• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ปวดข้อเข่าเพราะข้อเสื่อม

ปวดข้อเข่าเพราะข้อเสื่อม


                    

หมอ : สวัสดีครับป้า เชิญนั่งสิ เป็นไงมาล่ะครับ

คนไข้ : ปวดหัวเข่าค่ะ โอ๊ย ! มันทรมานเสียจริง ๆ นั่งนาน ๆ ก็ปวด เดินนาน ๆ ก็ปวด...

หมอ :ขึ้นบันได ลงบันไดก็ปวด นั่งยอง ๆ คุกเข่า ขัดสมาธิหรือนั่งพับเพียบก็ปวดด้วย ใช่ไหมครับ นั่งนานหน่อยจะลุกที หัวเข่าฝืดเหมือนติดกาวไว้ ขอโทษนะป้า ตอนนี้อายุเท่าไหร่แล้ว คงเจริญอาหารนะ หนัก 70 กิโลเห็นจะได้มั้ง

คนไข้ : อายุป้า 45 แล้วจ้ะ ว่าแต่ว่าทำไม่คุณหมอจึงทายอาการของอีชั้นถูกเป๊ะเลย

หมอ : หมอรักษากระดูกทุกคนเห็นลักษณะและการเดินของป้ากระย่องกระแย่งแบบนี้ คงทายโรคของป้าไม่ค่อยพลาดหรอกครับ เพราะโรคที่ป้ากำลังเป็นอยู่นี้ มันชอบเป็นกับคนอายุและน้ำหนักแบบป้าโดยเฉพาะผู้หญิงยิ่งเป็นกันมาก

คนไข้
: เป็นโรคอะไรกันคะ อีชั้นเบื่อมันซะจริงๆไม่เข้าใจว่าทำไมจึงต้องเป็นกับอีชั้น

หมอ : โรคข้อเข่ามันเสื่อมครับ คือว่า ปกติทุกข้อนั้นจะต้องมีกระดูกอ่อนเป็นผิวข้อหุ้มอยู่ ป้าคงเคยสังเกตเห็นเวลากินน่องไก่ ส่วนที่เป็นสีขาววาวเป็นมัน ที่เคลือบอยู่ตรงปลายกระดูกนั่นแหละ เรียกว่าผิวข้อ ขณะนี้หมอเชื่อว่าผิวข้อที่หัวเข่าของป้ามันเสื่อมและเริ่มสึกไปบ้างแล้วไม่มากก็น้อย ป้าลองเอามือครอบบนสะบ้า แล้วเหยียดเข่าติดต่อกันสัก 3-4 ครั้งดูสิ จะรู้สึกว่าเหมือนมีเสียงครืดคราดอยู่ในหัวเข่า คล้ายกับเอากระดาษทรายหยาบ ๆ มาถูกัน
 

                     

คนไข้ : ก็จริงอย่างที่คุณหมอว่าอีกนั่นแหละ อีชั้นข้องใจเหลือเกินว่า ทำไม่มันถึงเจาะจงเป็นกับคนร่างกายสมบูรณ์แบบอีชั้น แล้วก็ต้องมาเป็นเอาตอนเริ่มมีอายุที่ยังเป็นสาวเป็นแส้ไม่ยักกะเป็น

หมอ : ก็นั่นแหละครับ เขาเชื่อว่า เหตุส่งเสริมอย่างหนึ่งของการเป็นโรคนี้ก็คือความอ้วน อีกอย่างหนึ่งก็คือความมีอายุ หัวเข่ามันเป็นข้อที่ต้องรับน้ำหนักตัว ป้าลองเปรียบเทียบกับล้อรถที่ต้องบรรทุกน้ำหนักมากเกินขนาดมาเป็นเวลานานจนโทรม ลายดอกที่ล้อก็จะสึกไปเป็นธรรมดาดีแต่ว่ายางล้อรถมันเปลี่ยนได้ง่าย ส่วนหัวเข่าคนนั้นมันเปลี่ยนได้ก็จริง แต่ยากหน่อย แถมแพงด้วยแหละครับ ดังนั้น ความสมบูรณ์อย่างที่ป้าเข้านั้นมันเกินขนาด ทางหมอเขาก็ถือว่าเป็นโรคเหมือนกัน
ความอ้วนนี้ นอกจากจะช่วยให้ข้อเสื่อมเร็วแล้ว ยังอาจช่วยให้เป็นโรคหัวใจ โรคความดันเลือดสูงได้ง่ายด้วย อย่าว่าหมอขู่เลยนะ กำลังพูดความจริงให้ป้าฟัง

คนไข้ : อีชั้นไม่กลัวหรอกค่ะ อีชั้นชอบความจริงค่ะ  เอ....แต่อีชั้นได้ยินว่า ปวดหัวเข่าแบบนี้มันไขข้อแห้ง จริงไหมคะคุณหมอ

หมอ : ความจริงเป็นอย่างนี้ ข้อที่มีการเคลื่อนไหวนั้น จะต้องมีน้ำเมือกที่เรียกว่าไขข้อมาหล่อเลี้ยงทุกข้อเสมอหน้าที่ของมัน นอกจากจะช่วยให้ผิวข้อมีความลื่น เกิดการขัดสีกันน้อยลงเหมือนหน้าที่ของจาระบีแล้ว มันยังเป็นตัวนำอาหารมาเลี้ยงผิวข้ออีกด้วย ในกรณีที่ผิวข้อมันเสื่อมแบบของป้านั้น ถ้าหัวเข่าป้ายังขยับได้อยู่ น้ำไขข้อจะไม่มีวันแห้ง เพียงแต่ว่านานๆไปมันอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงจนมีความเหนียวเพิ่มขึ้นกว่าปกติ และมีเศษเนื้อเยื่อจากการหลุดลุ่ยของผิวขอปะปนอยู่มากเท่านั้นเอง
ดังนั้น ที่ว่าไขข้อแห้งนั้นมันเป็นชื่อที่ใช้บรรยายความรู้สึกว่าข้อมันฝืดไม่ลื่นเหมือนเก่ามากกว่า ซึ่งไม่ตรงกับความเป็นจริง
ตรงกันข้าม บางครั้งเมื่อมีอาการมาก ๆ น้ำไขข้ออาจเพิ่มขึ้นกว่าปกติ ทำให้เข่าบวมเสียด้วยซ้ำ
ไม่ทราบว่าคุณป้าเคยเข่าบวมหรือเปล่า ?

คนไข้ :เคยค่ะ แต่ไม่ค่อยมาก ไม่ร้อน ตึง ๆ เหมือนยายฉิมข้างบ้าน หมอบอกว่า ยายฉิมเป็นอะไรตอยๆ รักษาไม่หายขาด อีชั้นไม่เข้าใจค่ะ

หมอ : อ๋อ...รูมาตอยด์ มันคนละโรคกันครับป้า แต่คิดว่าอย่าให้หมอพูดนอกเรื่องเลยนะป้านะ ว่าแต่ว่าที่อธิบายให้ฟังมานั้นน่ะ ป้าเข้าใจหรือเปล่าครับ

คนไข้ :
แหม เข้าใจซิคะ ใคร ๆ เขาก็ชมว่าอีชั้นเป็นคนเข้าใจอะไร ๆ ได้ง่ายค่ะ แต่เอ...เมื่อหัวเข่ามันสึกแล้วอย่างนี้ จะมีวิธีรักษาอย่างไรบ้างไหมคะ คุณหมอ

คุณหมอ :มีซิครับป้า แต่ต้องขอบอกป้าไว้ก่อนว่า การรักษาที่มีอยู่นั้น ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการรักษาอาการมากกว่าการรักษาโรคให้หายขาด ผิวข้อส่วนที่สึกไปแล้วนั้น มันจะงอกขึ้นมาใหม่ให้ดีเหมือนเดิมไม่ได้ ที่สำคัญอีกอย่างก็คือ ต้องคอยระวังอย่าให้มันสึกมากขึ้นกว่าเดิมอีก เมื่อยางล้อสึกก็ต้องชะลอการสึกด้วยการบรรทุกน้ำหนักให้น้อยลง และขับให้ดี ๆ หน่อยอย่าวิบากนัก จริงไหมป้า หัวเข่าก็เหมือนกัน ป้าต้องหาวิธีลดน้ำหนักลงหน่อยแล้วก็อย่าทำท่าทางที่จะทำให้เข่าสึกได้ง่าย บ่อยเกินไป

คนไข้ : ค่ะ ค่ะ ขอให้หายปวกก็ยังดี ทำอย่างไรจ๊ะคุณหมอ

 

หมอ : ที่อยากแนะนำให้ใช้เวลาปวดเข่ามาก ๆ ก็คือ ยาเม็ดแอสไพริน กินหลังอาหารครั้งละ 2-3 เม็ด ถ้าไม่หายปวดให้กินซ้ำได้ทุก 6 ชม. ควรกินเวลามีอาการปวดเท่านั้น ไม่ควรกินเป็นประจำในคนที่จำเป็นต้องกินเป็นประจำ ก็ขอให้กินยาลดกรดควบด้วยเพื่อป้องกันไม่ให้กัดกระเพาะ

คนไข้ :ยายฉิมแกว่า ยาชุดที่หาซื้อกันตามตลาดก็ชะงัดดีนะคุณหมอ

หมอ : ครับ ข้อนี้หมอยอมรับ ยาแบบนั้นก็มี แต่ไม่ให้ป้าหรอก ไม่ใช่เลี้ยงไข้นะ เพราะเลี้ยงไม่เป็นและก็ไม่เคยมีครูบาอาจารย์ท่านไหนสอนวิธีเลี้ยงไข้ให้ด้วย ที่ไม่ให้เพราะกลัวป้าจะแช่งหมอวันหลัง คือว่ายาที่ชะงัดดีหนักพวกนี้ มักเป็นพวกฮอร์โมนที่เรียกว่า เพร็ดนิโซโลน เป็นตัวยาที่จะทำให้กระเพาะทะลุ น้ำหนักเพิ่มขึ้น และเกิดผลแทรกซ้อนอีกสารพัด....

คนไข้ :อีชั้นพอเข้าใจแล้วค่ะ ก็อย่างที่เขาว่าตายผ่อนส่งใช่ไหมคะคุณหมอ

หมอ : ทำนองนั้นนั่นแหละ ทีนี้ถ้ากินยาแล้วยังไม่หายหรือทุเลาถึงขนาดพอดำเนินชีวิตประจำวันได้ ก็ต้องอาศัยวิธีอื่น ๆ เช่น ผ่าตัดแก้ไขทรวดทรงของข้อเข่าให้รับน้ำหนักได้ดีขึ้น หรือการเลาะเอาเยื่อบุข้อและเศษๆผิวข้อออก จนกระทั่งถึงขั้นเปลี่ยนข้อเข่าใหม่ หรือถ้าให้ถูกสตังค์หน่อยก็เชื่อมข้อให้ติดกันเสียเลย แต่วิธีหลังสุดนี้มีข้อเสียคือ ทำให้ต้องมีเข่าที่เหยียดโดยงอไม่ได้ เวลาเดินต้องเหวี่ยงเท้าไปข้าง ๆ ถ้าเชื่อมทั้ง 2 เข่าอาจต้องเดินเหมือนมัมมี่ก็ได้ ไม่ทราบว่าป้ารู้จักมัมมี่หรือเปล่า

คนไข้ : แบบนี้อีชั้นไม่เอาหรอกค่ะ เอ...แต่อีชั้นเคยได้ยินว่า เขาฉีดยาเข้าหัวเข่า ก็หายปวดได้ดีนะคะ คุณหมอจะฉีดให้อีชั้นวันนี้เลยได้หรือเปล่า

หมอ : ฉีดมันฉีดได้ แต่หมอว่ายังไม่จำเป็น ยาที่ฉีดเข้าข้อนั้นมีหลายอย่าง แต่ที่เห็นผลชะงัดดีนั้น ส่วนมาก็อย่างเดียวกับยาชุดนั่นแหละ บางทีเราจะพิจารณาฉีดให้บ้างเมื่ออาการปวดบวมมันรุนแรงจริง ๆ เท่านั้น ยานี้ฉีดบ่อย ๆ จะยิ่งทำให้ผิวข้อพังได้มากขึ้น ใหม่ๆ ป้าอาจพอใจมากแต่ในที่สุดป้าจะต้องเสียใจ เพียงแต่ว่าถ้าไม่บอก ป้าอาจไม่ทราบว่าใครกันแน่ที่ทำให้ป้าต้องเสียใจ

คนไข้ : เอาล่ะค่ะ ที่นี้อีชั้นพอจะเข้าใจจริง ๆ แล้วค่ะ เมื่อกี้คุณหมอว่าจะต้องพยายามหลีกเลี่ยงท่าทางที่จะทำให้หัวเข่ามันพังได้ง่ายขึ้นนั้น ไม่ทราบว่าต้องทำอย่างไรบ้างคะ ?

หมอ : ก็อย่างที่หมอทักป้าตั้งแต่ต้นนั่นแหละ ท่าที่หัวเข่าต้องงอมาก ๆ เป็นท่าที่ไม่ควรกระทำ เพราะการงอเข่ามาก ๆ เช่น การก้าวเท้าขึ้นลงบันไดสูง ๆ หรือที่ลาดที่ชันมาก ๆ เป็นต้น จะทำให้สะบ้าต้องเสียดสีกับกระดูกหัวเข่าแรงมากขึ้นเทียบน้ำหนักขนาดข้าวสารเป็นกระสอบ ๆ เลยทีเดียว นอกจากนี้ท่าคุกเข่า ขัดสมาธิ นั่งพับเพียบ หรือนั่งยอง ๆ ก็ล้วนแต่จะทำให้เข่าพังได้ง่ายยิ่งขึ้นทั้งนั้น พูดง่ายๆเป็นโรคนี้แล้ว เข้าหาพระหาเจ้าลำบากหน่อย จะฟังเทศน์ฟังธรรมก็เปิดวิทยุฟังเอาก็แล้วกันนะครับป้าคงได้กุศลพอๆ กันไม่ทรมานด้วย

คนไข้ :ถ้าอย่างนั้นคุณหมอจะพอมีวิธีบริหารเพื่อให้อาการมันดีขึ้นบ้างไหมจ๊ะ เผื่อจะได้ไม่ต้องกินยานาน อีชั้นกลัวจะกระเพาะจะทะลุค่ะ

หมอ : ที่ถามนี้ดีมาก หมอกำลังจะพูดอยู่แล้วเชียว การที่ป้าปวดหัวเข่ามานานๆนั้น กล้ามเนื้อที่ช่วยกระชับข้อเข่าให้มั่นคงมักจะมีการหย่อนตัวลง เนื่องจากการใช้หัวเข่าไม่ได้เต็มที่เหมือนภาวะปกติ
การที่หัวเข่ามันหลวมนั้น จะทำให้ข้อมันโคลง ผิวข้อก็มีโอกาสกระทบกระแทกกันเองและสึกได้ไวขึ้น
ทำนองเดียวกับเครื่องยนต์ การที่เสื้อสูบมันหลวมลูกสูบก็มีโอกาสพังได้ง่ายขึ้น

ดังนั้น หมอจึงอยากจะให้ป้าออกกายบริหาร เพื่อให้ข้อเข่ามันกระชับกว่าเดิม วิธีทำง่าย ๆ คือ...
หาถุงทรายขนาดประมาณครึ่ง- 1 กิโลกรัม หรือทำง่าย ๆ ด้วยการเอาหินใส่ถุงพลาสติคหูหิ้ว ชั่งน้ำหนักอย่างที่ว่าไว้แล้ว ก็เอามาคล้องไว้ที่ข้อเท้าข้างละถุง
การบริหารให้ทำในท่านั่งบนโต๊ะหรือเก้าอี้สูง ๆ สูงพอที่จะให้เท้าพ้นพื้นเวลาห้อยลง แล้วเหยียดหัวเข่าให้ตรงและเกร็งไว้สักครึ่งนาทีหรือนับ 1 ถึง 10 ช้า ๆ แล้วจึงค่อย ๆ งอเข่าห้อยลง พักสักหน่อยแล้วก็เหยียดใหม่ ทำเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะเริ่มเมื่อย ควรทำทุกวันเช้าเย็นไม่ช้ากล้ามเนื้อต้นขาจะแข็งแรง หัวเข่าจะกระชับและอาการปวดจะทุเลาลง

    

อย่างไรก็ตาม หากใช้ถุงทรายคล้องไว้ที่ข้อเท้าแล้ว ป้าไม่สามารถที่จะเหยียดหัวเข่าให้ตรงและเกร็งไว้ได้ ก็อาจจะบริหารโดยยังไม่ต้องใช้ถุงทรายไปก่อน พอกล้ามเนื้อต้นขามีแรงมากขึ้น ป้าค่อยบริหารโดยใช้ถุงทรายคล้องที่ข้อเท้า กล้ามเนื้อต้นขาจะได้แข็งแรงมากขึ้น

คนไข้ :เวลาอีชั้นปวดเข่า อีชั้นก็เหยียด ๆ งอ ๆ มันตลอดเวลาอยู่แล้วนี่คะ ทำไม่ถึงไม่เห็นได้ผลอย่างที่คุณหมอว่าเลย

หมอ : ก็ป้าเล่นเหยียดๆงอๆ ตลอดเวลาแทนที่จะได้บริหารกล้ามเนื้อให้แข็งแรง กลับจะยิ่งทำให้ผิวข้อมันสึกลงไปอีก หมอบอกให้ป้าเกร็งเข่าเหยียดตรงนะครับป้า พอจะเข้าใจแล้วหรือยัง

คนไข้ : อ๋อ ทีนี้อีชั้นพอจะเข้าใจจริง ๆ แล้วค่ะ
 

ข้อมูลสื่อ

41-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 41
กันยายน 2525
โรคน่ารู้
นพ.วิรุฬห์ เหล่าพัทรเกษม