• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การถนอมดวงตา


ดวงตาเป็นอวัยวะที่ควรแก่การทนุถนอม ดั่งที่ท่านคงจะทราบซึ้งอยู่แก่ใจแล้ว มีอะไรเกิดกับลูกตาเพียงนิดเดียวเกิดความไม่สบายขึ้นมาทันที แม้แต่เศษผงธุลีเพียงเล็กน้อย...ที่เรียกว่า “ผงเข้าตา” นั่นไง
ธรรมชาติเห็นความสำคัญของอวัยวะส่วนนี้เป็นอย่างดีจึงได้สร้างกรอบที่อยู่ของดวงตาหรือลูกตา 2 ดวง ภายใจเบ้าที่มีความแข็งแรง ประดุจหลุมหลบภัย หรือภายในป้อมปราการอันแข็งแรง โผล่มาก็เพียงกระจกตาดำ เพื่อการมองเห็นวัตถุเท่านั้น เหลือเกือบสี่ในห้าส่วนหลบอยู่ภายในเบ้า เพื่อป้องกันรักษาส่วนที่เหลือภายในให้ปลอดภัยจากอันตรายอันจะมาแผ้วพาลทั้งปวง

ทำอย่างไรจึงจะถนอมหรือระวังรักษาให้ดวงตาของเราสามารถใช้งานได้ตลอดชีวิตและมีประสิทธิภาพ
อันนี้เป็นสิ่งที่น่าจะพยายามทำได้โดยที่ควรจะทราบว่าการถนอมตาเรานั้นต้องทำอะไรบ้าง ดีกว่าที่จะปล่อยให้มีอันพิกลพิการ หรือเสื่อมสมรรถภาพก่อนร่างกายจะสิ้นลมปราณไปเปล่า ๆ
ข้อแนะนำนี้ อาจเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่จะพึงทำได้ แม้จะไม่ละเอียดครบสมบูรณ์ก็ตาม ถ้าทำได้ดวงตาท่านก็จะอยู่รับใช้ท่านไปตลอดชีวิตทีเดียว

แนวทางกว้าง ๆ ก็คือ
1.ไม่พยายามให้เกิดการติดเชื้อ หมายถึงว่าการอักเสบทั้งหลายที่จะเกิดกับตา ไม่ว่าตั้งแต่เปลือกตาด้านนอกเข้าไปถึงเยื่อบุลูกตา , กระจกตาดำ, ม่านตา ลึกเข้าไปจนถึงจอประสาทรับภาพหลังลูกตา
ถ้ามีความผิดปกติเกิดขึ้นกับตาข้างหนึ่งข้างใด ให้รับสังเกตอย่างใกล้ชิดและถี่ถ้วน ถ้าอาการมากขึ้นมีทีท่าว่าจะไม่หายเอาง่าย ๆ รีบไปปรึกษาแพทย์โดยเร็ว โดยเฉพาะการติดเชื้อบริเวณส่วนลูกตาด้านหน้า ได้แก่การอักเสบเยื่อตา ทำให้เกิดภาวะตาอักเสบ, ตาแดง, ตามัว, เคือง, น้ำตาไหล, ปวดกระบอกตา, มีขี้ตา ฯลฯ เป็นต้น  ควรหมั่นรักษาตาให้สะอาด และถูกสุขอนามัยไว้เสมอ

2. ไม่พยายามให้เกิดภาวะกระแทกหรือถูกกระแทกจากสิ่งภายนอก ได้แก่ภาวะอันตรายจากอุบัติเหตุต่าง ๆ ที่จะมากระทบกระแทกบริเวณลูกตา นับตั้งแต่ เศษขี้ผงเล็ก ๆ เรื่อยไปจนกระทั่งก้อนดิน หิน ลูกหนังสติ๊ก ของเล่นสำหรับเด็ก ๆ ตะปู ลวดสปริง, แสงสว่างจากการเชื่อมเหล็ก, เศษเหล็ก, เศษแก้ว, เสี้ยนไม้, ตลอดจนการหกล้มตากระแทกขอบโต๊ะ พื้นถนนรถชนกัน โดนลูกปืน โดนเล็บจิกตา โดนนิ้วควักตา และ...ฯลฯ เป็นต้น
พยายามเลี่ยงและห่างไกลจากสิ่งที่จะมากระทบให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ แม้จะพยายามแล้วยังมีอันตรายอยู่ก็ถือว่าเป็นเรื่องสุดวิสัย ทำให้ลดภาวะจากความรุนแรงมากเป็นน้อยลงไปได้โข ดีกว่าขาดความระมัดระวัง ทะเล่อทะล่าเอาตาเข้าไปจ่อ โดนเข้าอย่างจัง แบบนี้ก็เหลือตาเพียงลูกเดียว หรือเหลือเพียงเบ้าตาเท่านั้นแหละครับ

3.หมั่นสังเกตความผิดปกติในรูปทรงของลูกตา
อันนี้ก็เพื่อให้พึง ระวังและนึกถึงเรื่องเกี่ยวกับก้อนเนื้อร้าย หรือสิ่งที่แปลกปลอมอาจจากพยาธิต่าง ๆ ที่เกิดกับลูกตา เป็นผลทำให้ตาบวม, มีปม ส่วนใดส่วนหนึ่ง อาการคล้าย ๆ จะมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็อย่าได้ชักช้าหรือมัวสังเกตสังกาไปหาหมอเมือง (หมอพื้นบ้าน) เสก ๆ เป่า ๆ อยู่เลย รีบไปปรึกษาแพทย์โดยเร็ว ถ้าสงสัยเนื้อร้ายภายในลูกตาหรือภายในป้อมมายิโน เอ๊ย ! เบ้าตาจะได้รับตรวจหาเสีย สมัยนี้ยิ่งมีเครื่องฉายรังสีแบบสมองกล (คอมพิวเตอร์) มาช่วยอีกแรงทำให้วินิจฉัยโรคเนื้อรายได้ตั้งแต่ต้นมือไปได้มากอีกทั้งแม่นยำเหมือนจับวาง

4.การใช้ตามากเกินไปทั้ง ๆ ที่สายตาผิดปกติ ได้แก่การที่สายตาสั้น, สายตายาว หรือสายตาเอียง หรือคนเข้าวัยกลางคน จำเป็นต้องใช้แว่นอ่านหนังสือ แต่พยายามฝืนตัวเอง ไม่ยอมใช้แว่น พวกนี้จะทำให้ตัวเองทรมานโดยใช่เหตุ นั่นก็คือปวดลูกตา ปวดศีรษะ จนถึงขั้นคลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียน พาล “ป.ส.ด.” ส่งไปก็มีหลายราย
การใช้ตาอ่านหนังสือหรือทำงานใด ๆก็ตาม ควรจะใช้เป็นพัก ๆมีการหยุดเว้นระยะให้การเกร็งของกล้ามเนื้อตาได้คลายตัว พักตัวบ้าง คนเราเดินนาน ๆ ยังรู้สึกเมื่อยแข็งเมื่อยขา ลูกตาถ้าใช้นาน ๆ ก็เมื่อยล้าเป็นเหมือนกัน อย่าคิดว่าลูกตาเมื่อยไม่เป็น คราใดที่รู้สึกเมื่อยล้าลูกตา เมื่อใช้ตานาน ๆ ควรหยุดพักการมองระยะใกล้เสีย ให้มองออกไปนอกหน้าต่างไกล ๆ ดูสภาพธรรมชาติ ดูต้นไม้ ดูสนามหญ้าสีเขียวขจี จะช่วยผ่อนคลายความเครียดของตา อารมณ์และสมองไปช่วงระยะหนึ่ง

5.ความผิดปกติในการมองเห็น
ไม่ว่าในเด็กหรือผู้ใหญ่ ถ้าการมองเห็นไม่ชัดขึ้นมาเมื่อใด ให้รีบปรึกษาแพทย์ทันที
ในเด็กอาจจะไม่บอกผู้ใหญ่ ต้องสังเกตเอาเอง อาการต่าง ๆ ที่จะสังเกตคือ เด็กจะกระพริบตาเสมอเมื่อมองอะไร หยีตาเสมอเมื่อแดดออก ขยี้ตาเสมอเมื่อออกแดด ขยี้ตาเสมอ เรียนหนังสือไม่รู้เรื่อง มองตัวหนังสือบนกระดานดำไม่ชัด บ่นปวดศีรษะ เอียงคอ ฯลฯ
ถ้าเป็นผู้ใหญ่ก็มองไม่ชัด ตาพร่ามีจุด ปวดกระบอกตา ปวดศีรษะ มึน ควรรีบไปวัดสายตาดูว่าผิดปกติหรือเปล่า ? การได้ไปตรวจเช็ดตาเมื่อมีความผิดปกติการมองเห็นถือว่าเป็นสิ่งควรปฏิบัติอย่างยิ่งในคนสูงอายุ เพราะท่านกำลังเข้าสู่วัยเสื่อมถอยของร่างกายจึงทำให้เกิดภาวะต่าง ๆ แก่ลูกตาได้ อันได้แก่โรค “ต้อกระจก” และโรค “ต้อหิน” ซึ่งเป็นโรคที่แพทย์ช่วยได้ในระยะที่อยู่ในความดูแลของจักษุแพทย์ แม้แต่โรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง

เท่าที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น เป็นแนวทางกว้าง ๆ สำหรับการปฏิบัติตนเพื่อการถนอมและป้องกันดวงตาให้คงสภาพสามารถใช้งานได้ดีเท่าที่จะดีได้ ควบคู่ไปกับอายุการใช้งานของอวัยวะอื่น
ถ้าถนอมและทนุจนสุดความสามารถแล้ว ยังเอาไม่อยู่ ก็ถือเสียว่า...สุดแต่เวร แต่กรรมเถอะครับ หรือท่านจะนึกว่า...แล้วแต่ “ดวง” ของ “ตา” ก็ได้ ผมไม่ติดใจอะไร
 

ข้อมูลสื่อ

64-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 64
สิงหาคม 2527
อื่น ๆ
นพ.สุรพงษ์ ดวงรัตน์