• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เลือดออกตามไรฟัน


เช้าวันหนึ่ง สมศรีตื่นนอนขึ้นมา ก็เข้าห้องน้ำเพื่อไปแปรงฟัน และส่องกระจกดูในปาก

“ตายจริง เลือดออกตามไรฟัน”

“เอ เมื่อคืนนี้เราไปดูดเลือดใครมาหรือเปล่า?”

“ไม่ใช่น่า สงสัยจะดูหนังเรื่อง แดรกกูล่ามากไปแล้วกระมัง”

ท่านก็อาจจะเป็นอีกผู้หนึ่งที่มีเลือดออกตามไรฟัน หรือถ้าท่านจะสังเกตดูยาสีฟันที่บ้วนออกมาภายหลังการแปรงฟันแล้ว ก็อาจจะเห็นเลือดปนอยู่ด้วยก็ได้ โดยเฉพาะในคนที่อายุ 35 ปีขึ้นไป หลายท่านอาจจะไม่สนใจ คิดว่าขนแปรงสีฟันคงไปกระทบกระแทก เข้ากับเหงือกซึ่งอ่อนนุ่มกว่า จึงทำให้เลือดออกได้เป็นธรรมดา บางท่านเข้าใจว่ากำลังเป็นโรคลักปิดลักเปิด หรือที่เขาว่าโรคขาดวิตามิน ซี คงจะต้องบำรุงด้วยผลไม้หรือผัก ให้ร่างกายได้รับวิตามินซี ครบส่วนให้ได้
ท่านที่อายุมากขึ้นหน่อย ก็คงจะปลงว่า อายุมากขึ้น อะไร ๆ ก็แย่ไปตามอายุ เหงือกที่เคยรัดฟันแน่นหนาก็คงจะหย่อนยานไปบ้าง ถูกแปรงสีฟันนิดหน่อยเลือดก็ออกง่ายขึ้นกระมัง

แท้ที่จริงแล้ว การที่มีเลือดออกจากเหงือกในขณะที่ถูกกระทบกระแทกด้วยแรงเพียงเล็กน้อย เป็นเครื่องบ่งชี้ถึงอาการขั้นต้นของโรคเหงือกอักเสบ แต่ก็ไม่ร้ายแรงนัก ซึ่งถ้าท่านดูแลอย่างใกล้ชิด อาการนี้ก็อาจหาไปได้ เป็นการป้องกันไม่ให้ลุกลามมากขึ้น ทั้งนี้อาจไม่ต้องไปหาหมอรักษาให้ยุ่งยาก และเป็นการสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น

 

⇒ที่มาของโรคเหงือกอักเสบ และโรคเลือดออกตามไรฟัน

เหงือกของคนเราเป็นอวัยวะที่มีเลือดมาหล่อเลี้ยงมากที่สุด แต่เหงือกก็เป็นเนื้อเยื่ออ่อนที่ทำหน้าที่สำคัญในการเคลือบกระดูกและฟัน โดยมีคุณสมบัติคล้ายเนื้อเยื่อที่เคลือบทางเดินอาหารอื่น เช่น กระเพาะอาหาร ลำไส้ เพราะช่องปากเป็นส่วนต้นส่วนหนึ่งของระบบทางเดินอาหาร  ในขณะเดียวกัน เหงือกก็เปิดเผยต่อสิ่งแวดล้อมภายนอกร่างกาย โดยเหงือกจะมีโอกาสสัมผัสกับอาหาร อากาศ และแรงกระทบกระแทกต่างๆ โดยตรง คล้ายกับที่ผิวหนังสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมภายนอกร่างกายอื่น ๆ
ดังนั้น ส่วนประกอบของเหงือก จึงไม่เหมือนกับเนื้อเยื่ออ่อนที่เคลือบ ระบบทางเดินอาหารอื่น โดยจะมีส่วนประกอบโปรตีนที่ให้ความแข็งแรงมากขึ้น เพื่อที่จะสามารถทนทานต่อแรงกระทบจากสิ่งแวดล้อมภายนอกได้พอสมควร ดังจะเห็นได้ว่า เหงือกปกติที่สมบูรณ์ดีจะไม่ฉีกขาด หรือมีเลือดออกเมื่อเราขบเคี้ยวอาหารตามธรรมดา หรือแม้แต่แปรงฟันที่ไม่รุนแรงจนเกินไป

ดังนั้น การมีเลือดออกตามไรฟัน หรือตามซอกเหงือก ไม่ว่าในขณะปกติหรือภายหลังการแปรงฟัน ย่อมเป็นอาการที่บอกกล่าว หรือเตือนให้รู้ว่าเหงือกไปปกติแล้ว หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ เป็นอาการเริ่มแรกของโรคเหงือกอักเสบ นั่นเอง เป็นที่ทราบกันดีว่า ในช่องปากของเราเป็นที่อยู่อาศัยของเชื้อจุลินทรีย์มากมายหลากหลายชนิด ซึ่งเจริญเติบโตและขยายพันธุ์โดยอาศัยอาหารที่ตกค้างในช่องปาก เชื้อบางชนิดก็ไม่มีโทษ แต่หลายชนิดที่เป็นต้นเหตุสำคัญของโรคฟันผุ และโรคเหงือกอักเสบ โดยเฉพาะเชื้อโรคที่อาศัยอยู่บนคราบจุลินทรีย์ (dental plaque) ที่เกาะแน่นอยู่บนตัวฟัน

ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับโรคเหงือกอักเสบโดยตรง ได้แก่ คราบจุลินทรีย์ที่เกาะบริเวณขอบเหงือกที่ต่อกับฟัน เชื้อจุลินทรีย์ที่อยู่ในคราบจุลินทรีย์ในบริเวณดังกล่าว ซึ่งมีหลายชนิด ขึ้นอยู่กับอายุหรือความแก่ของคราบจุลินทรีย์ กล่าวคือ ถ้าเป็นคราบจุลินทรีย์ใหม่ที่มีอายุไม่เกิน 24-48 ชั่วโมงซึ่งเกิดขึ้นตามธรรมชาติไม่ว่า เราจะทำความสะอาดเพียงไรก็ตาม เชื้อจุลินทรีย์ส่วนใหญ่จะมีรูปร่างกลม รี และมีความร้ายแรงไม่มากนัก

แต่ถ้ายังเป็นคราบจุลินทรีย์ที่อายุนานวันมากขึ้น ซึ่งอาจเกิดจากการทำความสะอาดไม่ดีพอ ไม่ว่าจากการแปรงฟันที่ไม่ทั่วถึง หรือการละเลยไม่ทำความสะอาดในบางบริเวณคราบจุลินทรีย์ที่เก่านี้จะหนาตัวขึ้น ชนิดของเชื้อจุลินทรีย์ที่พบก็เปลี่ยนชนิดไป โดยส่วนใหญ่จะมีรูปร่างเป็นเส้นยาว ยึกยือ และมีความร้าย แรงมากขึ้น สามารถปล่อยสารพิษ ออกมาระคายเคืองต่อเหงือก ร่างกายก็จะพยายามต่อต้านโดยกระตุ้นให้เลือดมาเลี้ยงมากขึ้น และสร้างภูมิคุ้มกันมาต่อสู้สารพิษจากเชื้อจุลินทรีย์ ซึ่งเป็นปฏิกิริยาของร่างกายเช่นเดียวกับการอักเสบบริเวณอื่นของร่างกาย นั่นคือ ปวด บวม แดง ร้อน แต่ในช่องปากซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงมากตลอดเวลา

ดังนั้นในรายที่ยังไม่รุนแรง ความรู้สึกปวด ร้อน ยังไม่มากนัก อาจรู้สึกแค่เจ็บ ๆ คัน ๆ พอรำคาญ ในระยะแรกเริ่มเท่านั้น แต่ถ้าสังเกตดูเหงือกบริเวณที่อักเสบอย่างใกล้ชิด จะเห็นอาการบวมแดงได้ชัด ซึ่งเป็นอาการแรกเริ่มของโรคเหงือกอักเสบ บริเวณดังกล่าวนี้เองเป็นจุดอ่อนแอที่เมื่อได้รับแรงกระทบไม่ว่าจากการแปรงฟัน หรืออาหารแข็งบางชนิด ก็เป็นจุดที่เลือดออกได้ง่าย เป็นที่มาของเลือดออกตามไรฟันนั่นเอง

 

⇒การป้องกันรักษาโรคเหงือกอักเสบด้วยตนเอง
การดูแลตนเอง เป็นหลักการสำคัญของงานสาธารณสุขมูลฐาน ที่เน้นการป้องกันโรคด้วยการเฝ้าระ-วังโรค การตรวจพบโรคตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม โรคเหงือกอักเสบเป็นโรคที่ประชากรทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยด้วยเป็นมากที่สุดทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว
โดยมีรายงานว่า ในผู้ใหญ่ โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป จะเป็นโรคเหงือกอักเสบกว่าร้อยละ 80 ทั้งในเมืองและในชนบท การป้องกันและรักษาแต่เนิ่น ๆ จะช่วยลดอุบัติการณ์และความชุกของโรคเหงือกได้อย่างดียิ่ง ตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า อาการแรกเริ่มของเหงือกอักเสบ ได้แก่ อาการเหงือกบวมแดงนั้น การที่จะพิเคราะห์แยกเหงือกอักเสบจากเหงือกปกติจึงจำเป็นในการเฝ้าระวังโรคเหงือกอักเสบนี้

ลองส่องกระจกดูเหงือกของตัวเอง ที่เห็นได้ชัดที่สุดคือบริเวณฟันหน้าด้านบนและล่าง แต่ควรพยายามดูให้ทั่วที่ขอบเหงือกของฟันทุกซี่ ทั้งฟันหน้าและฟันหลัง โดยใช้นิ้วชี้ของมือทั้งสองข้างแหวกมุมปากให้กว้างพอที่จะดูได้ชัด ดูให้ดีที่บริเวณเหงือกที่ชิดกับฟัน จะสังเกตเห็นว่า เหงือกมีลักษณะโค้งเว้าตามรูปร่างของฟันแต่ละซี่ แยกจากกันได้ว่า เหงือกของฟันซี่ไหนเป็นซี่ไหน บริเวณดังกล่าวนี้เอง ลองดูให้ดี ๆ เปรียบเทียบสีลักษณะทั่วไปกับเหงือกที่อยู่เหนือขึ้นไปเล็กน้อยหรือเหงือกบริเวณอื่น

เหงือกปกติที่สมบูรณ์ จะมีสีชมพูสดใส มีลักษณะแน่น ถ้าสังเกตให้ใกล้ชิดอาจเห็นปุ่มน้อย ๆ บนผิวเหงือกแลดูขรุขระ และถ้ากดด้วยนิ้วมือโดยออกแรงเบา ๆ จะรู้สึกถึงความแน่นคล้ายกดที่ผิวหนังของร่างกายปกติ แต่ถ้าเหงือกอักเสบจะมีอาการที่เห็นได้ชัดคือ บวม แดง ดังนั้น จะเห็นสีแดงช้ำ ผิวเหงือกอาจเต่งตึง แบบบวมเป่ง หรือฉุ ๆ แบบบวมช้ำ ขอบเหงือกจะไม่เรียบ ไม่เห็นผิวที่มีลักษณะปุ่มขรุขระน้อย ๆ ในแบบเหงือกปกติ ในรายที่ไม่รุนแรงมาก ขอบเขตของการอักเสบจะจำกัดเฉพาะ บริเวณขอบเหงือกที่ต่อกับฟัน ดูเห็นเป็นแถบอักเสบแดง ไม่กว้างนัก ถ้ากดด้วยนิ้วแม้จะไม่แรงนัก ก็รู้สึกได้ถึงความนิ่มที่ไม่แน่นของเหงือกปกติ

นอกจากนี้ ในขณะที่กำลังอักเสบ การกดเบา ๆ ก็อาจทำให้เลือดออกตามขอบเหงือกหรือไรฟันได้ และในรายที่รุนแรงมากอาจมีของเหลวหรือหนองออกมาร่วมกับเลือดได้ ซึ่งในรายที่รุนแรงนี้ มักจะสังเกต เห็นหินปูนเกาะโดยรอบขอบฟัน และอาจมีอาการฟันโยกร่วมด้วย ในกรณีนี้อาจเป็นโรครุนแรงมาก เราเรียกว่า โรคปริทันต์อักเสบ ซึ่งเป็นอาการต่อไปจากโรคเหงือกอักเสบ ต้องอาศัยทันตแพทย์ให้การรักษา ไม่สามารถดูแลรักษาด้วยตนเองได้เพียงพอ
อย่างไรก็ดี การดูแลรักษาด้วยตนเองก็อาจช่วยลดความรุนแรงของโรคให้น้อยลงได้ เพื่อประทังอาการไว้ก่อนไปรับการรักษาต่อไป

การดูแลรักษาโรคเหงือกอักเสบในระยะแรกเริ่มด้วยตนเอง ที่สำคัญ ก็คือการกำจัดเชื้อจุลินทรีย์ที่เป็นสาเหตุของโรคเหงือกอักเสบ ดังได้กล่าวแล้วว่า เชื้อในคราบจุลินทรีย์เก่าจะมีความรุนแรงกว่า ดังนั้น การทำความสะอาดฟัน โดยเฉพาะบริเวณของเหงือกให้ทั่วถึงทุกวันเพื่อไม่ให้มีการหมักหมมของเชื้อในคราบจุลินทรีย์ จะช่วยลดการระคายเคืองจากสารพิษของเชื้อจุลินทรีย์ได้ นั่นก็คือ การแปรงฟันบริเวณขอบเหงือกให้สะอาดเป็นพิเศษ ในขณะเดียวกัน การแปรงฟันให้ปลายขนแปรงที่อ่อนนุ่มกระทบเหงือกเบา ๆ เป็นการกระตุ้นให้เลือดมาเลี้ยง เหงือกบริเวณที่กำลังอักเสบอยู่นั้น จะช่วยกำจัดสารพิษและสิ่งแปลกปลอมที่ก่อให้เกิดการอักเสบ เป็นการลดการอักเสบของเหงือกอีกทางหนึ่ง แน่นอนว่า การแปรงฟัน แปรงเหงือกในระยะที่กำลังอักเสบอยู่ จะรู้สึกเจ็บปวดบ้าง และเลือดก็คงออกในขณะที่แปรงไปกระทบเหงือกที่อักเสบอยู่นั้น แต่ถ้าอดทนแปรงต่อไปได้อีกเพียง 2-3 วัน อาการเจ็บและเลือดออกในขณะแปรงฟัน จะค่อย ๆ น้อยลงจนเป็นปกติ พร้อมกับอาการเหงือกอักเสบที่เป็นบวมแดงตามขอบเหงือกก็จะหายไปด้วย เพราะร่างกายจะสร้างเหงือกใหม่ที่แข็งแรงมาทดแทน ซึ่งต่อไปก็เป็นหน้าที่ขอองเราที่จะต้องคอยดูแลแปรงฟัน-แปรงเหงือก เพื่อกำจัดคราบจุลินทรีย์ โดยเฉพาะบริเวณขอบเหงือกเป็นพิเศษ เพื่อไม่ให้เหงือกอักเสบกลับมาใหม่ได้อีก

มาช่วยกันป้องกันและลดโรคเหงือกอักเสบ โดยการหมั่นสังเกต ตรวจดูเหงือกของตนเองและผู้ใกล้ชิด และรีบแก้ไขความผิดปกติตั้งแต่เนิ่น ๆ ด้วยการแปรงฟัน-แปรงเหงือก ยิ่งบริเวณใดที่แปรงฟันแล้วเลือดออก ยิ่งจะต้องแปรงด้วยความระมัดระวัง แปรงให้ถูกวิธีสะอาดหมดจดอย่างทั่วถึง โดยให้ปลายขนแปรงที่อ่อนไปกระทบขอบเหงือก ด้วยความอดทนต่อไปอีก 2-3 วันจะเห็นผลในการลดอาการเลือดออกตามไรฟันในที่สุด

 

ข้อมูลสื่อ

115-014
นิตยสารหมอชาวบ้าน 115
พฤศจิกายน 2531
ทพ.ประทีป พันธุมวนิช