• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

มะเร็งไม่ใช่โรคที่น่ากลัว ถ้ารู้จักป้องกันและรักษา

 

ถ้าเอ่ยถึง “มะเร็ง” เมื่อหลายปีก่อน หลายคนอาจจะตื่นกลัวกับโรคนี้แต่...ในวันนี้ฟังกันมาจนชาชินแล้ว อาจจะรู้สึกเฉย ๆ แต่ซ่อนความกลัวเอาไว้ ปัจจุบันความก้าวหน้าทางการแพทย์ ทำให้สามารถรักษาเยียวยาให้มะเร็งหายขาดได้ และชะลอการตายจากมะเร็งได้ไม่น้อย
จากสถิติของกระทรวงสาธารณสุขเมื่อปี พ.ศ. 2528 มะเร็งมีอัตราตายสูงเป็นอันดับ 2 รองจากอุบัติเหตุ แต่มาในปัจจุบันลดอันดับลงมาเป็นอันดับ 3 โดยมีโรคหัวใจแซงหน้าขึ้นมา

คุณคิดว่ารู้จักโรคมะเร็งดีแค่ไหน และเคยถามตัวเองบ้างไหมว่า ถ้าเกิดวันไม่ดีคืนไม่ดี คนข้างเคียงของคุณต้องไปเกี่ยวข้องกับมะเร็งเข้า คุณจะสามารถตัดสินใจในการดูแลหรือรักษาอย่างไร... ลองมาอ่านโรคน่ารู้ เรื่อง”มะเร็ง” โดย ศาสตราจารย์นายแพทย์ ไพรัช เทพมงคล แห่งภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และเลขาธิการ สมาคมต่อต้านโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ แล้วคุณจะรู้ว่าควรจะทำอย่างไรกับเจ้าตัว (เนื้อ) ร้ายนี้ดี
 

มะเร็งกับเนื้องอกเหมือนกันหรือไม่

มะเร็ง คือเนื้องอกชนิดหนึ่ง อะไรก็ตามที่เป็นก้อนเป็นตุ่มไต ยื่นออกมาจากเนื้อเยื่อ ก็ถือว่าเป็นเนื้องอก ในทางการแพทย์แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ

1. เนื้องอกชนิดธรรมดา ไม่มีไม่มีพิษไม่มีภัย ค่อย ๆ โตขึ้นมาเรื่อย ๆ อาจใช้เวลาเป็นปีหรือหลาย ๆ ปี ไม่ทำให้ผู้ป่วยเดือดร้อน ไม่ถึงกับทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต นอกจากจะรำคาญบ้าง แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้จนก้อนโตมาก ๆ ก็อาจจะเป็นอันตรายต่อชีวิตได้

2. เนื้องอกชนิดร้าย เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ มะเร็งจัดอยู่ในข้อนี้

เพศชายและเพศหญิง ใครจะเป็นมากกว่ากัน

ในคนไทยที่พบมากเป็นอันดับหนึ่งในผู้หญิง คือ มะเร็งปากมดลูก รองลงมาคือมะเร็งเต้านม ใน ขณะที่ผู้ชาย อันดับหนึ่งคือ มะเร็งตับ รองลงมาคือมะเร็งปอด ธรรมชาติให้สมดุลกันอยู่แล้ว อวัยวะอย่างไหนที่ผู้หญิงมีโดยผู้ชายไม่มี ผู้หญิงก็รับไป อวัยวะไหนที่มีทั้งผู้หญิงผู้ชาย ผู้ชายก็รับไป อย่างไรก็ตามเมื่อคิดรวมมะเร็งของอวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกาย ในเพศหญิงจะเป็นมากกว่าเพศชายเล็กน้อย ประมาณเพศหญิงต่อเพศชายเท่ากับ 4 ต่อ 3

เป็นมะเร็งต้องตายทันทีทันใดหรือไม่

จริง ๆ แล้วมะเร็งทุกระบบของอวัยวะในร่างกาย ใช้เวลานานพอสมควร เช่น มะเร็งปอดในทางการแพทย์ถือว่าค่อนข้างเร็ว แต่ใช้เวลาเป็นปี ในคนที่เริ่มเป็นและไม่ได้รักษาเลยใช้เวลาประมาณ 2 ปีกว่า จะตาย กำลังใจผู้ป่วยสำคัญที่สุด มีผู้ป่วยรายหนึ่งสุขภาพร่างกายแข็งแรง ตรวจพบว่าเป็นมะเร็งในระยะเริ่มต้น ผมคิดว่าการผ่าตัด หรือการฉายรังสี จะทำให้หายขาดแน่ ๆ แต่ผู้ป่วยกลัวมะเร็งหรือเปล่า ผมไม่ยอมบอก เผอิญลูกชายเขาซึ่งเป็นหมอรู้สึกใจอ่อนจึงบอกพ่อว่าเป็นมะเร็ง ปรากฏว่าคืนนั้นผู้ป่วยนอนไม่หลับ อาเจียนหนัก ร่างกายทรุดโทรมลงอย่างรวดเร็ว และเสียชีวิตใน 7 วัน จริง ๆ แล้วเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นกำลังใจหรือภาวะทางจิตเป็นสิ่งสำคัญที่สุด

สภาพแวดล้อม มีผลต่อการเกิดมะเร็งหรือไม่

การเกิดมะเร็งมีปัจจัยภายใน (พันธุกรรม หรือความต้านทานโรคของแต่ละบุคคล) เป็นตัวกำหนดแล้วสภาพแวดล้อมก็มีส่วนสำคัญ เช่น คนที่เป็นมะเร็งปอดส่วนใหญ่จะเป็นคนในเมือง คนต่างจังหวัดที่มีอากาศดี ไม่มีเขม่าท่อไอเสียรถยนต์ก็มักไม่เป็น

อาการและระยะเวลาของการเกิดมะเร็งเป็นอย่างไร

ถ้าเทียบกับอายุขัยก็ค่อนข้างยาว แต่ก็ไม่แน่เสมอไป คนที่มีภูมิต้านทานต่ำ ก็อาจจะเกิดได้เร็วจะพบว่าเมื่อร่างกายได้รับสารก่อมะเร็งเข้ามาซึ่งถือว่าเป็นสิ่งแปลกปลอม ร่างกายก็อาจมีจุดบอด คือ ไม่อาจบอกได้ว่า ว่ามีสิ่งแปลกปลอมเข้ามา จึงไม่ได้สร้างภูมิต้านทานต่อสิ่งนั้น หรือร่างกายอาจค้นพบสิ่งแปลกปลอม แต่สร้างภูมิต้านทานไปสู้กับมันไม่ได้ ก็อาจทำให้เป็นมะเร็งได้

อาการของโรคมะเร็งส่วนใหญ่ แบ่งได้ดังนี้
1. อาการเฉพาะที่แล้วแต่อวัยวะที่เป็น เช่น มะเร็งในปากก็มีอาการเจ็บปาก เป็นแผลในปาก ถ้ามะเร็งในกระเพาะอาหาร ก็ต้องมีท้องอืด ท้องเฟ้อเรื้อรัง

2. อาการของต่อมน้ำเหลืองโต แสดงว่าโรคลุกลามไปมากแล้ว เช่น คนที่เป็นมะเร็งช่องปากก็อาจมีต่อมน้ำเหลืองแถวบริเวณคอบวมโต เป็นต้น

3. อาการของการแพร่กระจาย แล้วแต่ว่าโรคกระจายไปที่อวัยวะใด เช่น คนที่เป็นมะเร็งช่องปาก แล้วแพร่กระจายไปที่ปอดก็มีอาการไอ หรือไอเป็นเลือดด้วย

4. อาการของมะเร็งโดยทั่ว ๆ ไป เช่น อ่อนเพลีย ซูบซีด ผอมแห้ง น้ำหนักลด เป็นไข้ตัวร้อนเรื้อรัง

จะรู้ได้อย่างว่าเป็นมะเร็ง

ตามโรงพยาบาลใหญ่ ๆ หรือสถาบันมะเร็งแห่งชาติ สถาบันมะเร็งโรงพยาบาลศิริราช มีการตรวจมะเร็งระยะแรกเริ่ม แล้วแต่ว่าผู้ป่วยจะมาด้วยโรคที่อวัยวะไหน สำหรับคนสูบบุหรี่ ถ้าเผื่อสบายดี ปีหนึ่งเอกซเรย์ปอดสักครั้งก็ยังดี สำหรับผู้หญิงอายุเกิน 25 ปีขึ้นไป หรือมีลูกหลายคน ปีหนึ่งให้แพทย์ตรวจปากมดลูกโดยการขุดไปทำแปปสเมียร์ ก็ไม่เสียหายอะไร

สำหรับการเจาะเลือด อาจช่วยตรวจมะเร็งบางอย่างได้ เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว การตรวจนั้นไม่จำเป็นต้องไปตรวจทั้งตัว โดยดูจากสัญญาณอันตราย 7 ประการ ดังนี้
1. การเป็นแผลที่ไม่รู้จักหาย ปกติควรหายภายใน 10 วัน หรือ 2 สัปดาห์

2. มีตุ่ม ก้อน ไต เกิดขึ้นในที่ซึ่งปกติไม่ควรจะมี เช่น ที่เต้านมหรือใต้ผิวหนัง ซึ่งไม่ควรจะมีก้อน

3. มีการเปลี่ยนแปลงระบบทางเดินอาหารเรื้อรัง เช่น ท้องอืด ท้องเฟ้อ กลืนอาหารไม่ลง อุจจาระร่วงสลับกับท้องผูกอยู่เสมอ

4. มีอาการผิดปกติของประจำเดือนในสตรี เช่น ประจำเดือนมาบ่อย ๆ มากะปริดกะปรอย

5. มีการเปลี่ยนแปลงของหูด ไฝ ปานที่เคยมีอยู่ วันดีคืนดีก็เกิดคัน เกาแตกเป็นแผลไม่รู้จักหาย

6. มีเสียงแหบ ไอเรื้อรัง อาจเป็นมะเร็งของกล่องเสียงหรือมะเร็งปอดได้

7. การมีเลือดหรือน้ำเหลืองไหลออกจากทวารต่าง ๆ ผิดธรรมชาติ เช่น หู ตา จมูก เต้านม ช่องคลอด ทวารหนัก เป็นต้น

อาการเหล่านี้อาจเป็นหรือไม่เป็นมะเร็งก็ได้ แต่ควรรีบไปหาหมอตรวจให้แน่ชัดก่อนจะสบายใจกว่า เมื่อมีอาการมากขึ้น ก็ต้องดูที่การแสดงออกของสัญญาณอันตรายที่เพิ่มขึ้นหากถึงขั้นอ่อนเพลีย น้ำหนักลด ก็แสดงว่าเป็นมากแล้ว

ทำไมปัจจุบันจึงมีคนเป็นมะเร็งมากขึ้น

กล่าวโดยทั่ว ๆ ไปมีดังนี้
1. ปัจจุบันมีข่าวคนเสียชีวิตจากโรคมะเร็งเพิ่มขึ้น เพราะมีการวินิจฉัยโรคที่ดีขึ้น สมัยก่อนอาจเสียชีวิตโดยมีก้อนในท้อง มักบอกว่าเป็นฝีในท้องบ้าง หรือไม่ทราบสาเหตุบ้าง ความจริงอาจเป็นมะเร็งในอวัยวะภายในได้ เมื่อมีการตรวจที่แม่นยำขึ้น สามารถวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งได้ จึงทำให้พบว่ามีจำนวนคนที่เป็นมะเร็งสูงขึ้น

2. คนไทยมีอายุยืนกว่าสมัยก่อน เดิมอายุเฉลี่ยของคนไทยประมาณ 50-60 ปี แต่ปัจจุบันเพิ่มเป็น 70 ปี ถ้าคนเรามีอายุยืนยาวก็มีโอกาสเป็นมะเร็งได้ เพราะมีการพูดว่ามะเร็ง คือโรคของยุคที่ร่างกายเสื่อม และถ้าคนเรามีชีวิตอยู่ถึง 120 ปีขึ้นไป ทุกคนจะมีโอกาสเป็นมะเร็ง อย่างน้อยก็จะมีโอกาสเป็นมะเร็งผิวหนังได้ง่าย ๆ

3. คนที่อายุยืนขึ้นตายจากโรคอื่น ๆ น้อยลง มีการระวังรักษาสุขภาพดี ทำให้การตายจากมะเร็ง เด่นขึ้นมา

4. คนไทยกำลังลอยคออยู่ในทะเลของสารก่อมะเร็ง เมื่อเร็ว ๆ นี้องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา ประกาศว่ามีสารถึง 1,800 ชนิดมีคุณสมบัติทำให้เกิดการ ก่อกลายพันธุ์ในสัตว์ทดลอง จากจำนวน 1,800 ชนิดนี้ องค์การอนามัยโลก ได้ทำการศึกษาและประกาศว่ามีสารถึง 450 ชนิดมีคุณสมบัติเป็นสารก่อมะเร็ง และสารเหล่านี้ก่อตัวอยู่ในธรรมชาติส่วนใหญ่ปะปนอยู่ในอาหาร ฟังดูแล้วน่ากลัวนะ แต่อย่าไปกลัวจนเกินไป เพราะร่างกาย จะต้องได้รับสารก่อมะเร็งเหล่านี้ เป็นเวลานาน ๆ มากและร่างกายจะต้องมีจุดบกพร่องด้วยจึงจะเกิดมะเร็งได้

สาเหตุของมะเร็งเกิดจากอะไร

แล้วแต่ชนิดหรืออวัยวะที่เป็นมะเร็ง เช่น
1. มะเร็งที่ผิวหนัง เกิดจากการถูกแสงแดดหรือแสงอัลตราไวโอเลต หรือได้รับพวกสารหนู หรือการรักษาโดยใช้ยาที่เข้าน้ำมันดิน ทั้งยาไทย-จีน ซึ่งมีน้ำมันดินเป็นส่วนประกอบ

2. มะเร็งที่ปอด สาเหตุเกิดจากหายใจในอากาศไม่บริสุทธิ์ มีฝุ่นละอองที่มีสารพวกไฮโดรคาร์บอน เช่น ควันดำจกท่อไอเสียรถ หรือเขม่าจากโรงาน หรือจากการเผาไหม้ของน้ำมันดิน และที่แน่ชัดก็คือ บุหรี่เป็นตัวการสำคัญของโรคมะเร็งปอด

3. มะเร็งที่ช่องปาก มักจะเกิดจากการระคายเคืองเรื้อรัง เช่น กินเหล้าเพียว ๆ กินหมากแล้วรักษา สุขภาพปากไม่สะอาดด้วย และที่สำคัญคือยาฉุน การเคี้ยวอาหาร แล้วมีการระคายเคือง เช่น ฟันเก หรือใส่ฟันปลอมไม่กระชับ ทำให้เป็นแผลเล็ก ๆ จนกระทั่งเป็นมะเร็งได้

4. มะเร็งที่หลอดอาหาร ส่วนใหญ่เกิดจากการระคายเคืองเรื้อรัง การกินของร้อน เช่น จิบชาหรือกาแฟร้อนๆ อยู่เสมอๆ กินเวลานานๆ ติดต่อกันเกิน 10 ปีขึ้นไป

5. มะเร็งที่กรเพาะอาหาร ส่วนใหญ่เกิดจากสารไนโตรซามีน เช่น กินอาหารพวกโปรตีนหมักดิบ ๆ อาหารที่เข้าดินประสิวที่ใช้ทำให้เนื้อมีสีแดง เนื้อเปื่อย และดี.ดี.ที. ซึ่งเมื่อเข้าไปในร่างกายแล้ว จะเปลี่ยนเป็นไดเมทิลไนโตรซามีน พวกที่กินผักที่มีดี.ดี.ที. นอกจากจะตายจากดี.ดี.ที. แล้ว ยังอาจตายจากมะเร็งได้อีกด้วย

6. มะเร็งที่ลำไส้เล็ก-ใหญ่ สาเหตุคล้ายกับมะเร็งที่กระเพาะอาหาร

7. มะเร็งที่เต้านม สาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัส หรือการที่ร่างกายได้รับไขมันสัตว์มากเกินไป แต่ก่อนเชื่อว่ามีสาเหตุจากด้านเชื้อชาติและการกระทบกระแทกที่เต้านม

8. มะเร็งที่ตับ สาเหตุจากสารไนโตรซามีนดังกล่าว รวมทั้งสารพิษอะฟาท็อกซินที่พบในอาหารที่ขึ้นรา นอกจากนี้ยังเกิดจากพยาธิใบไม้ในตับ และโรคตับแข็ง

9. มะเร็งที่ปากมดลูก เกิดจากไวรัส และจากการระคายเคืองเรื้อรัง เช่น คนที่คลอดลูกบ่อยๆ ร่วมเพศบ่อยๆ หรือคนที่เป็นโสเภณี และผู้ที่ไม่รักษาความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศ

10. มะเร็งของกระเพาะปัสสาวะ ส่วนใหญ่เกิดจากบุหรี่ สีย้อมผ้าที่ใช้ผสมอาหาร นอกจากนี้ พวกมะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง ก็เกิดจากไวรัสเช่นกัน
ที่ยกตัวอย่างมานี้เพียงสาเหตุอย่าคร่าว ๆ เท่านั้น
 

เหล้าและบุหรี่ เกี่ยวข้องกับมะเร็งอย่างไร

จริง ๆ แล้วทั้งเหล้าและบุหรี่ เป็นตัวการที่ทำให้เกิดมะเร็ง วงการแพทย์ได้พิสูจน์แล้วว่า บุหรี่เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดมะเร็งหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นมะเร็ง กล่องเสียง มะเร็งปอด และโดยเฉพาะอย่างยิ่งมะเร็งของกระเพาะปัสสาวะ ขอแนะนำก่อนนอนไม่ควรสูบบุหรี่ เพราะเวลานอนหลับมักจะกลั้นปัสสาวะ และสารก่อมะเร็งที่เกิดจากการเผาไหม้ของทาร์ หรือน้ำมันดิน จะละลายอยู่ในกระเพาะปัสสาวะ สารพวกนี้จะระคายเยื่อบุกระเพาะปัสสาวะตลอดเวลา เหล้าก็เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดมะเร็งของกล่องเสียง และหลอดอาหารโดยตรง และมะเร็งตับโดยทางอ้อม

โดยตรง
หมายถึง เหล้าก่อให้เกิดการระคายเคืองเรื้อรัง คนที่ชอบกินเหล้าเพียว ๆ และเวลากลืนชอบทำเสียง “ฮ่า” จากลำคอ เหล้าหยดสองหยดสุดท้ายจะถูกแรงลมไล่ขึ้นมา ค้างอยู่อยู่ที่แอ่งข้างกล่องเสียง ทำให้มีกลิ่นของเหล้าหอมอยู่นาน แม้จะกลืนลงไปแล้ว เหล้าจะระคายเคืองเยื่อบุข้างกล่องเสียงซึ่งเป็นเยื่อบุที่อ่อนนิ่ม และบางมากที่สุด เมื่อร่างกายทนไม่ได้ จะมีการสร้างเนื้อเยื่อหนาขึ้นมาเรื่อย ๆ พอหนามาก ๆ และจะแตกเป็นแผล จนกลายเป็นมะเร็งในที่สุด

โดยทางอ้อม หมายถึง ทำให้เกิดมะเร็งของตับ ไม่ว่าจะเป็นคนต่างจังหวัดหรือในกรุงเทพฯ มักจะกินเหล้าและกับแกล้มที่ไม่มีเนื้อสัตว์ เช่น ไก่สามอย่าง เป็นต้น ตามหลักการแพทย์พบว่า คนที่กินเหล้าและไม่กินโปรตีนเลยจะทำให้ตับแข็ง และคนที่เป็นตับแข็งมีโอกาสเป็นมะเร็งตับได้ถึง 30 เท่าของคนที่มีตับเป็นปกติ ฉะนั้นควรกินกับแกล้มที่มีโปรตีนบ้าง เช่น กินไก่จริง ๆ บ้างอย่ามัวกินแต่ไก่สามอย่างอยู่เรื่อยไป

เชื้อไวรัสเกี่ยวข้องกับมะเร็งอย่างไร

เชื้อไวรัสมีบทบาทสำคัญมากขึ้นเกี่ยวกับโรคนี้ เชื่อแน่ว่ามีมะเร็งหลายชนิดเกิดจากเชื้อไวรัส เช่นมะเร็งโพรงหลังจมูก มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง เป็นต้น
มะเร็งที่เกิดจากเชื้อไวรัส มักจะเป็นได้หลาย ๆ แห่งในคน ๆ เดียวกัน เช่น คนที่เป้นมะเร็งปากมดลูก มักจะเป็นมะเร็งเต้านมด้วย เป็นต้น แต่มะเร็งที่เกิดจากสาเหตุอื่นมักจะไม่ค่อยเป็นหลาย ๆ แห่งในคน ๆ เดียวกัน

มะเร็งที่อวัยวะใดเป็นแล้วตาย เป็นแล้วรอด

ประชาชนควรเข้าใจว่ามะเร็งนอกจากจะเป็นได้ในหลาย ๆ อวัยวะแล้ว แต่ละอวัยวะก็มีชนิดของมันเอง มะเร็งบางอย่างมีความรุนแรงในตัวเอง ถ้าเรามาเปรียบเทียบมะเร็งปอดกับมะเร็งปากมดลูก มะเร็งปอดรุนแรงมากกว่า เพราะมีการแพร่กระจายเร็วกว่า โดยธรรมชาติวิทยาเป็นอย่างนั้นเอง ถึงแม้กระทั่งพวกมะเร็งปอดด้วยกัน บางชนิดค่อนข้างอยู่เฉพาะที่ ไม่ค่อยลุกลาม แต่บางอย่างพอเริ่มเป็นก็กระจายไปทั่วตัว

โดยรวม ๆ แล้ว มะเร็งเป็นชื่อที่น่ากลัว แต่ถ้าแยกเฉพาะในแต่ละอวัยวะแล้วไม่น่ากลัว เช่น มะเร็งผิวหนัง พูดได้เลยว่าเป็นแล้วไม่ตาย
การที่จะแยกว่ามะเร็งชนิดไหนเป็นแล้วตาย ชนิดไหนเป็นแล้วรอด จริง ๆ แล้วความสำคัญอยู่ที่ระยะของโรคมากกว่า มะเร็งที่อวัยวะต่าง ๆ มีความรุนแรงอยู่ในตัว และสิ่งที่มีอิทธิพลมากที่สุด คือระยะของโรค สมมติถ้าเราจะบอกว่ามะเร็งผิวหนังไม่รุนแรง แต่ถ้ามาในระยะที่เป็นมากก็ตายเหมือนกัน
จุดสำคัญคือ มะเร็งไม่น่ากลัวเสมอไป ไม่ว่าจะเป็นมะเร็งที่อวัยวะใดก็ตาม จุดสำคัญอยู่ที่การไปพบ

แพทย์ในระยะแรกเริ่ม การรักษาจะได้ผลดีที่สุด เวลาเป็นมะเร็งแล้ว ควรปฏิบัติตัวดังนี้
1. ต้องสนใจตัวเอง ว่าบัดนี้มีอะไรผิดปกติขึ้นแล้ว เช่น สัญญาณอันตราย 7 ประการ ประชาชนต้องรู้ต้องเข้าใจ

2. เมื่อไม่สบายด้วยอาการอะไรก็ตามแล้วไปพบแพทย์ แพทย์ให้กินยา ให้การรักษาแล้วภายใน 1 หรือ 2 สัปดาห์ไม่หาย ขออย่าได้เปลี่ยนแพทย์ใหม่ ให้ไปหาแพทย์คนเดิม เพราะว่าแพทย์ทุกคนมีความรู้ รู้ว่าถ้ารักษาแบบธรรมดาไม่หายน่าจะเป็นโรคร้ายได้ และจะได้ทำการตรวจอย่างละเอียดต่อไป แต่ในทางปฏิบัติ ประชาชนส่วนมาก มาหาแพทย์คนนี้ไม่กี่วัน ไม่หาย ก็ไปหาแพทย์คนใหม่ ทำให้ขาดความต่อเนื่อง และแพทย์คนใหม่อาจไม่ได้นึกระวังว่าเป็นโรคร้ายแรง เพราะเพิ่งพบกับผู้ป่วยเป็นครั้งแรก ทำให้ตรวจพบโรคร้ายล่าช้าเกินเหตุได้

3. อย่ากลัวเรื่องเสียเวลา แต่ก็น่าเห็นใจเหมือนกัน คนเราต้องทำมาหากิน บางคนถ้าไม่ได้ขายของ วันครึ่งวันลูกเต้าก็ไม่มีอะไรกิน แต่บางครั้งถ้าเราคิดว่าชีวิตมีความสำคัญกว่า เพราะไม่แน่ใจว่าเราจะเป็นโรคร้ายเมื่อไหร่ก็ได้ ถ้าเป็นมะเร็งจริง ถ้าเผื่อเรายอมเสียเวลาสักครึ่งวันไปพบแพทย์ตามโรงพยาบาลซึ่งอาจจะต้องตรวจหลายห้องหน่อย ไปห้องนั้นห้องนี้ ตรวจมากมายก็อย่าเบื่อ ขอให้อดทน คิดว่าการกระทำของแพทย์ไม่ได้ตั้งใจจะถ่วงเวลาเรา แพทย์ทุกคนตระหนักในข้อนี้ดี ไม่อยากให้ประชาชนเสียเวลา แต่บางครั้งโดยระบบงานต้องตรวจหลายแห่งหลายส่วน หลายห้อง ก็อาจจะต้องเสียเวลา แต่ว่าการกระทำนั้น จะต้องมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยเสมอ อันนี้ผมขอรับรองได้

มะเร็งชนิดไหนร้ายแรงบ้าง

จริง ๆ แล้วมะเร็งมีร้ายแรง และไม่ร้ายแรงอยู่ในตัวของมันเอง แต่ความสำคัญอยู่ที่ว่าถ้าเป็นมากแล้ว ก็ตายทั้งนั้น ประชาชนมักจะเข้าใจกันว่า เป็นมะเร็งแล้วเสียเงินมาก มีทั้งส่วนจริงและไม่จริง อยากจะให้หลักว่า ไม่ว่าเราไปรักษาตามโรงพยาบาลของรัฐบาล ตามคลินิกหรือโรงพยาบาลเอกชนก็ดี ทุกสิ่งทุกอย่างต้องซื้อหามาด้วยเงินทั้งสิ้น สำหรับประชาชนที่มีรายได้น้อยควรจะไปโรงพยาบาลของรัฐบาล เพราะเป็นบริการที่รัฐให้กับประชาชนอยู่แล้ว ดังนั้นถ้าไม่มีเงินจริง ๆ ทางโรงพยาบาลก็ไม่เก็บเงิน ในกรณีเช่นนี้ ก็อย่ากลัวว่าหมอเขาจะรักษาให้ไม่ดี จริง ๆ แล้วความสามารถและประสิทธิภาพในการรักษาระหว่างโรงพยาบาลรัฐบาลและเอกชนนั้น ไม่มีความแตกต่างกัน นอกจากในเรื่องของการบริการอาจจะแตกต่างกันบ้าง ผมคิดว่าไม่อิทธิพลมากมายนักในเรื่องของการมีชีวิตอยู่รอด หรือไม่รอด ถ้าเผื่อว่าเรามีเงินน้อย ควรไปโรงพยาบาลของรัฐดีที่สุด อย่าไปคิดว่าไปโรงพยาบาลของรัฐ จะได้ของที่ไม่ดี ได้ยาที่ไม่ดี ประชาชนควรจะเข้าใจในจุดนี้

การรักษามะเร็งขั้นพื้นฐาน ทำกันอย่างไร

ในการรักษามะเร็งขั้นพื้นฐาน คือ การใช้มีดผ่าตัด ใช้รังสี และใช้ยา ทั้ง 3 วิธีมีการพัฒนาในตัวเองอยู่ตลอดเวลา การผ่าตัดก็มีการพัฒนาอยู่ โดยเทคนิคการผ่าตัดก็มีอิทธิพลต่อการรักษาอย่างมาก
ในด้านรังสีวิทยา (ฉายรังสี ฉายแสงก็เรียก) ก็เหมือนกัน ปัจจุบัน มีเครื่องมือที่ทันสมัยขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเครื่องกำเนิดรังสี อุปกรณ์ช่วยการฉายรังสี มีสารบางสิ่งบางอย่างช่วยกระตุ้นให้เซลล์มะเร็งไวต่อรังสี
ทางยาก็มีการพัฒนาตัวเอง ปัจจุบันมียาดีกว่าสมัยก่อน มีผลแทรกซ้อนน้อยกว่า ได้ผลดีกว่า แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าการใช้ยา จะเป็นพระเอก เพราะมะเร็งบางชนิด เป็นน้อยก็ใช้ยาไม่ได้ เป็นมากก็ใช้ยาไม่ได้ ต้องใช้วิธีการผ่าตัดหรือฉายรังสี ในแต่ละชนิดมีข้อจำกัดในตัวของมันเอง เราจะไปบอกว่าอย่างไหนทันสมัยกว่ากันไม่ได้ ต้องไปพร้อม ๆ กันถึงจะได้ประโยชน์

ฉายรังสีช่วยในการรักษาหรือไม่

คนทั่วไปเข้าใจว่าถ้าเป็นมะเร็ง แล้วไปฉายรังสีต้องตายแน่ อันนี้เป็นการเข้าใจผิด
การฉายรังสีเป็นวิธีทางการแพทย์ที่ทั่วโลกยอมรับและใช้กันอยู่ ถือว่าเป็นวิธีการรักษามะเร็ง ให้หายได้ มะเร็งมีหลายชนิด บางอย่างใช้ยาก็ไม่ได้ ผ่าตัดก็ไม่ได้ ฉายรังสีเท่านั้นที่ช่วยได้ นั่นคือแล้วแต่ชนิดของมะเร็งที่เป็น

การใช้รังสีรักษาฟังดูแล้วน่ากลัว เนื่องจากประเทศไทย ผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งร้อยละ 90 มักจะมาในระที่เป็นมากแล้ว การผ่าตัดก็ไม่ได้ เพราะสุขภาพไม่สมบูรณ์ ทางการแพทย์ก็ไม่อยากจะใจดำ จึงฉายรังสีให้ เพราะเป็นวิธีที่นุ่มนวลที่สุด ไม่ทำให้ผู้ป่วยเจ็บปวด หรือเป็นการช่วยให้ผู้ป่วยทรมานเจ็บปวดน้อยลง จึงกลายเป็นว่าการฉายรังสีแล้วตาย ความจริงแล้วไม่ฉายรังสี ก็ตาย คืออาจจะตายเร็วกว่า และทนทุกข์ทรมานมากกว่านั้น การฉายรังสีไม่ใช่เรื่องน่ากลัว สามารถทำให้โรคหายได้ ไม่ได้หมายความว่าฉายรังสีจะทำเมื่อโรคเป็นมากแล้ว ใครก็ตามที่เป็นมะเร็งแล้วมารักษาตามโรงพยาบาลใหญ่ ๆ ในกรุงเทพฯ ถ้าหากแพทย์บอกว่าจะรักษาด้วยการฉายรังสีก็อย่าตกใจ เพราะแพทย์ต้องพิจารณาแล้วว่า การรักษาด้วยรังสีเหมาะสมกับโรคที่ท่านเป็นอยู่ ขอให้ท่านปฏิบัติตาม อย่าหนีการรักษา แล้วท่านจะหายจากโรคได้

การทุ่มเงินรักษามะเร็ง ได้ผลดีอย่างไร

ทางที่ดีที่สุดคือการปฏิบัติตมคำแนะนำของแพทย์ ผมเห็นใจคนที่เป็นมะเร็ง เพราะเปรียบเสมือนคนที่ลอยคออยู่ในทะเล มีฟางลอยมา 1 เส้นไม่รู้จะเกาะอะไรก็ต้องเกาะฟางเส้นนั้น เพราะฉะนั้นคนที่เป็นมะเร็ง หรือญาติจะว้าวุ่น สับสนมาก ใครบอกว่าที่ไหนดีก็ไป เสียเงินเท่าไหร่ ก็ยอม ไม่มีก็ไปกู้เข้ามา โดยหวังว่าจะหาย
ผู้ป่วยหรือญาติทุกคนควรพูดความจริงกับแพทย์ผู้รักษา และโดยมารยาทแล้ว แพทย์จะไม่บอกผู้ป่วย ว่าเป็นมะเร็ง เพราะในด้านจิตวิทยา มีแต่ผลเสียมากกว่าผลดี แต่ว่ากับญาติสนิท หมายถึง พ่อแม่ พี่น้อง ภรรยาและลูก (ญาติบางคนก็อยากให้ผู้ป่วยตายเร็วเหมือนกัน) แพทย์จะบอกความจริงว่าอาการของผู้ป่วยรักษาได้หรือไม่ได้ จะได้ไม่ต้องไปเสียเงินเสียทองโดยไม่จำเป็น ทางญาติผู้ป่วงเองก็ควรจะบอกแพทย์ให้ทราบถึงฐานะทางเศรษฐกิจของตนด้วย ยิ่งถ้าไม่ใช่สถานบริการของรัฐ เพราะค่าใช้จ่ายจะสูงมาก ถ้ารักษาไม่ได้แน่ ๆ จะได้ปรึกษากัน

ค่าใช้จ่ายในการรักษาเป็นอย่างไร

ต้องแล้วแต่ชนิดของการรักษา เช่น ผู้ป่วยที่ไม่มีสตางค์เลยมารักษาในโรงพยาบาลของรัฐบาล ถ้าหากผู้ป่วยไม่อยู่ในระยะที่เป็นน้อยและสามารถหายขาดจากโรคมะเร็งได้ โรงพยาบาลของรัฐก็ยินดีที่จะเสียเงินให้กับผู้ป่วยพวกนี้ เพราะสามารถรักษาหาย เขาจะได้เป็นประโยชน์กับสังคมได้ บางครั้งผู้ป่วยอาจจะไม่ต้องเสียเงินสักบาทเดียว แต่ถ้าเป็นมากต้องเห็นใจ เพราะทางโรงพยาบาลคงจะสนับสนุนไม่ได้ รักษาไปก็เท่านั้น เป็นมากแล้วจะใช้วิธีไหนรักษาก็ไม่ได้ผล

จิตใจมีผลต่อมะเร็งอย่างไร

ใครก็ตามที่นึกถึงมะเร็ง มักจะนึกถึงความเจ็บปวด ความทรมาน ความตายคู่กันไป ความจริงเป็นมะเร็งไม่ได้ทำให้ตายเสมอไป แต่จะทำอย่างไรให้สังคมยอมรับว่า เป็นมะเร็งแล้ว ไม่จำเป็นต้องตายและไม่ใช่โรคที่น่ารังเกียจเสมอไป ทุกวันนี้คนที่หายจากโรคมะเร็งแล้วสามารถกลับไปทำงานได้ตามปกติมากมาย เป็นพัน เป็นหมื่น แต่ไม่มีใครกล้าประกาศตัวว่าเคยเป็นมะเร็ง เพราะกลัวคนรังเกียจ กลัวคนไม่อยากคบค้าสมาคมด้วย เพราะถ้าไม่ปิดไว้อนาคตจะมืดมน คนที่หายจึงต้องปิด แต่ในขณะเดียวกันคนอีกร้อยละ 80 มัวแต่ไปรักษากันเอง กว่าจะมาถึงโรงพยาบาลก็ถึงขั้น ไม่รักษาก็ตาย รักษาก็ตาย แล้วก็พูดกันว่าเป็นมะเร็งแล้วต้องตายแน่ ๆ ที่เป็นมากแล้วให้เทวดารักษาก็ต้องตาย แต่ถ้าเป็นน้อย หมอก็รักษาให้หายขาดได้ หายจริง ๆ 10 ปี 20 ปี หรืออาจจะไปเสียจากชีวิตโรคอื่นก็ได้

สื่อมวลชนสำคัญที่สุดที่จะต้องช่วยกันประกาศว่า มะเร็งไม่ใช่เรื่องน่ากลัว มะเร็งเป็นโรคที่รักษาให้หายได้ ป้องกันได้ เมื่อนั้นจะมีคนเริ่มเปิดเผยตัวมากขึ้น จะทำให้โรคมะเร็งเหมือนกับไข้หวัดหรือมาลาเรีย ซึ่งไม่น่ากลัวเหมือนเอดส์

มะเร็งกับภูมิคุ้มกันของร่างกาย

มะเร็งจะกระจายหรือไม่ขึ้นอยู่กับภูมิต้านทานของร่างกาย และภูมิต้านทานของร่างกายขึ้นกับความสมดุลของฮอร์โมนในร่างกาย คนเรา ถ้ามีสภาพจิตดี ระดับฮอร์โมนในร่างกายจะมีความสมดุล จะทำให้สุขภาพร่างกายแข็งแรงและมีภูมิต้านทานโรค
เมื่อเป็นมะเร็งแล้วขอให้มีสติยึดมั่นในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น การนั่งสมาธิ สามารถทำให้จิตใจสงบ และจะต้องได้รับการการรักษาแผนปัจจุบันด้วย อันนี้สำคัญที่สุด จะทำอะไร ก็ได้ให้สงบ แต่จะต้องได้รับการรักษาโดยแผนปัจจุบันร่วมด้วยเสมอ การมีจิตใจที่สงบสามารถช่วยให้มีภูมิต้านทานโรคดีขึ้น ผมไม่เชื่อว่าการนั่งสมาธิอย่างเดียวจะทำให้โรคหาย แต่ทำให้ภูมิต้านทานดีขึ้นเท่านั้น ดังนั้นจึงต้องรักษาร่วมกับการแพทย์แผนปัจจุบัน

สมุนไพรรักษามะเร็งได้ไหม

แพทย์แผนปัจจุบันสนใจเรื่อง สมุนไพร คิดว่ามีประโยชน์และกำลังศึกษาอยู่
ผู้อ่านอาจจะเคยได้ยินว่ามีคนกินสมุนไพรแล้วหายจากโรคมะเร็ง ขอเรียนให้ทราบว่า ถ้าผู้ป่วยได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นมะเร็งจริง หมายความว่าต้องตัดชิ้นเนื้อไปพิสูจน์ด้วยได้รับการรักษาวิธีแผนปัจจุบันแล้ว กินยาสมุนไพรด้วย สมุนไพรอาจจะมีส่วนหรือไม่มีส่วน ถ้าเขาทำใจเป็นกลาง แต่ที่แน่ ๆ วงการแพทย์ทั่วโลก ได้พิสูจน์แล้วว่าการรักษามะเร็งโดยวิธีแผนปัจจุบันนั้นทำให้มะเร็งหายได้เด็ดขาดแน่นอน ผมจะให้หลักทั่ว ๆ ไปว่าการรักษาด้วยสมุนไพรก็ดี การนั่งสมาธิก็ดี อะไรก็ตามที่ทำให้ผู้ป่วยมีกำลังใจดีขึ้น สิ่งนั้นย่อมเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วย เพราะอย่างน้อย ๆ ทำให้ภูมิคุ้มกันดีขึ้น ระบบการทำงานในร่างกายดีขึ้น เป็นประโยชน์ทั้งนั้น แต่อย่าลืมว่าต้องรับการรักษาแผนปัจจุบันที่โรงพยาบาลร่วมด้วย

ป้องกันมะเร็งได้อย่างไร

1. พยายามรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง โดยการออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ กินอาหารที่มีประโยชน์ อยู่ในอากาศที่บริสุทธิ์ งดสิ่งเสพติด เช่น สุรา บุหรี่

2. พยายามหลีกเลี่ยงสารพิษ ที่ก่อมะเร็ง

3. พยายามศึกษาว่าโรคมะเร็งนั้น อาการเริ่มต้นมีอะไร ดูจากสัญญาณอันตราย 7 ประการ
การทำใจให้สบาย ไม่เคร่งเครียด รักษาสุขภาพให้ดี ทำให้ร่างกายมีภูมิต้านทานดีขึ้น ก็จะช่วยป้องกันได้มาก

 

ข้อมูลสื่อ

119-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 119
มีนาคม 2532
อื่น ๆ
ศ.นพ.ไพรัช เทพมงคล