คอลัมน์นี้ได้รับความร่วมมือจากชมรมเวชศาสตร์ป้องกันแห่งประเทศไทย นับเป็นครั้งแรกที่เราจะนำความรู้เกี่ยวกับสถานการณ์ของโรคต่าง ๆ ในประเทศไทยลงตีพิมพ์ติดต่อกัน โดยจะครอบคลุมไปถึงลักษณะของโรคที่ควรรู้ในฤดูกาลต่าง ๆ กันตลอดจนวิธีการป้องกันโรคนั้น ๆ ด้วยโดยหวังว่าความรู้เหล่านี้จะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในชุมชน เป็นการเสริมทรัพยากรระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อควบคุมและป้องกันโรค |
ในคอลัมน์ “กันไว้ดีกว่าแก้” ฉบับก่อนเป็นเรื่อง “ย้อนดูโรคดังที่เกิดจากเชื้อไวรัสในปีมะโรง (2531)” ได้มีการหยิบยกเอาโรคที่เป็นข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์บ่อย ๆ หรือโรคดัง ๆ มาสรุป สำหรับฉบับนี้ อาจจะเรียกว่าเป็นภาคสองก็ได้ แต่ผมขออนุญาตเปลี่ยนชื่อเล็กน้อย เพราะจะพยายามเอาโรคที่แม้จะไม่ดังตามหน้าหนังสือพิมพ์แต่ยังเป็นปัญหามาพูดถึงแนวทางการป้องกันไว้
ท่านผู้อ่านคงจะยอมรับว่าโรคที่ขึ้นคอลัมน์ฉบับนี้เป็นโรคพื้น ๆ ทั้งนั้น เช่น โรคติดเชื้อเฉียบพลันของระบบทางเดินหายใจในเด็ก โรคอุจจาระร่วง โรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน โรคพิษสุนัขบ้า โรคไข้เลือดออก แต่ท่านเชื่อหรือไม่ว่าในแต่ละปี กองระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุข ได้รับรายงานผู้ป่วยด้วยโรคเหล่านี้ ประมาณ 1 ล้านคน และตายประมาณ 2,500 ราย เนื่องจากโรคกลุ่มนี้พบมากในเด็กเล็กและวัยประถม จึงอาจเรียกว่า โรคติดเชื้อที่สำคัญในเด็ก และด้วยความที่โรคนี้มีมาก มีมานาน คนทั่วไปจึงรู้สึกเฉย ๆ ผมเคยคุยกับนักข่าวโทรทัศน์ เขาก็พูดตรง ๆ ว่าอะไรที่มีมาก มีนาน มีให้เห็นทุกวัน เขาก็ไม่อยากทำข่าว เพราะมันไม่ตื่นเต้น ไม่เรียกร้องความสนใจ
เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2530 ได้มีการประชุมร่วมกัน ระหว่างกระทรวงสาธารณสุข และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคเหล่านี้ เพื่อที่จะค้นหาวิธีการให้สุขศึกษาโดยหวังว่าถ้าประชาชนของเราได้รับรู้วิธีการป้องกันโรคอย่างทั่วถึง ก็จะทำให้ตนเองและลูกหลานป่วยหรือตายจากโลกต่าง ๆ ลดลง คณะแพทย์และนักการสาธารณสุขตลอดจนอาจารย์ทางสังคมศาสตร์ ได้ร่วมกันสกัดเอาเฉพาะเนื้อหาหลัก เพื่อส่งมอบให้กับนักผลิตรายการทางโทรทัศน์รับไปดำเนินการต่อ ผมในฐานะที่ร่วมเป็นกรรมการอยู่ด้วย และเห็นว่าเนื้อหาที่ท่านผู้ทรงคุณวุฒิได้ช่วยกันจัดทำนั้นมีประโยชน์ ก็อยากกราบขออนุญาตนำเอามาลงในหมอชาวบ้านก่อน
เรียกว่าท่านจะได้อ่านต้นฉบับจริง ๆ ก่อนเป็นรูปทางโทรทัศน์ แม้ว่าจะเป็นเนื้อล้วน ๆ ยังไม่มีการเสริมแต่งรูปแบบให้ชวนอ่านหรือติดตาม แต่ก็เชื่อว่าท่านจะไม่มองข้ามไป ลองอ่านดูซิครับ และทำตาม เพื่อความปลอดภัยของเด็ก ๆ ของท่าน และเมื่อโฆษณาชุดนี้ทำออกมาสำเร็จก็จะเป็นการเสริมความเข้าใจเพิ่มขึ้น
โรคติดเชื้อเฉียบพลันของระบบทางเดินหายใจในเด็ก |
1. โรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ โรคหวัด โรคคออักเสบ โรคกล่องเสียงอักเสบ โรคหลอดลมอักเสบ และโรคปอดอักเสบ (หรือเรียกว่า ปอดบวม) โรคเหล่านี้ เป็นโรคที่พบบ่อยที่สุดในเด็ก บางชนิดรุนแรงมาก หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องจะเกิดอันตรายถึงชีวิตได้
2. อาการและการดูแลรักษา
ก. อาการเริ่มต้นจะมีน้ำมูกไหลใส ๆ คัดจมูก เจ็บคอ ไอแห้ง ๆ ไม่มีเสมหะ ให้ดูแลที่บ้านได้โดย
- ให้เด็กดื่มน้ำมาก ๆ
- ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย พักผ่อน และพยายามให้กินอาหารที่มีคุณค่าเพิ่มขึ้น
- เมื่อมีไข้สูงให้เช็ดตัวด้วยน้ำธรรมดาหรือน้ำอุ่น ถ้าไข้ไม่ลด ให้กินยาพาราเซตามอลได้เป็นครั้งคราว
- เมื่อมีน้ำมูกให้พยายามสั่งออก ใช้สำลีหรือกระดาษนุ่มซับ แต่ถ้ามีน้ำมูกมากให้ใช้ลูกยางแดง เบอร์ 2 ดูดออก
ข. อาการปานกลาง จะเริ่มด้วยไอแรง ๆ มีเสมหะมากหรือเสมหะ ขั้นคล้ายหนอง น้ำมูกข้นและเปลี่ยนสี ตัวร้อนจัด อาการขั้นนี้จะต้องรีบไปพบแพทย์
ค. อาการรุนแรง จะหายใจเร็วจนหอบ หน้าอกบุ๋มเวลาหายใจเข้า และมีอาการกระสับกระส่าย ถึงขั้นนี้จะต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาล
3. การป้องกัน
ก. อย่าให้เด็กคลุกคลีกับคนที่เป็นหวัดหรือไอ ไม่ควรพาเด็กเล็กไปที่แออัด
ข. เด็กไม่สบายไม่ควรให้ไปโรงเรียน เพราะจะแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น หรืออาจรับเชื้อเพิ่มเติมเข้ามาอีก
ค. ฉีดวัคซีนป้องกัน 6 โรค ให้เรียบร้อยตามมาตรฐานกระทรวงสาธารณสุข (ดูรายละเอียดในโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน)
ง. สนับสนุนให้เด็กได้ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อบริหารปอดให้แข็งแรง เช่น ร้องเพลง กระโดดเชือก ถีบจักรยาน วิ่ง ว่ายน้ำ เป็นต้น
จ. อย่าให้ร่างกายเปียกชื้น
ฉ. ไม่ควรให้มีควันบุหรี่ หรือควันไฟในบ้าน เพราะจะทำให้เกิดกระระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจ
โรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน |
1. โรค 6 โรค ได้แก่ วัณโรค คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก โปลิโอ และหัด โรคเหล่านี้ป้องกันได้แน่นอน ด้วยการได้รับวัคซีนอย่างถูกต้อง
2. โรคบาดทะยักในเด็กแรก เกิดป้องกันได้ตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ โดยให้หญิงมีครรภ์รับวัคซีนบาดทะยัก 2 ครั้ง ห่างกัน 1 เดือน
3. เมื่อเด็กเกิดจนก่อนครบ 1 ขวบจะต้องได้รับวัคซีน 5 ครั้ง จึงจะป้องกันโรคได้ทั้ง 6 คือ
ก. ฉีดวัคซีนบีซีจีป้องกันวัณโรค เมื่อแรกเกิด
ข. ฉีดวัคซีนดีทีพีป้องกันโรค คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก 3 ครั้ง ระหว่างอายุ 2-6 เดือน
ค. กินวัคซีนโอพีวีป้องกันโปลิโอ 3 ครั้ง พร้อมวัคซีนดีพีที
ง. ฉีดวัคซีนหัด 1 ครั้งเมื่ออายุ 9 เดือนและหลังจากนั้นจำเป็นต้องฉีดกระตุ้นตามกำหนดด้วย
4. เด็กเป็นไข้หวัดเล็กน้อย สามารถรับวัคซีนได้โดยไม่เป็นอันตราย
5. หากไม่ได้ไปรับวัคซีนตามวันนัด ให้รีบไปรับครั้งต่อไปได้ อย่าหยุดไปโดยรับวัคซีนไม่ครบถ้วน
โรคอุจจาระร่วง |
1. เด็กเป็นโรคอุจจาระร่วงกันมากและอาจเป็นรุนแรงถึงเสียชีวิต โดยโรคนี้เกิดจากการติดเชื้อที่ปนเปื้อนกับอาหารและน้ำ
2. เด็กเล็กที่ถ่ายเหลว 3-4 ครั้งต่อวัน ที่เข้าใจกันว่าเป็นเพราะเด็กเปลี่ยนท่านั้น มีสาเหตุจากการติดเชื้อแทบทั้งสิ้น ควรรักษาแต่ต้น ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ โดย
ก. การรักษาง่าย ๆ คือ ให้กินนมแม่ น้ำแกงจืด น้ำข้าวใส่เกลือ
ข. ถ้ายังมีอาการอยู่และอ่อนเพลียให้กินโออาร์เอส (ผงน้ำตาลเกลือแร่ละลายน้ำ)
ค. แต่ถ้าถึงขั้นมีไข้สูงหรือถ่ายเป็นมูกเลือด หรือถ่ายครั้งละมาก ๆ ให้รีบพบแพทย์
3. โรคอุจจาระร่วงป้องกันได้โดย
ก. บำรุงสุขภาพของลูกให้แข็งแรง
- เลี้ยงลุกด้วยนมแม่
- การให้อาหารเสริมตามวัยต้องเตรียมให้สะอาด และทำให้สุกด้วยความร้อน
- ใช้ช้อนตักอาหารป้อนลูก อย่าใช้มือจับอาหารป้อนลูก
ข. ล้างมือก่อนกินอาหาร และหลังเข้าส้วมทุกครั้ง
4. กำจัดอุจจาระลงส้วม หรือขุดหลุดฝังเสีย แม้ว่าจะเป็นอุจจาระของเด็กเล็ก ๆ เพราะอุจจาระคนท้องร่วงมีเชื้อโรคติดต่ออยู่ มือที่สัมผัส แมลงวัน จะพาเชื้อโรคไปติดผู้อื่น
โรคไข้เลือดออก |
1. ไข้เลือดออกเป็นโรคที่รุนแรง ส่วนใหญ่เกิดกับเด็ก ทำให้เด็กตาบเกือบปีละประมาณ 1,000 ราย
2.ไข้เลือดออกเกิดจากยุงลายกัด
3. ยุงลายชอบกัดกลางวัน ยุงพวกนี้วางไข่และเพาะพันธุ์อยู่ในภาชนะที่เก็บกักน้ำทุกชนิด ยกเว้น ในแหล่งน้ำเสีย
4. วิธีป้องกันโรคไข้เลือดออกที่ดีที่สุดคือ การกำจัดลูกน้ำและแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในบ้านและบริเวณบ้านของตนเอง รวมทั้งบ้านใกล้เรือนเคียงอ่านต่อเนื่องและสม่ำเสมอโดย
- ปิดตุ่มน้ำให้สนิท
- ภาชนะเก็บน้ำที่ปิดไม่ได้ ควรใส่ปลากินลูกน้ำ เช่น ปลาหางนกยูง
- ใส่เกลือในน้ำหล่อขาตู้กันมด หรือใช้ขี้เถ้าแทนน้ำ
- เปลี่ยนน้ำในแจกันดอกไม้ หรือขวดปลูกต้นไม้น้ำทุก 7 วัน
- คว่ำภาชนะที่ไม่ใช้และเก็บเศษภาชนะบริเวณรอบ ๆ บ้าน หรือของใช้ไม่ให้มีน้ำขัง
โรคพิษสุนัขบ้า |
1. โรคพิษสุนัขบ้า เป็นแล้วตายทุกราย
2. เลี้ยงสุนัข/แมว ต้องพาไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าปีละครั้ง
3. เมื่อถูกสุนัขหรือแมวกัดต้องปฏิบัติดังนี้
- ล้างแผลด้วยสบู่ แล้วเช็ดด้วยแอลกอฮอล์
- พบแพทย์ / เจ้าหน้าที่สาธารณสุขปรึกษาเรื่องการฉีดวัคซีน
4. ให้กักขังสุนัข/แมวที่กัดไว้ ดูอาการ 16 วัน ถ้าสัตว์ตาย จำเป็นต้องได้รับวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า
ผมขอกราบขอบพระคุณผู้ทรงคุณวุฒิดังรายนามข้างล่างนี้ และเจ้าหน้าที่กองสุขศึกษาทุกท่าน ที่เสียสละช่วยจัดทำความรู้ดังกล่าว และอนุญาตให้นำมาเสนอแก่ผู้อ่านที่สนใจการป้องกันโรค ถ้ามีปัญหาประการใดที่คณะของเราจะช่วยให้ข้อมูลได้ ผมคิดว่าคณะนี้จะรู้สึกภาคภูมิใจยิ่งที่ได้ทำประโยชน์แก่ท่าน
แพทย์หญิงประมวญ สุนากร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเด็ก กรมการแพทย์ ศาสตราจารย์แพทย์หญิงวันดี วราวิทย์ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ศาสตราจารย์แพทย์หญิงสุภรี สุวรรณจูฑะ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดร. ทวีศักดิ์ เศวตเศรณี สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล แพทย์หญิงประคอง เขจรนันท์ อดีตผู้อำนวยการกองวัณโรค นายแพทย์สวัสดิ์ รามบุตร กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรคติดต่อ นายแพทย์ประวิทย์ ชุมเกณียร กองระบาดวิทยา สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ศุภมิตร ชุณห์สุทธิวัฒน์ กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรคติดต่อ นางราตรี กีรติบำรุงพงศ์ กองวิชาการ สำนักงานคณะกรรมกรการประถมศึกษาแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ |
- อ่าน 2,705 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้