• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

สัตว์และแมลงมีพิษ : การปฐมพยาบาล (ตอนที่ 1)


บ้านเราเป็นประเทศอยู่ในโซนร้อน ภูมิอากาศจึงเหมาะสมกับการมีสัตว์และแมลงมีพิษหลายชนิด จะเห็นว่าแม้บ้านเรือนจะไม่ตั้งอยู่ในที่รก ก็ยังสามารถพบสัตว์และแมลงมีพิษที่เราคุ้นเคยกัน ได้แก่ งูพิษ แมงป่อง ตะขาบ ผึ้ง ต่อ แตน มดตะนอย รวมทั้งมดคันไฟตัวโต ๆ สัตว์และแมลงดังกล่าว ถ้าต่อยหรือกัด จะปล่อยสารพิษที่อยู่ในตัวของมันเข้าสู่ร่างกายทำให้เจ็บปวด ที่สำคัญพิษเหล่านี้ทำลายเซลล์ต่าง ๆ ของร่างกายอาจรุนแรงถึงแก่ชีวิต

ดังนั้น การปฐมพยาบาล จึงมีความจำเป็นต่อการ “ลดการเจ็บปวด” และ ”ลดความเป็นพิษ” ก่อนที่จะได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง
ประการสำคัญของการปฐมพยาบาลเมื่อถูกสัตว์และแมลงมีพิษ กัดหรือต่อย ถ้าทราบว่า เป็น ตัวอะไร ชนิดไหน และไม่ตกใจ จะทำให้การดูแลช่วยเหลือได้รับผลดีอย่างเต็มที่ “การสอน” ให้ลูกหลานหลีกเลี่ยงสัตว์และแมลงมีพิษ รวมทั้งชี้แนะให้ปฐมพยาบาลเบื้องต้นด้วยตนเอง จะนำมาซึ่งความปลอดภัยแก่ชีวิต

การหลีกเลี่ยงสัตว์และแมลงมีพิษให้ปฏิบัติดังนี้
1. ใส่รองเท้าเวลาออกนอกบ้านทุกครั้ง
2. เดินบนเส้นทางเดินเท้าที่มีอยู่ แต่ถ้ามีความจำเป็นต้องเดินในที่รก ให้ถือไม้และฟาดทางนำหน้าไปก่อน เป็นการไล่สัตว์หรือแมลงเหล่านั้น
3. ไม่ซุกซนไล่จับหรือตีแมลงต่าง ๆ หรือล้วงเข้าไปตามซอก ตามโพรง
4. ถ้าพบรังผึ้ง ต่อ แตน ควรหลีกเดินไปไกล ๆ และบอกให้ผู้ใหญ่ทราบ
5. ไม่ควรเล่นซ่อนแอบ หรือซ่อนหาตามพุ่มไม้ ข้างตุ่มน้ำ และบริเวณที่รกรุงรัง

 

ข้อมูลสื่อ

117-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 117
มกราคม 2532
พยาบาลในบ้าน
ดร.จริยาวัตร คมพยัคฆ์