• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ตะกั่วเป็นพิษ

“หมอกับชาวบ้านแม้จะเป็นคนไทยเหมือนกัน แต่หมอก็มีวัฒนธรรมแบบหมอ ๆ และชาวบ้านก็มีวัฒนธรรมแบบชาวบ้าน ๆ วัฒนธรรมในที่นี้ หมายถึง ความรู้ ความเข้าใจ ความเชื่อ ค่านิยม ความถนัด ความเคยชิน ธรรมเนียมปฏิบัติ รวมทั้งภาษาในการสื่อสาร “พูดจาภาษาหมอ” มิเพียงแต่เป็นเรื่องของการอธิบายศัพท์เกี่ยวกับสุขภาพเท่านั้น แต่ยังมุ่งหมายให้เป็นสะพานเชื่อมระหว่างวัฒนธรรมย่อยสองระบบเข้าด้วยกัน เพื่อให้เกิดการสื่อสารที่ดีขึ้นระหว่างหมอกับชาวบ้าน
หากผู้อ่านมีข้อเสนอแนะประการใด ก็โปรดเขียนถึงคอลัมน์นี้ได้เลยครับ”


รัฐบาลอนุมัติให้สร้างทางด่วนคร่อมคลองประปา”

“แพทย์ นักวิชาการ สหภาพแรงงานการประปานครหลวง นิสิตนักศึกษา คัดค้านกานสร้างทางด่วนคร่อมคลองประปา ด้วยเกรงว่าจะเกิดปัญหาตะกั่วเป็นพิษ”

นี่คือข่าวที่ขึ้นหน้าหนังสือพิมพ์ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2532
การสร้างทางด่วนเป็นสิ่งจำเป็นในการแก้ปัญหาการจราจรในกรุงเทพมหานครแต่ถ้าจะให้ทางด่วนคร่อมอยู่เหนือคลองประปา ก็กลัวว่าจะมีสารตะกั่วตกลงมาในคลองประปา
ทั้งนี้ เพราะน้ำมันเบนซินที่ใช้กันในบ้านเรานั้นมีสารตะกั่วเจอปนอยู่ ซึ่งเมื่อผ่านการเผาไหม้ในเครื่องยนต์ สารตะกั่วสามารถออกมาทางไอเสียได้ถ้ามีทางด่วนคร่อมอยู่เหนือคลองประปา รถราที่วิ่งไปมาก็จะปล่อยสารตะกั่วตกลงมาในคลองประปาที่อยู่ข้างใต้ เจือปนอยู่ในน้ำที่ใช้เป็นน้ำประปา ส่งไปตามบ้านทุกบ้านก็เท่ากับว่าชาวเมืองหลวง 5-6 ล้านคน จะได้บริโภคน้ำประปาที่มีสารตะกั่วแถมให้ฟรี ๆ
ในทางการแพทย์พบว่า สารตะกั่วสามารถสะสมในร่างกายจนกลายเป็นพิษได้ เรียกว่า “โรคตะกั่วเป็นพิษ” (lead poisoning)นี่คือข้อที่ประชาชนกลุ่มต่างๆรู้สึกปริวิตก และเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนดูให้ดีๆอีกครั้ง (แม้ว่าทางรัฐบาลได้ยืนยันถึงความปลอดภัยแล้วก็ตาม)
เชื่อว่าก่อนที่จะลงมือสร้างทางด่วนกันจริง ๆ ทุก ๆ ฝ่ายคงจะได้ร่วมกันพิจารณาหาหนทางที่เหมาะสม เพื่อให้ได้ทั้งความสะดวกในการจราจร และสวัสดิภาพของชาวเมืองหลวง พูดจาภาษาหมอฉบับนี้จึงขอพูดจาเรื่อง “ตะกั่วเป็นพิษ” กันดีไหมครับ

คำว่า “ตะกั่วเป็นพิษ” (lead poisoning) ทางการแพทย์หมายถึง โรคที่เกิดจากการสะสมสารตะกั่วในร่างกายมากเกินขีดความปลอดภัย
คนที่จะเป็นโรคนี้ได้ ก็ต้องได้รับสารตะกั่วเข้าร่างกายมากผิดปกติ อาจจะโดยการกิน สูด หรือสัมผัสสารตะกั่วจำนวนมาก หรือเป็นประจำ เช่น คนที่ทำงานในโรงงานแบตเตอรี่ที่ใช้สารตะกั่วเป็นตัวประกอบสำคัญ ถ้าหากขาดมาตรการป้องกัน ก็อาจได้รับสารตะกั่วเข้าไปจนเป็นพิษได้
สีทาบ้านหรือสีที่ใช้ทาของเล่น ก็มีสารตะกั่วเจือปนอยู่ ถ้าเด็กเล็ก ๆ แกะเอาสีนี้ไปกิน (จะด้วยความเผอเรอ หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็แล้วแต่) ก็อาจเป็นโรคตะกั่ว เป็นพิษได้ พิษจากตะกั่วจะทำลายระบบเลือด ทำให้เกิดอาการซีดเลือดจาง อาจทำลายปลายประสาท ทำให้ปลายมือปลายเท้าอ่อนแรงเป็นอัมพาต เดินขาปัด ที่ร้ายแรงก็คือ จะทำลายสมอง (ซึ่งมักจะเกิดกับเด็กเล็กมากกว่าผู้ใหญ่) ทำให้เกิดอาการเดินเซ อาเจียน ซึม เพ้อ ถ้ารุนแรงก็อาจจะทำให้ชัก หมดสติ ถึงตายได้ ถ้าไม่ตาย ก็ทำให้สมองพิการ ปัญญาอ่อน ในรายที่รับพิษตะกั่วเรื้อรัง อาจมีอาการอ่อนเพลีย ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ หงุดหงิด เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ปวดตามข้อและกล้ามเนื้อ ขาเป็นตะคริว
 

เมื่อหลายปีก่อน มีชาวบ้านที่มีอาชีพเคี่ยวน้ำตาลขาย เกิดมีอาการเดินเซ เพ้อ ชัก พร้อมกันหลายคน แพทย์ตรวจพบว่าเป็นอาการของโรคตะกั่วเป็นพิษ เมื่อสอบถามดู จึงรู้ว่า ชาวบ้านกลุ่มนี้ใช้เปลือกแบตเตอรี่เป็นเชื้อเพลิงเคี่ยวน้ำตาล จึงสูดเอาไอพิษของตะกั่วเข้าไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์โรคประหลาดในทำนองเดียวกัน ก็พบระบาดในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ที่ชานกรุงเทพมหานคร สาเหตุเกิดจากชาวบ้านเอาเปลือกแบตเตอรี่มาปูลาดเป็นทางเดิน ผู้คนที่สัญจรไปมาก็รับสารตะกั่วไปทุกวัน ๆ จนเป็นพิษกันเป็นแถว
ในหมู่บ้านชนบทแห่งหนึ่ง มีข่าวลือเรื่องสระน้ำผีสิง เรื่องของเรื่อง ก็มีอยู่ว่า ผู้คนที่ดื่มน้ำในสระแห่งนี้ เป็นประจำจะมีอาการแปลก ๆ บ้าง ก็ชัก บ้างก็มีอาการคล้ายคนเสียสติ ในที่สุดก็พบว่าเกิดจากน้ำในสระแห่งนี้มีสารตะกั่วในปริมาณที่เป็นพิษนี่เอง

จะเห็นว่าตะกั่วเป็นสารพิษร้ายแรงต่อร่างกายมากมายทีเดียว แต่อย่างไรก็ตาม คนที่เป็นโรคนี้ถ้าสามารถมาหาหมอแต่เนิ่น ๆ ก็ยังมีทางเยียวยาให้หายได้ ยังมี “โรคตะกั่วเป็นพิษ” อีกความหมายหนึ่ง ซึ่งชาวบ้านนิยมเรียกกัน นั่นคือพิษจากลูกตะกั่วที่ลั่นจากกระบอกปืน หรือ “ไข้โป้ง” ใครเป็นโรคนี้ไม่เข้าวัด (เผา) ก็ต้องเข้านอนโรงพยาบาล (ผ่าตัดรักษาบาดแผล)
ก็หวังว่ากรณีโต้แย้งเรื่องทางด่วนคร่อมคลองประปา คงจะไม่นำไปสู่โรคตะกั่วเป็นพิษในความหมาย อันหลังนี้เป็นแน่ !
 

ข้อมูลสื่อ

119-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 119
มีนาคม 2532
พูดจาภาษาหมอ
ภาษิต ประชาเวช