ถ้ามองดูเผิน ๆ ความเชื่อมั่นในตนเองไม่น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับบุคลิกภาพท่าทางในชีวิตประจำวันเลย แต่มักพบเห็นการแสดงออกหลายอย่างที่แสดงถึงความไม่มั่นใจ ความหวาดกลัวหรือไม่รู้ว่าจะวางตัวอย่างไรในสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการร่วมประชุม การร่วมในงานเลี้ยงสังสรรค์ หรือการเข้าพบเพื่อติดต่องาน ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงการแสดงออกบทเวทีเมื่อถูกเชิญขึ้นไปพูดท่ามกลางผู้คนจำนวนมาก
เราจะเห็นว่า ผู้ที่ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง ไม่กล้าที่จะสบตากับผู้อื่น แม้แต่ผู้ที่กำลังคุยด้วย ทำให้มีลักษณะก้มหน้าหรือคันคอไปที่อื่น เกิดอาการเกร็งที่กล้ามเนื้อคอ จนเกิดความเครียด ปวดศีรษะหรือรู้สึกว่าจะเป็นลมเนื่องจากเลือดถูกฉีดขึ้นไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ
หัวไหล่มักจะห่อเข้า ไม่มีลักษณะอกผายไหล่ผึ่งเยี่ยงชายชาติทหาร ทำให้หายใจไม่สะดวก เพราะการขยายของทรวงอกถูกจำกัดโดยการห่อไหล่หรือก้มตัวหลังค่อม ซึ่งจะทำให้ปวดหลังได้เมื่อยู่ในท่านั้นนาน ๆ
มือทั้งสองจะอยู่ไม่สุข ถ้ามีดินสออยู่ในมือจะหมุนไปมา จนทำให้ผู้สนทนาด้วยตาลาย บิดผ้าเช็ดหน้า ทำให้ดูเคอะเขิน หรือฉีกกระดาษ หักไม้จิ้มฟัน ไม้ขีดไฟ ทำให้มองดูไม่สง่า และอาจทำให้เข้าใจผิดว่า ไม่สนใจผู้ที่กำลังพูดคุยอยู่ด้วย
การนั่ง มักจะนั่งไม่เต็มที่นั่งเก้าอี้ แทนที่จะพิงที่พนักพิงของเก้าอี้ หรือนั่งตัวตรง จึงทำให้กล้ามเนื้อหลัง ต้องเกร็งตัวมากตลอดเวลา ในรายที่ปวดหลังทำให้ปวดหลังทำให้ปวดหลังมากขึ้น และเมื่ออยู่ท่านั่งนี้นานๆ จะรู้สึกปวดเมื่อยทั้งตัว และเจ็บปวดที่บริเวณก้นมาก เพราะนั่งอยู่บนกระดูกก้นกบ แทนที่จะนั่งอยู่บนปุ่มของกระดูกเชิงกราน หลังจะเบี้ยวไปข้างใดข้างหนึ่ง
การยืนจะมีฐานที่แคบมาก คือ ขาทั้งสองมักจะชิดเกินไป กล้ามเนื้อหุบขาเกร็งแข็ง หัวเข่างอไม่ตรง หลังค่อม ทำให้ต้องใช้กำลังกล้ามเนื้อของขาและหลังมาก
นอกจากนี้ การเข้าหากลุ่มสนทนา ยังไม่รู้จะเข้าหาอย่างไร เขาจะปฏิเสธที่จะคุยกับเราหรือไม่ จึงเกิดลักษณะเดินสะเปะสะปะ ไม่มีเป้าหมาย หรือเดินชนโต๊ะสะดุดเก้าอี้ ยิ่งกลายเป็นจุดเด่น หรือคิดเอาเองว่า ผู้อื่นคงจะตำหนิตนเอง ยิ่งทำให้เกิดอาการกระวนกระวายมากขึ้น พยายามหลบหลีออกจากงานเพราะเกิดความเครียดมาก ทำให้ทุกครั้งที่กลับจากงานเลี้ยงเกิดภาวะอาหารไม่ย่อย นอนไม่หลับ อ่อนเพลียทั้งตัว จึงหลีกเลี่ยงการไปงานเลี้ยงต่าง ๆ ซึ่งยิ่งทำให้เกิดความไม่มั่นใจมากขึ้น
ดังนั้น เราต้องพยายามสร้างความมั่นใจให้กับตัวเองเพื่อเสริมสร้างบุคลิกภาพที่ดี
ร่างกายกับจิตใจเป็นสิ่งเดียวกัน จิตใจเป็นส่วนของสมองใหญ่ซึ่งกำหนดการกระทำของร่างกาย หรือควบคุมการทำงานของทุกระบบภายในร่างกาย ทั้งการกระทำที่เรารู้สึกและสั่งงานได้ เช่น การยกแขน ขา เดิน วิ่ง และการกระทำที่เราสั่งงานไม่ได้ เช่น การย่อยอาหาร การนอนหลับ หรือการเกร็งแข็งของกล้ามเนื้อ
การควบคุมท่าทางอิริยาบถของร่างกายส่วนใหญ่อยู่ภายใต้การควบคุมของระบบประสาทอัตบาล คือ ความรู้สึกตามข้อต่อ กล้ามเนื้อ พังผืดจะส่งขึ้นไปรายงานสมองใหญ่ สมองน้อย เพื่อให้รู้ว่าขณะนี้ข้อต่อต่าง ๆ อยู่ในท่างอหรือเหยียด คำสั่งจากสมองจะสั่งโดยตรงลงมาให้ปรับท่าทางให้สู้กับแรงดึงดูดของโลก เช่น เมื่อเวลาเราเหยียบหรือสะดุดก้อนหินหัวเข่างอลงจะหกล้ม นอกจากระบบการตอบสนองอย่างฉับพลัน จะช่วยให้เราเกร็งตัวไว้ไม่ให้ล้ม สมองยังสั่งงานให้กระโดดหรือเอามือฉุดดึงหรือเกาะสิ่งที่อยู่รอบ ๆ
ขณะที่เราขาดความมั่นใจ การทำงานของสมองจะไม่ปกติ ทำให้การตอบสนองอย่างฉับพลันช้า สมองสั่งงานไม่ทันกาล ทำให้แรงดึงดูดของโลกมีอิทธิพลต่อการทรงตัวของเรามาก จึงเสมือนเราค่อย ๆ ทรุดลงไปกองอยู่กับพื้นแบบสาละวันเตี้ยลง แต่ตราบใดที่เรามีความมั่นใจ ตราบนั้นเราจะยืดตัวขึ้นอย่างไม่รู้สึกตัว ดังเช่นผู้ที่เคยชมเชย ผู้รับรางวัล และผู้ที่ขึ้นไปให้โอวาทในงานต่าง ๆ ล้วนเดินขึ้นเวทีด้วยความสง่างามผ่าเผย บุคคลที่มีความมั่นใจจะเที่ยวเดินทักคนนี้ ถามทุกข์สุขคนนั้นตลอดทั่วทั้งงาน โดยไม่หวั่นว่าผู้อื่นจะไม่สนทนาด้วย
การสร้างความมั่นใจให้กับตนเองคงเป็นเคล็ดลับอย่างหนึ่งของผู้ที่ประสบความสำเร็จในชีวิต แต่เป็นสิ่งที่ฝึกฝนได้ ในทางกลับกัน แทนที่เราจะมีความมั่นใจก่อนจึงมีบุคลิกภาพที่ดี เราอาจเสริมสร้างบุคลิกภาพที่ดีเพื่อสร้างความมั่นใจที่จะเกิดขึ้นในตัวเรา การแต่งเสื้อผ้าที่ถูกกาลเทศะหรือสมัยนิยมแต่ไม่จำเป็นต้องหรูหรามาก การยิ้มและทักทายผู้อื่น และท่าทางที่สง่างามล้วนเป็นสิ่งที่ประทับใจคนอื่นได้ และทำให้ผู้อื่นอยากคบค้าสมาคมด้วย
การมีบุคลิกภาพท่าทางที่ดี ยังเป็นสัญลักษณ์แสดงให้ผู้อื่นเห็นว่า เราเป็นผู้ที่มีสุขภาพอนามัยแข็งแรง ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ เช่น ไม่ปวดหลังจนตัวเบี้ยว หรือหน้าบึ้งตึงเพราะปวดศีรษะ มีกล้ามเนื้อที่แข็งแรง ไขข้อที่เคลื่อนไหวได้คล่องแคล่ว และระบบประสาทที่ว่องไว ซึ่งถ้าขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้วเราคงต้องกลับคืนสู่พื้นดินเสมือนหนึ่งผู้ที่มีความชราภาพมาก
- อ่าน 8,045 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้