• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

หญิงมีครรภ์ อย่าละเลยฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยัก

 คอลัมน์นี้ได้รับความร่วมมือจากชมรมเวชศาสตร์ป้องกันแห่งประเทศไทย นับเป็นครั้งแรกที่เราจะนำความรู้เกี่ยวกับสถานการณ์ของโรคต่าง ๆ ในประเทศลงตีพิมพ์ติดต่อกัน โดยจะครอบคลุมไปถึงลักษณะของโรคที่ควรรู้ในฤดูกาลต่าง ๆ กัน ตลอดจนวิธีการป้องกันโรคนั้น ๆ ด้วยโดยหวังว่าความรู้เหล่านี้จะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในชุมชน เป็นการเสริมทรัพยาการระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อควบคุมและป้องกันโรคหากท่านผู้อ่านมีข้อสงสัยประการใดเกี่ยวกับบทความ หรือมีคำถามเกี่ยวกับวิธีการควบคุมและป้องกันโรคใด ๆ ก็ตาม กรุณาเขียนถามมาได้


ในการประชุมเพื่อดูความก้าวหน้าของงานสาธารณสุขมูลฐานเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม ผู้แทนองค์การอนามัยโลกได้ตั้งข้อสังเกตว่า ตัวเลขรายงานบาดทะยักในเด็กแรกเกิด ปีละ 400 ถึง 500 คน ในประเทศไทยนั้น อาจจะมากเกินความเป็นจริง ในความรู้สึกของท่านนั้นเห็นว่า ประเทศเรามีการพัฒนามากมาย มีโรงพยาบาลทุกอำเภอและมีสถานีอนามัยครบทุกตำบล ไม่น่าจะมีบาดทะยักเด็กแรกเกิดอีก

หลังจากประชุมท่านก็ถามผมอีกว่า เคยเห็นเด็กที่เป็นบาดทะยักแรกเกิดหรือไม่ (ตัวท่านนั้นไม่เคยเห็นมานานแล้ว) ผมก็เรียนท่านตามความเป็นจริงว่าสมัย 4-5 ปีก่อน ที่ผมยังทำงานเป็นแพทย์อยู่โรงพยาบาล อำเภอแห่งหนึ่งในจังหวัดขอนแก่นนั้น ผมจะเห็นเป็นประจำเกือบจะทุกเดือน ยังจำได้ติดตาว่าญาติ ๆ จะห่อเด็กตัวเล็ก ๆ ที่เพิ่งเกิดได้ 3-4 วัน แต่มีอาการไข้ ตัวร้อน ชักเกร็ง กระตุก จนหลังแอ่นเป็นระยะ ๆ ปากเขียว มือเขียว หน้าตาเด็กก็แสดงสีหน้าเจ็บปวด นมก็กินไม่ได้ ญาติผู้ใหญ่บางท่านก็จะคอยเป่ากระหม่อมเด็ก แต่ยิ่งเป่าก็ยิ่งชักยิ่งกระตุก ส่วนใหญ่แล้วเด็กจะเสียชีวิต
ถึงแม้ในปัจจุบันนี้จะมีเด็กทารกแรกเกิดเป็นบาดทะยักน้อยลง แต่ก็ยังคงมีอยู่แน่นอน ตามตัวเลขที่ได้รับจากโรงพยาบาลต่าง ๆ และสถานอนามัยทั่วประเทศของปี 2530 มีเด็กป่วย 381 ราย ตาย 63 ราย หรือเปรียบง่าย ๆ ว่า ทุก ๆ วันจะมีเด็กแรกเกิดเป็นบาดทะยัก 1 ราย

ท่านผู้อ่านที่อยู่ในชนบทคงจะต้องเห็นเด็กแรกเกิดที่มีอาการคล้าย ๆ กันนี้มากกว่าที่มีรายงาน เพราะเด็กไม่น้อยตายในหมู่บ้านโดยที่ไม่มีโอกาสมาโรงพยาบาล หรือมาไม่ทัน เคยมีนักวิจัยมาสำรวจในเมื่อไทยเมื่อ 7 ปีที่แล้ว รายงานว่าเด็กแรกเกิดที่เป็นบาดทะยักในหมู่บ้านนั้น มีมากกว่าที่รายงานจากโรงพยาบาลถึง 8 เท่า แต่ชาวบ้านอาจจะไม่เรียกว่า เป็นโรคบาดทะยักแรกเกิด เพราะชื่อโรคนี้แตกต่างกันไปตามแต่ละภาค เช่น เรียกเป็น ตะพั้น สะพั้น ลมตะพั้น ลมนกอีแอ่น ลมอีอัดอีแอ่น บาดทะยักสะดือ ฯลฯโรคบาดทะยักในเด็กแรกเกิด มีสาเหตุมาจากการตัดหรือแต่สายสะดือเด็กไม่สะอาด เช่น ใช้ไม่ไผ่ไม้ลวกบางแห่งต้องใช้ถ่านหรือก้อนดิน ก้อนหินรองใต้สายสะดือก่อนจะตัด บางแห่งก็ใช้มีด ใช้กรรไกรที่พอจะหาได้ ฯลฯ

เครื่องมือเหล่านี้มักจะมีเชื้อโรคตัวเล็ก ๆ ที่เรามองไม่เห็นติดอยู่ ในอุจจาระของคนสัตว์ และปะปนอยู่ในดินหรือตามพื้น เชื้อตัวเล็ก ๆ เหล่านี้จะเข้าไปในบริเวณสายสะดือที่ตัด เมื่อฟักตัวเพิ่มจำนวนได้ 2 ถึง 20 วัน ก็จะสร้างสารพิษเข้าสู่กระแสเลือดของทารกน้อย สารพิษนี้จะกระตุ้นให้มีการเกร็งและกระตุกของกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เมื่อมีการเกร็งและกระตุกมาก ๆ เด็กก็จะหายใจไม่ได้ ทำให้มีอาการเขียวและตายได้ ในรายที่ไม่ตายก็ต้องรักษาเป็นเวลานานหลายวัน เสียค่าใช้จ่ายมาก และอาจมีความพิการทางสมอง หรือปัญญาทึบในภายหลังได้ มีบางรายคลอดที่โรงพยาบาล หรือสถานีอนามัย โดยเจ้าหน้าที่ที่ทำคลอดตัดสายสะดือด้วยกรรไกรที่สะอาด แต่พอกลับบ้านญาติผู้ใหญ่ก็เอายากลางบ้านมาทาหรือปิดสายสะดือ บางรายก็ใช้ยาผงโรย ซึ่งยาเหล่านี้ก็อาจมีเชื้อบาดทะยักปนเปื้อนอยู่ เลยทำให้ทารกน้อยป่วยได้เช่นกัน

ดังนั้น วิธีการที่จะป้องกันบาดทะยักเด็กแรกเกิดนั้นคือ
(1) ตัดสายสะดือด้วยกรรไกร หรือมีดที่สะอาดผ่านการฆ่าเชื้อมาอย่างดี โดยการต้มในน้ำเดือดปุด ๆ 20 นาที
(2) ไม่ใส่ยากลางบ้านหรือยาที่ซื้อมาตามร้านทั่ว ๆ ไปบนสายสะดือ
วิธีที่ดีที่สุดคือ
(3) การฉีดวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยักให้แก่แม่ที่ตั้งครรภ์
ท่านผู้อ่านอาจจะสงสัยว่าฉีดวัคซีนให้แม่แล้วไปป้องกันให้ลูกได้อย่างไร?
เมื่อฉีดวัคซีนให้แม่นั้น ร่างกายของแม่ก็จะสร้างภูมิคุ้มกันโรคขึ้นในกระแสเลือดและส่งให้ลูกทางสายสะดือ ลูกก็จะได้รับภูมิคุ้มกันนี้มาอยู่ในตัวและจะอยู่นานจนลูกอายุ 4 ถึง 6 เดือน จึงเป็นอันมั่นใจได้ว่าลูกรักจะลืมตาดูโลกอย่างปลอดภัย แต่มีข้อแม้ คือ แม่จะต้องได้รับวัคซีน 2 ครั้ง ห่างกันอย่างน้อย 1 เดือน โดยเริ่มฉีดเข็มที่หนึ่งในระยะตั้งครรภ์เดือนไหนก็ได้ แต่เข็มที่สองการฉีดก่อนครบกำหนดคลอด 1 เดือน มิ ฉะนั้นภูมิคุ้มกันจะส่งผ่านไปให้ลูกไม่พอ

เขียนมาถึงบรรทัดนี้ผมก็จะขอเล่าเรื่องส่วนตัวสักเล็กน้อยที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้คือ ตอนที่ภรรยาผมท้องนั้น ผมก็พาไปฝากท้องกับอาจารย์ ผมที่อยู่ในโรงเรียนแพทย์ อาจารย์ก็ไม่ฉีดวัคซีนบาดทะยักให้ภรรยาผม ทั้งนี้เพราะวางแผนว่าต้องคลอดในโรงพยาบาลแน่ ๆ และผมก็คงไม่ยอมให้ใครเอายาพื้นบ้านหรือยาใด ๆ มาโรยสายสะดือลูกแน่ แต่ผมก็ไม่สบายใจภรรยาไม่ได้ฉีดวัคซีนบาดทะยัก เพราะจะแน่ใจได้อย่างไรว่าจะคลอดในโรงพยาบาล มีไม่น้อยที่คลอดบนรถ บนเรือ บนเครื่องบินก็ยังมี ผมก็เลยแอบพาภรรยาไปฉีดวัคซีนเอง ฉีดแล้วก็มีแต่ทางได้ (ภูมิคุ้มกัน) ไม่มีทางเสีย ผมไปเจอแพทย์รุ่นพี่อีกท่านหนึ่ง พอคุยกันก็พบว่าแอบพาภรรยาไปฉีดกันบาดทะยักเหมือนกัน

กระทรวงสาธารณสุขกำลังหาทางให้หญิงมีครรภ์มีโอกาสได้รับวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยักในเด็กแรกเกิด ขณะนี้ในหญิงท้อง 100 คน จะมีเพียง 45 คนเท่านั้นที่โชคดีได้รับวัคซีน อีก 55 คน ยังต้องเสี่ยงต่อการมีลูกเป็นบาดทะยักอยู่ ทั้งนี้เพราะความรู้ในเรื่องนี้ยังไม่กว้างขวาง
ก็อยากจะฝากไปยังผู้อ่านทุกท่าน โดยเฉพาะพ่อใหญ่ แม่ใหญ่ คุณตา คุณยาย จะได้ช่วยกันเตือนให้หญิงที่กำลังท้องไปรับวัคซีนป้องกันบาดทะยักแต่เนิ่น ๆ

สำหรับท่านที่กำลังท้องอยู่ก็อย่ารอช้านะครับ อ่านขบแล้วรีบไปฉีดวัคซีนเลย โดยสามารถรับบริการได้ที่โรงพยาบาลและสถานีอนามัยทุกแห่งของกระทรวงสาธารณสุข ฟรี

ข้อมูลสื่อ

111-011
นิตยสารหมอชาวบ้าน 111
กรกฎาคม 2531
นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์