• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

มะเร็งนั้นดิฉันเคยเป็น

เชิญเล่าเรื่องให้เพื่อนฟัง ขอเชิญท่านผู้อ่านเริ่มเขียนเรียงความเล่าประสบการณ์ การดูแลรักษาสุขภาพตนเอง หรือให้แก่ผู้อื่น(สมาชิกในครอบครัว เพื่อนบ้าน หรือเพื่อนร่วมงาน) ความยาวไม่เกิน 2 หน้า กระดาษฟุลสแก๊ปโดยประมาณ ส่งไปยังสำนักงานหมอชาวบ้าน ก่อนวันที่ 25 ของทุก ๆ เดือน คณะกรรมการจะตัดสินเรียงความทุกเดือน โดยคัดเลือกเรียงความที่เหมาะสมที่สุด ลงตีพิมพ์ เรื่องใดที่ตีพิมพ์ลงในหมอชาวบ้าน ผู้เขียนจะได้รับสิทธิพิเศษเป็นสมาชิกหมอชาวบ้าน ฟรี 2 ปี (หรือจะสมัครให้ผู้อื่นก็ได้)

ดิฉันรับราชการ เป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ช่วงเวลาที่เรียนหลักสูตรปริญญาโทในมหาวิทยาลัยเดียวกันกับที่ดิฉันทำงาน และมีความตั้งใจอย่างแน่วแน่ว่า จบปริญญาโทเมื่อไหร่ วันไหนจะไปเรียนภาษาอังกฤษในวันรุ่งขึ้นทันที เพราะรู้ตัวดีว่าพื้นฐานภาษาอังกฤษแย่มาก
แต่ด้วยเหตุที่อยากไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกา อยากได้ปริญญามาครอบครอง ดิฉันทนทุกอย่าง ยอมกลับบ้านค่ำ ยอมดูหนังสือดึก ยอมเสียเงินค่าสอบภาษาอังกฤษให้ผ่านเกณฑ์หลายครั้งหลายหน ครั้งที่ห้า จึงสอบผ่าน แม้ว่ามหาวิทยาลัยที่รับเข้าไปจะกำหนดให้เรียนปริญญาโทใหม่ เพราะสาขาที่จบในไทยไม่ใช่สาขาที่ดิฉันสมัครเรียน ดิฉันก็ไปเรียนแต่โดยดี

เมื่อไปเรียนที่มหาวิทยาลัยของรัฐแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา ดิฉันพยายามปรับตัวเองให้เข้ากับสภาพแวดล้อมทั้งด้านความเป็นอยู่และการศึกษา วิชาที่เรียนเป็นด้านวิทยาศาสตร์ มีผู้หญิงไม่มากนักในชั้นเรียน ดิฉันเป็นผู้หญิงไทยและคนไทยคนเดียวในภาควิชานั้น จึงทำให้ดิฉันเคี่ยวเข็ญกับตัวเองอย่างมาก เพราะมีความรู้สึกว่า ถ้าสอบได้คะแนนน้อยกว่าเพื่อน หรือได้เกรดไม่ดี นอกจากจะไม่มีโอกาสได้ทุนเรียนฟรีแล้ว ยังอับอายเพื่อนทั้งหลายในชั้น ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนชาวอเมริกันหรือเพื่อนชาติอื่น เกรงเขาจะนึกดูถูกสาวไทยผู้นี้ว่าไม่เอาไหน เรียนใหม่ ๆ ก็ได้ทั้งเกรดเอและบี ภายหลังก็พยายามมากขึ้นจนได้เกรดเอทุกวิชาในเทอมต่อมา
,
เนื่องจากบรรยากาศของการเรียนที่นั่นเขาแข่งขันกันมาก เอาจริงเอาจัง มีการสอบอยู่บ่อย ๆ ทำให้ต้องตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา ดิฉันผู้ไม่อยากด้อยมาคนอื่นก็เครียดมากขึ้น ถึงช่วงสอบรู้ตัวว่า บางทีเพี้ยนไป เช่น หยิบแปรงสีฟันแล้ว แทนที่จะหยิบยาสีฟันก็เผลอไปหยิบสบู่ ตอนเข้าจอดรถจักรยานไว้ในมหาวิทยาลัย ตอนเย็นเดินกลับบ้าน กว่าจะนึกได้ว่าจักรยานอยู่ไหนก็ต่อเมื่อถึงเวลาต้องการใช้ เหล่านี้เป็นต้น สาเหตุเป็นเพราะห่วงกังวลกับสิ่งที่ยังมาไม่ถึงมากเกินไป ไม่มีสติกับสิ่งที่ตนเองจับต้องอยู่
มีอยู่วันหนึ่งดิฉันนึกอยากไปตรวจภายใน เพราะก่อนเดินทางไปสหรัฐอเมริกา เคยไปเยี่ยมญาติของเพื่อนซึ่งเป็นมะเร็งปากมดลูก เอยังเป็นโสด และนอนพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลในกรุงเทพฯ ญาติเธอรู้จากหมอว่า เธอคงไม่รอด และต่อมาก็เป็นอย่างนั้นจริง ๆ

ดิฉันนึกกลัวขึ้นมาจึงไปตรวจที่โรงพยาบาลในตัวเมือง หมอเสนอแนะว่าควรตรวจที่เต้านมด้วย ถามราคาค่าตรวจแล้วเห็นว่าพอมีเงินจ่าย จึงให้หมอตรวจ หมอสอนวิธีตรวจเต้านมด้วยตนเอง และเมื่อตรวจแล้ว อธิบายให้ฟังว่า มีปุ่มหรือเม็ดเล็ก ๆ อยู่อันหนึ่งซึ่งผิดปกติอยู่ตอนบนด้านขวาของเต้านม หากประจำเดือนหมดไปแล้วยังมีปุ่มนี้อีกให้กลับไปหาหมออีก กลับถึงที่พักแล้ว ลองจับดู ก็คิดว่ามันเป็นกระดูกซี่โครงมากกว่า แม้ประจำเดือนหมดไปแล้ว ลองคลำดูก็พบอีก และยังมีความคิดเหมือนเดิมว่าเป็นกระดูกซี่โครง จึงไม่ยอมไปหาหมออีกเลย
จนกระทั่งสองเดือนผ่านไป ขณะอาบน้ำพบว่าบริเวณเต้านมข้างขวาตอนบน มีก้อนเนื้อเล็ก ๆ อยู่ข้างใน พยายามคลำเปรียบเทียบกับเต้านมข้างซ้าย เห็นว่าก้อนเนื้อเล็ก ๆ นั้นผิดปกติจริง ๆ จึงไปหาหมอที่ศูนย์สุขภาพของมหาวิทยาลัย และได้หนังสือส่งตัวไปหาหมอข้างนอก ตอนนั้นเพิ่งเปิดเทอมของปีการศึกษาใหม่ และจ่ายค่าประกันสุขภาพไปได้ไม่นานนัก คิวคนไข้ของหมอที่ถูกแนะให้ไปหายาวเหยียด ต้องรออีกสิบวัน

บังเอิญช่วงที่รอหมออยู่นั้น โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในตัวเมืองมีนิทรรศการเกี่ยวกับมะเร็งทุกประเภท ดิฉันสนใจแผนกมะเร็งที่เต้านมเป็นพิเศษ ไปดูวิดีโอ และลองให้พยาบาลที่แผนกนั้นเขาคลำหน้าอกดิฉันบ้าง ก็ถูกแนะนำว่าควรไปหาหมอ
ดิฉันลองคลำหน้าอกปลอมที่เขาทำขึ้นไว้ ให้ทราบว่าถ้าคลำเป็น จะพบก้อนหรือปุ่มเล็ก ๆ อยู่ตรงไหน หน้าอกปลอมมีหลายอันแต่ละอันจะมีลักษณะของก้อนเล็ก ๆ ต่างกันและอยู่ในตำแหน่งที่ต่างกันอีกด้วย นอกจากนี้ก็มีแผ่นภาพที่ใช้เอกซเรย์ตรวจสอบ ซึ่งเรียกว่าแมมโมกราฟฟี (mammography) ซึ่งสามารถตรวจได้ละเอียดแม่นยำมาก ทั้งที่ผู้ป่วยบางคนอาจไม่มีอาการใด ๆ เลย กล่าวคือ สามารถตรวจหาปุ่มเล็ก ๆ ในเต้านม ซึ่งมีเส้นผ่าศูนย์กลางน้อยกว่า นิ้ว ได้นั่นเอง

ถึงกำหนดที่หมอนัด จากการซักประวัติและตรวจแล้ว หมอลงความเห็นว่าดิฉันคงเป็นเนื้องอกธรรมดาจึงนัดผ่าตัดเอาก้อนเนื้อออก หลังจากผ่าตัดเสร็จแล้ว หมอได้เรียกดิฉันเข้าไปนั่งคุยด้วย จึงทราบว่า ก้อนเนื้อที่ผ่าตัดออกไปนั้นได้ถูกนำไปตรวจ ผลก็คือมะเร็ง หมอบอกว่า ต้องผ่าตัดอีกครั้งและต้องหยุดพักการเรียนสองสัปดาห์ โดยให้เวลาสองวันเพื่อไปปรึกษารังสีแพทย์ และตัดสินใจว่าจะตัดเต้านมข้างขาวทิ้งหมด หรือจะผ่าเนื้อร้ายออกบางส่วนแล้วฉายรังสีย้ำภายหลัง
จากการปรึกษากับรังสีแพทย์ และโทรศัพท์ซักถามฝ่ายบริการตอบคำถามของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ (สหรัฐฯ) ซึ่งให้บริการค่าโทรศัพท์ฟรี ไม่มีใครตอบตรง ๆ ว่าควรเลือกแบบใด ขึ้นกับการถามให้มาก ซักให้รู้ แล้วจึงชั่งใจตนเองว่าจะเลือกวิธีใด ดิฉันทิ้งหนังสือเรียนหันมาอ่านหนังสือเกี่ยวกับการรักษามะเร็ง ที่เต้านมซึ่งหมอให้มาอ่าน ในที่สุด ดิฉันเลือกเอาวิธีหลังคือผ่าตัดและฉายรังสี

ดิฉันถูกผ่าตัดใหญ่อีกครั้งคือ ถูกผ่าเต้านมเดิมอีกและผ่าเอาต่อมน้ำเหลืองใต้แขนไปตรวจสอบดูว่า มะเร็งได้กระจายไปถึงส่วนไหนหรือไม่ ดิฉันนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลสามวัน และกลับไปพักผ่อนที่บ้านอีกหลายวัน นอกจากจะขาดเรียน ขาดสอบตามตารางเรียน ตารางสอบ พอหายดีขึ้นมาบ้าง ก็มาเริ่มสอบพิเศษ ทั้งของเก่า ของใหม่ ตามเพื่อนเขาให้ทัน
ขณะเรียน ๆ สอบ ๆ ยังต้องไปหาทั้งศัลยแพทย์และรังสีแพทย์ ตรวจเลือดทุกสัปดาห์ ไปฉายรังสีที่โรงพยาบาลทุกวันเป็นเวลาสองเดือนครึ่ง ตอนนั้นไม่เป็นอันร่ำอันเรียนและเหนื่อยมาก พอหายดีขึ้นมาก็วุ่นวายกับการจ่ายเงินของบริษัทประกันสุขภาพให้แก่แพทย์และโรงพยาบาล จนจะเป็นธุรกิจใหม่นอกเหนือ ไปจากการเรียน แต่ดิฉันก็พยายามเรียนและสอบผ่านทุกวิชาที่เรียนในเทอมนั้น ในที่สุดก็สำเร็จได้รับปริญญาโทสม ความตั้งใจในอีกสองเทอมต่อมา

ผลการเรียนระดับปริญญาโท อยู่ในเกณฑ์ที่จะเรียนต่อระดับปริญญาเอกได้ แต่สภาพร่างกายและจิตใจขณะนั้น อยากจะกลับเมืองไทยมากที่สุด เพราะต้องการได้กำลังใจจากพ่อแม่พี่น้องและคนรัก ดิฉันเคยใฝ่ฝันอยากได้ปริญญาสูงสุด แต่ความเครียดระหว่างเรียนอาจจะเป็นสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ในร่างกายและนำไปสู่การเกิดมะเร็งที่เต้านมของดิฉันก็เป็นได้
ในที่สุดดิฉันก็ตัดสินใจเดินทางกลับเมืองไทย ก่อนเดินทางกลับ หมอที่ทำการผ่าตัดและฉายรังสีแก่ดิฉันได้ สุขภาพดิฉัน ตลอดทั้งแผนการแต่งงาน และการมีบุตรในอนาคต ทั้งนี้เพื่อป้องกันการเกิดใหม่อีกครั้งของมะเร็ง ทั้งยังได้มอบหนังสือแก่ดิฉันเกี่ยวกับวิธีการดูแลรักษาสุขภาพผู้ป่วย หลังพักฟื้นจากโรคมะเร็งด้วยหลักการกินอาหารที่ถูกต้องที่เรียกว่า รักษาโดยเมตาบอลิก เทราพี (metabolic therapy) คือ การควบคุมอาหาร กำจัดอาหาร หลีกเลี่ยงสารพิษ ตลอดทั้งการออกกำลังกายและการรักษาสุขภาพจิต

เมื่อกลับถึงเมืองไทยแล้ว ก็ได้ปฏิบัติตาตามคำแนะนำอย่างจริงจัง ในแต่ละวันดิฉันออกกำลังกายด้วยการเต้นแอโรบิก และควบคุมเรื่องอาหารโดยการกินผัก ผลไม้ที่มีกากมาก ๆ ถ้าเป็นเนื้อสัตว์ก็เลือกที่ไม่ติดมัน หรือประเภทมีไขมันน้อย เช่น กุ้ง ปู ปลา ดิฉันมักทำอาหารกินเองมากกว่ากินอาหารนอกบ้าน นอกจากจะสะอาดแล้วยังไม่มีผงชูรสอีกด้วย เพราะวงการแพทย์เชื่อว่า ผงชูรสและสารเคมีที่ตกค้างในผัก ผลไม้ ก็เป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดมะเร็งเช่นกัน ทำให้ต้องระวังเรื่องผงชูรสมากเป็นพิเศษ
และพยายามเลี่ยงอาหารที่ใส่น้ำมันมาก ๆ ในการปรุง ตลอดทั้งอาหารหวานมาก ๆ ประเภทเชื่อม หรือแช่อิ่มทั้งหลาย ตลอดจนน้ำหวาน น้ำอัดลมทุกชนิด และหันมาดื่มน้ำเปล่า ๆ หรือน้ำคั้นจากผลไม้สด
เรื่องอาหารที่กล่าวมานี้ บางคนอาจจะคิดว่าเข้มงวดจนเกินไป แต่ดิฉันทำจนเกิดความเคยชินแล้ว และถ้าจะปฏิบัติตามหนังสือที่รักษาโดยเมตาบอลิก เทราพี แล้ว จะเข้มงวดกว่านี้มากนัก จึงเห็นว่าอาหารประเภทที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ก็กินได้อย่างอิ่มหนำสำราญดี

นอกจากจะดูแลสุขภาพทางกายของตนเองแล้ว ยังได้รักษาสุขภาพจิตของตนเอง ไม่ได้หงุดหงิดง่าย โมโหง่าย กังวล หรือเกิดความพยาบาทโดยอาศัยหลักพุทธศาสนา เคยขอไปฝึกฝนตนเองด้วยการบวชชีพราหมณ์ ที่วัดป่าแห่งหนึ่งทางภาคอีสาน ในระหว่างปิดภาคเรียน แม้จะออกมาสู้ หรือดิ้นรนกับสังคมภายนอกดังในปัจจุบันก็มีความรู้สึกว่าสบายกาย สบายใจขึ้นมาก
จริง ๆ แล้วหลักพุทธศาสนานั้น นำไปปฏิบัติกับชีวิตประจำวันได้ตลอดเวลา เช่น ออกกำลังกายก็ต้องไม่ขี้เกียจ และยังสามารถทำสมาธิ นับหนึ่ง สอง สาม...หรือ ซ้าย ขวา ซ้าย... หรือ ย่อ ลุก ยืด... เป็นต้น

เรื่องควบคุมอาหารก็ต้องชนะใจตนเองได้ ไม่กินจุบกินจิบ หรือโลภกับการกิน ทำงานกับเพื่อนร่วม งาน หรืออยู่กับคนในครอบครัวที่บ้าน ก็ใช้พรหมวิหารสี่ อันประกอบด้วย เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา และลดการยึดมั่นถือมั่นลง อย่างที่ดิฉันเคยเป็น เห็นทุกอย่างในแต่ละวัน เป็นไตรลักษณ์ คือ (อนิจจัง) เห็นทุกอย่างเป็นของไม่เที่ยง (ทุกขัง) เมื่อทุกข์ก็กำหนดรู้ทุกข์ (อนัตตา) ไม่มีตัวตน ไม่มีเขา ไม่มีเรา จิตใจก็เกิดความสุขสงบ
กลับมาเมืองไทยไม่นานก็แต่งงาน แต่หมอแนะนำว่าห้ามมีลูก จนกว่าจะผ่านการฉายรังสีครั้งสุดท้ายเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 2 ปี ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของผู้เป็นแม่ เพราะว่าการตั้งครรภ์จะทำให้ฮอร์โมนในร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก และมะเร็งอาจกลับมาเกิดใหม่ในช่วงตั้งครรภ์ได้
ขณะนี้ดิฉันกลับมาอยู่เมืองไทยได้ 2 ปีกว่าแล้ว และได้ดูแลรักษาสุขภาพกายตามคำแนะนำของหมออย่างเคร่งครัดโดยตลอด ส่วนสุขภาพใจก็อาศัยหลักพุทธสาสนาดังที่กล่าวแล้วข้างต้น ดิฉันมีความสุขทั้งกายและสุขใจ และคิดว่าตนเองจะมีชีวิตยืนยาวเหมือนคนปกติทุกอย่าง มิได้เกิดความท้อแท้ใจเหมือนบางคนที่พอรู้ตัวว่าเป็นมะเร็งแล้วก็เกิดความท้อแท้ใจในชีวิต หมดอาลัยตายอยากไม่อยากจะอยู่สู้ชีวิตต่อไป

ต่อนี้ไปดิฉันก็สามารถมีลูกได้ ตามคำแนะนำของหมอ ปัจจุบันยังคงต้องหมั่นตรวจสุขภาพกายภายใต้การดูแลของหมอที่สถาบันมะเร็งแห่งชาติเป็นประจำทุกปี
ข้อเขียนนี้ดิฉันฝากเป็นอุทาหรณ์สำหรับผู้ที่เครียดจนเกินไปและสำหรับผู้ที่เคยเป็นมะเร็งมาแล้วว่า เราควรจะดำรงชีวิตของเราอย่างไรจึงจะไม่เสียขวัญและกำลังใจ

 

ข้อมูลสื่อ

112-019
นิตยสารหมอชาวบ้าน 112
สิงหาคม 2531
สมาชิกหมายเลข 800-50