• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เมื่อเดินทางไปเที่ยวป่า หรือเข้าไปในบริเวณดงมาลาเรีย 2-3 วัน จะต้องกินยาป้องกันก่อนไป ไม่เช่นนั้นอาจเป็นโรคมาลาเรียได้ ใช่หรือไม่

"ทุกอย่างย่อมมีทั้งด้านดีและด้านเสีย การทำความเข้าใจทั้งสองด้านย่อมทำให้สามารถแก้ไขและป้องกันเหตุการณ์ต่างๆ ได้ทันท่วงที

ยาก็เช่นเดียวกัน หากเรารู้แต่ด้านดีโดยไม่รู้ด้านเสีย (ด้านอันตราย) ย่อมเกิดโทษมากกว่าคุณ

หากท่านผู้อ่านต้องการถามปัญหาเรื่องยาผ่านคอลัมน์นี้ โปรดวงเล็บมุมซอง "108 ปัญหายา" ทางนิตยสารจะทยอยนำคำตอบข้อสงสัยของทานลงตีพิมพ์ในหน้านี้"


เมื่อเดินทางไปเข้าป่า ควรกินยาป้องกันมาลาเรีย หรือบางคนให้ความเห็นว่า ถ้าจำนวนวันที่เข้าป่าน้อยมาก เช่น 1-2 วัน อาจจะไม่ต้องกินยา กลับออกมาแล้วไปตรวจเลือด ถ้าพบเชื้อมาลาเรียจึงทำการรักษาก็ได้

ยาป้องกันมาลาเรีย โดยทั่วไปนิยมใช้
1. ยาเม็ดซัลฟาด็อกซีนไพริเมทามีน (Sulfadoxine and Pyrimethamine Tablets) (หรือที่รู้จักกันเชื่อว่า แฟนซีดาร์) 2 เม็ด ทุก 2 อาทิตย์
2. ยาเม็ดคลอโรควีน ฟอสเฟท (Chloroquine Phosphate Tablets) 2 เม็ดทุก 1 อาทิตย์

การกินยาป้องกันมาลาเรีย ควรกินก่อนเข้าป่าประมาณ 1 วัน แต่มีรายงานหลายฉบับกล่าวว่า การป้องกันโดยการกินยานี้ไม่ค่อยได้ผลมากนักเพราะเชื้อเริ่มดื้อยา ดังนั้น เพื่อความแน่ใจ หลังจากออกจากป่ามาแล้ว ควรได้รับการตรวจเลือดทุกครั้งที่มีไข้ ในระยะสามเดือนแรกที่กลับจากเดินทาง

หลังจากที่ผมไปเที่ยว (ผู้หญิง) มา ผมควรกินยา "ยาล้าง" หรือ "ยาขับปัสสาวะ" เพื่อป้องกันการติดโรคทางเพศ ใช่หรือไม่ครับ

ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่า โรคที่เกิดจากเพศสัมพันธ์นั้นมีหลายชนิด เช่น ซิฟิลิส หนองใน (โกโนเรีย) แผลริมอ่อน หนองในเทียม เป็นต้น

เมื่อสาเหตุมาจากเชื้อหลายชนิดการรักษาและการเลือกใช้ยาก็ต่างกัน ฉะนั้นการกิน "ยาล้าง" หรือ "ยาขับปัสสาวะ" เพื่อป้องกันการติดโรคทางเพศนั้นจึงไม่ถูกต้อง เพราะยาชุดขับล้างดังกล่าวไม่สามารถจะป้องกันเฉพาะโรคใดโรคหนึ่งได้ แต่มีผู้ซื้อยาจำนวนมากที่เข้าใจผิดๆ ว่า การกินยาขับยาล้างแล้วไม่เป็นโรคอาจเป็นเพราะเขาไม่ได้รับการติดโรคมา หรืออาจกินยาปฏิชีวนะที่เผอิญมีผลไปหยุดยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อได้ระยะหนึ่ง หรือลดความรุนแรงของโรค จึงทำให้เข้าใจผิดว่าเวลาไปเที่ยวสำส่อนมาแล้วจะหาซื้อยาล้างหรือยาขับกินป้องกันได้

การป้องกันที่ถูกต้องก็คือ หลีกเลี่ยงการเที่ยวสำส่อน หรือมิฉะนั้นอย่างน้อยก็ควรใช้ถุงยางอนามัย หรือถ้าได้รับเชื้อมาแล้วและมีอาการของโรคแสดงออกมาชัดเจน จึงควรไปรับการรักษาที่ถูกต้อง กินยาหรือฉีดยาให้ครบขนาดเพื่อให้หายขาด

ลูกของดิฉันเป็นแผลมีน้ำเหลืองเยิ้ม จะใช้ผงโรยแผลหรือแป้งโรยเพื่อซับน้ำเหลืองให้แผลแห้งเร็วดีไหมคะ

แผลที่มีน้ำเหลืองเยิ้ม ไม่ควรโรยแผลด้วยผลโรยแผล เพราะจะทำให้แผลด้านบนแห้งแข็ง ขังน้ำเหลืองเยิ้มไว้ข้างใจ ทำให้แผลแห้งช้า

ควรทำความสะอาดแผลด้วยน้ำเกลือล้างแผล หรือ ดากิ้น โซลูชั่น (Dakin’s solution) แล้วปิดด้วยผ้าพันแผลกันฝุ่นละออง หมั่นเปลี่ยนผ้าและทำความสะอาดบ่อย ๆถ้าเป็นมากต้องเปลี่ยนวันละ 3-4 ครั้ง (หรืออาจทายฆ่าเชื้อที่เป็นพวกครีม ทาบางๆ)
 

ข้อมูลสื่อ

49-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน 49
พฤษภาคม 2526
108 ปัญหายา
กลุ่มเภสัชกรชุมชน