• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรคนักบิด

 

คอลัมน์นี้ได้รับความร่วมมือกับชมรมเวชศาสตร์ป้องกันแห่งประเทศไทย นับเป็นครั้งแรกที่เราจะนำความรู้เกี่ยวกับสถานการณ์ของโรคต่าง ๆ ในประเทศไทยลงตีพิมพ์ติดต่อกัน โดยจะครอบคลุมไปถึงลักษณะของโรคที่ควรรู้ในฤดูกาลต่าง ๆ กัน ตลอดจนวิธีการป้องกันโรคนั้น ๆ ด้วยโดยหวังว่าความรู้เหล่านี้จะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชุมชน เป็นการเสริมทรัพยากรระหว่างภาค รัฐและเอกชนเพื่อควบคุมและป้องกันโรคหากท่านผู้อ่านมีข้อสงสัยประการใดเกี่ยวกับบทความ หรือมีคำถามเกี่ยวกับวิธีการควบคุมและป้องกันโรคใด ๆ ก็ตามกรุณาเขียนถามมาได้

ผมตั้งใจจะเขียนถึง “โรคนักบิด” หลายครั้งแล้ว แต่ก็ลังเลใจว่าจะเขียนดีหรือไม่ เพราะหลายท่านอาจเห็นว่า เป็นเรื่องเชย ๆ รู้ ๆ กันอยู่แล้ว ทำไมต้องมาเขียนในคอลัมน์ “กันไว้ดีกว่าแก้” อีก แต่เหตุการณ์ที่ได้ประสบในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาทำให้ผมตัดสินใจว่าควรจะต้องเขียนถึง “โรคนักบิด” ดูสักครั้งสำหรับผู้อ่านหมอชาวบ้าน โดยเฉพาะท่านที่ยังไม่ได้ลงมือป้องกันตัวเอง

บางท่านอาจจะสงสัยว่า “โรคนักบิด” ที่เอามาตั้งเป็นชื่อนั้น น่าจะเป็นโรคบิดมากกว่า ไม่ต้นฉบับที่ผมเขียนมาผิดก็ช่างเรียงพิมพ์ของหมอชาวบ้านเรียงคำเกินมา แต่ผมหมายถึง “โรคนักบิด” จริง ๆ โรคที่เกิดจากการบิดคันเร่งมอเตอร์ไซด์ หรือการขับขี่มอเตอร์ไซด์นั่นเอง ในปีหนึ่ง ๆ มีคนเจ็บและตายจากอุบัติเหตุการขับขี่มอเตอร์ไซด์หลายพันคน ทั้ง ๆ ที่มันป้องกันได้ จากสถิติคดีอุบัติเหตุจราจรทางบกทั่วประเทศในปี พ.ศ. 2530 มีคนตายจากอุบัติเหตุมอเตอร์ไซด์ 571 ราย บาดเจ็บสาหัส 769 ราย นี่นับเฉพาะเป็นคดี คงจะมีคนเจ็บและตายอีกจำนวนมากที่ตำรวจไม่ได้รับแจ้ง

เสาร์อาทิตย์ที่แล้วผมขับรถยนต์พาครอบครัวไปเยี่ยมคุณตาคุณยาย ได้พบเหตุการณ์ที่คิดว่าน่าจะเป็นตัวอย่างของการป้องกัน “โรคนักบิด” ได้ ระหว่างที่ขับรถผ่านทางบริเวณบางปะกง ผมสังเกตว่ารถเริ่มแล่นช้าลง ๆ และวิ่งหลบไปข้างทางด้านซ้าย แต่ก็ไม่ถึงกับจอดสนิท ทุกคนชะโงกหน้าออกมาทางหน้าต่าง มองไปที่กลางถนนซึ่งมีผู้ชายวัยประมาณ 30 เศษ ๆ สองคนนอนเลือดท่วมอยู่ ผมลงไปร่วมกับอีกสองสามคนช่วยกันหามคนเจ็บมาหลบไว้ที่ศาลาข้างทางใกล้ ๆ
คนแรกนั้นมีแผลเป็นทางยาวที่ศีรษะด้านซ้าย เลือดและเนื้อสมองไหลนองพื้น หายใจระรวย ๆ
คนที่สองนั้นหมดสติไม่พบบาดแผลที่ใด ยกเว้นที่ศีรษะด้านขวายุบลงไป มีเลือดออกจากหู ม่านตาขยายใหญ่ ลักษณะที่เห็นแสดงว่าศีรษะของคนทั้งสองคงฟาดกับพื้นอย่างรุนแรง ทำให้สมองช้ำหรือมีเลือดออกในสมอง ชาวบ้านที่เห็นเหตุการณ์บอกว่ามอเตอร์ไซด์คันนั้นวิ่งอยู่เลนขวา และเฉี่ยวกับรถยนต์อีกคันที่วิ่งตามมา ทั้งคนขี่คนซ้อนท้ายกระเด็นปลิวออกมากลิ้งไปตามถนนห่างจากจุดที่ถูกชน 5-10 เมตรสภาพของคนแรกนั้นไม่แน่ใจ ว่าจะรอดไปถึงโรงพยาบาลหรือไม่ คนที่สองถ้าได้รับการผ่าตัดด่วนอาจจะรอดแต่สมองคงบอบช้ำมาก มีโอกาสพิการหรือกลายเป็นคนที่ช่วยตัวเองไม่ได้ น่าเสียดายที่ทั้งสองคนนี้ไม่ได้สวมหมวกกันน็อก

รองศาสตราจารย์นายแพทย์ อนันต์ ตัณมุขยกุล ศัลยแพทย์แผนกอุบัติเหตุของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้ให้ข้อมูลในวารสารอุบัติเหตุว่า ในกลุ่มผู้ขับขี่รถมอเตอร์ไซด์และผู้ซ้อนท้ายพบการบาดเจ็บที่ขามากที่สุด เช่น แผลฉีกขาด ขาหัก ฯลฯ แต่ที่ถึงแก่กรรมนั้นมีบาดเจ็บที่สมองทุกราย และกลุ่มที่มีอาการหนักนั้นร้อยละ 80-90 มีการบาดเจ็บที่ศีรษะ ดังนั้นการบาดเจ็บที่อันตรายที่สุดจากอุบัติเหตุการขับขี่มอเตอร์ไซด์ คือบาดเจ็บที่ศีรษะ ซึ่งป้องกันได้ด้วยการสวมหมาวกกันน็อก การศึกษาอย่างกว้างขวางได้พิสูจน์แล้วว่าได้สวมหมวกกันน็อกแล้ว ความรุนแรงก็จะลดลง เพราะแทนที่ศีรษะจะกระแทกกับพื้นถนนโดยตรง ก็จะมีหมวกมาช่วยป้องกันให้ ที่อาจถึงตายก็เพียงเจ็บ ที่อาจจะเจ็บมากก็ลดลงมาเป็นเจ็บน้อยหมวกกันน็อกที่ได้มาตรฐาน และแนะนำให้ใช้ในประเทศไทยมี 2 แบบคือ แบบเต็มศีรษะ ตัวหมวกยื่นต่ำลงถึงท้ายทอยทางด้านหลังและมุมกระดูกขากรรไกรทางด้านข้างเป็นแบบที่เห็นได้บ่อยในบ้านเรา (ดังรูปที่ 1) แบบที่สองเป็นแบบเต็มหน้า เป็นแบบล่าสุดมีส่วนป้องกันปากและคางทางด้านหน้า (ดังรูปที่ 2)


 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


ถ้ามีเงินซื้อมอเตอร์ไซด์ก็น่าจะมีเงินซื้อหมวกกันน็อกได้ เพราะราคาก็คงจะประมาณ 300-500 บาท และประโยชน์ของมันนั้นคุ้มค่ากว่าเงินที่เสียไปอย่างเทียบกันไม่ได้ มีข้อแนะนำเวลาซื้อหมวกกันน็อก คือ ด้านในหมวกต้องมีรองในกันกระแทก ต้องมีสายรัดคางพร้อมที่รองคาง หากมีที่กำบังลมต้องเป็นวัสดุโปร่งแสงไม่มีสี ขนาดของหมวกต้องกระชับพอดีกับศีรษะ ซึ่งให้ทดสอบโดยการสวมหมวกและรัดสายรัดคางให้เรียบร้อย ถ้าผลักทางด้านหลังแล้วขอบหมวกด้านหลังเลื่อนขึ้นไป จนถึงกลางศีรษะหรือกว่านั้นไม่ควรจะซื้อ เพราะขณะเกิดอุบัติเหตุหมวก อาจหลุดทำให้เกิดอันตรายได้ (ดูรูปที่ 3) และทุกครั้งที่สวมหมวกกันน็อกต้องรัดสายคางให้กระชับแน่นตลอดเวลา

พอผมไปถึงบ้านของคุณตา ก็เล่าเหตุการณ์ที่พบมาให้ฟัง บรรดาผู้ใหญ่ 4-5 คนที่มานั่งคุยกันอยู่นั้นต่างก็พยักหน้าว่าอุบัติเหตุจากมอเตอร์ไซค์เพิ่มขึ้นมากในหมู่บ้าน และแทบจะไม่มีใครใส่หมวกกันน็อกเลย นอกจากนี้แล้วยังมีอุบัติเหตุที่เกิดจากรถจักรยานสองล้อ รถอีแต๋น รถเข็นของ ฯลฯ ซึ่งไม่มีไฟหน้าหรือไฟท้าย ถนนเวลากลางคืนก็แสนจะมืด พวกนี้มักจะถูกรถอื่นที่วิ่งตาม หรือสวนมาพุ่งเข้าชน ผลก็คือเจ็บกันก็มาก ตายไปก็ไม่น้อย ถ้าเราได้มีการใช้กระดาษกาว (สติ๊กเกอร์) สะท้อนแสงปิดไว้ที่บริเวณด้านหน้าหรือด้านหลังของรถคงจะช่วยป้องกันอุบัติเหตุดังกล่าวได้ ผมยังชอบใจร้านจักรยานบางร้านที่สนับสนุนมาตรการป้องกันนี้ ด้วยการติดสติ๊กเกอร์สะท้อนแสงให้ที่บริเวณเท้าถีบ เวลาขี่ตอนกลางคืน จะเห็นแสงวูบวาบ ๆ ทำให้รู้แต่ไกลว่ามีอะไรเคลื่อนไหวอยู่ข้างหน้า แม้แต่พนักงานกวาดถนนของกรุงเทพมหานคร เดี๋ยวนี้ก็สวมชุดสีแสดเข้ม พร้อมกับมีแถบสีสะท้อนแสง ตอนเช้ามืดผมขับรถออกจากซอยก็เห็นแถบสีสะท้อนแสงวาบ ๆ อยู่ไกล ๆ ทำให้เพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น จึงอยากเชิญให้พ่อแม่พี่น้องในชนบทได้พยายามติดกระดาษสะท้อนแสงไว้ที่หน้ารถและท้ายรถของท่านเพื่อป้องกันตัวเอง สำหรับกระดาษสะท้องแสงนั้น ราคาก็ไม่แพง ตกเมตรละ 20-30 บาท ติดได้หายคัน หรือถ้ามูลนิธิหมอชาวบ้านจะจัดทำเพื่อแจกจ่ายหรือขายแก่ผู้สนใจ การป้องกันตัวเองก็น่าจะดีไม่น้อย เพราะอาจซื้อได้ยากในชนบท

เพื่อนผมที่นั่งใกล้ ๆ กันเล่าให้ฟังว่าในประเทศอื่น ๆ เขาเห็นความสำคัญของเรื่องนี้มาก มีการออกกฎหมายบังคับกันเลยทีเดียว ใครไม่ทำตามถูกปรับอย่างหนัก ไม่ต้องดูอื่นไกล ประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ก็มีกฎหมายนี้ ในประเทศไทยเองก็มีความพยายามเรื่องนี้อยู่ แต่คงไม่ต้องรอให้ใครมาบังคับ ผมอยากชักชวนให้มีคนเริ่มทำกัน คนข้าง ๆ พอเห็นดีด้วยก็จะปฏิบัติบ้าง ถ้าปีใหม่นี้บรรดาผู้ใหญ่บ้าน กำนัน คุณครู ข้าราชการต่าง ๆ และชาวบ้านเริ่มสวมหมวกกันน็อกเวลาขี่มอเตอร์ไซด์ ใช้กระดาษสะท้อนแสง ปิดด้าน หน้ารถหรือท้ายรถจักรยานสองล้อ รถอีแต๋น รถเข็นน้ำ และรถอื่น ๆ ที่ไฟหน้าหรือไฟท้ายไม่มี หรือไม่ทำงาน คนเจ็บคนตายจากรถมอเตอร์ไซด์หรือการชนเพราะไม่เห็นกันในยามค่ำคืนก็จะลดลงแน่นอน

 

ข้อมูลสื่อ

116-013
นิตยสารหมอชาวบ้าน 116
ธันวาคม 2531
นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์