• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ไข้

 

“หมอกับชาวบ้านแม้จะเป็นคนไทยเหมือนกัน แต่หมอก็มีวัฒนธรรมแบบหมอ ๆ และชาวบ้านก็มีวัฒนธรรมแบบชาวบ้าน ๆ วัฒนธรรมในที่นี้ หมายถึง ความรู้ ความเข้าใจ ความเชื่อค่านิยม ความถนัด ความเคยชิน ธรรมเนียมปฏิบัติ รวมทั้งภาษาในการสื่อสาร “พูดจาภาษาหมอ” มิเพียงแต่เป็นเรื่องของการอธิบายศัพท์ที่เกี่ยวกับสุขภาพเท่านั้น แต่ยังมุ่งหมายให้เป็นสะพานเชื่อมระหว่างวัฒนธรรมย่อยสองระบบเข้าด้วยกัน เพื่อให้เกิดการสื่อสารที่ดีขึ้นระหว่างหมอกับชาวบ้าน หากผู้อ่านมีข้อเสนอแนะประการใด ก็โปรดเขียนถึงคอลัมน์นี้ได้เลยครับ” 

 

ฉบับที่แล้ว เขียนเกี่ยวกับเรื่องของ “ปุ๋ยฟีเวอร์”
ก็พลอยทำให้ติดพันมาถึงฉบับนี้ เพราะคำว่าฟีเวอร์ (fever) นอกจากแปลว่า คลั่งไคล้ ตื่นเต้นแล้ว ภาษาหมอยังหมายถึง “ไข้” โดยเฉพาะอีกด้วย
คำว่าไข้ สำหรับคนไทยบางครั้งก็อาจตีความสับสนกันได้ ดังตัวอย่างการสนทนาต่อไปนี้

“คุณลุงมาหาหมอเป็นอะไรครับ ?” หมอถาม

“ก็เป็นไข้นะซิ” ลุงตอบ

“มันมีอาการอย่างไรบ้างครับ?”

“ก็รู้สึกปวดหัว อ่อนเพลีย ใจสั่น” ลุงตอบ

“แล้วลุงรู้สึกมีอาการตัวร้อน ครั่นเนื้อครั่นตัวหรือเปล่าครับ ?” หมอซักอีก

“ไม่มีหรอก ตัวเย็นเป็นปกติธรรมดา” ลุงตอบ

“อ้าว ! แล้วทำไมลุงจึงบอกว่า เป็นไข้ล่ะครับ ?” หมอชักงง

“โธ่ ก็คนแถวบ้านลุงนะ เวลามีอาการไม่สบายอะไร เขาก็เรียกว่า เป็นไข้กันทั้งนั้นแหละ


คำว่า “ไข้” จึงอาจมีความหมายได้ 2 อย่าง
อย่างแรก เป็นภาษาหมอโดยเฉพาะ หมายถึง อาการตัวร้อนเป็นไข้ คืออุณหภูมิของร่างกายขึ้นสูงกว่าปกติ หมอจะรู้ได้แน่ชัดก็โดยการใช้ปรอทวัดไข้ ส่วนชาวบ้านก็อาจจะตรวจด้วยการใช้หลังมือคลำหน้าผาก ดูว่ารู้สึกร้อนผิดคนอื่นหรือไม่
คนที่เป็นไข้ตัวร้อน มักจะมีอาการครั่นเนื้อครั่นตัว หนาว ๆ ร้อน ๆ ปวดเมื่อยตามตัว ปวดศีรษะ หรือเบื่ออาหารร่วมด้วย ไข้ตัวร้อนมีสาเหตุจากโรคติดเชื้อเป็นส่วนใหญ่ เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก หัด คางทูม วัณโรค ไข้รากสาด มาลาเรีย เป็นต้น แต่บางคนก็อาจมีสาเหตุจากมะเร็ง หรือโรงบางอย่างที่เกี่ยวกับภูมิแพ้ หรือสาเหตุอื่น ๆ ก็ได้

ส่วนความหมายอย่างที่ 2 นั้น หมายถึง อาการไม่สบายทั่วไป โดยไม่จำเพาะเจาะจงว่าจะต้องมีอาการตัวร้อนร่วมด้วย มักเป็นภาษาที่ใช้กันในหมู่ชาวบ้าน เช่น เจ็บไข้ได้ป่วย (ไม่สบาย) ไข้ใจ (ความระทมใจ เนื่องจากผิดหวังในความรัก) ไข้โป้ง (ถูกยิง) เป็นต้น
แต่อย่างไรก็ตาม เวลาไปโรงพยาบาล ถ้าหมอถามว่า “มีไข้ไหม” หรือ “เป็นไข้ด้วยไหม ?” ก็ต้องเข้าใจว่าหมอเขาถามว่า “ตัวร้อนไหม!”  ขืนตอบแบบคุณลุงข้างต้น มีหวังหมอจะต้องคว้ายาแก้ปวดมาให้กินแก้ “ไข้ปวดหัว” (อาการปวดหัว ไม่สบาย ตามความหมายของคุณลุง) !
 

ข้อมูลสื่อ

117-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 117
มกราคม 2532
พูดจาภาษาหมอ
ภาษิต ประชาเวช