• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ว่านหางจระเข้-ขจัดรังแค

                                       

ประมาณ 2 ปีกว่าแล้ว ไปทำผมที่ร้านแห่งหนึ่ง เห็นป้ายว่า ถ้าใครต้องการจะนวดผมด้วยวุ้นว่านหางจระเข้ ก็เสียสตางค์เพิ่มอีก 5 บาทต่อ 1 ใบ จึงทดลองดูโดยใช้ 2 ใบ ทางร้านเขาก็นวดให้ หลังจากนวดเสร็จแล้วไม่ได้ล้างออก โดยปล่อยให้แห้งเองเลย”

คุณป้าถมยา โรจนรัส ซึ่งปัจจุบันอายุ 79 ปี แต่ยังแข็งแรงดี ทั้งยังดูอ่อนกว่าวัย เล่าให้หมอชาวบ้านฟังถึงประสบการณ์ในการใช้ว่านหางจระเข้นวดผมครั้งแรก
หลายคนคงรู้จักว่านหางจระเข้บ้างแล้ว หรืออาจจะเพียงแต่เคยได้ยินชื่อ
ว่านชนิดนี้เป็นไม้ขนาดเล็ก ปลูกขึ้นง่ายไม่เลือกดิน เมื่อหักหรือตัดไปจะมีน้ำสีเหลืองไหลออกมา เรียกว่า “ยาง” ยางนี้อยู่ระหว่างเปลือกใบกับเนื้อในที่เป็นวุ้น เนื้อวุ้นจะมีน้ำใส ๆ อยู่ข้างในเรียกว่า “น้ำเมือก” คนทั่วไปที่รู้จักว่านชนิดนี้ อาจจะเป็นเพราะคุณสมบัติในการรักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก แต่คราวนี้ จะขอแนะนำคุณสมบัติอื่นที่น่าสนใจของว่านชนิดนี้ คือสามารถนำมาใช้ขจัดรังแค
คุณป้าเล่าให้ฟังต่อไปว่า

ป้าก็ถามทางร้านว่านนวดเสร็จแล้วทำไมจึงไม่ล้างออก ช่างที่นวดผมเค้าก็บอกว่า ถ้าล้างออกจะไม่ได้ผล หลังจากที่ใช้นวดผมไปประมาณ 2-3 ครั้ง รู้สึกวาขี้รังแคค่อย ๆ ลดน้อยลง แต่ไม่หมดทีเดียว และยังช่วยชะลอให้ผมหงอกช้าลงอีกด้วย หลังจากนั้นก็ไม่ได้ไปนวดที่ร้านอีก แต่ได้หาต้นว่านหางจระเข้มาปลูกเองที่บ้าน”

คุณป้าพอจะแนะนำวิธีใช้แก่ผู้ที่สนใจบ้าง ได้มั๊ยคะ

 

 

 

 

 

 

 

 

 



“ขั้นแรก
ต้องเลือกใบที่ไม่แก่ หรืออ่อนเกินไป ตัดเป็นลักษณะปากฉลาม (รูปที่ 2) และนำมาวางตะแคง เพื่อให้ยางสีเหลืองไหลออกให้หมด ทิ้งไว้ประมาณ 8-10 นาที (รูปที่ 3)
ขั้นต่อไป ต้องรอให้ยางไหลออกแล้วจึงนำไปล้างน้ำเพื่อขจัดฝุ่นละอองต่าง ๆ และใช้มีดกรีดหนามออกทั้ง 2 ข้าง (รูปที่ 4-5)

 

 

 

 

 

 

 

 


 

หลังจากนั้นก็ตัดใบว่านหางจระเข้ออกเป็นท่อน ๆ พอประมาณ (รูปที่ 6)
ขั้นสุดท้าย ให้ใช้มีดฝานเปลือกของว่านหางจระเข้ออกด้านหนึ่งให้ลึกพอประมาณ จนมองเห็นวุ้นสีขาวใส (ถ้ายังมียางติดอยู่ อาจจะนำไปล้างน้ำ หรือฝานเปลือกให้ลึกกว่าเดิม เพื่อให้ยางหมดก่อนก็ได้) (รูปที่ 7) จากนั้นก็ใช้มือหรือช้อนขูดวุ้นออกมา (รูปที่ 8) สามารถนำมานวดผมได้ทันที และทิ้งไว้ให้แห้งโดยไม่ต้องล้างออก

 

 

 

 

 

 

 

 

แต่ต้องไม่ลืมว่า เวลาใช้ควรจะระวังยางสีเหลือง ๆ ด้วย พยายามให้ยางไหลออกให้หมดก่อนที่จะนำมาใช้ เพราะฤทธิ์ของยางอาจจะกัดผิวหนังได้
ท่านผู้อ่านท่านใดที่มีความสนใจ จะลองใช้ว่านชนิดนี้ แต่เกรงว่าจะเกิดอาการแพ้ อาจทดสอบได้โดยใช้เนื้อวุ้นทาตามบริเวณร่างกายส่วนที่บางก่อน (เช่น บริเวณใต้ท้องแขน หรือหลังใบหู) ถ้าไม่เกิดปฏิกิริยาใด ก็แสดงว่าท่านไม่แพ้

ท่านที่ลองใช้แล้วได้ผลอย่างไร อย่าลืมเขียนมาเล่าให้หมอชาวบ้านทราบบ้างนะคะ
 

 

ข้อมูลสื่อ

112-018
นิตยสารหมอชาวบ้าน 112
สิงหาคม 2531
อื่น ๆ