• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เด็กกับการวิ่งเพื่อสุขภาพ

 

ในยุคที่การวิ่งเพื่อสุขภาพ * กำลังเป็นแฟชั่นอยู่นี้ เรามักเห็นเด็กมาวิ่งเป็นประจำ เด็กบางคนก็เข้าแข่งขันวิ่งระยะไกลร่วมกับผู้ใหญ่ บางคนอาจถามตัวเองอยู่ในใจว่า เป็นการสมควรแค่ไหนที่เด็กจะวิ่ง หรือพ่อแม่ที่เป็นนักวิ่งก็อาจสงสัยว่า ควรพาลูกไปร่วมออกกำลังด้วยหรือไม่
ผู้เขียนเองก็มีความสงสัยเช่นเดียวกัน และพยายามหาคำตอบอยู่ เท่าที่ลองค้นคว้า ยังไม่มีข้อสรุปที่
แน่นอนที่คุยกันวันนี้ก็จะปะติดปะต่อข้อมูลต่าง ๆ ที่พอหาได้
 

เรามาดูกันในด้านดีก่อน
ประโยชน์อย่างแรก ของการวิ่งออกกำลังแต่วัยเด็กคือการป้องกันโรคหลอดเลือดแข็งตัว ซึ่งเป็น
สาเหตุของโรคหัวใจในวัยต่อมา
เด็ก (ฝรั่งเป็นอย่างน้อยเพราะเด็กไทยยังไม่เจอรายงาน) จำนวนมากที่ตายด้วยสาเหตุอื่น เช่น
อุบัติเหตุ จากการตรวจศพพบว่ามีลักษณะเสื่อมของหลอดเลือดเกิดขึ้น การเปลี่ยนแปลงที่พบนี้ส่อว่าโรคหลอดเลือดแข็งตัวเริ่มแต่เยาว์วัย การออกกำลังเช่นการวิ่งเพื่อสุขภาพทำให้การเปลี่ยนแปลงนี้หยุดชะงักหรือแม้แต่กลับคืนสู่สภาพปกติได้
จึงอาจกล่าวได้ว่า เราควรออกกำลังแต่วัยเด็กเพื่อสุขภาพ (หลอดเลือดและหัวใจ) ที่ดีในวันหน้า

ประโยชน์ที่สอง เกี่ยวกับสิ่งที่คนปรารถนามาแต่โบราณ นั่นคือ ชีวิตยืนยาวเป็นการยากที่จะบอกว่าการออกกำลังทำให้ชีวิตคนเรายืนยาวออกไปหรือไม่ การจะทำการทดลองในคนทำได้ลำบาก เนื่องจากมีปัจจัยอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้องมากมาย และการติดตามชีวิตคนจนกว่าจะสิ้นอายุขัยก็น่ากลัวว่าผู้ทำการวิจัยอาจตายไปเสียก่อน เท่าที่ผ่านมา การสำรวจอายุนักกีฬากลับพบว่าอายุสั้นกว่าคนปกติเสียอีก ที่เป็นดังนี้อาจเพราะรวมนักกีฬาทุกประเภท ทั้งที่เสี่ยงตายเช่นขับรถแข่งหรือแม้แต่นักมวยเข้าไปด้วย และการกีฬาบางอย่างก็ไม่ได้ทำให้ร่างกายแข็งแรงขึ้นแต่อย่างใด เช่น การเล่นโบว์ลิ่ง เล่นกอล์ฟ การยกน้ำหนัก เป็นต้น พูดอย่างนี้ผู้ที่เล่นกีฬาเหล่านี้อยู่อาจสงสัยหรือไม่พอใจ ขอให้เชื่อไว้ก่อนเถิดครับ ตอนนี้ไม่มีเวลาอธิบาย จึงต้องหันไปหาสัตว์ทดลองจริงอยู่ผลที่ได้รับจากสัตว์ทดลองอาจนำมาใช้กับคนไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่บางทีมันก็ไม่ห่างไกลกันเท่าไรนัก

เขาทดลองในหนูเพราะพอติดตามดูจนกว่าจะแก่ตายได้
เขาแบ่งหนูเป็นสี่กลุ่ม ตามอายุตั้งแต่ 4 เดือน ถึง 10 เดือน แล้วให้หนูพวกนี้วิ่งออกกำลัง บนทางวิ่ง
ที่ขับเคลื่อนโดยสายพาน วันละ 20 นาที ทุก ๆวัน จนกระทั่งมันมีอายุ 3 ปี
ผลการทดลองปรากฏว่า หนูกลุ่มที่เริ่มออกกำลังตั้งแต่อายุน้อยมีอายุยืนยาวกว่า เขาจึงสรุปว่าอายุที่เริ่มออกกำลังน่าจะมีส่วนสำคัญ ถ้าเริ่มต้นออกกำลังเมื่ออายุมากแล้ว ผลดีในกายยืดชีวิตอาจสู้ พวกออกกำลังมาแต่เล็ก ๆไม่ได้
คำแนะนำคือ ควรเริ่มออกกำลังกายตั้งแต่เด็ก ๆ และออกสม่ำเสมอไปจนตลอดชีวิต

ประโยชน์อย่างที่สาม คือการหลีกเลี่ยงความอ้วน โรคอ้วนในปัจจุบันมีความโน้มเอียงที่จะเชื่อว่ามี
สาเหตุจากการออกกำลังน้อย มากกว่าการกินมาก เด็กที่ออกกำลังแต่เล็กจะไม่ค่อยอ้วน
ว่าเรื่องประโยชน์ไปแล้วไม่พูดถึงโทษก็กระไรอยู่
ข้อวิตกของคนทั่วไป (ที่เป็นความเชื่อมานานนมกาเล) คือเด็กจะไม่โตความเชื่อนี้ไม่มีมูลฐานของความเป็นจริงแต่อย่างใด ตรงกันข้าม เด็กที่ออกกำลังสม่ำเสมอ ถ้าได้อาหารที่ถูกต้องและมีการพักผ่อนเพียงพอจะเจริญเติบโตดีกว่า เด็กที่ไม่ได้ออกกำลัง

เรื่องการบาดเจ็บล่ะ ! หลายคนวิตกว่าการวิ่งเพื่อสุขภาพซึ่งเป็นการวิ่งระยะยาวพอควรจะทำให้เกิดการบาดเจ็บขึ้นแก่เด็ก ๆ โดยเฉพาความเชื่อที่ว่าเด็กกระดูกอ่อนกว่าผู้ใหญ่ ด้วยเหตุนี้พ่อแม่บางคนซึ่งส่งเสริมให้ลูกเล่นกีฬาบางอย่างแต่เยาว์วัยเช่น เทนนิส ว่ายน้ำ แต่กลับไม่เห็นด้วยกับเรื่องของการวิ่ง
การสำรวจกลับให้ผลตรงกันข้าม เด็กที่ออกกำลังโดยการวิ่งมีอัตราการบาดเจ็บจากการออกกำลังน้อยกว่าพวกเล่นกีฬาอย่างอื่น นอกจากนี้ยังพบด้วยว่า ถ้าเสริมการวิ่งเข้าไปในโปรแกรมการกีฬาอื่นจะทำให้ลดการบาดเจ็บลงได้ ทั้งนี้อาจอธิบายได้ว่า จากการวิ่งทำให้ร่างกายโดยทั่วไปแข็งแรงขึ้น สามารถรับแรงกระแทกกระทั้น จากกีฬาประเภทวิ่ง ๆ หยุด ๆ เช่น เทนนิส ฟุตบอล ได้ดีขึ้น  บางคนอาจเถียงว่ากีฬาที่มีการกระทบกระทั่งกัน เช่น รักบี้ บาสเกตบอล ต้องอาศัยพละกำลังของกล้ามเนื้อมากกว่า แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า เมื่อความเหน็ดเหนื่อยเข้ามาเช่นในการเล่นครึ่งหลัง พละกำลังก็ไม่มีประโยชน์เท่าใดนัก และการวิ่งก็เป็นการช่วยความทนทานได้ดีที่สุด นักฟุตบอลที่มีแต่พละกำลังเมื่ออ่อนเปลี้ยเพลียแรงก็จะมีโอกาสเจ็บได้ง่าย

ในแง่ของจิตวิทยา การวิ่งช่วยให้เด็กเกิดความเชื่อมั่นใจตัวเอง ท่านอาจสงสัยว่ามันเกี่ยวข้องกันอย่าง
ไร ! นักจิตวิทยาอธิบายว่า เด็กโดยเฉพาะเด็กวัยรุ่นมีความขัดแย้งอยู่ในจิตใจ ส่วนหนึ่งเขายังมีความคิด
แบบเด็ก ๆ ในขณะเดียวกันก็อยากให้คนอื่นปฏิบัติต่อเขาเช่น ผู้ใหญ่
การวิ่งเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้เขามีความสามารถเสมอเหมือนผู้ใหญ่หรือผู้มีอายุมากกว่า บางครั้งเด็กอาจเอาชนะผู้ใหญ่ได้ด้วยซ้ำไป สิ่งนี้จะช่วยกระตุ้นให้เด็กเกิดความเชื่อมั่นในตัวเองในขณะเดียวกันก็ทำให้เขามีความภูมิใจและปลื้มอกปลื้มใจ โรเจอร์ แบนนิสเตอร์ นักวิ่งระดับโลก กล่าวว่า การวิ่งผลักดันให้เด็กได้รู้จักกับพลังที่ซ่อนเร้นอยู่ทั้งทางร่างกายและจิตใจ

ข้อควรระวัง คือ เด็ก ๆ มักไม่ค่อยยอมแพ้ง่าย ๆ โดยเฉพาะในการแข่งขัน บางครั้งเด็กอาจหมดแรงแต่ยังฝืนวิ่งต่อไป จึงควรสอนให้เด็กรู้จักว่าเมื่อไรควรพอ การแข่งขันมิได้มีเพียงครั้งนี้ครั้งเดียวควรฝึกให้มีทัศนคติว่าการวิ่งเป็นการออกกำลังกายระยะยาวจนชั่วชีวิต
ผลดีอีกอย่างของการวิ่ง คือเป็นกิจกรรมที่ทำร่วมกันได้ทั้งครอบครัว ตั้งแต่รุ่นปู่ ย่า พ่อแม่ ลูก เห็นจะมีการกีฬาน้อยอย่างที่สมาชิกครอบครัว 2 หรือ 3 ชั่ว มาร่วมกันได้อย่างนี้ เป็นการลดช่องว่างระหว่างวัยได้เป็นอย่างดี

เด็กที่ออกกำลังโดยการวิ่ง ควรจะได้รับอาหารให้เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย ทั้งนี้มิได้หมายถึงปริมาณแต่เพียงอย่างเดียว คุณภาพของอาหารก็มีส่วนสำคัญ โดยธรรมชาติเด็กมักนิยมขนมหวานหรือตกเป็นเหยื่อของการโฆษณาพวกลูกกวาด ลูกอมขนมต่าง ๆ ที่ไม่มีประโยชน์ การวิ่งทำให้ร่างกายต้องการอาหารดี ๆเพิ่มขึ้น อาหารดี ๆในที่นี้มิได้หมายถึงอาหารราคาแพงแต่เป็นอาหารที่มีองค์ประกอบห้าหมู่หลัก คือโปรตีน(หรือพวกเนื้อสัตว์) ถั่วต่าง ๆ คาร์โบไฮเดรต (หรือพวกข้าว) แป้ง ไขมัน วิตามิน และเกลือแร่ อย่างได้สัดส่วนเนื่องจากบทความนี้ไม่ตั้งใจจะครอบคลุมเรื่องอาหารโดยละเอียด จึงขอกล่าวย่อ ๆ เพียงเท่านี้

ที่พูดมาทั้งหมดนี้ อาจมีพ่อแม่บางคนสนใจนำไปใช้กับลูกของตนโดยปฏิบัติตามหลักการทุกอย่างเพื่อฝึกฝนให้ลูกเป็นแชมเปี้ยน ผู้เขียนขอดักคอไว้ ณ ที่นี้ว่าถึงท่านจะฝึกดีอย่างไรถูกต้องอย่างไร ก็มิได้หมายความว่าจะสามารถปั้นนักวิ่งระดับแชมป์ได้ดังใจ เพราะองค์ประกอบอื่นๆ บางอย่างที่จะทำให้นักกีฬาคนหนึ่งมีความสามารถเหนือคนอื่นๆ เป็นสิ่งอยู่นอกเหนือความควบคุม เช่น รูปร่าง ความว่องไว ฯลฯ ปัจจัยเหล่านี้ ส่วนหนึ่งเป็นตามกรรมพันธุ์ ดังที่แอสแตรนด์ นักวิทยาศาสตร์การกีฬาผู้มีชื่อเสียงเคยกล่าวไว้ว่า “ถ้าแม้นอยากมีลูกเป็นแชมป์กีฬาโอลิมปิค ก็ต้องเลือกคู่ครองให้เหมาะสม” คืออาจต้องเลือกคู่เป็นนักกีฬาระดับชาติและตัวเองก็ควรเล่นกีฬาเก่ง ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า

สำหรับเราท่านโดยทั่วไป นั่นคงไม่ใช่เป็นสิ่งสำคัญเพราะหัวใจของการกีฬาไม่ได้อยู่ที่การแพ้ชนะ ถ้ามีแต่ชนะหมดก็คงไม่มีใครเป็นแชมเปี้ยน จริงไหม ! ฉะนั้นการรู้จักเป็นผู้แพ้ที่ดีก็มีความสำคัญเท่ากับการเป็นผู้ชนะ จุดมุ่งหมายที่แท้จริงของการกีฬา อยู่ที่การสร้างร่างกายและจิตใจให้แข็งแรงต่างหาก ด้วยความอดทน ไม่ก้าวกระโดดเร็วเกินไปในการฝึก ท่านเองสามารถฝึกให้ลูกหลานมีความรักในการวิ่งได้ ซึ่งจะเป็นสมบัติมีค่าอย่างหนึ่งที่ท่านให้เขามีติดตัวไปจนตลอดชีวิต

 

* การวิ่งเพื่อสุขภาพหมายถึงการวิ่งเหยาะๆ ช้าๆ เป็นเวลานานพอสมควร

ข้อมูลสื่อ

62-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน 62
มิถุนายน 2527
นพ.กฤษฎา บานชื่น