• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

หมอหม้อดิน แห่งหันตรา

หมอชุมชน...ดูจะเป็นคำที่มีความหมายใกล้ชิด ผูกพัน มากกว่าคำว่าคุณหมอ คุณพยาบาล เพราะนอกจากจะรับรักษาความเจ็บปวดทางกายแล้ว ยังให้ความสำคัญกับความผูกพันทางจิตใจด้วย

ผมอยากแนะนำให้ผู้อ่านรู้จักกับ ป้าจิ๋ว หญิงชราวัย 63 ปี แห่ง ตำบลบ้านหันตรา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ป้าจิ๋วเป็นหมอนวดแผนโบราณแบบไทย รักษาผู้ป่วยโดยใช้หม้อดินใส่เกลือห่อด้วยใบพลับพลึงแล้วตั้งไฟ จากนั้นรอให้หม้ออุ่น ยกขึ้นประคบให้ผู้ป่วย ให้หายปวดหายเมื่อย รวมทั้งรับตั้งกระโจมให้หญิงหลังคลอดบุตร เพื่อให้มดลูกเข้าอู่ได้ง่ายขึ้นด้วย

ผมเป็นลูกค้าของป้าจิ๋วตั้งแต่หลอดเลือดในสมองด้านขวาแตกเมื่อปี พ.ศ.2535 ทำให้ผมเป็นอัมพาต กิตติศัพท์การนวดของป้าจิ๋วที่ทำให้ผู้ป่วยอัมพาตกลับมาเดินได้ ทำให้ป้าจิ๋วมีงานนวดตามบ้านต่างๆ ทุกวัน

ป้าจิ๋วเลือกที่จะรับงานนวดตามบ้านมากกว่าไปรับงานนวดตามสปา หรือตามโรงแรมใหญ่ๆ แม้ว่าการรักษาตามบ้านจะได้รับค่าตอบแทนน้อยกว่าและยังต้องเหน็ดเหนื่อยกับการเดินทาง แต่ป้าจิ๋วบอกว่าการเดินทางไปนวดให้ผู้ป่วยอัมพาตตามบ้านนั้นมีความสุขกว่า ผู้ป่วยอัมพาตไม่สามารถเดินเหินไปไหนได้ พวกเขาจึงจำเป็นต้องมีหมอมารักษา ดูอาการถึงบ้าน ทำกับผู้ป่วยที่จำเป็นต้องเจอหมอ มีความสุขกว่าคนร่ำรวย ที่เข้ามารับการนวดตามโรงแรมใหญ่ๆ

ป้าจิ๋วเล่าถึงความผูกพันกับผู้ป่วยให้ผมฟังว่า บางครั้งไปนวดให้ผู้ป่วยอัมพาตที่ภรรยาทิ้งไป ป้าจิ๋วก็ต้องพาไปอาบน้ำ หุงข้าวหุงปลาให้กิน เรียกได้ว่าช่วยเหลือเท่าที่ทำได้ ไม่ใช่มานวดแล้วก็รับเงินอย่างเดียว

สำหรับครอบครัวของผมก็สมัครรักใคร่กับป้าจิ๋วดี ภรรยาของผมเองก็พูดคุยกับป้าจิ๋วได้อย่างถูกคอ ตามประสาแม่บ้านแม่เรือนเหมือนกัน นอกจากนั้นบางครั้งผมกับภรรยาต้องทิ้งบ้านไปทำธุระที่ต่างจังหวัด ก็ยังสามารถฝากบ้านไว้กับป้าจิ๋วได้

ผมอยากให้คุณหมอทั้งแผนโบราณและแผนปัจจุบัน ลองมองป้าจิ๋วเป็นกรณีศึกษาดูบ้าง การรักษาผู้ป่วยทั้งทางกายและทางใจไปพร้อมๆ กัน ย่อมให้ผลการรักษาที่ดีกว่าการมุ่งไปรักษาทางกาย เพียงด้านเดียว

ข้อมูลสื่อ

360-020
นิตยสารหมอชาวบ้าน 360
เมษายน 2552
สุขภาพดี
นพ.รวินันท์ ศิริกนกวิไล