• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

สมุนไพรบางชนิดมีพิษให้ระวัง


พญ.นาฑีรัตน์ สังขวิภา อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีผู้นำสมุนไพรมาใช้รักษาโรคต่างๆ มากขึ้น เช่น จากชุมเห็ดเทศ คูน กานพลู ฯลฯ ซึ่งมีประโยชน์ แต่บางชนิดมีพิษควรระวังไม่เก็บมาใช้เป็นยา หรือเล่นเป็นของเล่นเช่น


มะกล่ำตาหนู
:
มีสารอะบรินในเมล็ด มีพิษสูงมากทำให้ทางเดินอาหารอักเสบ เนื้อตายที่ตับและไตเม็ดเลือดแดงแตก สารอะบรินนี้จะถูกทำลายด้วยความร้อน


สลอด :
น้ำมันจากเมล็ดของสลอด มีสารโครติน ทำให้ระคายเคืองต่อเยื่อบุทางเดินอาหาร คลื่นไส้ และอาเจียน ท้องร่วง และเป็นยาถ่ายอย่างแรง


ละหุ่ง :
กากที่เหลือจากการบีบน้ำมันโดยไม่ใช้ความร้อนมีสารโรซิน และไรซินิน ทำให้เกิดอาการพิษคล้ายพิษของมะกล่ำตาหนู เช่น ระคายเคืองในระบบทางเดินอาหาร ท้องร่วง ฝุ่นผงจากกากเมล็ด ทำให้แพ้ หอบ หืด และช็อกได้


สบู่ขาวหรือสบู่เลือด :
เมล็ดเป็นยาถ่ายอย่างแรง มีสารนิโครติน และเคอระซิน แต่มีพิษน้อยกว่าโรซินจากละหุ่ง


แสลงใจ :
เมล็ดมีสารสตริกนินซึ่งเป็นพิษอย่างแรงกระตุ้นประสาทไขสันหลังและบรูซินซึ่งกระตุ้นประสาทส่วนกลางทำให้ชักและถึงตายได้


ยี่โถ หรือยี่โถจีน :
ทุกส่วนของต้นมีสารไกลโคไซด์ ทำให้เกิดอากาคลื่นไส้อาเจียนและหมดสติ


สาวน้อยประแป้ง หรือไอ้ใบ้ :
ภายในต้นมีผลึกของแคลเซียมออกซาเลท ถ้าเคี้ยวและกลืนจะระคายเคืองต่อเยื่อบุในปากและลำคอ


โพธิ์ศรี :
เมล็ดมีสารทอกซิน ฮูริน และเครบิตินมีพิษกินเพียง 2-3 เมล็ด จะเกิดอาการอาเจียน ท้องร่วงรุนแรงได้


มันสำปะหลัง :
ในหัวดิบมีสารไลนามาริน ซึ่งสลายตัวในน้ำย่อย เป็นกรดไฮโดรไซยาไนด์ ถ้ากินหัวดิบจะทำให้เกิดอาการมึมงง หน้าเขียว เล็บเขียว หายใจขัด เพราะขาดออกซิเจนถึงแก่ความตายได้ จึงควรทำให้สุกก่อน


มันฝรั่ง :
ในหัวที่กำลังงอกมีสารโซลานิน ถ้ากินเข้าไปจะเกิดการปวดแสบปวดร้อนในลำคอ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ มึมงง และท้องร่วงได้
 

ข้อมูลสื่อ

62-001
นิตยสารหมอชาวบ้าน 62
มิถุนายน 2527
ข่าว
พญ.นาฑีรัตน์ สังขวิภา