โรคหัวใจ
โรคหัวใจที่พบบ่อยในประเทศ คือ
1.)โรคหัวในอ่อน
“โรคหัวใจอ่อน” หรือบางคนอาจะเรียกว่า “โรคประสาทหัวใจ” หรือบางครั้งก็อาจจะมีชื่อแปลก ๆออกไป ทำให้คิดว่าเป็นเรื่องอื่น ๆ เช่น “โรคหัวใจวาย” “โรคความดันเลือดต่ำ” “โรคเลือดน้อย” เป็นต้น อาจจะกล่าวได้ว่าโรคนี้ หรือภาวะอย่างนี้พบบ่อยที่สุดในบรรดาโรคหัวใจทั้งหลาย ทั้ง ๆที่หัวใจเองไม่มีอะไรผิดปกติและไม่ได้อ่อนแรงลงเลย ที่ผิดปกติคือจิตใจหรือประสาท จากความโกรธ ความกลัว ความห่วงกังวล หรือความเครียดต่าง ๆ
⇔ มันเกิดขึ้นได้อย่างไร
สาเหตุของโรคนี้เกิดขึ้นจากความกังวล ความเคร่งเครียดและการพักผ่อนไม่เพียงพอ อันอาจจะสืบเนื่องมาจากการงาน ภาวะทางเศรษฐกิจสังคม ความยุ่งยากในครอบครัว ความโลภ โกรธ เกลียด หลง ที่สะสมไว้นาน ๆ หรือโรคเรื้อรังอื่น ๆ
⇔อาการที่เราควรรู้
รู้สึกอ่อนเพลีย เวียนศีรษะง่าย รู้สึกคล้ายจะเป็นลมอยู่เสมอ (แต่ไม่เคยหมดสติหรือชัก) ใจเต้น ใจสั่น ใจหวิว อาจจะรู้สึกหัวใจเบา ๆ ลอย ๆ หรือรู้สึกว่าหัวใจหนักและเปลี้ยไปหมด ทำงานอะไรสักนิดหรืออยู่เฉย ๆ ก็เหนื่อย หายใจขัด หายใจไม่สะดวก หายใจเข้าได้ไม่เต็มที่ หายใจไม่อิ่ม หงุดหงิดง่าย โมโหง่าย เจ็บแปลบปลาบตามหน้าอก อาจมีอาการแน่นท้อง ท้องขึ้นจนต้องเรอและผ่ายลมร่วมด้วย อาจนอนไม่ค่อยหลับ หรือหลับแล้วฝันบ่อย ๆ โดยเฉพาะฝันร้าย ๆ เสียด้วย
ผู้ที่มีอาการต่าง ๆดังกล่าวจะเกิดความกังวลมากขึ้น และมักจะเปลี่ยนหมอคนแล้วคนเล่า เพราะรู้สึกไม่ดีขึ้นหลังจากโดนฉีดยาและกินยาแล้วหลายขนาน ทั้งนี้เพราะยาฉีดและยากิน ส่วนใหญ่ไม่สามารถจะช่วยแก้ไขสาเหตุดั้งเดิมคือความยุ่งยากในครอบครัว ความลำบากในเรื่องชีวิตความเป็นอยู่และการทำมาหากิน หรือความโลภ โกรธ เกลียด หลง อันเกินขอบเขตในจิตใจของตน
⇔แล้วจะรักษากันอย่างไร
1.พยายาม อย่าอยู่ว่าง หางานที่เพลิดเพลินหรือที่ชอบทำ ถ้าไม่มีงานอะไรจะนั่งพับถุงเล่นหรือพับถุงไว้ขายเพื่อฆ่าเวลา หรือจะเล่นกีฬา หรือออกำลังกาย โดยเริ่มทีละน้อย ๆ แล้วค่อย ๆ เพิ่มทีละเล็กละน้อย จนสามารถออกกำลังกายเป็นประจำ อย่างน้อยวันละ 1-2 ครั้ง ๆ ละครึ่งถึง 1 ชั่วโมง จะทำให้อาการหายไปได้
2.พยายาม ทำจิตใจให้สงบให้ปราศจากเสียซึ่งความอยากได้ในสิ่งของเงินทอง และลาภยศต่าง ๆ ให้แผ่เมตตาและให้อภัยแก่คนที่ตนโกรธ เกลียด เพราะชีวิตนี้สั้นนัก และจะสั้นยิ่งขึ้นถ้าปล่อยให้ความขุ่นมัวความเศร้าหมองเข้าครอบงำจิตใจไว้
3.พยายามออกไป ช่วยทำงานให้แก่สาธารณสถาน การให้สิ่งของเงินทองแก่ผู้ขัดสนและยากไร้ ทำตนให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น จะทำให้รู้สึกว่าชีวิตของตนมีคุณค่ามากขึ้น และจะลดความอยาก (อยากได้ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นของตน) ลง ทำให้ความกังวลและความเคร่งเครียดลดลง ทำให้โรคนี้หายไปได้ โดยไม่ต้องใช้ยากิน ยาฉีดอะไรทั้งสิ้น
4.สำหรับผู้ป่วยที่มีสาเหตุมาจากโรคเรื้อรัง นอกจากจะต้องให้แพทย์รักษาโรคเรื้อรังนั้นๆ แล้ว ก็ควรจะทำจิตใจให้สงบเช่นเดียวกันคือ ไม่กังวล ไม่เคร่งเครียดในความเจ็บป่วยของตน เพราะการเจ็บไข้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยเรามักหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่มีใครหรอกที่อยากจะเจ็บป่วยถ้าเขาเลือกได้การจะไปกังวลเพิ่มเติมอีก มีแต่จะทำให้โรคที่เป็นอยู่ทรุดลง และมีโรคอื่นแทรกได้ง่าย
2.) ”โรคหัวใจโต”
“โรคหัวใจโต” ไม่ได้เป็นโรคแต่เป็นสภาพที่หัวใจมีขนาดโตกว่าปกติ สภาพหัวใจโตหรือภาวะหัวใจโต ไม่มีอาการ และไม่จำเป็นต้องมีอาการ และอาจถือเป็นสภาพที่ดีหรือสภาพปกติได้ เช่นในนักกีฬาระดับโลก
⇔มันเกิดขึ้นได้อย่างไร
สาเหตุที่ทำให้หัวใจโต คือ การที่หัวใจต้องทำงานมากขึ้น เช่น
1.การออกกำลังมาก ๆ นาน ๆ เช่น นักกีฬาระดับชาติหรือระดับโลก หัวใจต้องออกกำลังไปด้วย จึงโตขึ้น เพราะหัวในเป็นกล้ามเนื้อเหมือนกล้ามเนื้ออื่น เมื่อออกกำลังก็โตขึ้น ซึ่งเป็นของดี ไม่ได้เป็นของไม่ดี และไม่ได้เป็นโรค
2.ความดันเลือดสูง ทำให้หัวใจต้องทำงานมากขึ้น คนที่เป็นความดันเลือดสูงอยู่นาน ๆ โดยไม่ได้รักษา หัวใจจะโตขึ้น ๆ เพื่อทำงานให้ได้มากขึ้น ๆ
3.โรคหัวใจชนิดต่าง ๆ มักทำให้หัวใจต้องทำงานมากขึ้น หัวใจถึงโตขึ้น
4.โรคเลือด โรคไต และโรคอื่น ๆ เช่น คอพอกเป็นพิษ ก็อาจจะทำให้หัวใจต้องทำงานมากขึ้นหัวใจจึงโตขึ้น
ที่คนทั่วไปไม่ชอบภาวะหัวใจโต จนทำให้คิดว่าหัวใจโตเป็นโรคและเรียกว่า “โรคหัวใจโต” เพราะภาวะหัวใจโตมักเกิดจากโรคต่าง ๆ และโรคต่าง ๆ เหล่านั้นต้องเป็นมากและนาน จึงจะทำให้หัวใจโต ภาวะหัวใจโตจึงช่วยแสดงว่าโรคนั้นเป็นมากแล้ว คนก็เลยเข้าใจกันว่าหัวใจโตเป็นโรค และโรคเป็นมาก (อันตราย) แล้ว ซึ่งที่จริงไม่ได้สำคัญที่หัวใจ แต่สำคัญที่โรคหรือสาเหตุที่ทำให้หัวใจโตต่างหาก
⇔ อาการที่เราควรรู้
ภาวะหัวใจโตไม่ทำให้เกิดอาการอะไร นอกจากหัวใจที่โตขึ้น ๆ เพื่อรับภาระงานที่เพิ่มขึ้น ๆ จนรับภาระนั้นไม่ไหวแล้ว ก็จะเกิดภาวะหัวใจล้ม หรือบางคนเรียกว่า ภาวะหัวใจวาย จึงจะมีอาการเกิดขึ้น
⇔ แล้วจะรักษากันอย่างไร
ไม่ต้องรักษาภาวะหัวใจโตและไม่มีทางรักษาภาวะหัวใจโตมีแต่การรักษาสาเหตุที่ทำให้หัวใจโต ถ้ารักษาสาเหตุที่ทำให้หัวใจโตได้ดีแล้ว หัวใจที่โตอยู่จะเล็กลง เช่น
ถ้าหัวใจโตจากความดันเลือดสูง ให้รักษาความดันเลือดสูงให้ดี แล้วหัวใจจะเล็กลงได้
ถ้าหัวใจโตจากการออกกำลังกายมาก ๆ นาน ๆ ถ้าจะให้หัวใจเล็กลง ก็ต้องหยุดการออกกำลังหัวใจจะเล็กลงและเสื่อมลง เช่นเดียวกับกล้ามเนื้อส่วนอื่นๆ ซึ่งเป็นของไม่ดี จึงไม่ควรหยุดการออกกำลังเพื่อให้หัวใจและกล้ามเนื้อเล็กลงและเสื่อมลง
3.) ”โรคหัวใจวาย” กับ “ภาวะหัวใจล้ม”
โรคหัวใจวาย” ก็ไม่ได้เป็นโรคอีกเช่นเดียวกัน แต่เป็นสภาพหรือภาวะที่หัวใจหยุดทำงานหรือทำงานไม่ไหว คำว่า “หัวใจวาย” ยังใช้กันในหลายความหมาย บางคนก็ใช้หมายความว่าหัวใจหยุดทำงาน หรือตาย(คนตาย ) แล้ว สมัยก่อนจึงมักนิยม (ปัจจุบันบางคนก็ยังนิยม) ที่จะกรอกใบมรณบัตรว่า “ถึงแก่กรรมเพราะหัวใจวาย” ซึ่งอันที่จริง ถ้าถึงแก่กรรมแล้วหัวใจยังไม่ตายในเมืองไทยเราก็ไม่ถือว่า “ถึงแก่กรรม” (ในบางแห่งเขาอาจจะถือถึงแก่กรรมแล้ว ถ้าสมอง “ตาย” (เสีย) แล้ว แม้หัวใจจะยังไม่ตายก็ตาม)
บางคนก็ใช้คำว่า “หัวใจวาย” หมายความถึงอาการหน้ามืดเป็นลม ใจสั่น ใจหวิว ใจวูบหาย และอื่น ๆ ซึ่งไม่ได้เป็นอาการจากหัวใจ แต่เป็นอาการจากจิตใจ (ดูเรื่อง “โรคหัวใจอ่อน”)
บางคนก็ใช้คำว่า “หัวใจวาย” หมายความถึงอาการหอบเหนื่อยบวม จากการที่หัวใจทำงานไม่ไหวซึ่งน่าจะเรียกว่า “หัวใจล้ม” หรือ “ หัวใจล้มเหลว’ มากกว่า เพราะฟังดูแล้วทำให้สบายใจกว่า ”หัวใจวาย” เนื่องจากของอะไรที่ “วาย” แล้ว จะตายไปหรือหมดสิ้นไปส่วนของอะไรที่ “ล้ม” แล้ว ยังลุกขึ้นใหม่ได้ และเพราะคำว่า “หัวใจวาย” ถูกใช้ร่วมกับคำว่า “ตาย” มานาน เมื่อคนไข้ได้ยินคำนี้เข้าเลยพาลจะตายเอาจริง ๆ
⇔มันเกิดขึ้นได้อย่างไร
ภาวะหัวใจล้ม เกิดจากสาเหตุอะไรก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจหรือไม่เป็นโรคหัวใจ
ถ้าหัวใจสู้งานต่อไปไม่ไหวก็จะทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มขึ้นเหมือนกับคนแบกของหนัก ๆ เดินไป ๆ ในที่สุดแบกของหนัก ๆ เดินไป ๆ ในที่สุดแบกไม่ไหวก็ต้องล้มลง แต่หลังจากล้มลงแล้วได้สักพักครู่ ได้น้ำได้อาหารก็อาจจะลุกขึ้นแบกของหนักนั้นเดินต่อไปได้
⇔อาการที่เราควรรู้
อาการของภาวะหัวใจล้ม (ภาวะที่หัวใจทำงานต่อไปไม่ไหว) คือ อาการหอบ เหนื่อย และบวม
อาการหอบเหนื่อย อาจจะเริ่มด้วยอาการเหนื่อยง่าย โดยเฉพาะเวลาออกกำลังหนัก ๆ ต่อมาจะเป็นมากขึ้นจนแม้แต่เดินอยู่ในบ้าน หรือกินอาหารก็เหนื่อย ถ้าเป็นมากขึ้นอีก แม้แต่เวลานั่งหรือนอนอยู่
เฉย ๆ ก็เหนื่อย เป็นต้น
ส่วนอาการบวม จะเริ่มที่เท้าก่อน แล้วลามขึ้นมาที่ขา ที่ท้องแล้วบวมทั้งตัวได้ ถ้ามีอาการหอบเหนื่อยและบวมร่วมกัน ก็น่าจะนึกถึงภาวะหัวใจล้มได้ แต่ถ้าหอบเหนื่อยอย่างเดียวอาจเป็นโรคปอดหรือหลอดลม โรคประสาท ภาวะเลือดเป็นกรดหรืออื่น ๆ หรือถ้าบวมอย่างเดียว อาจเป็นโรคไต โรคขาดอาหาร โรคตับหรืออื่น ๆ ได้
⇔ แล้วจะรักษากันอย่างไร
1. พัก คือให้นอนพัก หรือนั่งพักจนอาการหายไป
2. กินยาขับปัสสาวะ เพื่อลดการคั่งของน้ำและเกลือที่เกิดขึ้น เนื่องจากหัวใจทำงานไม่ไหว
3. กินยากระตุ้นหัวใจ (ดิจิตาลิส) เพื่อบังคับให้หัวใจทำงานดีขึ้น
4. รักษาสาเหตุที่ทำให้หัวใจล้ม
4) โรคหัวใจรูห์มาติค
เป็นโรคหัวใจที่เกิดร่วมกับหรือเป็นผลจากการมีไข้ เจ็บคอ ปวดข้อ ในเด็กหรือในวัยหนุ่มสาว
⇔ มันเกิดขึ้นได้อย่างไร
เข้าใจว่าเป็นผลสืบเนื่องมาจากเชื้อโรคชนิดหนึ่ง (สเตร๊ปโตคอดคคัส) ไปทำให้เกิดการอักเสบในลำคอ และต่อมทอนซิล รวมทั้งในข้อต่างๆและในหัวใจ และบางครั้งในระบบประสาทด้วยผู้ที่เป็นโรคนี้ นอกจากจะมีอาการไข้ เจ็บคอ และ หรือปวดข้อบ่อย ๆ แล้ว ในระยะหลังการอักเสบที่หัวใจจะทำให้ลิ้นหัวใจตีบหรือรั่ว ทำให้หัวใจทำงานได้ไม่เต็มที่ หัวใจจึงต้องพยายามทำงานให้มากขึ้น เกิดหัวใจโต และเมื่อหัวใจตัองทำงานมาก ๆ อยู่นาน ๆ ในที่สุดมันก็จะทำงานไม่ไหว (หัวใจล้ม) ทำให้เลือดคั่งในที่ต่าง ๆ
ถ้าเลือดคั่งมากในปอด ก็จะเกิดอาการเหนื่อยหอบ อ่อนเพลีย ริมฝีปากและเล็บอาจจะดูเขียวคล้ำ
ถ้าเลือดคั่งนอกปอด ก็จะเกิดอาการบวม โดยในตอนแรกมักจะบวมเท้าก่อน ต่อมาจะบวมขา แล้วก็ลามมาที่ท้องและในที่สุดก็บวมทั้งตัวได้
⇒ แล้วจะป้องกันรักษากันอย่างไร
โรคหัวใจนี้จะป้องกันได้ โดยให้ยาป้องกันไม่ให้เกิดโรคนี้ อาจจะใช้วิธีกินยาทุกวัน หรือใช้ยาฉีดเพียงเดือนละครั้งก็ได้ และในขณะที่มีอาการไข้ เจ็บคอ ปวดข้อ จะต้องให้ยาอย่างอื่นด้วย เพื่อรักษาอาการต่าง ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้การอักเสบนั้นทำอันตรายแก่หัวใจได้
ถ้าไม่ป้องกันและรักษาอาการไข้ เจ็บคอและปวดข้อให้ดี ต่อไปก็จะเกิดโรคหัวใจรูห์มาติคแบบลิ้นหัวใจตีบหรือรั่ว ทำให้การรักษายุ่งยากขึ้นมาก และอาจจะต้องลงเอยด้วยการผ่าตัดหัวใจเพื่อให้ลิ้นหัวใจนั้นกลับทำงานได้ใหม่
ดังนั้น เด็กหรือผู้ใหญ่ที่ชอบเป็นไข้ เจ็บคอ ปวดข้อ ควรจะไปหาหมอเพื่อการป้องกันและรักษา และขอคำแนะนำจากหมอเกี่ยวกับการปฏิบัติตัว และวิธีป้องกันไม่ให้เกิดโรคหัวใจแบบนี้ขึ้น
5.โรคหัวใจขาดเลือดหรือโรคขาดเลือดเลี้ยงหัวใจ
เป็นโรคหัวใจที่พบมากขึ้นตามความเจริญทางวัตถุ
⇔มันเกิดขึ้นได้อย่างไร
ส่วนมากเกิดขึ้นจากการที่เลือดไม่สามารถวิ่งผ่านไปตามหลอดเลือดที่เข้าเลี้ยงหัวใจ ส่วนน้อยเกิดขึ้นจากความผิดปกติที่กล้ามเนื้อหัวใจโดยตรง
สาเหตุที่ทำให้เลือดไม่สามารถวิ่งผ่านไปตามหลอดเลือดที่เข้าเลี้ยงหัวใจ ก็มีอยู่หลายอย่าง แต่สาเหตุที่พบบ่อยที่สุดและมากที่สุดก็คือ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ก็เกิดได้จากสาเหตุหลายอย่างเช่นเดียวกัน แต่ที่พบบ่อยที่สุดเกิดขึ้นจากหลอดเลือดแข็ง สิ่งมีชีวิตทุกชนิด เมื่ออายุมากขึ้น ส่วนต่าง ๆ ของจะค่อย ๆ เสื่อมลง หลอดเลือดในร่างกายของเราก็เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะหลอดเลือดแดงที่นำเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ผนังของมันที่เคยอ่อนนุ่มและยืดหยุ่นง่าย จะค่อย ๆ หนาขึ้น และแข็งกระด้างขึ้น เพราะมีไขมันและหินปูนไปจับมากขึ้น ๆ ทำให้หลอดเลือดนั้นตีบเข้า ๆ จนกระทั่งอุดตัน เนื่องจากความเสื่อมนี้เกิดขึ้นตามอายุ จึงพบว่าคนอายุมากเป็นโรคนี้มากกว่าคนอายุน้อย
สิ่งที่ช่วยให้เกิดโรคหัวใจแบบนี้ได้เร็วขึ้น และหรือรุนแรงขึ้นคือ
1.กรรมพันธุ์ โรคทางกรรมพันธุ์บางชนิดจะทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดแข็งได้ง่าย เช่น โรคไขมันในเลือดสูงมาแต่กำเนิดบางชนิด โรคเบาหวาน เป็นต้น
2.เพศ เพศชายเป็นมากกว่าเพศหญิง พบว่าเพศชายที่มีอายุน้อย ๆ (ระหว่าง 40- 60 ปี)
เป็นโรคนี้ได้มากกว่าเพศหญิง แต่อัตราการเป็นโรคในทั้ง 2 เพศจะเท่ากัน เมื่ออายุมากกว่า 60 ปี
3.อายุ อายุมากจะเป็นมากดังได้กล่าวแล้วในตอนต้น
4.ความดันเลือดสูง เพศชายและเพศหญิงที่มีความดันเลือดสูง จะมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้มากกว่าคนที่ไม่มีความดันสูงประมาณ 2 และ 6 เท่าตามลำดับ คนที่มีความดันสูง ยิ่งสูงมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีโอกาสเป็นโรคนี้มากขึ้นเท่านั้น
5.โรคเก๊าท์ ผู้ป่วยที่ปวดข้อจากการคั่งของกรดยูริค ก็เป็นโรคนี้ได้ง่าย
6.ความอ้วน และภาวะที่มีไขมันบางชนิดในเลือดสูง ก็จะทำให้เป็นโรคนี้ได้ง่าย
7.การสูบบุหรี่และดื่มกาแฟเกินควร ก็จะทำเกิดโรคนี้ได้ง่าย และถ้าเป็นแล้วยังสูบบุหรี่อีกจะมีโอกาสตายได้มากขึ้น
8.การออกกำลังกาย ผู้ที่ไม่ค่อยได้ออกกำลังกายสม่ำเสมอจะเป็นโรคนี้ได้ง่าย
9.ภาวะทางจิตใจ ผู้ที่มีจิตใจตึงเครียดอยู่เสมอ ผู้ที่มีความทะเยอทะยานมาก มีความกังวลใจมาก มีการชิงดีชิงเด่นมาก มีการผิดหวังบ่อย และไม่รู้จักพักผ่อนทางด้านจิตใจ จะเป็นโรคนี้ได้ง่าย
⇔อาการที่เราควรรู้
ผู้ที่เป็นโรคหัวใจขาดเลือดจะมีอาการเจ็บหรือแน่นหรือจุกที่หน้าอก ยอดอก หรือลิ้นปี่ ที่คอหรือที่ขากรรไกร ที่แขนหรือที่ข้อศอก หรือเกิดอาการเมื่อยล้าที่แขนและขากรรไกรโดยหาสาเหตุอื่นไม่ได้ มักจะเกิดอาการในขณะหรือหลังออกกำลังมาก หรือหลังทำอะไรรีบ ๆ (ฉุกละหุก) พอนั่งพักแล้วอาการก็ดีขึ้น เป็นๆ หายๆ แบบนี้
นอกจากนั้นอาจจะมีการเหนื่อยหอบ ใจเต้น ๆ หยุด ๆหรือเต้นแรงเป็นบางตุบ หรืออาจเป็นลมหมดสติทันที่ก็ได้
ในคนที่เป็นมาก ๆ เมื่อกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเลี้ยงมากๆก็จะตาย เกิดเป็นโรคหรือภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายแบบเฉียบพลัน เมื่อหายก็จะเหลือแผลเป็นไว้และกล้ามเนื้อหัวใจส่วนที่ยังดีอยู่ ก็จะทำหน้าที่แทนส่วนที่ตายไปแล้ว
⇔แล้วจะป้องกันรักษากันอย่างไร
เมื่อเกิดอาการเจ็บ จุก หรือแน่นที่หน้าอก ยอดอก หรือลิ้นปี่ คอ ขากรรไกร หรือแขน ให้อมยาไนโตรกลีเซอรีน (Nitroglycerine) 1 เม็ดไว้ใต้ลิ้น เมื่อยาละลายไปแล้ว อาการหาย ก็น่าจะเป็นโรคนี้ ให้พกยานี้ติดตัวตลอดเวลา ไม่ว่าจะเข้าส้วม ไปเที่ยว หรือไปไหนก็ตาม เมื่อมีอาการต้องรีบอมยาทุกครั้ง ถ้าอม 1 เม็ดไม่หาย ให้อมซ้ำติด ๆกันอีกครั้งละ 1 เม็ด ถ้าอมติด ๆ กัน 4-5 เม็ดแล้วยังไม่ดีขึ้น ควรรีบไปโรงพยาบาล (ไม่ใช่ไปร้านหมอ)
การช่วยตนเอง (การปฏิบัติรักษาตัว) ของผู้ที่เป็นโรคนี้ จะมีความสำคัญมากกว่ายาเสียอีก เช่นถ้าผอม หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสัตว์สูง โดยใช้ไขมันจากพืชแทนยกเว้นน้ำมันมะพร้าว ถ้าอ้วนหลีกเลี่ยงไขมันทุกชนิด และลดน้ำหนักลง อย่ากินอาหารครั้งละมาก ๆ (อย่ากินจนอิ่ม) และอย่ากินของที่แน่นท้อง เช่นข้าวเหนียวมะม่วง เลิกสูบบุหรี่ และงดดื่มกาแฟ พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายเพิ่มขึ้นทีละน้อย ๆ ระวังอย่าให้ท้องผูกหรือออกกำลังกายเกินควร หลีกเลี่ยงภาวะที่จะทำให้เกิดการฉุกละหุกหรือคับขัน และทำจิตใจใหสงบปราศจากความเคร่งเครียดดังได้กล่าวข้างต้นแล้ว
ถ้าได้ระวังรักษาตนเองตามสมควรและตามคำแนะนำของหมอผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีชีวิตยืนยาวได้เท่าหรือเกือบเท่าคนปกติ และจะสามารถทำงาน เที่ยว เล่น และอื่น ๆ ได้เท่าเทียมกับเมื่อก่อนป่วยหรืออาจจะมากกว่าเสียด้วยซ้ำ ถ้าค่อย ๆ เพิ่มการออกกำลังกายขึ้นเรื่อย ๆ วันละเล็กวันละน้อย
(อ่านต่อฉบับหน้า เรื่องโรคหัวใจอื่น ๆ).
- อ่าน 19,882 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้