• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การตัดต่อยีนส์


ปัจจุบันคำว่าวิศวกรรมพันธุ์ศาสตร์กำลังฮิต กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของเราพยายามจะดึงเอาศูนย์วิจัยเรื่องนี้ให้มาตั้งอยู่ในไทย จนจะต้องเรื่องผิดใจกันกับอินเดียใน “หมอชาวบ้าน” ก็มีการพูดกันถึงวิธีสร้างวัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบ โดยใช้หลักทางวิศวกรรมพันธุ์ศาสตร์ (ดู “วิทยาการก้าวไกล” ใน “หมอชาวบ้าน” ฉบับเดือนกรกฏาคม 2527) นัยว่าจะทำให้ราคาวัคซีนดังกล่าว (ซึ่งปัจจุบันแพงใจหาย) ถูกลง เรื่องของวิศวกรมพันธุ์ศาสตร์ หรือที่ผู้เขียนขอเรียกง่าย ๆว่า “การตัดต่อยีนส์” จึงเป็นเรื่องที่น่ารู้ไว้ ในอนาคตอันใกล้ มันจะเข้ามาพัวพันกับชีวิตของเราอย่างแน่นอน ในวันนี้ ผู้เขียนจะแนะนำกันแบบชาวบ้านว่า การตัดต่อยีนส์คืออะไร มีประโยชน์หรือโทษที่พอคาดได้อย่างไรบ้าง

ยีนส์ หรือ โครโมโซม เป็นตัวควบคุมพันธุกรรม หรือพูดให้ง่ายคือ เป็นกำหนดให้คนเป็นคน, ลิงเป็นลิง, ม้าเป็นม้า ทีนี้ถ้าเอายีนส์ของคนกับม้ามาตัดออกอย่างละครึ่ง ที่เหลือต่อกันเข้าจะได้อะไร? ครึ่งคนครึ่งม้าอย่างนั้นหรือ? ไม่ทราบได้ เพราะยังไม่มีใครสามารถถึงขนาดนั้น
แต่ที่ทำได้แล้ว คือ การเอายีนส์ของสัตว์ชั้นต่ำพวกแบคทีเรีย มาตัดต่อกับยีนส์ที่ควบคุมการสร้างสิ่งต่าง ๆแล้ว ปรากฏว่า แบคทีเรียนั้นสามารถสร้างสิ่งนั้น ๆ ขี้นมาได้ สิ่งซึ่งบรรพบุรุษของมันไม่เคยรู้จัก หรือสร้างได้แม้แต่กระผีกเดียว วิธีนี้แหละที่กำลังเป็นแขนงวิชาฮิต เรียกว่า genetics engimeering ซึ่งถ้าแปลตรงตัวคงได้ว่า “วิศวกรรมทางพันธุศาสตร์”
ทำไมวิชานี้ถึงกำลังฮิต เหตุเพราะวิชานี้นอกจากใหม่และท้าทายในแง่ที่มีโอกาสสร้างของแปลก ๆ แล้วมันอาจให้คุณหรือโทษได้อย่างมาหาศาล

ให้คุณอย่างไร ลองพิจารณาตัวอย่างต่อไปนี้
นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกัน ชื่อนายอนันต์ จักราบารตี ได้สร้างเชื้อสูโดโมแนชชนิดใหม่ที่กินน้ำมันเป็นอาหารเชื้อชนิดนี้สามารถเก็บไว้ในสภาพแห้งแข็ง (Freeze-dried) เมื่อมีน้ำมันดิบไปหกเรี่ยราดให้เกิดอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมที่ไหน ก็เพียงแต่แกะซองบรรจุเชื้อนี้เหยาะลงบนฟางข้าว แล้วโปรยไปบนน้ำมัน ภายในเวลาไม่ช้าไม่นาน เจ้าเชื้อนี้ก็จะเขมือบน้ำมันที่ว่าจนหมดสิ้น (แปลงสภาพเป็นโปรตีนและคาร์บอนไดออกไซด์) พอถึงตอนนี้พวกมันก็จะตาย เพราะไม่มีอาหารให้กินอีกต่อไป
นายอนันต์ ทำได้อย่างไร นักวิทยาศาสตร์ชื่อเป็นแขกแต่หน้าตาเหมือนญี่ปุ่นผู้นี้ พบว่ามีแบคทีเรียบางชนิดที่กินน้ำมันเป็นอาหารได้แต่ไม่เก่งนัก เขาจึงเอายีนส์ที่ควบคุมการกินน้ำมันจากแบคทีเรียสามตัว ใส่ให้แบคทีเรียตัวที่สี่ ผลเทียบได้กับคนที่พระเจ้าอุตริประทานปากมาให้สี่ แทนที่จะเป็นปากเดียว ยัดทานเป็นว่าเล่นไปเลย นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า ด้วยวิธีการคล้าย ๆ กันนี้ พวกเขาอาจสร้างแบคทีเรียที่กินเหล็กกินไหล หรือวัตถุธาตุอื่น ๆ เป็นว่าเล่นขึ้นมาได้

แล้วจะได้ประโยชน์อันใดเล่า
ได้สิครับ มนุษย์หัวใสพวกนี้บอกว่า ถ้าได้ไอ้ตัวอย่างกินเหล็กขึ้นมา ก็จะให้มันไปกินเหล็กกินปูนเวลาก่อสร้างเอ๊ย ! ไม่ใช่ จะปล่อยมันไปในเหมืองเหล็กสักตัว มันก็จะตั้งหน้าตั้งการกินแร่หล็กแล้วก็แพร่พันธุ์ ออกลูกออกหลานมาช่วยกันกินอีก กินไอ้ที่อยู่บน ๆ ผิว ๆ หมดแล้ว ก็ชอนไชไปกินตามโพรงซอกซอยที่มนุษย์เราเข้าไปไม่ถึง เจ้าของเหมืองไม่ต้องทำอะไร คอยเก็บกวาดขี้มันมาขายก็รวยถมไปแล้ว หรือได้ชนิดชอบกินของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม (ที่กำลังเป็นปัญหาปวดหัวอยู่ทุกวันนี้ เพราะการกำจัดของเสียมันยากเหลือหลาย) ก็จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมไปได้อีกเยอะ
นอกจากนี้ พวกเขายังพากันฝันเฟื่องว่าจะสร้างไอ้ตัวที่ช่วยผลิตน้ำมันเชื้อเพลิง, พลาสติก, สารป้องกันการแข็งตัวในหม้อ ฯลฯ

ทางด้านการเกษตร จะสามารถทุ่นการใช้ปุ๋ยลงไป ถ้าสามารถสร้างเชื้อที่ทำให้พืชเอาไนโตรเจนจากอากาศมาใช้ได้โดยตรง (แทนที่จะต้องเอาจากกิน)
ทางด้านการแพทย์ มีการค้นพบหลายอย่างที่จะเป็นประโยชน์อย่างเหลือหลายอย่างหนึ่งคือ การสร้างแบคทีเรียที่สามารถสร้างอินซูลินขึ้นมาได้ เรารู้ว่าผู้ป่วยเป็นเบาหวาน เพราะร่างกายไม่สามารถสร้างอินซูลิน หรือสร้างได้แต่ไม่เพียงพอ วิธีการรักษาเบาหวานอย่างหนึ่ง คือการฉีดอินซูลินให้แก่คนไข้ อินซูลินในปัจจุบันได้จากการสะกัดตับอ่อนของวัว จะมีสารโปรตีนอื่น ๆ ปะปนเข้ามาด้วย ซึ่งทำให้เกิดการแพ้ได้ ถ้าเราเอายีนส์ที่สร้างอินซูลินของคน ตัดต่อใส่ไปในโครโมโซมของเชื้อ อี.โคไล มันก็จะสร้างอินซูลินขึ้น ผลคือ เราได้อินซูลินชนิดดี ในจำนวนมากและราคาถูก นอกจากอินซูลิน สารอื่นที่สามารถให้แบคทีเรียผลิตแทนเราได้แล้ว คือ อินเตอร์ เฟอรอน ซึ่งเป็นสารที่ร่างกายสร้างขึ้นต่อต้านเชื้อไวรัส สารนี้มีทีท่าว่าจะนำมารักษามะเร็งชนิดต่าง ๆ อย่างได้ผล
อีกอย่างคือ ฮอร์โมนกระตุ้นการเจริญเติบโตของร่างกาย ส่วนที่หวังว่จะทำได้ในอนาคต โดยวิธีตัดต่อยีนส์นี้ก็เช่น การทำวัคซีนสำหรับโรคมาลาเรีย การสร้างสารเคมีรักษาแผลไฟไหม้, สารระงับปวด, สารช่วยห้ามเลือด เป็นต้น

ทางด้านให้โทษเล่า
ยังไม่มีเหตุการณ์จริง ๆ เกิดขึ้นแต่พอจะมองเห็นได้ง่าย ๆ ลองนึกภาพเชื้อกินน้ำมัน ของนายอนันต์ ตกลงไปในบ่อน้ำมันดิบสักตัว น้ำมันคงถูกกินเกลี้ยงบ่อไปเลย หรือเชื้อ อี.โคไล ที่สร้างอินซูลินหลงไปอยู่ในท้องใครเข้า (โดยปกติเชื้อชนิดนี้มีนิวาสถานในลำไส้คนเราอยู่แล้ว) มันก็ออกลูกออกหลานช่วยกันสร้างอินซูลิน จนระบบการใช้น้ำตาลของคนนั้นปั่นป่วนไปหมด ดีไม่ดีพาลตายเอาง่าย ๆ จากภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
ตัวอย่างแบบเดียวกัน อาจใช้ได้กับตัวกินเหล็กที่เข้าไปอยู่ในเหล็กโครงสร้างของตึก, ตัวกินทองแดงที่ไปจับอยู่บนสายลวดทองแดง และอื่น ๆ

โดยสรุป คือ เรายังไม่แน่ใจว่าจะสามารถควบคุมเชื้อต่าง ๆ เหล่านี้ให้อยู่เฉพาะในที่ที่เราต้องการ ทำงานแต่เฉพาะที่เราอยากให้ทำ ไม่มากไม่น้อยไปกว่านั้น ถึงแม้เวลานี้จะมีกฏหมายควบคุมการทดลองเกี่ยวกับการตัดต่อยีนส์อย่างเข้มงวด ก็ยังมีคนกลัวว่า วันหนึ่งเราจะเอามันไว้ไม่อยู่ และเมื่อมันหลุดออกไปแล้ว เราก็ไม่อาจเอาโซ่ไปคล้องคอไว้อย่างสุนัข หรือสัตว์ดุร้ายอย่างอื่นได้

บางคนถึงกับยกคำพูดของเช็คสเปียร์ในละครเรื่องแฮมเล็ทขึ้นมาว่า “บางทีการที่จะต้องทนอยู่กับสิ่งชั่วร้ายที่เรามี ยังดีกว่าจะหนีไปหาสิ่งอื่นที่เราไม่รู้จัก” (ภาษาไทยเราคงว่า “หนีเสือปะจระเข้”)
ก็มีคนแย้งขึ้นมาทันควันว่า “ถ้าคิดอย่างนั้น ความก้าวหน้าทางวิทยาการก็ไม่มี เป็นที่สิ้นสุดกันขอวิทยาศาสตร์”

ข้อมูลสื่อ

65-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 65
กันยายน 2527
เรื่องน่ารู้
นพ.กฤษฎา บานชื่น