• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

นอนกัดฟัน

คอลัมน์นี้เปิดโอกาสให้ถามปัญหาเกี่ยวกับคุณภาพของช่องปาก การถามปัญหานั้น ผู้ถามจะท่านให้ชัดเจน ส่งไปยัง หมอชาวบ้าน ตู้ ปณ.กลาง 192 กรุงเทพฯ 10501ต้องเล่าประวัติ การตรวจรักษา การใช้ยา การแพ้ยา(ถ้าเคย) ให้ละเอียดและโปรดแจ้งชื่อ อายุ เพศ ที่อยู่ให้ชัดเจน(ยินดีตอบให้เป็นการส่วนตัว) โปรดส่งจดหมายพร้อมกับซองเปล่า ติดแสตมป์ จ่าหน้าถึงตัว

นี่ คุณ เมื่อคืนนี้ คุณฝันอะไรนะ?”

“ฉันฝันว่าไปงานเลี้ยงกับเพื่อน ๆ โอยสนุกมากเลย”

“มิน่าละ สงสัยว่าอาหารในงานเลี้ยงในฝันของคุณคงอร่อยมากนะ ผมได้ยินเสียงคุณขบเคี้ยวฟันเสียงดังลั่นเลย”

เหตุการณ์เช่นนี้อาจเกิดขึ้นกับใครก็ได้ และในฝันนั้นก็อาจไม่ได้ฝันถึงการกินอาหารเท่านั้น อาจฝันถึงการทะเลาะกับใคร แล้วขบเขี้ยวเคี้ยวฟันก็ได้ หรืออาจฝันถึงเหตุการณ์ที่น่าตื่นเต้น แล้วเกร็งไปหมดทั้งร่างกายและฟันกัดแน่นก็ได้

ท่านคงคิดว่า หมอนี่คงจะเปลี่ยนอาชีพเป็น “หมอดู” และกำลังจะอธิบายถึงการทำนายฝันกระมัง
ไม่ใช่ครับ ผมเพียงแต่จะเล่าให้ฟังถึงการเปลี่ยนแปลงในปาก อีกประการหนึ่ง ที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจ แต่อาจมีผลเสียตามมาได้ ถ้าไม่ได้รับการป้องกัน แก้ไขให้ถูกต้อง
นั่นก็คือ “นอนกัดฟัน” ซึ่งเกิดขึ้นได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ในสมัยก่อน เชื่อกันว่าใครนอนกัดฟันจะโชคไม่ดี และเป็นบุคลิกที่ไม่พึงต้องการ ซึ่งจะต้องแก้ไขโดยการปลุกให้ตื่นบ้าง บ้างก็ถึงกับการลงมือลงไม้ เช่น ตบหน้าเพื่อให้รู้สึกตัว นับว่าเป็นการใส่สิ่งชั่วร้ายให้ออกไปจากตัวก็มี ลองมารู้จัก สาเหตุ ผลเสีย การป้องกัน และแก้ไข การนอนกัดฟันด้วยวิธีการสมัยใหม่

 

ผลเสียของการนอนกัดฟัน

ผลเสียที่ชัดเจน ก็คือ การรบกวนเพื่อนที่นอนด้วยกัน ซึ่งแม้จะไม่รุนแรงเท่ากับคนที่นอนกรน แต่เสียงกัดฟันก็น่ารำคาญไม่น้อยทีเดียว ผลเสียโดยตรงต่อฟัน คือ ฟันจะสึกกร่อนในด้านบดเคี้ยว ความรุนแรงนี้ขึ้นอยู่กับความถี่บ่อยของการนอนกัดฟัน
ลองนึกถึงการบดเคี้ยวอาหารของเราซึ่งเกิดจากการกัดฟัน เพื่อให้สามารถตัด ฉีก บดขยี้อาหารให้ละเอียด กล้ามเนื้อบริเวณใบหน้า จะต้องเกร็งตัวหนักมาก โดยเฉพาะเมื่อเคี้ยวอาหารเหนียว หรือแข็งมาก ๆ การนอนกัดฟันก็เช่นเดียวกัน ทุกครั้งที่กัดฟัน กล้ามเนื้อที่ใบหน้า จะออกแรงมากพร้อมกับการบดขยี้ของฟันที่กระทบกัน แต่เมื่อไม่มีอาหารมาคั่นกลางระหว่างฟันบนและล่างที่บดเคี้ยวอยู่ ก็เท่ากับการบดขยี้ฟันโดยตรง ทำให้ฟันสึกลงไปได้ ไม่ว่าเคลือบฟันฟันนั้นแข็งแกร่งหนักหนาเพียงใดก็ตาม เช่นเดียวกับการสึกกร่อนของหิน ซึ่งแม้จะแข็งปานใด เมื่อมีแรงกระทบบ่อย ๆ ก็สึกลงได้เช่นกัน

การสึกกร่อนของชั้นเคลือบฟัน (enamel) ซึ่งเป็นไปอย่างช้า ๆ และยังไม่มีอาการ แต่ถ้าการนอนกัดฟันยังดำเนินต่อไปเป็นเวลานาน ๆ และฟันสึกเข้าไปถึงชั้นเนื้อฟัน (dentine) ซึ่งมีส่วนประกอบทางเคมี และคุณสมบัติต่างกับเคลือบฟัน ก็จะสึกกร่อนได้เร็วกว่า และเนื่องจากในชั้นเนื้อนี้มีเซลล์หล่อเลี้ยง จึงสามารถรับความรู้สึกได้ด้วยและมีผลให้การสึกกร่อนบนชั้นนี้มีอาการเสียวฟันตามมาด้วย
ดังนั้น ในผู้สูงอายุที่นอนกัดฟัน จึงมีอาการเสียวฟัน ควบคู่ไปกับการสึกของฟันบนด้านบดเคียวซึ่งโดยธรรมชาติ ฟันที่ทำหน้าที่บดเคี้ยวได้ดี เช่น ฟันกรามจะต้องมีส่วนนูน เว้า และร่องฟันทั้งฟันบนและฟันล่างที่พอเหมาะและสอดคล้องกัน เพื่อให้สามารถรับกรบดเคี้ยวจากฟันด้านตรงข้ามได้ดี
แต่ฟันที่สึกกร่อนจากการนอนกัดฟันเป็นเวลานาน ๆ ด้านบดเคี้ยวของฟันกรามจะสึก เรียบ ทำให้การบดเคี้ยวอาหารไม่ได้ดีเท่าที่ควร เพราะขาดส่วนนูนส่วนเว้าที่ช่วยรองรับอาหารในระหว่างการบดเคี้ยวด้วย จึงเท่ากับการลดประสิทธิภาพของการใช้งานของฟันที่สำคัญที่สุดประการหนึ่ง
 

  


ในบางกรณีของการนอนกัดฟัน อาจเป็นได้ว่าเกิดเฉพาะบางบริเวณในปากและเป็นกับฟันบางซี่เท่านั้น ในกรณีนี้ ฟันที่ถูกกระแทกแรง ๆ บ่อย ๆ นี้ อาจมีผลเสียต่อตัวฟันโดยตรง ทำให้ฟันตาย และอาจเกิดอาการอักเสบของเยื่อปริทันต์ และเหงือกรอบฟันนั้นได้ด้วย
ผลเสียร้ายแรงของการนอนกัดฟันคือ เมื่อฟันสึกกร่อนมาก ๆ จะมีผลตามต่อมา โดยไปมีผลต่อ ข้อต่อขากรรไกร ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงและการสึกกร่อน เพื่อให้สอดคล้องกับการสึกของฟัน และมีอาการเจ็บปวดที่บริเวณขากรรไกร โดยเฉพาะในขณะบดเคี้ยวอาหาร

 

 

⇒สาเหตุของการนอนกัดฟัน
ในเด็ก พ่อแม่อาจสังเกตว่ามีกานอนกัดฟันได้ โดยเฉพาะในระยะที่ฟันกรามกำลังงอกขึ้นมาในช่องปาก ทั้งนี้ เนื่องจากฟันกรามที่งอกขึ้นมาใหม่นี้ มีความสมบูรณ์ในด้านรูปร่างของฟัน โดยสันนูนบนด้านบดเคี้ยวของฟันจะชัดเจนมาก เมื่อฟันกระทบกัน บริเวณสันนูนดังกล่าวมีโอกาสถูกกระทบก่อนบริเวณอื่น
โดยธรรมชาติร่างกายก็จะปรับโดยการบดเคี้ยวอาหารและสันนูนนี้จะสึกกร่อนไปเองจนได้ระดับกับฟันอื่นในปาก แต่ถ้าเด็กที่ไม่ได้ใช้ฟันบดเคี้ยวอาหารเพียงพอ เช่น กินอาหารอ่อน การสึกกร่อนโดยธรรมชาติเกิดไม่ได้ ร่างกายก็ต้องปรับในเวลานอน ในขณะที่ฟันกระทบกัน บริเวณส่วนนูนนั้นจะถูกบดขยี้ และสึกกร่อนจากการนอนกัดฟันนี้เอง แต่อาการนี้ เกิดไม่นานก็จะหายไปเองเมื่อส่วนนูนนั้นสึกได้ที่ดีในที่สุด

เช่นเดียวกัน การนอนกัดฟันในเด็กหรือผู้ใหญ่ ก็อาจเกิดได้จากการที่ไปอุดฟันหรือครอบฟันที่สูงเกินไปได้ ซึ่งแม้ว่าร่างกายของเรา โดยเฉพาะในปาก สามารถรับรู้การเปลี่ยนแปลงได้ดีมากเพียงใดก็ตาม แต่ถ้าความสูงจากการอุดฟันหรือครอบฟันนั้นไม่ได้รับการแก้ไขให้ทันกาลแล้ว ก็เป็นสาเหตุหนึ่งของการนอนกัดฟันที่พบได้บ่อย ๆ การเปลี่ยนแปลงในลักษณะเดียวกันนี้ ยังพบได้ในผู้ที่มีฟันเก ซ้อน ไม่เป็นระเบียบและมีการสบฟันผิดปกติ โดยฟันที่เกนี้เองจะมีบางบริเวณที่สูงกว่าระดับปกติ และเป็นจุดที่ไปกระแทกกับฟันตรงกันข้ามก่อนเพื่อน เมื่อมีการสบฟันหรือกัดฟันซึ่งไม่ใช่สภาพปกติของร่างกาย
ดังนั้นถ้าไม่ได้รับการแก้ไข ร่างกายเองจะพยายามไปลบจุดกระแทกดังกล่าว โดยการนอนกัดฟัน เพื่อให้จุดนั้น ๆ สึกกร่อน ซึ่งก็เป็นสาเหตุอีกประการหนึ่งของการนอนกัดฟัน
ในผู้ที่เป็นโรคปริทันต์อักเสบ หรือเหงือกอักเสบรุนแรง โดยเฉพาะในผู้สูงอายุฟันอาจจะโยก คลอน และลอยตัวจากเบ้ากระดูกที่รองรับฟัน ทำให้การสบฟันผิดปกติเป็นจุดกระแทกก่อนฟันซี่อื่น ร่างกายก็จะรู้สึกได้ทั้งในเวลาตื่นและนอน การนอนกัดฟันก็เกิดขึ้นได้ในผู้ที่เป็นโรคปริทันต์อักเสบรุนแรงเหล่านี้ได้ด้วย
 

   


นอกจากนี้ การนอนกัดฟัน อาจเกิดจากผู้ที่มีความผิดปกติของขากรรไกร เช่น ขากรรไกรค้างบ่อย ๆ การสึกของกระดูกรองรับข้อต่อขากรรไกรอาจเป็นผลให้เวลานอนซึ่งตามปกติฟันจะไม่กระทบกันเลย แต่ผู้ที่มีความผิดปกติเหล่านี้ ขากรรไกรอาจเคลื่อนมาชิดกัน ทำให้ฟันที่กระทบกันกัดกระแทกในเวลานอนได้ด้วย
สาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่งของการนอนกัดฟัน ได้แก่ ทางด้านอารมณ์และจิตใจ โดยพบว่าผู้ที่มีความเครียดในระหว่างเวลากลางวัน จะมีผลให้เกิดการนอนกัดฟันได้ แม้จะไม่พบความผิดปกติของฟันหรือขากรรไกรแต่อย่างใดก็ตาม

 

⇒ การป้องกันและการแก้ไขการนอนกัดฟัน

เมื่อได้ทราบถึงสาเหตุและผลเสียของการนอนกัดฟันแล้ว การป้องกันและแก้ไข ก็เป็นไปตามผลของการค้นหาสาเหตุ โดยที่ประสาทรับความรู้สึกในปากของคนเราไวมาก ลองนึกถึงการมีเศษอาหารติดฟันเพียงเล็กน้อย จะรู้สึกรำคาญมากและพยายามที่จะกำจัดออก เช่นเดียวกัน การที่มีจุดหรือบริเวรที่สูงผิดปกติในปากจากฟันเอง หรือการอุดฟัน ครอบฟัน ฟันเก สบฟันผิดปกติต่าง ๆ เหล่านี้ ร่างกายก็จะรู้สึกได้ แต่ถ้าพยายามทน โดยไม่ได้รับการแก้ไขทันท่วงที ก็เป็นที่มาของการนอนกัดฟัน

ดังนั้นการป้องกันการนอนกัดฟันที่ดีวิธีหนึ่ง คือการสังเกต การเปลี่ยนแปลงในปาก เมื่อใดที่รู้สึกไม่สบายในขณะที่สบฟัน ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของการนอนกัดฟันได้ ก็ควรหาทางกำจัดความไม่สบายนั้นโดยเร็ว โดยไปพบทันตแพทย์ตรวจจุดที่สบฟันผิดปกติ และแก้ไขโดยการกรอฟันให้พอเหมาะ ซึ่งวิธีการกรอฟันนี้เป็นวิชาการที่ละเอียดอ่อน เพราะถ้ากรอมากเกินไป อาจไปทำให้เกิดจุดกระแทกใหม่เกิดขึ้น เป็นลูกโซ่ต่อ ๆ ไปทำให้เกิดผลเสียมากมายตามมาได้

  

การใช้ฟันบดเคี้ยวอาหารตามหน้าที่ โดยเฉพาะให้ได้เคี้ยวอาหารที่มีความเหนียวพอเหมาะ ไม่กินอาหารอ่อนเกินความจำเป็น อาหารประเภทเนื้อและผัก นอกจากจะให้คุณค่าทางอาหารแล้ว ยังมีผลให้มีการใช้ฟันบดเคี้ยวและสึกกร่อนพอเหมาะ โดยไม่ต้องให้ร่างกายช่วยเป็นพิเศษด้วยการนอนกัดฟันโดยไม่จำเป็น นอกจากนี้ การทำให้จิตใจให้เบิกบาน แจ่มใส ลดความเครียดทางอารมณ์ให้น้อยลงก็อาจมีส่วนช่วยไม่ให้นอนกัดฟันได้ด้วย
แต่ถ้าแก้ไขความผิดปกติ ทั้งทางร่างกาย จิตใจ ในปาก และนอกปากแล้วยังคงนอนกัดฟันอยู่ ทันตแพทย์อาจช่วยท่านได้ โดยการให้ท่านใช้ยางกัดฟัน คล้ายกับที่นักมวยใช้เวลาชกมวยบนเวทีเพื่อป้องกันฟันกัดกระแทก โดยทำจากแบบจำลองของฟันในแต่ละคน เพื่อให้พอเหมาะพอดีในแต่ละราย และให้ใช้ในเวลานอน เพื่อว่าเมื่อมีการนอนกัดฟันจะไม่กระทบกระแทกกัน การสึกของฟันก็จะไม่เกิดขึ้น จนเป็นผลเสียต่อฟันและขากรรไกร

เมื่อท่านสามารถป้องกันการนอนกัดฟันได้ไม่เป็นที่รำคาญแก่คู่นอนของท่าน ซึ่งการแก้ไขจุดเล็กน้อยเช่นนี้ อาจเป็นที่มาของความสำเร็จในอนาคตได้ และเป็นทางให้ท่านโชคดีสมดังคำกล่าวของโบราณด้วย
 

ข้อมูลสื่อ

112-016
นิตยสารหมอชาวบ้าน 112
สิงหาคม 2531
ทพ.ประทีป พันธุมวนิช