หมอชาวบ้าน ฉบับนี้ เริ่มย่างเข้าปีที่ 10
ในโอกาสครบรอบวันเกิดนี้ เราขออภินันทนาการแฟน ๆ ด้วยโปสเตอร์ เรื่อง “ไม่มียุงลายไม่มีไข้เลือดออก” และได้นำข้อเขียนในหัวเรื่องเดียวกันนี้ซึ่งเขียนโดยคุณหมอคำนวณ อึ้งชูศักดิ์ แห่งกองระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุข มาลงในคอลัมน์ “กันไว้ดีกว่าแก้”
ไข้เลือดออกเป็นที่รู้จักในหมู่ชาวไทยเราในช่วง 20-30 ปีมานี้ แต่เดิมพบระบาดเฉพาะในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ ๆ และพบมากในกลุ่มเด็กเล็ก แต่ปัจจุบันได้ระบาดไปตามหมู่บ้านต่าง ๆ ทั่วประเทศแล้ว และพบว่าเกิดกับเด็กโต และผู้ใหญ่ด้วย เมื่อปีที่แล้วมีผู้ป่วยโรคนี้ถึงกว่า 160,000 คน (ตายกว่า 800 คน) ซึ่งนับเป็นสถิติสูงสุดเท่าที่เคยมีการระบาดกันมาในประเทศของเรา ปีนี้มีการคาดคะเนกันว่า อาจมีคนที่เป็นโรคนี้ในจำนวนที่ไม่น้อยกว่าปีที่แล้ว
สาเหตุที่ทำให้ไข้ชนิดนี้แพร่กระจายไปได้กว้างขวางก็คือ ยุงลาย ซึ่งเป็นพาหะของโรคนี้ โดยที่ยุงลายจะกัดคนที่เป็นไข้เลือดออก เชื้อไวรัสที่เป็นต้นเหตุของโรคนี้จะติดอยู่ในยุงลาย เมื่อมันไปกัดคนอื่น ๆ ก็จะแพร่เชื้อทำให้เกิดโรคตาม ๆ กันไปเหมือนลูกโซ่
ยุงลายเป็นยุงที่อยู่ในบ้าน มันจะเพาะพันธุ์อยู่ตามลุ่มน้ำ ขาตู้กับข้าว จานรองกระถางต้นไม้ ไห แจกัน ยางรถยนต์ กะลา กระป๋อง ที่อยู่ในบริเวณบ้าน วิธีป้องกันโรคนี้ก็คือ ทำลายภาชนะที่ขังน้ำ (เช่น ยางรถยนต์ กะลา) หาทางอย่าให้ยุงวางไข่ตามภาชนะที่ใส่น้ำกิน น้ำใช้ และหาวิธีกำจัดลูกน้ำ (รายละเอียดขอให้อ่านจากโปสเตอร์และข้อเขียนดังกล่าวข้างต้น)ในการป้องกันและควบคุมโรคนี้จะทำได้ก็โดยกลวิธีสาธารณสุขมูลฐาน กล่าวคือจะต้องกระทำโดยประชาชนด้วยกันเองเท่านั้น
ขอเสนอให้โรงเรียนทุกแห่งทั่วประเทศ ในช่วงเปิดเทอมนี้ให้ทำการรณรงค์ให้นักเรียนทุกคนตระหนักถึงภัยไข้เลือดออกแล้วเคลื่อนไหวทำลายยุงตามโรงเรียนและหมู่บ้าน พร้อมกันทั้งประเทศ
วัดทุกแห่ง ในช่วงวันพระขอให้มีการเทศน์กัณฑ์สุขศึกษาเกี่ยวกับ การป้องกันไข้เลือดออกพร้อมกันทั่วประเทศ สื่อมวลชนทุกแขนงขอให้ช่วยกันปลุกระดมให้ประชาชนทั่วประเทศหันมารวมพลังกันทำให้บ้านทุกบ้านปลอดจากยุงลาย
เมื่อไม่มียุงลาย ก็ไม่มีไข้เลือดออก
- อ่าน 4,919 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้