• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

มาล้างมือกันเถิด

คอลัมน์นี้ได้รับความร่วมมือจากชมรมเวชศาสตร์แห่งประเทศไทย นับเป็นครั้งแรกที่เราจะนำความรู้เกี่ยวกับสถานการณ์ของโรคต่าง ๆ ในประเทศลงตีพิมพ์ติดต่อกัน โดยจะครอบคลุมไปถึงลักษณะของโรคที่ควรรู้ในฤดูกาลต่าง ๆ กัน ตลอดจนวิธีการป้องกันโรคนั้น ๆ ด้วยโดยหวังว่าความรู้เหล่านี้จะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในชุมชน เป็นการเสริมทรัพยากรระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อควบคุมและป้องกันโรค
หากท่านผู้อ่านมีข้อสงสัยประการใดเกี่ยวกับบทความ หรือมีคำถามเกี่ยวกับวิธีการควบคุมและป้องกันโรคใด ๆ ก็ตาม กรุณาเขียนถามมาได้

พอเห็นชื่อเรื่องว่าล้างมือ อาจจะมีบางท่านสงสัยว่าผมกำลังจะชวนให้เลิกยุ่งเกี่ยวกับอะไรบางอย่างหรือไม่ เพราะเดี๋ยวนี้มีสำนวนที่บ่งบอกไปในความหมายนั้นบ่อย ๆ เช่น อดีตนายกรัฐมนตรี หรืออดีตส.ส.บางท่าน ประกาศล้างมือการเมือง หรือบางคนประกาศล้างมือจากวงการที่ตนเองเป็นเจ้าพ่อหรือเจ้าแม่อยู่ แต่เรื่องที่จะเขียนถึงผู้อ่านวันนี้เป็นเรื่องชวนให้ล้างมือ ซึ่งเป็นอวัยวะมีสองข้าง ข้างละห้านิ้ว ไม่ได้หมายความเป็นอย่างอื่น

มีหนังสือการควบคุมโรคติดต่ออยู่เล่มหนึ่ง เป็นหนังสือที่มีชื่อเสียงมาก คนที่อยู่ในวงการควบคุมโรคติดต่อทุกคนรู้จักดี หน้าปกหนังสือ เป็นรูปสัญลักษณ์รวงข้าว หลอดทดลอง เข็มฉีดยา และรูปมือที่มีฟองสบู่ ความหมายที่ได้มีการอธิบายไว้ คือ การควบคุมโรคติดต่อนั้นมีองค์ประกอบ 4 อย่าง ได้แก่
รูปรวงข้าว หมายถึง ให้กินอาหารที่มีคุณค่า ร่างกายจะแข็งแรง
รูปหลอดทดลอง หมายถึง ต้องมีการค้นคว้าหาสาเหตุของโรค
รูปเข็มฉีดยา หมายถึง การฉีดวัคซีนสำหรับโรคที่ป้องกันได้ และการบำบัดรักษา
สำหรับรูปมือที่มีฟองสบู่เป็นเครื่องหมายแทนสุขนิสัยส่วนบุคคล และการสุขาภิบาลต่าง ๆ
ในปัจจุบันนี้ วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเจริญมากจนมีความเข้าใจว่า การป้องกันโรค หมายถึง การฉีดวัคซีนหรือการบำบัดรักษาเท่านั้น วัคซีนหนึ่งชนิดก็ป้องกันโรคได้หนึ่งอย่าง แต่เชื่อหรือไม่ว่า การล้างมืออย่างเดียวป้องกันโรคได้ไม่น้อยกว่านิ้วมือ (10 โรค) นอกจากป้องกันตัวเองแล้วยังป้องกันการแพร่โรคให้คนอื่นด้วย เพราะฉะนั้น อย่ามองข้ามความสำคัญของการล้างมือ

ล้างมือแล้วป้องกันโรคอะไรได้บ้าง?
มาลองไล่ดูกัน เริ่มตั้งแต่โรคที่เชื้ออยู่ในอุจจาระ และจะติดต่อได้โดยการกิน เท่านั้น เช่น โรคโปลิโอ (ขาลีบ), โรคตับอักเสบชนิดเอ (ดีซ่าน), โรคบิดทั้งชนิดบิดมีตัว และบิดไม่มีตัว (ถ่ายมีมูกปนเลือด), อหิวาตกโรค, โรคอุจจาระร่วงจากเชื้อนานาชนิด, ไข้ไทฟอยด์, โรคพยาธิ (เช่น พยาธิเส้นด้าย), โรคอาหารเป็นพิษ (จากเชื้อแบคทีเรียชนิดต่าง ๆ) ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีโรคที่เข้าทางตา จมูก ผิวหนังที่มีบาดแผล เช่น ไข้หวัด โรคตาแดง ตากุ้งยิง โรคผิวหนังพุพอง โรคเชื้อราผิวหนัง ฯลฯ มากมายจริง ๆ

ทำไมล้างมือแล้วจึงป้องกันโรคได้มากมาย
โดยปกติเชื้อโรคนั้นจะเข้าทางอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ทางปาก ตา จมูก หู อวัยวะเพศ และผิวหนังที่มีบาดแผล อวัยวะที่สามารถเคลื่อนไหวไปสัมพันธ์กับอวัยวะอื่น ๆ ดังกล่าวได้มากที่สุด คือ มือดังนั้น ถ้ามือเปื้อนเชื้อโรค เช่น เปื้อนอุจจาระของคนที่เป็นโรคบิด แล้วเจ้าของมือนั้นหยิบอาหารใส่เข้าปาก ก็เป็นอันเรียบร้อยว่ามีโอกาสติดโรคแน่ถ้ายังไม่มีภูมิต้านทานมาก่อน

ควรจะล้างมือเมื่อไร วันละกี่ครั้ง?

ขอให้ถือหลักง่าย ๆ คือ

1. ล้างทุกครั้งที่ถ่ายอุจจาระ โดยไม่ต้องแบ่งว่าเวลาถ่ายอุจจาระ แล้วจะชำระด้วยกระดาษหรือน้ำหรือวัสดุอื่น ๆ เพราะมีโอกาสที่มือจะปนเปื้อนอุจจาระที่มีเชื้อโรคมากมาย และควรครอบคลุมไปถึงการล้างมือหลังปัสสาวะด้วย

2. ล้างมือก่อนหยิบอาหาร หรือของกินเข้าปากตนเองหรือผู้อื่น ยิ่งกินด้วยมือโดยไม่ใช้ช้อน (รวมทั้งไม่ใช้ช้อนกลางด้วย) ยิ่งต้องล้างให้สะอาด เด็กเล็ก ๆ ที่ท้องเสียหลายคน เกิดจากพ่อแม่ หรือพี่เลี้ยงป้อนอาหาร โดยไม่ล้างมือ ในศาสนายิวนั้นมีข้อกำหนดเลยว่าต้องล้างมือก่อนหยิบอาหารเข้าปาก

3. ล้างมือก่อนทำอาหาร การระบาดของโรคต่าง ๆ ที่กล่าวมาหลายครั้ง เกิดจากผู้ทำอาหารเพียงคนเดียวที่เป็นโรคและมือของตนเอง ไม่สะอาด เชื้อโรคก็เลยตกลงไปแบ่งตัวในอาหาร ทำให้เกิดคนป่วยเป็นสิบเป็นร้อยตามมา

4. ล้างมือทุกครั้งที่ไปสัมผัสกับอุจจาระ ปัสสาวะ ขี้ตา ขี้มูก หนอง ฝี ฯลฯ ของตนเองและผู้อื่น หรือพูดง่ายๆ ว่า ทุกครั้งที่มือไม่สะอาด

จำเป็นต้องใช้สบู่เวลาล้างมือหรือไม่?

ถ้าใช้สบู่ร่วมด้วยก็จะดี เพราะจะล้างได้สะอาดกว่า แต่ถ้าไม่มีสบู่ ลำพังน้ำธรรมดาก็ช่วยให้มือสะอาดพอ มีความจริงที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคอยู่อีกประการคือ โรคจะเกิดต่อเมื่อได้รับเชื้อโรคเข้าไปมากพอ เช่น อาจจะต้องเชื้อโรคเข้าไปหลายสิบล้านตัวจึงจะป่วย การล้างมือนั้นแม้จะไม่ทำให้ปราศจากเชื้อโรคร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ก็ลดจำนวนเชื้อโรคลงได้มากจนไม่อาจก่อให้เกิดการเจ็บป่วยได้

ท่านผู้อ่านคงจะเห็นด้วยแล้วนะครับว่าการล้างมือนั้นป้องกันโรคได้มากมาย แต่อย่ามัวเห็นด้วยแค่ความคิดนะครับ มาเริ่มต้นฝึกนิสัยตัวเอง และทุกคนในครอบครัวโดยเฉพาะเยาวชนของเรากันตั้งแต่นี้ไปเลย

 

ข้อมูลสื่อ

115-013
นิตยสารหมอชาวบ้าน 115
พฤศจิกายน 2531
นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์