเรื่องของการเดินเพื่อสุขภาพนี้ ผมใคร่ขอนำข้อสรุปจกการประชุมเรื่องการออกกำลังกายในผู้สูงอายุ ซึ่งประชุมกันที่เมืองแมรี่แลนด์ และมีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งจากสหรัฐอเมริกาเอง และจากแคนาดา และจากยุโรปตะวันตก ซึ่งสรุปได้ว่า

“การเดินนั้นเป็นการออกกำลังกายที่ได้ผลดีที่สุด และเป็นการออกกำลังกายชนิดเดียวที่ท่าน (ผู้สูงอายุ) สามารถทำได้อย่างปลอดภัยที่สุดตลอดอายุขัยของท่าน”

ข้อมูลสื่อ

82-001
นิตยสารหมอชาวบ้าน 82
กุมภาพันธ์ 2529
เรื่องน่ารู้
รศ.นพ.ดำรง กิจกุศล