• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

อิริยาบถ ระหว่างการเดินทาง

 

การที่มนุษย์สามารถเคลื่อนไหว จากสถานที่หนึ่งไปยังอีกสถานที่หนึ่ง บนเท้าทั้ง 2 ด้วยการเดินหรือการวิ่ง เป็นลักษณะเด่นที่ไม่มีสัตว์อื่นเทียบได้ ถึงกระนั้นเพื่อความรวดเร็วในการแข่งกับเวลา มนุษย์ได้คิดค้นพาหนะต่าง ๆ มากมายหลายชนิด บนบกมีตั้งแต่ขี่ช้าง ม้า จักรยาน รถเครื่อง (จักรยานยนต์) รถยนต์ รถไฟ บนน้ำมีเรือชนิดต่าง ๆ และบนฟ้ามี เครื่องบิน จรวดหรือดาวเทียม
อิริยาบถบนยานพาหนะส่วนใหญ่คือ ท่านั่ง อาจยืนหรือเดินได้ และในบางกรณียังสามารถเอนตัวลงนอนได้ เช่น บนรถทัวร์ รถไฟ เรือเดินทะเล และบนเครื่องบิน และอิริยาบถอีกอย่างหนึ่งที่ขาดเสียมิได้ คือการหิ้วถือสัมภาระเพื่อการเดินทางนั้นด้วย

การปฏิบัติตนให้ถูกต้องระหว่างการเดินทางทำให้ลดอุบัติเหตุ ไม่ปวดเมื่อยคอและหลัง ทั้งยังทำให้การเดินทางนั้นสนุกสนานและปฏิบัติภารกิจได้ทันทีหลังจากสิ้นสุดการเดินทางแล้ว ข้อสำคัญอีกประการหนึ่งคือ ถึงแม้เราจะอยู่บนพาหนะนั้น ไม่ได้เคลื่อนไหวด้วยตนเอง แต่ตัวเราจะมีความเร็วเท่าความเร็วของยานพาหนะนั้น ทั้งนี้สังเกตได้เมื่อรถหยุดลงอย่างกะทันหัน ตัวเราจะขยับไปข้างหน้า ขณะที่ก้นยังนั่งอยู่บนเก้าอี้ หรือเท้ายืนอยู่บนพื้นรถ ความเร็วของรถหรือเครื่องบิน นี้เองทำให้เรารู้สึกอ่อนเพลียหลังจากเสร็จสิ้นการเดินทางใหม่ ๆ เพราะร่างกายจะคอยปรับตัวให้เข้ากับความเร็วนั้นอยู่ตลอดเวลา เช่น ระบบไหลเวียน ระบบกล้ามเนื้อจะต้องพยายามให้ร่างกายอยู่ในภาวะสมดุล กล่าวคือ ให้อยู่ในท่านั่ง ท่ายืน หรือท่านอนนั้น มิฉะนั้นแล้ว เราคงจะถูกเหวี่ยงไปมาเช่นเดียวกับสัมภาระอื่น ๆ ได้

การนั่งในรถยนต์หรือเครื่องบินนั้น เก้าอี้มักจะออกแบบให้เรานั่งเข้าไปในเก้าอี้ ไม่ได้นั่งบนเก้าอี้ ซึ่งสำหรับคนขับแล้วเป็นการนั่งที่ทำให้ขับรถลำบากมาก การขับรถยนต์ควรจะปรับเก้าอี้ ให้มีการงอข้อเข่าและข้อสะโพกพอสมควร เพื่อให้เหยียดได้เต็มที่เวลาเหยียดครัตช์หรือเหยียบห้ามล้อและเร่งน้ำมัน มิฉะนั้นแล้วถ้าเข่าเหยียดตรงเกินไป ออกแรงเหยียบไม่ถนัด ทำให้ปวดหลังได้ ทำนองเดียวกันเข่างอมากไปทำให้ออกแรงไม่สะดวก ความไวของการเหยียบอาจลดลง ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ เก้าอี้ที่นั่งควรมีที่รองรับศีรษะ เพื่อป้องกันเวลารถหยุดกะทันหันหรือถูกชน ศีรษะไม่ถูกสะบัดไปมาจนเกิดกระดูกเคลื่อนที่คอหรือพังผืดคอฉีกขาดได้ และเก้าอี้ที่นั่งควรมีเข็มขัดรัดตัวผู้ขับและผู้ที่นั่งไว้เพื่อลดอุบัติเหตุ เมื่อรถชนกันหรือรถคว่ำ

ในการนั่งรถไปทางไกลควรมีหมอนเล็ก ๆ รองที่เอวเพื่อรักษาส่วนโค้งของกระดูกบั้นเอวไว้ การนั่งควรนั่งตัวตรงบนกระดูกนั่งซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระดูกสะโพกมากกว่าที่จะนั่งเอนไปข้างหลัง เพราะอาจนั่งอยู่บนกระดูกกระเบนเหน็บ ซึ่งไม่สามารรับน้ำหนักของร่างกายท่อนบนได้ ทำให้อักเสบเจ็บปวดได้ ในภายหลัง พนักรองศีรษะควรปรับระดับได้ เพราะสวนใหญ่จะสูงเกินไปและนูนออกมาทำให้คอต้องก้มไปข้างหน้า ส่วนนูนของพนักรองศีรษะควรจะอยู่ในระดับคอมากกว่า เพราะเป็นส่วนโค้ง ไม่ใช่เพื่อหนุนที่ศีรษะ ถ้าเก้าอี้ที่รองรับกว้างพอ อาจนั่งขัดสมาธิ เพราะเป็นท่าที่ทำให้หลังตรง ไม่ปวดหลัง และเท้าทั้งสองไม่บวม หลังจากนั่งเป็นเวลานาน

การเอนตัวลงนอนนั้น ท่าครึ่งนั่งครึ่งนอนจะทำได้เมื่อขาทั้งสอง ถูกยกให้สูงข้นด้วย คือ อยู่ในท่างอสะโพกและงอเข่าเช่นเดียวกับนอนอยู่บนเตียง แต่ถ้าขาทั้งสองต้องห้อยลง เพียงเอนลำตัวท่อนบนไปข้างหลัง ย่อมทำให้กล้ามเนื้อด้านหน้าของคอ และกล้ามเนื้อท้อง ต้องหดตัวอยู่ตลอดเวลา ไม่ผ่อนคลาย ยิ่งนอนจะรู้สึกยิ่งเมื่อย ท่านอนที่ดีคือ นอนราบบนเตียง เช่น ในตู้นอนของรถไฟ ปัจจุบันมีรถทัวร์ชนิดเอนตัวนอนได้เกือบเต็มที่ ข้อเสียของเก้าอี้แบบนี้คือ ไม่ได้ออกแบบเพื่อคนไทย จึงทำให้ศีรษะไม่สามารถนอนอยู่บนพนักรองศีรษะ และช่วงที่นั่งกว้างไปทำให้หลังไม่แนบกับพนักพิงและขาทั้งสองยกสูงขึ้นไม่ได้เท่าที่ควรจึงนอนไม่สบายในโอกาสที่สามารถเดินไปมา บนยานพาหนะได้ ควรจะเปลี่ยนอิริยาบถโดยการยืนและเดินเป็นครั้งคราว เพื่อยืดเส้นยืดสาย

ในการเดินทางนั้น บ่อยครั้งที่ต้องหิ้วสัมภาระอันหนักหน่วง จึงทำให้ต้องออกแรงหิ้วของจนลำตัวเบี้ยว เอียงไปด้านตรงข้าม ทำให้ปวดหลังได้
วิธีการหิ้วของที่ถูกต้องจึงต้องคำนึงถึงว่า ตราบใดมือที่หิ้วของยังสามารถงอข้อศากยกสิ่งของที่หิ้วสูงขึ้นเล็กน้อย ตราบนั้นกล้ามเนื้อยังสามารถสู้กับน้ำหนักของชิ้นนั้นได้ แต่ถ้าไม่สามารถทำได้ แสดงว่าของที่หิ้วหนักเกินไป ต้องแยกของเป็น 2 ถุงหรือใช้รถเข็น สมัยก่อนใช้คานในการแบกหามสัมภาระเป็นวิธีการที่ถูกต้องและน่าสงเสริมให้ใช้ต่อไป เพราะเป็นการป้องกันการปวดหลังได้ เนื่องจากน้ำหนักอยู่ในแนวของลำตัว ในบางประเทศใช้การแบกสิ่งของไว้บนศีรษะเป็นวิธีการยกของที่ดี แต่ย่อมต้องมีการฝึกฝนจนชำนาญจึงจะสามารถทำได้การรับของจากบนรถไฟหรือหลังคารถประจำทาง อาจเกิดอุบัติเหตุทำให้ปวดหลังแบบเฉียบพลันได้ การหาที่สำหรับรองรับเท้าทั้ง 2 เพื่อรับของจากที่สูง การนั่งยอง ๆ เพื่อยกสัมภาระที่หนักแทนที่จะก้มลงยกสิ่งของนั้น ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ เป็นมาตรการป้องกันการปวดหลังได้อย่างดี
อิริยาบถในการเดินทาง จึงเป็นท่านั่ง ท่านอน ท่ายกของที่ถูกต้อง กล่าวคือ ต้องนั่งตัวตรง นอนราบ เวลายกของไม่ก้มลง

ถ้าท่านสามารถปฏิบัติได้ การเดินทางของท่านย่อมมีแต่ความสะดวกสบายและไม่เหนื่อยอ่อนเพลีย หลังจากเดินทางครั้งนั้น

 

ข้อมูลสื่อ

111-019
นิตยสารหมอชาวบ้าน 111
กรกฎาคม 2531
บุคลิกภาพ
รศ.ประโยชน์ บุญสินสุข