• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ข้อคิดในการเลือกหมอ

                                          

คนไข้ไทยนั้น ถ้าจะเปรียบกับคนไข้ที่มีความรู้ในประเทศร่ำรวยอย่างในสหรัฐอเมริกาหรืออังกฤษ นับว่าคนไทยส่วนใหญ่เป็นคนไข้ที่น่ารักน่าเห็นใจเป็นอันมาก ที่น่ารัก คือ เขาจะรักใคร่นับถือมีศรัทธาต่อหมอเป็นอย่างยิ่ง ยอมเชื่อฟังโดยไม่สงสัยเคลือบแคลง ไม่ว่าจะวินิจฉัยโรคมาอย่างไร หรือออกคำสั่งให้ไปผ่าตัดที่ไหน เมื่อใด ส่วนมากไม่ออกปากคัดค้าน จะมีบ้างที่ดื้อดึงอยู่ ก็เพราะความกลัวถูกผ่าตัดมากกว่า เพราะความไม่เชื่อถือหมอ

คนไข้ที่พอจะมีสตางค์จะไปหาหมอตามร้าน ไม่ว่าหมอจะสั่งยาอะไรมา แพงอย่างไร ไม่ต้องมีชื่อยาก็ได้ ขอให้บอกจำนวน เวลา ที่จะกิน ต่างยินดีนำไปปฏิบัติตามโดยดี ประกอบกับประเพณีคนไทยนั้นมีความสุภาพ และกตัญญูต่อผู้ช่วยชีวิต ก่อนลาจากหมอยังไหว้งาม ๆ ด้วยความขอบคุณอย่างลึกซึ้งเสียอีก ยิ่งถ้าหายจากโรคภัยไข้เจ็บด้วยแล้ว คนไข้กระเป๋าหนักยังเผื่อแผ่ให้ของขวัญแถมจากเงินจากเงินค่ารักษาฝากไปถึงภรรยาคุณหมอที่บ้านด้วย อย่างนี้จะเรียกว่าไม่น่ารักอย่างไร คนไข้กลุ่มนี้คือคนที่มีเงิน พอมีโอกาสจะเลือกหมอกับเขาได้

ส่วนคนไข้กลุ่มที่น่าเห็นใจคือ คนไข้ยากจนส่วนใหญ่ตามต่างจังหวัด ไม่ค่อยมีโอกาสพบหมออยู่แล้ว เขามองว่าหมอเป็นชนชั้นเทวดามาโปรดทีเดียว นอกจากจะกราบศิโรราบด้วยความรักนับถืออย่างยิ่ง ยังยอมยกชีวิตให้หมอตัวสินวินิจฉัยตามสบาย บางแห่งไม่มีหมอปริญญา เขายังยอมให้เด็กแบบ “หมอน้อย” ช่วยรักษา ลงทุนเสียค่ารถมากันมืดฟ้ามัวดิน นำดอกไม้ ธูปเทียนมากราบขอยา คนไข้กลุ่มนี้จึงน่าสงสาร เพราะเขาไม่มีสิทธิ์จะเลือกหมอ เป็นกลุ่มคนไข้ที่อยู่ในกำมือของรัฐที่จะให้โอกาส ให้ปัจจัย ได้รับการรักษา พยาบาลได้เลือกหมอกับเขาบ้างในอนาคต

ข้อคิดในการเลือกหมอนี้ ดูจะเป็นประโยชน์เฉพาะกับคนไข้กลุ่มแรก อย่างไรก็ดี ถ้ามีหมอคนใดเผลอมาอ่านบทความนี้จนจบ ข้อคิดของคนไข้เรื่องนี้ อาจกลายเป็นข้อคิดให้คุณหมอเอง ในที่สุดประโยชน์จะตกแก่คนไข้กลุ่มที่สองด้วย  ผู้เขียนคิดที่จะเขียนเรื่องนี้ เพราะได้อ่านคำแนะนำในการเลือกหมอของแพทย์หญิงชาวอเมริกันชื่อ บาบาราร์ อิเดลสไตน์ ยังนึกชมว่า เธอใจกว้างพอที่จะเขียนแนะนำวิธีเลือกหมอให้คนไข้ ซึ่งมีหมอน้อยคนจะทำ เพราะอาจทำให้เพื่อน ๆ หมอเสียผลประโยชน์ได้ ผู้เขียนเห็นว่า เป็นข้อเสนอแนะที่ “เข้าท่า” เป็นอันมาก จึงขอนาเขียนรวมกับข้อคิดและประสบการณ์ของตนเองที่มีแนวคิดคล้ายกัน

แม้ผู้เขียนจะมีความสำนึกอยู่เสมอว่า หมอเรียนมาอย่างน้อย 6 ปี รวมประสบการณ์รักษาอีก ย่อมเป็นผู้รู้โดยแน่นอน แต่ตนเองเป็นคนไข้ ประเภทชอบซักถามหมอ ประท้วงหมอ ติงหมอเป็นประจำ สนใจหาความรู้ในโรคภัยไข้เจ็บของตน ยังคบกับหมอ มีเพื่อนหมออยู่หลายคน คุณหมอเหล่านี้ล้วนเป็น “ครู” ในหัวใจมีเมตตา จิตเป็นคุณธรรม ใจกว้างที่จะรับคำติง และให้สิทธิ์คนไข้ว่าเขาเป็นมนุษย์ที่คิดเป็น ไม่ใช่เพียงร่างกายให้หมอตรวจอย่างเดียว ข้อเสนอแนะนี้ขอกล่าวเป็นข้อ ๆ เพื่อให้กระจ่างชัด

1. ผู้เขียนมีหลักไว้อย่างหนึ่งว่า ถ้าเป็นโรคที่ร้ายแรงอย่าให้หมอคนเดียววินิจฉัย หาหมอคิดคนมาวินิจฉัยโรคประกอบ มีตัวอย่างชัดเจนที่แสดงผลเสียในเรื่องนี้
เพื่อนของผู้เขียนคนหนึ่งคลำ พบก้อนที่หน้าอก ได้ไปหาหมอที่โรงพยาบาลมีชื่อแห่งหนึ่ง หมอคลำดู แล้วทำหน้าเครียด นัดคนไข้ผ่าตัดทันที เพื่อนผู้นี้ได้มาปรับทุกข์เหมือนจะลาตายต่อผู้เขียน เลยนัดให้ไปพบหมอผู้เชี่ยวชาญที่รู้จักกันคลำดูบ้าง หมอคนใหม่คลำดูแล้วยิ้ม บอกว่าพรุ่งนี้มาที่ห้องทำงานหมอ ขอเวลาจัดการกับไอ้ก้อนนั้นสัก 15 นาที หมอใช้เวลาไม่ถึงที่กะเสียด้วยซ้ำ เอาเข็มยาวแทงลงที่ก้อน ดึงเข็มออกมีน้ำเหลืองออกมาเต็มหลอด ปรากฏว่าเป็นถุงน้ำไม่ใช่เนื้องอกร้ายแรงอะไร เดินตัวปลิวกลับบ้าน ไม่ต้องเสียค่ายา หรือโดนผ่าตัดให้เจ็บตัว สาบานกับตัวเองว่า ต่อไปนี้ จะเชื่อหมอบาบาราร์ที่ให้ใช้ทฤษฏี 2 หมอ สำหรับโรคที่สงสัยว่ารุนแรงตลอดไป

เรื่องจริงอีกเรื่องหนึ่งเกิดกับหลานชายผู้เขียนเอง เดินเท้าหน้าบิด เข้าหากันมาตั้งแต่เล็ก ๆ หมอผู้เชี่ยวชาญคนหนึ่งแนะให้ผ่าตัด ซึ่งจะต้องทำมากกว่า 2 ครั้ง เพื่อให้เดินสวย หมออีกคนหนึ่งแนะวิธีบริหารขา อธิบายว่าการผ่าตัดแบบนี้ไม่แน่นอน จะแก้ไขให้เดินสวยได้จริง แต่มีข้อเสี่ยงมาก ทั้งเด็กยังต้องทรมานกับการผ่าตัดหลาย ๆ ครั้ง โดยไม่จำเป็น พ่อแม่เลือกวิธีหลัง ปัจจุบันเด็กคนนี้เป็นวัยรุ่นแล้ว เดินเหมือนปกติ ไม่สังเกตก็ไม่เห็นว่า เท้าหันเข้ามหากันเล็กน้อย สาว ๆ ติดกันเกรียว ประสบการณ์แบบนี้ ทำให้ต้องยอมไปหาหมอหลายคน โดยเฉพาะในกรณีต้องผ่าตัดใหญ่

2. หมอบาบาราร์แนะให้เลือกหมอที่อยู่ใกล้บ้าน หรือมีคลินิกใกล้บ้าน เพื่อนำคนเจ็บไปหาได้ทันที ยิ่งถ้ามีลูกเด็กเล็กแดง หรือญาติผู้ใหญ่ อาวุโสยิ่งจำเป็นจะต้องคำนึงถึงระยะใกล้ไกลด้วย ปัญหานี้คนอยู่กรุงเทพฯ ซึ้งกับสภาพการจารจรดีอยู่แล้วไม่ต้องแนะนำกันมาก มีกรณีพิเศษที่บางคนอยู่พระโขนง แต่ติดใจหมอที่ฝั่งธนบุรี คำว่า “ติดใจ” หมายถึง ศรัทธา ความสามารถ ถูกอัธยาศัย เกิดความเชื่อว่า ถ้าไม่ได้หมอเทวดาคนนี้คนอื่นรักษาไม่หาย ในกรณีเช่นนี้ก็จะไม่กวนใจชักจูงให้ไปหาหมออื่นใกล้บ้านกันล่ะ ถึงว่าเป็นการช่วยสุขภาพจิตของคนไข้เอง แต่ไปเห็นหน้าหมอแม้จะไม่ได้ยามากิน โรคก็หายไปครึ่งหนึ่งแล้ว

3. ควรเลือกหมอผู้หญิง หรือหมอผู้ชายดี หมอบาบาราร์แนะว่า ขึ้นอยู่กับโรคที่เป็นเหมือนกัน คนไข้ผู้หญิงที่เป็นโรคเกี่ยวกับมดลูก หรือการฝากท้องมีครรภ์ ถ้ารู้สบายใจกว่าที่จะให้หมอผู้หญิงตรวจภายใน ก็ควรเลือกผู้หญิง ส่วนผู้ชายที่เป็นพวกซุกซน ต้องตรวจอวัยวะสำคัญ มิหนำซ้ำ ยังต้องเล่าที่มาอาการโรคต่าง ๆ เจอหน้าหมอผู้หญิงแล้วพูดไม่ออก เพราะทำให้นึกถึงภรรยาที่บ้าน เสียว ๆ ว่า หมอจะแพ่นหัวเอา หรือผสมน้ำหน้าให้คนไข้แบบนี้ไปหาหมอผู้ชายด้วยกันจะดีกว่า
มีประสบการณ์เพิ่มเติมจะเล่าเสริมให้ฟังคือ ผู้เขียนเองในตอนแรก ก็ทำตามหมอบาบาราร์ เพราะอายที่จะให้หมอผู้ชายตรวจ ภายหลังความรู้สึกว่าตนเป็นคนไข้ ต้องพึ่งหมอเก่งทำให้หมดอายไปได้ ยิ่งคิดถึงคนไข้ที่เจ็บปวด อาการมาก “หมอ” เท่ากับเป็น “เทวดา” ไม่มีเพศ ขอให้รักษาตนให้หายเถอะ เรื่องอาย หรือคิดมากอย่างอื่นชิดซ้ายไปได้เลย

4. หมอฝรั่งเค้าเสนอว่า อย่าเรื่องหมอตำแหน่งใหญ่ เช่น ประเภทผู้บริหารอาจารย์ หรือหัวหน้าแผนก ท่านเหล่านี้ต้องทำงานหนักบริหารโรงพยาบาล ไม่ค่อยจะมีเวลาให้คนไข้ หรือบางทีท่านทำงานบริหารเป็นเวลานาน ห่างเหินโต๊ะผ่าตัด ความชำนาญอาจเสื่อมไปได้เหมือนกัน นี่เป็นเพียงหลักทั่วไป ย่อมมีข้อยกเว้นสำหรับหมอที่ขยันบริหารและขยันผ่าตัดพร้อมกัน ไปก็มีอยู่บ้าง ถ้ายังไม่เป็นโรคประสาทเสียก่อน

5. ควรไปหาหมอผู้เชี่ยวชาญเฉพาะโรค ถ้ามีโอกาสจะทำได้ คนเป็นโรครุนแรง เช่น โรคหัวใจ ไปหาหมอทั่วไปที่ไม่ชำนาญ บางทีปล่อยให้เป็นมากถึงขั้นรักษาไม่หาย ลองไปหาหมอที่ชำนาญโรคหัวใจ อาจไปหาน้อยครั้ง แต่ช่วยทำให้หายเร็วขึ้นได้ บางทีเราต้องยอมจ่ายค่ารักษาพยาบาลสำหรับหมอเชี่ยวชาญเฉพาะโรค ถ้ามัวเสียดายเงิน หรือประหยัดมากเกินไปจะไม่มีอายุยืนยาวให้ได้ใช้เงิน
การที่จะรู้ว่าหมอผู้เชี่ยวชาญคนไหนเก่ง ต้องใช้วิธีถามเพื่อนฝูง คนรู้จัก หรือคนไข้ที่เป็นโรคประเภทเดียวกัน

ดังที่กล่าวแล้วว่าคนไทยที่ยากจนอยู่ตามจังหวัดไกล ๆ ไม่มีทางเลือกหมอ แต่มีหมอประจำ โรงพยาบาลอำเภอก็ถือว่าบุญแล้ว เพราะบางทีจะเจอแต่พยาบาล ยิ่งหมอผู้เชี่ยวชาญเฉพาะโรค ยิ่งไม่เคยพบ นอกจากญาติจะพาเข้าเมืองใหญ่ อย่างไรก็ดีอย่าดูถูกพยาลที่มีประสบการณ์ทำคลอดจนชำนาญ พวกนี้บางทีเก่งกว่าหมอจบใหม่ ๆ เสียอีกในเรื่องทำคลอด ถ้าเกิดเมียเจ็บท้อง หามไปเข้าเมืองใหญ่ไม่ทันเจอพยาบาลชำนาญคลอดที่ศูนย์อนามัยไหน ก็หามเข้าไปหาเถิดไม่ต้องรอหมอ ถือว่าเป็นผู้ชำนาญโรคได้เหมือนกัน

6. อย่าเลือกหมอที่ดื่มเหล้า หรือติดยา สำหรับคนไทยฟังดูคงแย้งว่าหมอติดเหล้าติดยาคงมีแต่เมืองฝรั่งละมัง ซึ่งไม่แน่นัก อาชีพหมอมีความเครียดสูง หมอที่รักษาคนไข้ ทำเขาตายหรือพิการไป ก็กระทบ กระเทือนใจไม่น้อย กว่าจะปลงได้ประสาทหมอก็เครียดกันมามาก หมอทั้งหลายต้องยอมรับว่าก่อนผ่าตัดมีอาการ “อกสั่น” กันมาแล้วทั้งนั้น พอเป็นหมอชำนาญขึ้น การแข่งขันทางอาชีพมีมากขึ้น ตามโรงพยาบาลใหญ่ ๆ มีการชิงดีชิงเด่นกันพอสมควรทีเดียว ยาเสพติดก็ใกล้มือหมออยู่แล้ว เป็นไปได้ที่หมอจะใจอ่อนพึ่งยาเสพติดแก้เครียด อย่าลืมว่าหมอเป็นเพียงมนุษย์ปุถุชนธรรมดา พลาดได้เหมือนกัน คิดว่าในสังคมไทยคงมีน้อยกว่าในสังคมฝรั่ง ปัญหาว่าคนไข้จะรู้ได้อย่างไร ว่าหมอคนไหนเป็นนักดื่มหรือติดยาปกติหมอคงจะระวังไม่ให้คนไข้รู้ แต่อาจจับได้เวลาเผลอ สังเกตกลิ่นเหล้า หมอหรือพยาบาลคนไหนเห็นหมอผ่าตัดเริ่มมือสั่นเวลาผ่าตัดบ่อย ๆ กระซิบผู้บริหารไว้บ้าง การช่วยกันปกปิด ช่วยเพื่อนหมายถึงชีวิตคนไข้อีกหลาย ๆ คน

7. ควรเลือกหมอที่คุณชอบ คือ หมายถึงถูกอัธยาศัย ถูกชะตากัน ศรัทธากันอย่างที่กล่าวแล้ว คนไข้ไปพบหมอที่ชอบเท่ากับโรคหายไปแล้วส่วนหนึ่ง หมอที่หน้าตาไม่กินเส้นกันตั้งแต่แรก พูดขู่แบบมะนาวไม่มีน้ำ ถามอาการไปเขียนไปโดยไม่เงยหน้าดูคนไข้ ไม่มีเวลาตอบปัญหาที่คนไข้ถาม เราอย่าไปเลือก ไม่จำเป็นต้องไปทนหมอประเภทนั้น เพราะทำให้สุขภาพจิตคนไข้เสีย ส่งผลถึงสุขภาพกายด้วย เมื่อตัดสินใจแล้วว่าจะเปลี่ยนหมอ อย่าลืมขอประวัติการรักษาของเราเอาไว้ด้วยเพื่อให้หมอใหม่ดู อ้างความไม่สะดวกต่าง ๆ ก็ได้ หมอที่ไม่เก่งหรือหมอที่เบื่ออาชีพตนเอง อาจต้องให้อภัย ไม่ใช่ความผิดของเขาทั้งหมด สมัยนี้พ่อแม่ชอบบังคับให้ลูกเรียนหมอนัก เลยผลิตหมอได้แบบนี้แหละ

8 .อย่าคิดว่าหมอคนนั้นเก่ง เพราะในคลินิกมีคนไข้รอเต็มไปหมด ทำให้รู้สึกเหมือนว่าหนังดีต้องยืนเข้าคิวรอ คนเลือกหมอเก่งแบบนี้ อาจผิดหวัง ถ้าหมอมีคนไข้เต็มร้าน เพราะท่านขยักให้ยา แล้วชอบนัดให้มาบ่อย ๆ บางทีลูกเป็นหวัดต้องนั่งรถมาหาถึง 3 ครั้งกว่าจะให้ยาครบ คลินิกที่คนน้อย แต่หมอมีประสิทธิภาพ วินิจฉัยโรคแม่นยำกะยาน้อยครั้งก็หายไม่ต้องมาอีกบ่อย ๆ ได้ก็มีมาก อย่างไรก็ตาม หมอแต่ละคนมีเทคนิคการรักษาต่าง ๆ กัน อย่าไปสรุปกล่าวโทษอะไรเร็วนัก เพียงแต่ให้เป็นคนช่างคิด ช่างสังเกตไว้บ้าง อย่าเป็นคนไข้ชนิดเฮไปทางไหนไปด้วย แบบคนไข้หมอน้อยก็แล้วกัน

9. เลือกหมอที่มีหัวใจเป็นครู
อธิบายโรค อธิบายยาให้คนไข้ได้บ้าง โดยเฉพาะกับคนไข้ที่มีความรู้ ชอบศึกษาเกี่ยวกับโรคของตนเอง บอกผลข้างเคียงของยาให้คนไข้ฟังบ้าง ถ้าหมอไม่มีเวลาอธิบายยาวอาจแนะนำหนังสือ บทความดี ๆ เกี่ยวกับโรคนั้น ๆ ให้คนไข้อ่าน สมัยนี้มีข้อพิสูจน์บ้างแล้วว่า คนไข้แบบนี้มีแนวโน้มจะหายโรคเร็วกว่าคนไข้ที่ไม่สนใจหาความรู้ นอกจากทำตามหมอสั่งอย่างเดียว

ในประเทศที่ก้าวหน้าทางการแพทย์ เช่น สหรัฐอเมริกา คนไข้แบบนี้รวมตัวกันเป็นกลุ่ม “เสียงคนไข้” ขอมีส่วนร่วมในการรักษาโรคกับหมอ คอยสังเกตอาการของโรค ผลกระทบของยา ขอรู้ผลการทดสอบต่าง ๆ ร่วมในการตัดสินใจ เลือกทางรักษาตนเอง ทั้งนี้โดยให้หมอทำหน้าที่เพิ่มคือ เป็นครูที่จะแนะหรือเสนอทางเลือกในการรักษา นายแพทย์เบอร์นี ซิเคิล แห่งโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเยล ยืนยันว่า คนไข้กลุ่มนี้มักจะหายจากโรคได้เร็วกว่าคนไข้ปกติ

ถ้าเพื่อนคนไข้จะเกิดแรงบันดาลใจอยากรวมตัวเข้ากลุ่ม “เสียงคนไข้” กับเขาบ้าง เพื่อเป็นปากเสียงคนไข้ประสานงานกับคุณหมอ เพื่อผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพดีขึ้น คงจะเป็นประโยชน์แก่วงการแพทย์ไม่น้อย


 

ข้อมูลสื่อ

115-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 115
พฤศจิกายน 2531
อื่น ๆ
ธนพรรณ สิทธิสุนทร