• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

อิริยาบถในวัยต่าง ๆ


อิริยาบถ คือ อาการเคลื่อนไหว เช่น นั่ง เดิน ยืน วิ่ง ทำงาน รวมทั้งการนอนด้วย คุณสมบัติของสิ่งมีชีวิตอย่างหนึ่งคือ การเคลื่อนไหว ดังนั้น ไม่ว่ากลางวันหรือกลางคืน ตื่นหรือนอนหลับ มนุษย์ย่อมจะต้องเคลื่อนไหวอยู่เสมอ

การเคลื่อนไหวเริ่มตั้งแต่ก่อนปฏิสนธิ จากตัวเชื้ออสุจิของฝ่ายชาย วิ่งเข้าสู่ไข่ที่เคลื่อนลงมาจากปีกมดลูก เมื่อเริ่มแบ่งตัวจนก่อเป็นรูป เป็นร่างมนุษย์แล้ว การเคลื่อนไหวจะเด่นชัดขึ้นเมื่อการมีครรภ์เข้าสู่เดือนที่ 5 ที่ 6 ตัวอ่อนในครรภ์จะยืดเส้นยืดสาย บิดขี้เกียจ โดยเหยียดงอแขนขา ขยับปาก หัวใจของตัวอ่อนจะเต้นอยู่ตลอดเวลา จนแพทย์สามารถเอาหูฟังตรวจ หัวใจของทารกในท้องแม่ได้ สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือ ตอนอยู่ในท้องกระดูกสันหลังของทารกจะมีลักษณะโค้ง เป็นรูปตัวซี (C) ซึ่งมีส่วนโค้งแอ่นไปข้างหลังเมื่อคลอดออกมาแล้ว ปอดจะขยายตัวออกทันที ทำให้ทารกร้องออกเป็นเสียงได้ จนกล่าวกันว่า พอออกจากท้องแม้มนุษย์ก็ปลงแล้วว่า จะต้องมาทนทุกข์ทรมานบนโลกนี้ จึงร้องไห้เสียงดัง
ถึงกระนั้นทารกที่ไม่ร้องไห้ ย่อมไม่ดีแน่ แพทย์ต้องเอาศีรษะลง และตบก้นให้ปอดขยายตัว และมีชีวิตได้ ทางกฎหมายจึงถือว่า ทารกนั้นได้เกิดเป็นบุคคลอีกคนหนึ่ง พ่อแม่ย่อมไม่มีสิทธิ์ไปทำลายชีวิตนี้ ได้อีกแล้ว

นอกจากกล้ามเนื้อของแขนขา จะเคลื่อนไหวได้ ทารกจะชูคอได้ในท่านอนคว่ำ กระดูกสันหลังจะเกิดส่วนโค้งขึ้นที่กระดูกคอ ส่วนโค้งนี้ แอ่นไปข้างหน้าทำให้เกิดเป็นส่วนโค้ง 2 แห่ง มีทิศทางแอ่นตรงข้ามกัน คือ กระดูกคอโค้งไปข้างหน้า กระดูกช่วงอกโค้งมาข้างหลัง
พึงสังเกตว่าทารกจะไม่ยอมอยู่นิ่ง ๆ เมื่อเวลาตื่นจะถีบขาตลอดเวลา เวลาหิว เวลาปัสสาวะรดที่นอน จะร้อง แม้แต่เวลานอนปากยังทำท่าขมุบเขมิบเหมือนดูดนม และขยับแขนขาไม่หยุดนิ่ง ทารกในวัยนี้จึงไม่มีปัญหาเรื่องปวดหลัง ปวดข้อ และปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เพราะการไหลเวียนของเลือดลมดีไม่คั่งค้าง เมื่อเด็กเริ่มคลานและนั่งได้ จะเกิดส่วนโค้งที่กระดูกสันหลังระดับบั้นเอวแอ่นไปข้างหน้า ทำให้มีส่วนโค้งเกิดขึ้นอีก 2 แห่ง คือ กระดูกบั้นเอวโค้งไปข้างหน้า กระดูกกระเบนเหน็บโค้งมาข้างหลัง
ส่วนโค้งทั้ง 4 นี้จะคงอยู่ตลอดเวลาในวัยอื่น ๆ ที่ตามมา และถ้าส่วนโค้งผิดจากรูปร่างเดิมไปไม่ว่าจะหายไปหรือโค้งมากเกินไป ล้วนเป็นต้นเหตุของอาการปวดหลัง ทั้งนี้ เนื่องจากพังผืดและกล้ามเนื้อของกระดูกสันหลังไม่สามารถรักษารูปทรงของส่วนโค้งเหล่านี้ได้ ซึ่งอาจเกิดจากการฉีกขาด การหดเกร็ง หรือการอยู่ในอิริยาบถที่ไม่ถูกต้องเป็นเวลานาน โดยเฉพาะในวัยที่กำลังพัฒนาเป็นผู้ใหญ่

เด็ก ๆ จะอยู่นิ่งไม่ได้แม้แต่นาทีเดียว การที่ผู้ใหญ่พยายามให้เด็กนั่งอยู่กับที่ กอดอก หรือให้อยู่เฉย ๆ ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก เสมือนหนึ่งจับปูใส่กระด้ง ดูเหมือนว่าช่วงเวลาที่อยู่นิ่งได้นานหน่อยคือ เวลานอนหลับ แต่ถึงกระนั้นเด็กจะนอนตกหมอน ตกเตียง ถีบผ้าห่ม เอะอะโวยวายทั้ง ๆ ที่อยู่ในความฝัน ทำนองเดียวกัน เด็กในวัยนี้จะไม่มีปัญหาของการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เจ็บปวดข้อต่อหรือปวดคอปวดหลัง เพราะมีโอกาสออกกำลังกายวิ่งเล่นอยู่ตลอดเวลา กล้ามเนื้อยืดหยุ่นไม่เกร็งแข็ง ข้อต่อคล่องแคล่วไม่ติดขัด เลือดลมดี ไม่มีอาการเป็นเหน็บจากการขาดเลือด ผู้ใหญ่จึงไม่ควรเอาแต่ออกคำสั่งว่า อยู่นิ่ง ๆ หรือขู่จะทำโทษเมื่อเด็กวิ่งไปมาไม่ยอมนั่งเฉย ๆ เพราะเป็นธรรมชาติของเด็ก ที่ต้องขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา และเป็นผลดีต่อการพัฒนากล้ามเนื้อ กระดูก ข้อต่อ รวมทั้งระบบประสาทของเด็กด้วย

เมื่อเข้าสู่วัยหนุ่มสาว การวิ่งเล่นลดน้อยลงต้องคร่ำเครียดกับการเรียนหนังสือ ทำการบ้าน เตรียมสอบ ต้องนั่งอยู่กับที่เพื่อฟังคำบรรยาย ดูหนังสือวันละหลาย ๆ ชั่วโมง จนเกิดอาการเหน็บชาและปวดเมื่อย ทั่วทั้งร่างกาย และเริ่มมีอาการปวดคอปวดหลังซึ่งเป็นผลจากท่าทางที่ไม่ถูกต้อง เช่น นั่งก้มศีรษะ อ่านหนังสือในท่านอนคว่ำ นั่งตัวเบี้ยว หิ้วกระเป๋าที่หนักกว่ากำลังของตัวเองทำให้หลังเบี้ยว หลังคด
อย่างไรก็ตาม การที่วัยหนุ่มสาวเล่นกีฬา สนุกสนานกับการเต้นรำ ดิสโก้ เพื่อให้ร่างกายเกิดการเคลื่อนไหวได้เต็มที่ย่อมไม่ใช่สิ่งเลวร้ายเสียหมดอย่างที่พ่อแม่คิด แต่เป็นการเคลื่อนไหวข้อต่อ ยืดหดกล้ามเนื้อ สูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ทั่วถึง เผาผลาญออกซิเจนเพื่อให้เกิดพลังงานได้สูงสุด ในวัยนี้จึงเป็นจุดสูงสุดของการเคลื่อนไหว โดยเฉพาะในการกีฬาที่เกี่ยวกับความเร็ว แต่มักจะเมื่อยล้าได้ง่าย การประสานงานของทุกส่วนของร่างกายซึ่งควบคุมโดยระบบประสาทอยู่ในเกณฑ์ดีมาก การพัฒนาของร่างกายที่เติบโตเต็มที่ ทำให้เป็นผู้ใหญ่ที่แข็งแรงและมีสุขภาพสมบูรณ์

ย่างเข้าสู่วัยกลางคน การเคลื่อนไหวลดน้อยลงมาก โดยเฉพาะคนที่มีอาชีพต้องนั่งหรือยืนทั้งวัน จะมีอาการปวดคอ ปวดหลัง ปวดข้อต่อ ปวดกล้ามเนื้อมาก การทำงานสามารถทำไปได้เรื่อย ๆ เพียงแต่ไม่ว่องไว และไม่มีกำลังเหมือนตอนยังอยู่ในวัยหนุ่มสาว นอกจากนั้น เวลาตื่นนอนเริ่มรู้สึกเป็นเหน็บตามแขนขา เพราะนอนทับอยู่เป็นเวลานานเกินไป กอปรกับความตึงของกล้ามเนื้อลดน้อยลง อิริยาบถของวัยกลางคน จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา โดยพยายามเปลี่ยนท่าทางทุกครึ่งชั่วโมง เช่น ทุก 30 นาที ให้ลุกขึ้น เดินไปมา ยืดเส้นยืดสาย หายใจเต็มปอด 3-4 ครั้ง ควรนอนบนพื้น เตียงนอนที่มีความแน่นมาก เพื่อเคลื่อนไหวร่างกายได้สะดวก ไม่ใช่จมลงไปในที่นอน การนอนพื้นย่อมดีกว่าเบาะนอนที่หนา เพราะกลิ้งไปมาได้ง่าย ไม่ร้อนและหลังจะตรง ทำให้ไม่ปวด เมื่อตื่นนอน ทำนองเดียวกัน เวลานั่งเก้าอี้ พื้นเก้าอี้ควรจะแน่นและแข็งพอสมควร เพื่อยืดตัวให้นั่งตรงได้ เก้าอี้โซฟา หรือเก้าอี้ภายในรถยนต์ มักออกแบบไม่เหมาะกับรูปร่างของคนไทย ทำให้นั่งไม่สบายและปวดหลังได้เมื่อนั่งเป็นเวลานาน วัยกลางคนควรเดิน หรือวิ่งทุกวัน และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

วัยสูงอายุ มักเป็นวัยที่เกิดการเคลื่อนไหวได้น้อยมาก เมื่อนั่งอยู่ตรงไหนจะนั่งนิ่ง ๆ กลางคืนก่อนนอนอยู่ในท่าไหน ตื่นขึ้นก็อยู่ในท่านั้น ทำให้ปวดไหล่ ปวดคอ ปวดหลัง เมื่อเวลาตื่นนอน ข้อเล็ก ๆ ตามมือและนิ้วจะติดขัด ตึง แข็ง และเหยียดไม่ออก เส้นเอ็นและพังผืดมีแนวโน้มจะหดรั้งเข้ามาจนเหยียดข้อไม่ออก เนื่องจากขาดการเคลื่อนไหวข้อต่อเหล่านั้น ที่ร้ายแรงคือ ในผู้ที่เป็นเบาหวาน หรือเส้นเลือดขอด มักเกิดแผลกดทับหรือแผลเรื้อรังได้จากความบกพร่องของระบบไหลเวียน
ผู้สูงอายุจึงควรลุกขึ้นเดินบ่อย ๆ แต่ไม่ต้องเดินนานเป็นชั่วโมง ขยับแขนขาเป็นครั้งคราว เช่น แกว่งแขนไปมา เตะขาไปมา (ในประเทศจีนมีการส่งเสริมสุขภาพของผู้สูงอายุ โดยให้เล่นลูกกลมโลหะ 2 ลูก ขนาดใหญ่กว่าลูกปิงปองเล็กน้อยในอุ้งมือ ซึ่งเป็นการช่วยลดการติดขัดของข้อต่อของนิ้วมือได้เป็นอย่างดี) เวลานอนอาจปูผ้านวมหนาประมาณครึ่งนิ้วบนพื้นไม้หรือปูเสื่อ เพื่อไม่ให้ความเย็นของพื้นทำให้ร่างกายสูญเสียความร้อนไป หรืออีกนัยหนึ่ง ร่างกายสูญเสียพลังงานให้กับพื้นไป เวลานอนทุกครั้งที่รู้สึกตัวควรขยับตัวและเปลี่ยนท่านอน เช่น จากท่านอนหงาย เป็นนอนตะแคงขวา หรือตะแคงซ้าย ผู้สูงอายุไม่ควรนอนคว่ำเป็นเวลานานจะทำให้หายใจลำบาก เมื่อตื่นนอนอย่ารีบลุกลงจากเตียงหรือลุกขึ้น ควรบริหารมือและเท้าก่อนเพื่อให้การไหลเวียนดีขึ้น จึงค่อยลุกขึ้นจากที่นอน มิฉะนั้นแล้ว หลายท่านจะรู้สึกเจ็บปวดที่ส้นเท้า จนแทบเดินไม่ได้ หรือข้อนิ้วติดขัดได้
ตามที่ได้กล่าวมาข้างต้นนี้ ย่อมประจักษ์ให้เห็นว่าอาการเคลื่อนไหว เป็นสิ่งสำคัญสำหรับทุกวัยของมนุษย์ ตราบใดที่มนุษย์เริ่มอยู่นิ่ง ตราบนั้นเราย่อมย่างสู่ความเป็นสิ่งไม่มีชีวิตมากขึ้น

ดังนั้น เพื่อให้มีสุขภาพดี สมบูรณ์และมีชีวิตที่ไร้โรคา ต้องเคลื่อนไหวทุกส่วนของร่างกายอยู่ตลอดเวลาไม่ว่าอยู่ในท่าทางใดก็ตาม

 

ข้อมูลสื่อ

112-029
นิตยสารหมอชาวบ้าน 112
สิงหาคม 2531
บุคลิกภาพ
รศ.ประโยชน์ บุญสินสุข