• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ลมแดด


บ้านเราอากาศร้อนทั้งปี แม้หน้าหนาวก็มักเย็นอยู่ชั่วเช้า ๆ เย็น ๆ กลางวันชักร้อนยิ่งออกไปกลางแจ้งแล้วแดดแจ๊ด ด้วยว่าผ้าโปร่งใสไม่มีเมฆบดบัง นอกจากความร้อนแล้ว ความชื้นก็ยังสูงโดยเฉพาะหัวเมืองชายทะเล ทั้งสองสิ่งนี้คือความร้อนกับความชื้นเป็นอุปสรรคสำคัญอย่างหนึ่งในการออกกำลังเพราะเป็นสาเหตุให้มีการเป็นลมเกิดขึ้นได้อย่างที่บางทีเรียกว่า “ลมแดด” ภาวะนี้คืออะไรวันนี้จะมาเล่าสู่กันฟัง
ก่อนอื่นผู้เขียนขอออกตัวว่าศัพท์ “ลมแดด” นี้ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าจะใช้ตรงกับคำว่า “Heatstroke”
ทีเดียว แต่เพื่อความเข้าใจง่ายและสะดวกต่อการเรียกในบทความนี้ ผู้เขียนจะขอใช้คำว่า “ลมแดด”
แทนคำว่า “Heatstroke” ไปพลาง ๆ ก่อน

 

⇒ ลมแดดคืออะไร !
ตอบ คือภาวะที่อุณหภูมิของร่างกายขึ้นไปอย่างควบคุมไม่อยู่เนื่องจากสมองส่วนที่ควบคุมอุณหภูมิ
ของร่างกายไม่สามารถคุมการระบายความร้อนออกจากร่างกายได้ทัน

ฟังดูเป็นไงครับ เล่นไม่ง่าย แต่ก็ไม่ยากเกินไปใช่ไหมครับ
ปกติอุณหภูมิร่างกายคนเราจะถูกควบคุมไว้คงที่ราว 37 c ศูนย์ควบคุมนี้อยู่ในสมอง เมื่อมีการสร้าง
ความร้อนเกิดขึ้นในร่างกายมากหรือร่างกายได้รับความร้อนจากภายนอกเข้ามา ศูนย์นี้ก็จะสั่งการให้เส้นเลือดแถวผิวหนังมีการขยายตัว เลือดก็จะไปเลี้ยงส่วนใกล้ผิวหนังมาก เนื่องจากอุณหภูมิร่างกายเราจะสูงกว่าอุณหภูมิข้างนอก จึงมีการถ่ายเทความร้อนจากร่างกายสู่อากาศรอบตัว อยู่แล้วจะถ่ายเทมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับมีเลือดมาเลี้ยงผิวหนังมากหรือน้อย ถ้าเลือดมาเลี้ยงผิวหนังมากความร้อนก็ถ่ายออกมาก ถ้าเลือดมาเลี้ยงผิวหนังน้อยความร้อนก็ถ่ายออกน้อย

นอกจากนี้ศูนย์ยังควบคุมความร้อนในร่างกายโดยการบังคับการทำงานของอวัยวะภายใน ถ้าอวัยวะ
ภายในทำงานมาก็มีความร้อนออกมามาก ทำงานน้อยก็มีความร้อนออกน้อย
ดังนั้นในภาวะที่ความร้อนในร่างกายเพิ่มขึ้น ศูนย์ควบคุมจะสั่งให้มีเลือดไปเลี้ยงบริเวณผิวหนังมากขึ้น และการทำงานของอวัยวะภายในลดลงเป็นผลให้อุณหภูมิร่างกายลดลงด้วย
อย่างไรก็ดี ทุกสิ่งมีขีดจำกัด ถ้าความร้อนที่ร่างกายได้รับมีมากกว่า ความร้อนที่ขับออก อุณหภูมิจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนในที่สุดจะถึงขีดหนึ่งที่ศูนย์ควบคุมจะถูกอิทธิพลของความร้อนทำให้เสียการทำงาน เมื่อนั้นทุกสิ่งทุกอย่างจะกลับตาลปัตร ผิวหนังจะเลิกขับเหงื่อ อุณหภูมิจะสูงขึ้นเรื่อย ๆจนถึงขีดอันตราย

ที่จริงลมแดดไม่ได้เกิดขึ้นอย่างปุบปับ มันมีลางบอกเหตุนำมาก่อน เช่น ความรู้สึกร้อนในอกและกล้ามเนื้อเหมือนมีเพลิงมาสุม หายสั้นและหอบเหนื่อย ปากแห้ง สายตาพร่ามัว คลื่นไส้อาเจียน รู้สึกหนาวสะท้าน เริ่มควบคุมสติไม่อยู่  ถ้าเรายังไม่หยุดออกกำลัง ต่อมเหงื่อจะหยุดทำงานผิวหนังจะแห้งและเย็นแม้อุณหภูมิภายในจะพุ่งขึ้นไปถึง 41-42 c เมื่อถึงระยะนี้ความรู้สติจะหมดสิ้นไปและถ้าไม่ได้รับการรักษาทันท่วงทีก็มีสิทธิ์ตายได้ง่าย ๆเหตุต่อไปนี้
หนึ่ง ความร้อนที่สูงเกินขนาดจะมีผลทำให้สมองเรา “สุก” และถูกทำลาย
สอง ปริมาณเลือดในร่างกายที่มีอยู่น้อยจะยิ่งลดลงไปอีกทำให้มีเลือดไม่พอจะเลี้ยงส่วนต่าง ๆ
โดยเฉพาะอวัยวะที่สำคัญของร่างกายนั่นคือเกิดอาการช็อก
สาม อุณหภูมิที่สูงขึ้นทำให้เลือดไม่แข็งตัวตามปกติ จะมีเลือดออกจากเส้นเลือดเข้าไปในสมอง
ตับและไต ทำให้อวัยวะเหล่านี้เสียหาย
 

⇔ อะไรทำให้เกิด “ลมแดด”
อย่างหนึ่งคือสิ่งแวดล้อม อากาศร้อน และความชื้นสูงเป็นตัวการสำคัญ อากาศร้อนทำให้การขับความร้อนจากร่างกายทำได้ช้า ความชื้นสูงทำให้การระเหยของเหงื่อเป็นไปได้น้อย เรารู้ว่าเมื่อเหงื่อระเหยจะนำความร้อนจากร่างกายออกไปด้วย เมื่อเหงื่อระเหยได้น้อยหรือช้าจึงเป็นเหตุให้อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นได้

องค์ประกอบอีกด้านคือตัวนักกีฬาเอง นักกีฬาที่ฝึกซ้อมมาดีจะขับเหงื่อได้มาก หัวใจและหลอดเลือดก็ทำการนำเลือดมาเลี้ยงผิวหนังได้ดีกว่าผู้ที่ไม่ค่อยได้ออกกำลัง ยิ่งถ้านักกีฬาผู้นั้นฝึกซ้อมในเวลาอากาศร้อนก็จะยิ่งมีความเคยชิน ความเคยชินในที่นี้ก็คือความสามารถขับเหงื่อและความสามารถของหัวใจและหลอดเลือดที่กล่าวมาแล้วนั้นมีประสิทธิภาพสูงขึ้น

การแต่งตัวและเตรียมตัวที่เหมาะสมก็มีความสำคัญ เสื้อผ้าบางแบบทำให้ความร้อนถ่ายเทไม่สะดวกหรือดูดความร้อนจากสิ่งแวดล้อม การกินน้ำน้อยก่อนการออกกำลังก็มีผลให้ปริมาณเลือดในร่างกายมีน้อยแต่เริ่มแรก และถ้าระหว่างออกกำลังไม่ได้รับน้ำดื่มเข้าไปอีก ปริมาณก็ยิ่งลดลง
ปริมาณเลือดในร่างกายจะเป็นกุญแจนำไปสู่ลมแดด ถ้าเราสูญเสียน้ำไปมากจนปริมาณเลือดลดลงถึงขีดหนึ่ง การเกิดลมแดดจะเป็นไปได้ง่าย ยิ่งเราออกกำลังหนักเท่าไร เราก็ทนต่อปริมาณเลือดที่ลดลงได้น้อยเท่านั้น เมื่อปริมาณเลือดลดลงจนถึงขีดที่ไม่พอเลี้ยงผิวหนังและอวัยวะภายในได้พร้อมๆ กัน ร่างกายก็ต้องเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง ในกรณีนี้มันจะเลือกเอาอวัยวะภายในเช่น สมอง ตับ กล้ามเนื้อ เพราะมีความสำคัญต่อชีวิตมากกว่าจะปล่อยให้ผิวหนังขาดเลือดไปเลี้ยง เมื่อเป็นเช่นนี้ก็จะไม่มีเหงื่อ ไม่มีความร้อนที่ผิวหนัง นั่นคือไม่มีการสูญเสียความร้อนทางผิวหนังอีกต่อไป ร่างกายเราเสียความร้อนได้อีกทางคือทางลมหายใจ แต่ก็เป็นส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับทางผิวหนัง ความร้อนจึงถูกสะสมไว้มากในเวลาอันรวดเร็ว อุณหภูมิร่างกายจะสูงขึ้นไปอย่างไม่หยุดยั้ง


⇒ ทำอย่างไรดี !
เราไม่มีเวลามากนักที่จะช่วยคนเป็นลมแดด ทุกนาทีมีค่า ทุกสิ่งทุกอย่างต้องทำด้วยความฉับไวจัดผู้ป่วยให้อยู่ท่าแก้ช็อก โดยการวางหัวต่ำ ยกขาสูง ท่านี้จะทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองได้ดีขึ้น จำไว้ว่าขณะนี้ปริมาณเลือดในระบบไหลเวียนเหลือน้อยเต็มทีแล้ว แม้แต่อวัยวะสำคัญเช่นสมองก็อาจขาดเลือดไปเลี้ยงได้โดยง่าย ต่อไปให้เทน้ำราดลงบนตัวผู้ป่วยจะเป็นน้ำอะไรไม่สำคัญ น้ำเปล่า น้ำนม น้ำส้ม น้ำแข็ง ขอให้มีน้ำบนตัวผู้ป่วยเพื่อให้มีการระเหยเกิดขึ้น อันจะช่วยลดความร้อนได้อย่างสำคัญ การใช้ก้อนน้ำแข็งถูไปตามตัวก็เป็นสิ่งที่ดี การถูทำให้หลอดเลือดที่ผิวหนังขยายตัว และน้ำแข็งก็มีความเย็นมากกว่าน้ำธรรมดา

หยุดการช่วยเหลือได้เมื่อผู้ป่วยฟื้นคืนสติอย่างสมบูรณ์และไม่มีอาการปวดอีก ถ้ายังขืนดันทุรังทำต่อไปอาจทำให้อุณหภูมิเขาต่ำลงอย่างฮวบฮาบซึ่งก็ถึงตายอีกนั่นแหละอย่าเพิ่งไว้วางใจในผู้ป่วยที่เพิ่งฟื้นใหม่ ๆ ท่านต้องคอยสังเกตอาการเขาต่อไปอีกชั่วโมงหนึ่งเป็นอย่างน้อย เพราะอาการอาจกลับมากได้อีก มีบ่อยครั้งที่ขณะผู้ป่วยซึ่งฟื้นคืนสติมาแล้วกำลังพูดอยู่ดี ๆ ก็กลับมีอาการชักกระตุก เพ้อเจ้อ เอะอะโวยวาย คลื่นไส้ อาเจียน ปวดหัว หรือกลับหมดสติไปนั่นแสดงว่าอุณหภูมิในร่างกายกลับสูงขึ้นอีก ท่านต้องเริ่มให้การรักษาใหม่ มีบางครั้งที่ท่านต้องรักษาซ้ำๆหลาย ๆ ครั้ง เพราะเหตุการณ์เช่นว่านี้

ถ้าผู้ป่วยอาการไม่ดีขึ้นเลยภายในเวลาอันสั้น เขาอาจกำลังจะตาย จำเป็นที่จะต้องมีการให้น้ำเกลือเข้าทางหลอดโลหิตดำโดยด่วน ขั้นนี้ท่านต้องพึงพวกแพทย์และพยาบาล เมื่อผู้ป่วยฟื้นคืนสติแล้วควรได้รับการคะยั้นคะยอให้ดื่มน้ำมาก ๆ โดยเฉพาะน้ำส้มและน้ำดื่มอื่น ๆ ที่มีเกลือแร่อยู่ด้วยผู้ที่เคยเป็นลมแดดมาแล้วครั้งหนึ่ง มีโอกาสเป็นได้อีกถ้าเขาหรือเธอผู้นั้นออกกำลังอย่างหนักระยะเวลาหนึ่งเดือน ถ้าเลยเวลานี้ไปแล้ว โอกาสจะเป็นอีกไม่แตกต่างไปจากนักกีฬาคนอื่น ๆ
 

ตัวอย่างของผู้ที่เป็นลมแดด
คุณหมอเก๊ป เมอร์กิ้น เล่าถึงประสบการณ์ตัวเองไว้ดังนี้
ในปี 1964 หลังจากจบการเป็นแพทย์ประจำบ้านมาหมาด ๆ คุณหมอเก๊ปก็ตัดสินใจจะฝึกวิ่งระยะยาวหลังจากหยุดวิ่งมาได้ 10 ปีเต็ม ขณะนั้นเขาอายุ 29 ปี เรียกว่ากำลังอยู่ในวัยฉกรรจ์คุณหมอฝึกวิ่งและเข้าร่วมการแข่งขันต่าง ๆ เป็นเวลาเก้าเดือนเต็มยังไม่ได้รางวัลจากที่ใดเลย
ในฤดูร้อนปีหนึ่ง คุณหมอสมัครเข้าแข่งวิ่งที่เมืองอาร์ลิงตัน ในรัฐเวอร์จิเนีย อากาศตอนบ่ายแก่ ๆ ร้อนเอาเรื่อง ปรอทขึ้นไปกว่า 90 ฟาเรนไฮท์ นักวิ่งชั้นแนวหน้าหลายคนหายหน้าหายตาไป แต่ด้วยวัยหนุ่ม คุณหมอก็ไม่ได้คิดอะไรมาก ทั้งที่เป็นการวิ่งแข่งขัน สภาพอากาศร้อนครั้งแรกของคุณหมอและถึงจะผ่านวิชาแพทย์มาอย่างโชกโชน คุณหมอก็ไม่มีความรู้ในเรื่องการออกกำลังในสภาพอากาศเช่นนี้เลย

ตำราแพทย์ (ยุคนั้น) บอกคุณหมอให้กินเกลือเม็ดทุกๆวัน เพื่อเผชิญกับอากาศร้อน และคุณหมอเก๊ปยังโด๊ปยาม้า (แอมเฟตามีน) เข้าไปอีกเม็ดหนึ่งราว 1 ชั่วโมงก่อนแข่ง ทั้งที่แต่ก่อนร่อนชะไร คุณหมอก็ไม่เคยกินยานี้ มาคราวนี้ความหวังที่จะชนะพอเห็นรำไร คุณหมอจึงตัดสินใจโด๊ปซะหน่อย ในระหว่างรอการสตาร์ท คุณหมอสังเกตว่าในบรรดานักวิ่งทั้งหมดมีคุณหมอคนเดียวที่ไม่สวมหมวกหรือผูกผ้าเช็ดหน้าคลุมหัวไว้ ก็นึกอยู่ว่าถ้าสวมใส่อะไรไปบนหัวแล้ว จะทำให้วิ่งช้าลงเปล่าๆ ปรี้ ๆ พอเสียงปืนให้สัญญานดัง คุณหมอก็ออกวิ่งห้อแน่บ ผ่านหน้าใครต่อใครหลายคนที่เคยเอาชนะคุณหมอมาแล้ว ตอนนั้นคุณหมอคิดไปว่าเขาเหล่านั้นสู้ความร้อนไม่ไหว

คุณหมอวิ่งผ่านผู้จัดการแข่งขันได้ยินคนบ่นแว่ว ๆ ว่า ไม่มีน้ำดื่มบนเส้นทางวิ่ง เมื่อวิ่งไปได้สามไมล์ คุณหมอก็ไต่ขึ้นมาอยู่อันดับเจ็ด การแข่งคราวนี้วิ่งกัน 4 ไมล์ และมีรางวัลให้ผู้ชนะ 5 คนแรกคุณหมอเริ่มรู้สึกไม่สบาย กล้ามเนื้อปวดร้อนเป็นไฟ ในทรวงอกก็เหมือนมีกองไฟสุมอยู่ทำให้หายใจลำบาก คุณหมอเริ่มปวดหัว เท้าก็พองเต็ม ปากแห้ง และลิ้นดูจะบวมโตคับปากขณะนั้นกลุ่มนักวิ่งกำลังไต่ขึ้นเนิน คุณหมอมองเห็นเส้นชัยรออยู่ข้างหน้าห่างออกไป 500 หลา ถ้าคุณหมอสามารถแข่งคนที่วิ่งอยู่ข้างหน้า 70 หลา สองคน ก็จะเข้าที่ห้านั่นหมายถึงว่าจะได้รับรางวัลผู้ที่วิ่งข้างหน้าคนหนึ่งคือจอร์จคุชแมค จากเมืองอาร์ลิงตันเองเป็นนักวิ่งผู้หนึ่งซึ่งคุณหมอเก๊ปไม่เคยชนะ ความรู้สึกคุณหมอขณะนั้นคือประหลาดใจที่มีโอกาสอยู่แค่เอื้อมจึงรวบรวมพลังที่เหลือวิ่งเร็วจี๋แซงผ่านหน้าจอร์จไป จอร์จหันมามองด้วยสีหน้าประหลาดและไม่ได้พยายามเร่งฝีเท้าตัวเองแต่อย่างใด

มีอะไรเต้นตุบ ๆ อยู่ในหัว ตาเริ่มมองเห็นเป็นจุด ๆ แต่คุณหมอยังฝืนเร่งต่อเหลืออีกคนหนึ่งที่คุณหมอจะต้องแซง คือบรู๊ซ โรบินสันเมื่อใกล้จะถึงตัวบรู๊ซคุณหมอได้ยินเสียหอบเหนื่อยดังมาคุณหมอพยายามกล้ำกลืนเสียงหอบหืดของตัวเองขณะวิ่งผ่านเพื่อไม่ให้บรู๊ซรู้ว่าคุณหมอก็อยู่ในสภาพย่ำแย่พอกันคุณหมอเข้าเส้นชัย ขณะเดียวกับที่ตามืดมัวแล้วลงวัดพื้น ในสติเลือนรางที่เหลืออยู่คุณหมอรู้ว่ามันไม่ชอบมาพากลเอาเสียจริงๆ หายใจไม่ออก กล้ามเนื้อปวดแสบปวดร้อนไปหมด อาการปวดหัวมันมากอย่างไม่เคยมีมาก่อนเลยในชีวิตอุณหภูมิร่างกายขณะนั้นคงไม่ต่ำกว่า 100 ฟาเรนไฮท์ คุณหมอร้องเรียกให้คนช่วยเอาน้ำราดตัว แต่น้ำไม่มี คุณหมอหมดสติ เป็นเหยื่อของลมแดดภรรยาคุณหมอซึ่งเผอิญเป็นหมอเหมือนกัน ลากคุณหมอเข้าไปในร่มและวางคุณหมอไว้ในท่าแก้ช็อก คือให้หัวต่ำ-เท้าสูง เธอหาอะไรไม่ได้จึงเทนมของลูกราดตัว คนอื่น ๆ เอาน้ำอัดลมและเบียร์กรอกปาก ในที่สุดมีคนหาน้ำแข็งมาได้จากบ้านใกล้เคียง จึงเอาน้ำแข็งถูบนผิวหนัง

สำหรับภรรยาคุณหมอ เธอรู้สึกเหมือนเวลาผ่านไปชั่วกัปชั่วกัลป์กว่าที่คุณหมอจะฟื้นขึ้นมา กล้ามเนื้อปวดและตึงจนคุณหมอไม่สามารถเดินได้เองต้องมีคนพยุงขึ้นไปรับรางวัล คุณหมอพักฟื้นอยู่สามอาทิตย์กว่าที่จะวิ่งได้อีก คุณหมอยังนับว่าโชคดีที่ได้รับการรักษาทันการ สองสามปีก่อนหน้านั้น มีนักวิ่งระดับมัธยมปลาย 2 คน เสียชีวิตเพราะลมแดด เมื่อ 5 ปีก่อนก็มีนักจักรยานเสียชีวิตจากเหตุเดียวกันในกีฬาโอลิมปิค คุณหมอเก๊ปซึ่งเป็นนักวิ่งชั้นแนวหน้าผู้หนึ่งชนะการแข่งขันได้รางวัลนับร้อยแต่ไม่มีรางวัลอันไหนที่จะฝังใจคุณหมอมากเท่ากับรางวัลจากอาร์ลิงตันนี้เลย

เมืองไทยเราก็มีตัวอย่างเช่นนี้บ่อย ๆ อันหนึ่งที่รู้จักกันดีเกิดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ในการแข่งขันไนกี้ 10 กิโล
เมตรที่ศรีราชา ผู้วิ่งนำหน้าคือสตีเฟน บราวน์ ยอดนักวิ่งชาวอังกฤษ ทำงานในไทย เมื่อใกล้จะถึงเส้นชัย เขามีอาการซวนเซจนพลัดตกลงไปในทะเลข้างถนน นับว่าโชคดีที่มีผู้กระโดดลงไปช่วยไว้ได้ทันทีและโชคดีอีกชั้นที่ได้รับการรักษาไปในตัวโดยการหล่นลงไปในน้ำ อากาศเช้าวันนั้นแดดหลบแต่ค่อนข้างอบอ้าวจากที่เล่ามาคงพอทำให้ท่านผู้อ่านรู้จัก “ลมแดด” ดีขึ้น ถ้าเราใช้ความระมัดระวัง คอยสังเกตอาการ สิ่งแวดล้อมและการเตรียมตัวที่ดีก็คงช่วยให้รอดพ้นจากภาวะอันตรายนี้ไปได้ เหนือสิ่งอื่นใดคือ สามัญสำนึกหรือภาษาพระท่านว่าสติพึงมีไว้อย่าให้ขาดเพียงเท่านี้ทุกชีวิตจะปลอดภัยโดยไม่ต้องใช้วอลโว่
 

ข้อมูลสื่อ

61-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน 61
พฤษภาคม 2527
นพ.กฤษฎา บานชื่น