• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เลือดเทียม

 

แพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ในสถานบริการสาธารณสุข จะมีการใช้ภาษาที่เข้าใจในหมู่หมอด้วยกันเอง หากท่านได้ยินได้เห็นภาษาหมอคำใดแล้วไม่เข้าใจ ก็ขอเชิญเขียนจดหมายถามมา ยังคอลัมน์ได้เลยครับ”

 
คุณหมอครับ ขอให้เลือดเทียมบำรุงร่างกายผมสักขวดได้ไหมครับ?”

“คุณแม่ผมบ่นว่าเพลีย ๆ จะเข้าเลือดเทียมให้แข็งแรงได้ไหมครับ?”


แพทย์จบใหม่เมื่อออกไปเผชิญตามคนไข้ชนบท มักได้รับการเรียกร้องขอเลือดเทียมในทำนองนี้อยู่เสมอ ซึ่งก็มักจะงงเป็นไก่ตาแตก เพราะเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยได้ยินได้ฟังในหลักสูตรการเรียนแพทย์มาก่อน
แต่กล่าวสำหรับแพทย์ที่จบทำงานหลายปี จะนึกออกทันทีว่าสิ่งที่คนไข้ต้องการนั้น หมายถึง น้ำเกลือผสมวิตามินออกเป็นสีเหลือง ๆ สำหรับฉีดเข้าทางเส้นเลือดของคนไข้ด้วยเข้าใจว่าเป็น “ยาบำรุงร่างกาย”

ที่จริงคำว่า “เลือดเทียม” ในภาษาหมอนั้นหมายถึง พลาสมาเทียม
พลาสมา (Plasma) คือส่วนประกอบของเลือดที่แยกเอาเม็ดเลือดออกแล้ว ซึ่งก็คือ น้ำเลือดหรือน้ำเหลืองนั่นเอง ซึ่งสามารถใช้รักษาคนไข้ที่เสียเลือดมาก ๆ จนช็อก หรือในคนไข้ที่มีบาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวกรุนแรง ปัจจุบันเราสามารถสังเคราะห์พลาสมาขึ้นแทนพลาสมาธรรมชาติ เรียกว่า พลาสมาเทียม หรือ ไอโซพลาสมา (Isoplasma)

เรียกภาษาชาวบ้าน ๆ ว่า เลือดเทียม คงย่อมาจากคำว่าน้ำเลือดเทียม (พลาสมา = น้ำเลือด) ทีนี้คงมีหมอหัวใสบางคน(อาจเป็นหมอชาวบ้านชนบท หรือหมอปริญญาก็ได้) แอบเอาวิตามินใส่ในน้ำเกลือ มีสีสันคล้ายพลาสมาเทียม นำไปใส่เข้าทางเส้นเลือดของคนไข้ แล้วบอกคนไข้ว่า “เลือดเทียม” ที่ว่าหัวใส ก็เป็นเพราะ “เลือดเทียม” ปลอม ๆ (น้ำเกลือผสมวิตามิน) ดังกล่าวนี้ ถูกกว่า “เลือดเทียม"จริง ๆ (ไอโซพลาสมา) หลายตังค์ การให้เลือดเทียมในลักษณะดังกล่าวได้ระบาดไปตามชนบทแทบทุกจังหวัด จนเป็นที่เข้าใจผิด ๆ ว่า เป็นยาบำรุงร่างกาย มีอาการอ่อนเพลียไม่สบายนิด ไม่สบายหน่อย ก็จะขอให้หมอเข้าเลือดเทียมให้ คือพัฒนาจากการขอเข้าน้ำเกลิอธรรมดา ๆ ขึ้นมาอีกขั้นหนึ่ง แต่หารู้ไม่ว่า มันก็คือน้ำเกลือเหมือน ๆ กัน ต่างกันแต่เพียงว่าเพิ่มวิตามินเข้าไป แล้วเรียกเสียโก้หรูว่า “เลือดเทียม” ทำให้คนไข้รู้สึกว่าได้ “เลือดเทียม” นั้นดีกว่าได้ “น้ำเกลือ”  เมื่อเชื่อว่าได้ยาดี ด้วยอำนาจแห้งอุปาทานก็ย่อมทำให้รู้สึกสบายขึ้นมาได้ (ความเชื่อหรืออุปาทานมีผลต่อการรักษาโรคอย่างไร ไว้มีโอกาสจะเขียนให้อ่านอีกสักครั้ง)
 

ถ้าจะพูดจาภาษาหมอ ก็ต้องว่า อันว่า “เลือดเทียม” จริง ๆ นั้น หมอเอาไว้ใช้สำหรับโรคฉุกเฉิน (เช่นเสียเลือดมาก ๆ บาดแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวกรุนแรง) ส่วน “เลือดเทียม” ปลอม ๆ ซึ่งหมายถึง น้ำเกลือใส่วิตามิน หาได้มีประโยชน์ในการบำรุงร่างกายตามที่เข้าใจกันไม่ มิหนำซ้ำ ยังเจ็บตัวเสียเงิน และเสี่ยงต่ออันตรายแทรกซ้อนอีกด้วย

จงอย่าเอาคนไข้เป็นเหยื่อ หรือยอมตกเป็นเหยื่อในการรักษาด้วย “เลือดเทียม” กันต่อไปเลยครับ!
 

ข้อมูลสื่อ

109-012
นิตยสารหมอชาวบ้าน 109
พฤษภาคม 2531
พูดจาภาษาหมอ
ภาษิต ประชาเวช