• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ดูแล “ฟัน” ลูกน้อย



“ฟัน” เป็นอวัยวะสำคัญของร่างกาย ที่ปัจจุบันมีปัญหามากในเรื่องของ “ฟันผุ” และยังมีผู้ปกครองอีกมากที่เข้าใจว่า เรื่องของฟันนั้น หมอฟันหรือทันตแพทย์ต้องเป็นผู้ให้การดูแล ซึ่งเป็นการเข้าใจที่ไม่ถูกต้องนัก เพราะการดูแลเบื้องต้นเพื่อ “ป้องกันฟันผุ” นั้น เป็นเรื่องของพ่อ-แม่-ผู้ปกครอง โดยตรง
การดูแลฟัน มีความแตกต่างกัน ตามระยะของการมีฟัน สำหรับเด็กนั้น ฟันเริ่มสร้างตั้งแต่อยู่ในครรภ์ของผู้เป็นแม่ ระยะตั้งครรภ์ แม่จึงต้องกินอาหารประเภทเนื้อสัตว์ ไข่ นม ไขมัน ผัก ผลไม้ แป้งและน้ำตาล ให้ครบและเพียงพอ เพื่อสร้างฟันลูกให้แข็งแรง

เมื่อทารกเกิดควรให้ดื่มนมแม่ และระยะที่กินอาหารอื่น ๆ ได้ อาหารประเภทเนื้อสัตว์ ไข่ น้ำส้มคั้น น้ำมันตับปลา จะทำให้ฟันแข็งแรง เมื่อฟันน้ำนมขึ้น ให้ใช้ผ้าสะอาดนิ่ม ๆ ชุบน้ำเช็ดคราบฟันทุกซี่, ให้เด็กดื่มน้ำหลังดื่มนม หรือหลังกินอาหารทุก ๆ ครั้ง
เมื่อเด็กเริ่มใช้มือได้คล่อง หัดให้เด็กแปรงฟันเอง โดยสอนจับแปรงสีฟัน และแปรงให้ครบทุกซี่ ทุกด้านของฟัน เมื่อฟันน้ำนมขึ้นครบ 20 ซี่แล้ว ควรพาไปพบทันตแพทย์ เพื่อตรวจ และเคลือบฟลูออไรด์ป้องกันฟันผุให้ ระยะนี้เรื่องการฝึกนิสัยการบริโภค เป็นเรื่องสำคัญมาก ไม่ควรให้ลูกดูดนมขวดจนโต อาหารประเภททอฟฟี่ ลูกอม น้ำอัดลม ไม่ควรให้เด็กกิน ควรฝึกให้กินผลไม้แทนของหวาน

“การดูแลฟันแท้” ปฏิบัติเช่นเดียวกันกับฟันน้ำนม และควรพาลูกไปพบทันตแพทย์อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ยกเว้นถ้ามีฟันผุ ฟันเก สบฟันไม่ดี และเหงือกอักเสบ จะต้องพาไปปรึกษาตั้งแต่เริ่มพบปัญหา และไปรักษาตามเวลาที่ทันตแพทย์นัดเป็นระยะ ๆ
 

ข้อมูลสื่อ

112-015
นิตยสารหมอชาวบ้าน 112
สิงหาคม 2531
พยาบาลในบ้าน
ดร.จริยาวัตร คมพยัคฆ์