• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เด็กสี่ขวบ ถึงห้าขวบ

 

                               

 

 

การเลี้ยงดู

 
347. อาหารสำหรับเด็กวัยนี้
น้ำหนักของเด็กวัย 4-5 ขวบเพิ่มช้ากว่าสมัยยังเป็นเด็กอ่อนมาก ช่วงระยะหนึ่งปีจะเพิ่มประมาณ 1.5-2 กิโลกรัม เฉลี่ยเป็นเดือนแล้ว น้ำหนักเพิ่มเท่ากับนมหนึ่งกล่องเท่านั้นเอง เวลาชั่งน้ำหนักหากไม่กำหนดว่าชั่งก่อนหรือหลังมื้ออาหาร บางเดือนตัวเลขน้ำหนักอาจไม่ขึ้นเลย โดยเฉพาะช่วงฤดูร้อน ซึ่งเด็กกินได้น้อยลง เมื่อน้ำหนักลูกไม่เพิ่ม คุณแม่ก็กลุ้มใจ กลัวว่าลูกจะได้รับอาหารไม่เพียงพอ อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คุณแม่ “ประสาท” เกี่ยวกับปริมาณการกินของลูกคือ เมื่อเด็กอายุเกิน 4 ขวบ คุณแม่ก็บังคับให้ลูกกินดังเช่นแต่ก่อนไม่ได้อีกต่อไป อยากเห็นลูกกินข้าวหมดชาม ลูกกลับกินเหลือกว่าครึ่งชาม ไม่ค่อยได้ดังใจ  เด็กวัยนี้น้ำหนักตัวเพิ่มเพียงเดือนละหนึ่งกล่องนม ปริมาณอาหารที่กินจึงไม่เพิ่มมากนัก หากระวังเรื่องขนมระหว่างมื้อ ไม่ให้มากเกินไปและดูให้เด็กได้ออกกำลังกายอย่างเพียงพอ เรื่องกินมากกินน้อยคุณแม่ไม่จำเป็นต้องห่วงเลย

ตัวอย่างอาหารของเด็กวัยนี้
7.00 น. ตื่นนอน
7.30 น. นม 1 กล่อง ขนมปัง 1 แผ่น หรือข้าวต้ม 1 ถ้วย ไส้กรอก หรือหมูหยองเล็กน้อย
11.00 – 12.00 น. ข้าว 1 ถ้วย กับไข่เจียว 1 ฟองครึ่ง และแกงจืดผักหรือก๋วยเตี๋ยว 1 ชาม กับผลไม้
15.00 น. ผลไม้ นม 1 กล่อง
18.00 น. ข้าว 1 ถ้วย ปลา (ปริมาณเกือบเท่าผู้ใหญ่) ผัก
20.00 น. กล้วย 1 ลูกหรือโยเกิร์ต 1 ถ้วย
เมื่อถึงเวลาอาหารเด็กวัยนี้จะอิดเอื้อนไม่ยอมกินสักที บางคนก็เล่นกับเพื่อนเพลิน บางคนก็ติดรายการโทรทัศน์ แต่การปล่อยให้ดูโทรทัศน์ไปพลาง กินอาหารไปพลางนั้น เป็นอุปนิสัยที่ไม่ดี
เวลากินอาหารควรเป็นเวลาที่เด็กมีความสุข ไม่ควรดุว่าหรือบ่นจู้จี้จุกจิก เพราะจะทำให้เด็กหมดความอยากอาหารไปเลย

 

 

 
 
348. ขนมสำหรับเด็กวัยนี้
เด็กวัยนี้มีน้อยมากที่กินแต่อาหารหลัก 3 มื้อ โดยไม่กินขนมระหว่างมื้อเลย เด็กส่วนใหญ่ชอบกินขนมระหว่างกินข้าว ถ้าปล่อยตามใจเด็ก คุณแม่ก็คงต้องมานั่งกลุ้มใจว่า ทำไมลูกไม่ยอมกินข้าว ดังนั้นจึงควรกำหนดเวลาและปริมาณขนมที่ให้
สำหรับเด็กที่ไปโรงเรียนอนุบาล ทางโรงเรียนมีขนมมื้อบ่ายให้แล้วก็จริง แต่เมื่อกลับถึงบ้านเด็กมักร้องขอขนมอีก บางบ้านก็แก้ปัญหาโดยการให้เด็กกินอาหารมื้อเย็นตั้งแต่ตอน 5 โมง และให้ของว่างอีกครั้งประมาณ 1-2 ทุ่มก่อนนอน ซึ่งควรจะเป็นผลไม้หรือของไม่หวาน และให้เด็กแปรงฟันก่อนนอนทุกวันด้วย

 

 

 

349. นิสัยในการนอน
นิสัยในการนอนตอนกลางคืนนั้นขึ้นอยู่กับลักษณะเฉพาะของเด็กแต่ละคนมากกว่าการฝึกของคุณแม่ เด็กบางคนพอหัวถึงหมอนก็นอนหลับภายในเวลาไม่ถึง 5 นาที คุณแม่จึงสบาย ไม่มีปัญหายุ่งยากเวลาลูกเข้านอน เด็กบางคนก็ใช้เวลานานมากกว่าจะหลับ โดยเฉพาะเด็กที่อารมณ์ไม่ดีเวลาง่วงนอน ก่อนจะหลับทุกคืน ต้องร้องไห้โยเยสักยกหนึ่งก่อน ทำความเดือดร้อนให้พ่อแม่พอสมควร แต่แกไม่ใช่เด็กมีปัญหา เป็นเพียงเด็กนอนยากเท่านั้นเอง
สำหรับเด็กนอนมาก กว่าจะนอนหลับต้องใช้เวลานาน จึงต้องประกอบกิจกรรมต่าง ๆ ไปด้วย เช่น อมมือ ดูดนิ้ว กอดตุ๊กตา ดูดชายห่มผ้า ดูดขวดนม เป็นต้น บางคนก็ขอให้แม่อยู่ด้วยและจับมือแม่เอาไว้ จนหลับ เด็กนอนยากต้องการให้แม่อยู่ด้วยข้าง ๆ ก่อนนอนเพื่อความสบายใจ ดังนั้นแทนที่จะปล่อยให้ลูกดูดนิ้วหรือดูดผ้าห่มอยู่ตามลำพัง คุณแม่ควรจะมาอยู่ใกล้ ๆ อ่านหนังสือให้ฟังจนกระทั่งลูกหลับไปด้วยความเพลิดเพลินจะดีกว่า เด็กบางคนชอบให้อ่านหนังสือเล่มเดียวกันเรื่องเดียวกันเป็นเครื่องกล่อมนอนทุกคืน บางครั้งคุณแม่อ่านผิดแกก็จะทักท้วงเพราะแกจำได้จนขึ้นใจแล้ว หากเกิดเหตุการณ์เช่นนี้บ่อย ๆ แกอาจจะขอให้คุณแม่อ่านผิด ๆ เพราะอยากแก้คำผิด

ถ้าเด็กใช้เวลาเป็นชั่วโมงกว่า จะนอนหลับทุกคืน ควรพิจารณาว่า ว่าเด็กออกกำลังกายน้อยไป หรือเอาเข้านอนเร็วเกินไปหรือไม่
 

( อ่านต่อฉบับหน้า )

 

ข้อมูลสื่อ

117-013
นิตยสารหมอชาวบ้าน 117
มกราคม 2532