• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การแพทย์แนวพุทธ

 

ในวันที่ 4-7 เมษายน 2532 จะมีการประชุมวิชาการพฤติกรรมสุขภาพระดับชาติ ที่สถาบันพัฒนาการสาธารณสุขอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล ณ ศาลายา จัดโดยโครงการข่ายงานวิจัยพฤติกรรมสุขภาพ โดยมีดร. ทวีทอง พงษ์วิวัฒน์ เป็นประธานคณะกรรมการดำเนินงาน ในการประชุมครั้งนี้ พระเทพเวที (ประยุทธ ปยุตฺโต) ได้รับอาราธนาให้แสดงปาฐกถานำในหัวข้อเรื่อง “การแพทย์แนวพุทธ”
ก็ยังไม่ทราบว่าท่านจะพูดอย่างไรบ้าง แต่ก็น่าจะเป็นเรื่องที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ใครที่รู้จักงานของพระเทพเวทีก็คงจะทราบว่าท่านสามารถค้นคว้าได้ลึกซึ้งเพียงใด จึงเป็นเรื่องที่ควรจะให้ความสนใจสดับตรับฟัง และนำมาวิพากษ์วิจารณ์ดู

ตามคำจำกัดความขององค์การอนามัยโลก สุขภาพหมายถึง สุขภาวะทางกาย ทางจิต และทางสังคม ที่สมบูรณ์ สุขภาวะทางกายมีผลต่อจิตและสังคม สุขภาวะทางจิตมีผลต่อกายและสังคม สุขภาวะทางสังคมมีผลต่อกายและจิต ถ้าพูดถึงสุขภาวะทางจิตที่สมบูรณ์แล้ว คงยากที่จะหาผู้ใดมีสุขภาวะทางจิตที่สมบูรณ์ได้ แต่วิธีการของพระพุทธเจ้าทำให้บรรลุสุขภาวะทางจิตอย่างสมบูรณ์ได้จริง ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างเหลือหลายต่อสุขภาวะทางกายและทางสังคม
ขณะที่การแพทย์แผนปัจจุบันเพิ่งรู้จักโรคทางกายที่เกิดแต่จิต เช่น ความดันเลือดสูง โรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน แผลในกระเพาะอาหาร และอื่น ๆ เมื่อไม่นานมานี้ พระพุทธองค์ทรงสอนวิธีทำให้เกิดสุขภาวะทางจิตอย่างสมบูรณ์เมื่อกว่า 2,500 ปีมาแล้ว

ในการทำอะไร ๆ สมัยใหม่อย่าดูถูกภูมิปัญญาดั้งเดิม จริงอยู่เราควรศึกษาวิชาการสมัยใหม่ให้มาก แต่ควรนำมาใช้ในลักษณะผสานกับของเก่า หรือเสริมฐานเก่า มิใช่นำมาใช้อย่างไม่มีฐาน ในการพัฒนาเพื่อความทันสมัยที่แล้วมา ทำกันแบบทุบฐานเดิม จึงเกิดความสับสนวุ่นวายและไหวคลอน เพราะอะไรที่ไม่มีฐานย่อมโยกคลอน และพังได้ง่าย
ขณะนี้มีการพูดถึง ภูมิปัญญาท้องถิ่น หรือ ภูมิปัญญาชาวบ้าน กันมากขึ้น ซึ่งเป็นของที่ทิ้งไม่ได้ในการพัฒนา ยิ่งภูมิปัญญาที่มาจากบุคคลผู้ทรงปัญญาสูงสุดของโลกอย่างพระพุทธเจ้า ซึ่งเรียกว่าพุทธภูมิแล้ว สมควร หรือที่คนสมัยใหม่จะทุบทิ้ง

หากการแพทย์มีเพียงโรงพยาบาล หมอ และยา ฐานจะแคบมาก หากเข้าใจเรื่องที่นำมาพูดกันในการประชุมวิชาการพฤติกรรมสุขภาพ ก็จะขยายการแพทย์และสาธารณสุขออกไปได้อย่างกว้างขวาง
ยิ่งหากทำความเข้าใจในธรรมโอสถ กันมากเท่าใด จะยิ่งทำให้สุขภาพจิตดียิ่งขึ้น ทั้งสำหรับประชาชน แพทย์โดยทั่วไป และจิตแพทย์ด้วย
 

ข้อมูลสื่อ

120-001
นิตยสารหมอชาวบ้าน 120
เมษายน 2532
ศ.นพ.ประเวศ วะสี